w©rld

ทุกๆ การเปลี่ยนแปลงของโลกและเศรษฐกิจ จะมีสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเสมอ นั่นคือการสลับสับเปลี่ยนของกลุ่มคนในชั้นต่างๆ บนพีระมิด

คนที่เคยได้ประโยชน์เมื่อวานอาจกลายเป็นผู้เสียประโยชน์ และถูกแทนที่โดยคนกลุ่มใหม่ที่ได้ประโยชน์

Future Skill ทักษะอนาคต ปกรณ์ ลี้สกุล
ทุกการเปลี่ยนแปลงของโลก กลุ่มคนที่ได้ประโยชน์ก็จะเปลี่ยนไปด้วย

พีระมิดแห่งชนชั้นบิดไปเรื่อยๆ เช่นนี้เสมอ ตามการเปลี่ยนแปลงของโลก

คำถามคือ ในยุคที่วงจรการเปลี่ยนแปลงของโลกเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปในอัตราเร่งที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

มนุษย์แบบไหนจะเป็นกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์?

โลกที่ Hard Skill ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

หลังโลกเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เครื่องจักร นวัตกรรม เทคโนโลยี ได้มอบความสะดวกสบายให้มนุษย์มากขึ้น แต่ในอีกด้านของเหรียญ โดยจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม สิ่งเหล่านี้ค่อยๆ กัดกินและพรากความเป็นมนุษย์ไปจากเรา

การเกิดขึ้นของโรงงานได้สร้างระบบการผลิตแบบสายพาน การแบ่งงานกันทำ วิธีคิดและการเรียนรู้แบบแบ่งแยกสาขา เพื่อผลิต ‘คนทำงาน’ ให้สอดคล้องกับแต่ละหน่วยที่อยู่ตลอดสายพานการผลิต

ทักษะเฉพาะทางอย่าง Hard Skill กลายเป็นทักษะสำคัญ เพราะนำมาซึ่งผลตอบแทนที่งอกเงย ความมั่นคงทางอาชีพ และความอยู่รอดในชีวิต

แต่ในโลกดิจิทัลที่เครื่องจักรกำลังฉลาดขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้ ‘งาน’ ของมนุษย์บางส่วนค่อยๆ ถูกแทนที่โดยเครื่องจักร ไม่ว่าเครื่องจักรนั้นจะหมายถึงหุ่นยนต์ แมชชีนเลิร์นนิ่ง เอไอ หรืออะไรก็ตาม

Future Skill ทักษะอนาคต ปกรณ์ ลี้สกุล
รายงาน Future of Jobs (Photo: World Economic Forum)

ทักษะแบบ Hard Skill จะไม่ได้มอบความมั่นคงให้ชีวิตในความหมายเดิมอีกต่อไป เพราะเครื่องจักรที่รวดเร็วและฉลาดล้ำจะดิสรัป Hard Skill ที่เคยมีมูลค่าให้กลายเป็นของไร้ราคาในวันหนึ่ง

บางคนที่กำลังดื่มด่ำกับอภิสิทธิ์ทางรายได้และชีวิตการทำงานที่ได้จากทักษะ Hard Skill ที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล ดาต้า และการเขียนโปรแกรม อาจอยากบอกว่า “คงอีกนานกว่าพวกเขาจะถูกดิสรัป”

Future Skill ทักษะอนาคต ปกรณ์ ลี้สกุล
การเรียนรู้ตลอดชีวิตคือกุญแจสำคัญในภายหน้า ผู้คนจะต้องก้าวทันโลก ปรับตัวเข้ากับกระแสใหม่ๆ ที่สำคัญคือต้องฝึกฝนและพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ (Photo: World Economic Forum)

แต่ในโลกที่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วขนาดนี้ เราจะเอาอะไรมามั่นใจได้ว่า ทักษะและงานที่เรามีจะไม่ถูกแทนที่

ถ้าอย่างนั้นอะไรล่ะ คือทักษะที่มนุษย์ควรมี

‘ความเป็นมนุษย์’ สิ่งที่จักรกลไม่อาจดิสรัป

“เห็นจอมากกว่าเห็นใจ” เพื่อนคนหนึ่งพูดขึ้นระหว่างการพูดคุยบนโต๊ะอาหาร

เพื่อนคนนี้ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้คนทุกวันนี้จมจ่อมตัวเองอยู่กับจอสมาร์ทโฟน จอโทรทัศน์ จอโน๊ตบุ๊ค ฯลฯ เสพรับสิ่งต่างๆ ในโลกมากมาย แต่แทบไม่เคยเงยหน้าขึ้นมาปฏิสัมพันธ์อย่างใส่ใจกับคนใกล้ตัว เพื่อนร่วมงาน หรือแม้กระทั่งคนรอบตัวในชีวิตประจำวัน

นี่เป็นเพียงจุดสังเกตเล็กๆ ว่า เรากำลังหลงลืมทักษะที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ นั่นก็คือ ‘ความเป็นมนุษย์’ ซึ่งเป็น Soft Skill ที่จักรกลหรือเครื่องจักรไม่อาจแทนได้

ความเป็นมนุษย์คืออะไร ถ้ากล่าวโดยสรุปน่าจะหมายถึง ความสามารถในการเห็นใจตัวเองและผู้อื่น

อธิบายเพียงเท่านี้ หลายคนน่าจะเข้าใจ แต่ถ้าเป็นจักรกลคงเข้าใจได้ยาก เพราะคำว่า ‘เห็นใจ’ มันมีความหมายและความรู้สึกอยู่ในนั้น พจนานุกรมทั้งโลกก็อธิบายได้ไม่ครบถ้วน

นี่คือความแตกต่างระหว่างมนุษย์และจักรกล แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ คุณสมบัตินี้กำลังเหือดหายไปจากมนุษย์มากขึ้นทุกวัน

Future Skill ทักษะอนาคต ปกรณ์ ลี้สกุล
ทักษะของมนุษย์ในวันนี้ เก่งด้าน Hard Skills แต่อ่อน Soft Skills หรือทักษะความเป็นมนุษย์
Future Skill ทักษะอนาคต ปกรณ์ ลี้สกุล
ภาพวาดแสดงทักษะของหุ่นยนต์ที่สามารถพัฒนาทักษะ Hard Skills ได้อย่างรวดเร็วและไร้ที่ติ

เราหลายคนใช้ชีวิตและทำงานไปตาม ‘หน้าที่’ อย่างไร้ชีวิตและชีวาจนดูไม่ต่างจากหุ่นยนต์ที่ถูกป้อนคำสั่ง เพราะไม่รู้จักตัวเอง ว่าเราทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร

เราหลายคนกำลังสนใจที่จะถูกจ้องมอง เพื่อจะเป็นที่สนใจ ได้ไลค์ ได้แชร์ ได้โดดเด่นกว่าใครๆ ในวงสังคม จนลืมจ้องมองและใส่ใจความรู้สึกของผู้อื่นที่อยู่ร่วมในสังคมเดียวกันอย่างลึกซึ้ง

Future Skill ทักษะอนาคต ปกรณ์ ลี้สกุล
รายงาน Future of Jobs (Photo: World Economic Forum)

เมื่อทักษะด้าน Hard Skill และ Soft Skill เสียสมดุล มนุษย์อย่างเราจึงกลายเป็นคนที่ ‘เกิน’ และ ‘ขาด’ ซึ่งดูไปแล้วก็ไม่ต่างจากหุ่นยนต์หรือจักรกล

และถ้าวันหนึ่งมันจะมาแทนที่เรา ก็คงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ

“ทำไม?” คำถามที่ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์

ครั้งสุดท้ายที่เราถามว่า “ทำไม” คือเมื่อไหร่ และเราจริงจังกับการค้นหาคำตอบมากน้อยแค่ไหน

สำหรับผม การถามว่า “ทำไม” คือจุดเริ่มต้นของกระบวนการคิดขั้นพื้นฐาน ที่ทำให้เรากลับมาแสวงหาคุณค่าที่แท้จริง (core value) ของตัวเอง

เราเกิดมาทำไม? เราทำงานนี้ทำไม? และอีกสารพัดคำถามว่า “ทำไม?” คำถามเหล่านี้จะค่อยๆ พาเรากลับไปสำรวจและค้นพบคุณค่าของตัวเอง

Future Skill ทักษะอนาคต ปกรณ์ ลี้สกุล
“ทำไม” คือจุดเริ่มต้นของกระบวนการคิดขั้นพื้นฐาน ที่ทำให้เรากลับมาแสวงหาคุณค่าที่แท้จริง (core value)

เมื่อตระหนักถึงคุณค่าตัวเอง จะทำให้เราเห็นคุณค่าของผู้อื่น ยิ่งเห็นคุณค่ามากเท่าใด เราจะรักในสิ่งที่ทำและมีความรับผิดชอบต่อตัวเองและส่วนรวมมากเท่านั้น

นี่คือคำถามที่ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ และเป็นคำถามที่จะทำให้มนุษย์มุ่งสร้างทักษะใหม่ด้าน Hard Skill ไปพร้อมกับพัฒนาคุณค่าภายในอย่าง Soft Skill

เพราะในอนาคตอันใกล้ เมื่อเอไอเป็นใหญ่ มนุษย์ที่มีแต่สมองจะไม่เป็นที่ต้องการของโลกอีกต่อไป แต่มนุษย์ที่มีสมองและหัวใจ จะเป็นที่ต้องการของโลกที่เครื่องจักรเข้ามาแทนที่งานทักษะกลางๆ

คนดีและเก่งจะเป็นที่เรียกร้องต้องการเพื่อมาทำงานที่ใช้ทักษะสูง ส่วนคนธรรมดาที่มีหัวใจก็จะถูกเรียกใช้มาทำงานด้านบริการ

ซึ่งต้องอาศัยทักษะ ‘ความเป็นมนุษย์’ ที่เอไอไม่อาจมอบให้

จงเป็นมนุษย์ที่ ‘กลม’

หัวใจหลักๆ ที่ผมอยากบอกในบทความนี้คือ Hard Skill และ Soft Skill แท้จริงแล้วคือคนละด้านของเหรียญเดียวกัน

ในโลกที่วงจรการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปในอัตราเร่งที่สูงขึ้นเรื่อยๆ มนุษย์จะต้องเปิดตาพร้อมเรียนรู้ Hard Skill ใหม่ๆ อยู่เสมอ ขณะเดียวกันก็ต้องเปิดใจพัฒนา Soft Skill ซึ่งเป็นทักษะการเห็นหัวใจตัวเองและผู้อื่น อันเป็นทักษะสำคัญทางสังคมและชีวิต

Future Skill ทักษะอนาคต ปกรณ์ ลี้สกุล
มนุษย์แห่งอนาคต คือ คนที่มีทักษะด้าน Hard Skills และ Soft Skills อย่างสมดุล

หากวาดเป็นกราฟ ลักษณะกราฟของทักษะมนุษย์ในอนาคตอันใกล้จะเป็น ‘วงกลม’ เพราะทักษะทุกด้านได้รับการใส่ใจและพัฒนาอย่างสมดุล

อนาคตเดินทางเข้ามาใกล้เรามากขึ้นเรื่อยๆ วันนี้คุณเป็นมนุษย์ที่ ‘กลม’ แล้วหรือยัง?

เรียบเรียง : วชิรวิชญ์ กิติชาติพรพัฒน์