เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา Google ประกาศว่าสามารถสร้าง ‘ควอนตัมคอมพิวเตอร์’ ได้สำเร็จเป็นเครื่องแรกของโลก ซึ่งสร้างสร้างความฮือฮาให้กับวงการวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก
ความน่าทึ่งของคอมพิวเตอร์เครื่องนี้คือสามารถแก้โจทย์ Schrödinger-Feynman algorithm ที่ใช้ในการทดสอบความเร็วการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ ได้ภายในเวลา 200 วินาที จากเดิมที่ใช้เวลาถึง 10,000 ปี
แม้ภายหลัง IBM จะออกมาโต้แย้งว่าปัญหาข้อนี้ ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ของ IBM สามารถแก้ไขได้เพียง 2.5 วัน และทิ้งท้ายไว้ว่าสิ่งที่ Google กล่าวอ้าง อาจยังไม่ใช่ควอนตัมคอมพิวเตอร์อย่างแท้จริง
ถึงอย่างไร ข่าวนี้ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี ที่ชวนให้จับตามองว่า ‘ควอนตัมเทคโนโลยี’ กำลังจะเข้ามาเขย่าอะไรโลกของเราบ้าง
ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ว่าเร็ว ยังเร็วไม่เท่าควอนตัมคอมพิวเตอร์
‘เทคโนโลยีควอนตัม’ คือการพัฒนาระดับโมเลกุลที่ทำให้ หน่วยประมวลผลของคอมพิวเตอร์ทำงานเร็วขึ้น
ต่างจากคอมพิวเตอร์ปัจจุบันที่ใช้การประมวลผลจากการอ่านค่าเลขฐานสองคือ 0 กับ 1 แต่ควอนตัมคอมพิวเตอร์นั้นจะประมวลผลทั้ง 0 และ 1 ไปพร้อมๆ กัน นอกจากจะย่นระยะเวลาประมวลผลแล้ว คอมพิวเตอร์ยังเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและฉลาดกว่าเดิม
หากสงสัยว่าความสามารถนี้ของควอนตัมคอมพิวเตอร์จะเปลี่ยนโลกเราอย่างไร ให้ลองจินตนาการถึงยุคกำเนิดอินเตอร์เน็ต ที่เป็นเหมือนประตูพาเราเข้าสู่โลกใบใหม่ และวิถีชีวิตของพวกเราก็เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล
(ถึงตรงนี้ถ้าคุณยังงงๆ ว่า ควอนตัมคอมพิวเตอร์คืออะไร ลองแวะไปทำความรู้จักเพิ่มเติมได้ในบทความ : รู้จัก ‘ควอนตัมคอมพิวเตอร์’ (ฉบับชาวบ้าน) ก่อนโลกจะกลายเป็นนิยาย Sci-Fi)
ปัจจุบัน แม้ควอนตัมคอมพิวเตอร์จะยังไม่ได้นำมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมต่างๆ แต่หลายประเทศกำลังเร่งพัฒนาและวิจัยเทคโนโลยีนี้อย่างสุดความสามารถ ไม่เพียงเฉพาะยุโรปและอเมริกาเท่านั้น แต่ในเอเชียเองก็มีประเทศที่ลงทุนกับด้านควอนตัมเทคโนโลยีนี้มากมาย เช่น จีน ที่ใช้เงินลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมสูงที่สุดในโลก เป็นมูลค่ากว่า 100 ล้านเหรียญฯ
ประเทศไทยต้องการอะไรจาก ‘เทคโนโลยีควอนตัม’
ปัจจุบันประเทศไทยเราอยู่ในช่วงค้นคว้า วิจัย ทดลองและสร้างเทคโนโลยีควอนตัม โดยมีเป้าหมายคือการนำไปประยุกต์ใช้กับทุกๆ วงการ ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์ การเกษตร พลังงาน ธนาคาร ฯลฯ
สิ่งที่ ‘อาจเกิดขึ้น’ หลังจากที่ควอนตัมใช้งานกับอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้ คือเราจะก้าวข้ามข้อจำกัดมากมายและสะดวกสบายขึ้น
ในอนาคต AI จะฉลาดเป็นกรด ประมวลผลได้รวดเร็วและแม่นยำ พวกเราอาจได้เห็นระบบไฟจราจรที่คำนวณมาแล้วว่าจะทำให้รถติดน้อยลง หรือ GPS ที่ไม่คลาดเคลื่อนเลยแม้แต่มิลลิเมตรเดียว
นั่นเป็นเหตุผลที่ไทยและทั่วโลกต้องตื่นตัวและเร่งพัฒนาด้าน ‘เทคโนโลยีควอนตัม’
ประเทศไทยในโลกของ ‘ควอนตัม’
น้อยคนที่จะได้เข้าไปเยือนโลกของควอนตัม หากไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์
แต่ในเมื่อเทคโนโลยีนี้กำลังจะเข้ามาเปลี่ยนชีวิตของทุกคน นั่นทำให้แต่ละประเทศต้องไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาและพาให้ทุกคนเข้าไปท่องโลกอะตอมพร้อมๆ กัน
ประเทศไทยเรามี แผนพัฒนาด้านเทคโนโลยีควอนตัม ที่มีเป้าหมายจะพัฒนาทั้งด้านเครื่องมือและนักวิจัย อีกไม่ถึง 10 ปีเราอาจเห็นสิ่งประดิษฐ์จากควอนตัมที่จับต้องได้มากขึ้น เช่น นาฬิกาที่มีความแม่นยำสูงระดับอะตอม การแรนดอมเลขที่มีประสิทธิภาพ
ถึงแม้วันนี้ประเทศไทยมีนักศึกษาและนักวิจัยด้านควอนตัมทั้งหมดราวๆ 50 คน และคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีจำนวนนักวิจัยเพิ่มขึ้นแตะ 100 คน รวมถึงยังมีการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีควอนตัมที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และห้องปลอดเชื้อระดับสูงพร้อมเครื่องมือครบครันที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตอนประเทศไทย เพื่อใช้สำหรับพัฒนาด้านเทคโนโลยีควอนตัมโดยเฉพาะ
แต่สมมติฐานข้างต้นอาจไม่เป็นเช่นนั้น เพราะถึงแม้แนวโน้มของนักพัฒนาและอุปกรณ์ต่างๆ จะเพียงพอ แต่สิ่งที่จะทำให้เรื่องนี้เป็นฝันกลางวัน คือ ‘ยังไม่รู้ว่าประเทศไทยต้องการอะไรจากเทคโนโลยีควอนตัม’
ว่ากันตามตรง นักเรียนทุนด้านควอนตัมของไทยมีความสามารถไม่แพ้ชาติอื่นๆ เพียงแต่เมื่อเรียนจบและกลับมายังประเทศไทย ยังไม่มีโครงการหรือหน่วยงานที่รองรับการพัฒนาควอนตัมอย่างเพียงพอ จึงทำให้ต้องไปช่วยงานด้านควอนตัมในต่างประเทศ สิ่งนี้จึงย้อนกลับมาส่งผลถึงนักพัฒนารุ่นใหม่ในอนาคต
อีกเหตุผลคือ ในบ้านเราเด็กที่มีความสามารถด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์อาจจะเลือกเรียนวิศวะฯ และหมอเป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นอาชีพที่มั่นคงและได้ผลตอบแทนสูง ส่วนในด้านควอนตัมที่ยังอยู่ในขั้นของการพัฒนา แม้จะเป็นเทคโนโลยีที่คาดกันว่าอาจเปลี่ยนโลกทั้งใบได้ แต่ในสายตาของเด็กๆ ที่เพิ่งเรียนจบชั้นมัธยม อาจยังมองไม่เห็นลู่ทางที่จะนำมาต่อยอดเป็นอาชีพได้
ดังนั้นหากต้องการผลักดันประเทศไทยสู่โลกของควอนตัม เอกชน รัฐบาล ภาคการศึกษา และสื่อมวลชน คงต้องช่วยกันเพื่อสร้างการรับรู้ในวงกว้างและปูทางให้เห็นว่าเราต้องพัฒนาจุดไหนบ้าง
เช่น Quantum Technology Foundation of Thailand หรือ QTFT ก็เป็นอีกองค์กรที่มีความตั้งใจจะเป็นสื่อกลางในการพานักเรียนทุนไทยไปทำงานร่วมกับเอกชนรายใหญ่ๆ เพื่อให้พวกเขาได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ และกลับมาสอนเหล่านักศึกษาที่กำลังอยู่ในช่วงเรียนรู้ เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงได้ว่า สิ่งที่ประเทศไทยต้องการจากเทคโนโลยีควอนตัมคืออะไร
การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ต้องอาศัยระยะเวลา แม้ว่าวันนี้เทคโนโลยีควอนตัมจะเผยให้เราเห็นแค่การทำงานแบบที่ยังไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มรูปแบบ แต่ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับอนาคตที่กำลังจะมาถึง
และในขณะเดียวกันยังมีกลุ่มคนที่เล็กๆ ที่ยังคงทำงานอย่างหนักและไม่หยุดพัฒนาเพื่อพาประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ไปพร้อมกับประเทศอื่นๆ
ถึงวันนั้นพวกเราคงได้ไปเยือน ‘โลกควอนตัม’ พร้อมๆ กัน
หมายเหตุ
เรียบเรียงจาก
- งานประชุมเรื่อง ‘Quantum Technology’ ที่ RISE Innovative Week วันที่ 25 กันยายน 2562
- Facebook Live เรื่อง ‘Quantum Supremacy”….เขย่าโลก! Google ที่อาจนำไปสู่ยุคใหม่ของเทคโนโลยี!’ โดย สุทธิชัย หยุ่น
อ้างอิง
คมชัดลึก.อว.ทุ่ม 100 ล้าน ยกเครื่องงานวิจัยควอนตัมไทย.https://www.komchadluek.net/news/edu-health/387161