w©rld

กรุงโรมไม่ได้สร้างในวันเดียว

การสร้างกระบวนการที่ดีก็เช่นเดียวกัน

ก้าวแรกของการจะสร้างกระบวนการที่ดี คือ ต้องกล้า ‘ลองผิดลองถูก’ ครับ

ลองไปเรื่อยๆ แล้วสังเกตกระบวนการที่ทำให้เกิดและไม่เกิดผลลัพธ์

จากจุด A (ปัจจุบัน) ไปจุด B (ผลลัพธ์) วิธีไหนดีที่สุดและทำซ้ำได้ ให้เลือกวิธีนั้น

เหมือนที่โทมัส เอดิสัน ทดลองประดิษฐ์หลอดไฟไปเรื่อยๆ จนพบวิธีที่ดีที่สุดในการประดิษฐ์หลอดไฟ

ต้องจดจำวิธีที่ล้มเหลว ทำซ้ำวิธีที่สำเร็จ

Fail fast, learn faster จงเรียนรู้ให้เร็วกว่าเพื่อหาวิธีที่ดีที่สุดในช่วงเวลาที่เรายอมรับได้

อย่ากลัวที่จะล้มเหลว ไม่มีวิธีที่ผิด มีแค่ ‘ดี’ กับ ‘ดีกว่า’ ครับ

ความกล้าและไม่หยุดลองผิดลองถูกจะสร้าง ‘กระบวนการ’ ใหม่ๆ และ ‘กระบวนการที่ดี’ ในช่วงเวลานั้น

ข้อสำคัญคือไม่มีสูตรสำเร็จตลาดกาลนะครับ หรือถ้ามีก็เป็นสูตรสำเร็จที่ใช้ได้ในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เพราะโลกสมัยใหม่ไม่เคยหยุดนิ่ง และไม่อนุญาตให้ใครอยู่เฉย

แม้แต่สูตรสำเร็จก็จะไม่สำเร็จ ถ้าสูตรนั้นไม่ได้รับการพัฒนา

ลองถูกลองผิดอยู่เสมอ และอย่าอยู่เฉย แล้วคุณจะได้พบกับ ‘กระบวนการที่ดี’

เมื่อรู้วิธีที่จะหากระบวนการที่ดีแล้ว ถึงตรงนี้ผมขอย้อนกลับไปพูดถึงเรื่อง ‘ผลลัพธ์’

นอกจาก ‘เงิน’ คุณคิดว่าผลลัพธ์หรือหน่วยวัดความสำเร็จเป็นอะไรได้บ้าง?

ผมขอตอบว่า เป้าหมายไม่จำเป็นต้องมีมิติเดียว เพราะนอกจากเงินแล้วยังมีผลลัพธ์อื่นๆ อีกมากมาย เป็นผลลัพธ์ในเชิงคุณภาพที่วัดได้ เช่น สิ่งที่คุณหรือองค์กรทำ ช่วยทำให้คนมีความรู้เยอะขึ้น ทำให้คนในชุมชนมีความดันโลหิตลดลง 10% ทำให้ประชากรในบางพื้นที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงขึ้น 10,000 บาท/คน/ปี

ยกตัวอย่างเช่น วิถีไทย Thai Handicraft Marketplace ที่ให้ดีไซเนอร์เข้าไปช่วยวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมอันเป็นงานฝีมืออันทรงคุณค่าของประเทศไทยเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า พัฒนาฝืมือแรงงาน และดูแลชุมชนให้มีความสุข จากเดิมสินค้าที่ชาวบ้านเคยขายได้ 200 บาท ก็ขายได้ 200 เหรียญสหรัฐ

5 ตัวอย่างชุมชนที่ทำงานร่วมกับวิถีไทยจนสำเร็จแล้วในเบื้องต้น เช่น ชุมชนบ้านอ้อย จังหวัดชัยนาท (ผักตบชวา), ชุมชนบ้านศรีอุทุมพร จังหวัดนครสวรรค์ (ผักตบชวา), ชุมชนตลาดใหม่ จังหวัดอ่างทอง (หวาย), ชุมชนบ้านโคกสะอาด จังหวัดสุรินทร์ (เสื่อกก), ชุมชนบ้านแพรก จังหวัดอยุธยา (ไม้ไผ่)

เมื่อสินค้าขายได้ก็นำกำไรมาแบ่งให้บริษัท ดีไซเนอร์ และชาวบ้านในชุมชน จะเห็นว่า โจทย์ของวิถีไทยไม่ได้ตั้ง ‘ผลลัพธ์’ ที่ผลกำไรของตัวเองอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงผลกำไรของชาวบ้านในชุมชน และฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพมากขึ้นด้วย

นี่คือตัวอย่างขององค์กรที่คิดถึง ‘ผลลัพธ์อื่นๆ’ มากกว่าผลประโยชน์ของตัวเอง ผลประกอบการ (เงิน) หรือการเข้าตลาดหุ้น (รวย) แต่ใช้ธุรกิจในการแก้ปัญหาคนหรือสังคม

ถึงตรงนี้ ผมไม่ได้คิดตำหนิว่าธุรกิจที่คิดถึงแต่ผลประกอบการว่าเลวร้ายนะครับ แต่ถ้าเปรียบธุรกิจเป็นคนสักคน แล้วคนคนนั้นเป็นคนที่เห็นแก่เงิน

คุณคิดว่าคนคนนั้นเป็นคนน่าคบไหม?

คุณไม่ต้องตอบคำถามนี้ก็ได้ แต่ผมอยากให้คุณตอบคำถามต่อมา

คุณคิดว่า ตัวเองเกิดมาเพื่ออะไร?

ค่อยๆ ขบคิด และขอให้คุณค้นพบคำตอบ เพราะคำตอบนั้นจะนำมาซึ่ง ‘ผลลัพธ์’ และ ‘กระบวนการ’

ที่จะสร้างความหมายให้กับชีวิตของคุณ.

อ่านตอนอื่นๆ…

เรียบเรียง: วชิรวิชญ์ กิติชาติพรพัฒน์