ในวันฝุ่นละอองปกคลุมทั่วทั้งเมืองนิวเดลี ทำให้แสงแดดที่เคยเจิดจ้ากลับส่องลงมาได้เพียงน้อยนิด
ฟ้าเป็นสีเทาสลัว ผนังสีแดงของลาลิคาร์ สถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่เคยสวยงามเมื่อต้องแสงอาทิตย์ ถูกบดบังด้วยม่านควันหนาสีเทาทะมึน
ค่าหมอกที่ควันสูงกว่ามาตรฐานถึง 10 เท่า ทำให้แถบสีที่โชว์ในแอพลิเคชันวัดค่าฝุ่นละอองกลายเป็นสีม่วงเข้ม หรืออยู่ในระดับ ‘อันตราย’ จนรัฐบาลอินเดียต้องประกาศสภาวะฉุกเฉิน
แม้วันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จะเป็น ‘วันเด็ก’ อันแสนสนุก แต่เด็กๆ กลับต้องอยู่แต่ในบ้านเพื่อหลบเลี่ยงมลพิษทางอากาศ นี่คือสิ่งที่ผู้คนใน ‘เมืองหลวง’ ประเทศอินเดีย กำลังเผชิญ
‘เมือง’ ในม่านหมอก
91 เปอร์เซ็นต์ของผู้คนบนโลกอยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีมลพิษสูงกว่ากำหนด ในจำนวนนี้เป็นผู้อาศัยในเขตเมืองไปแล้วร้อยละ 55 และมีวี่แววว่าจำนวนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นในปี 2593
เมื่อฝุ่นละอองไม่เคยลดลง องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงประกาศให้มลพิษในเมืองเป็น ‘ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข’
เมืองใหญ่ต่างๆ ได้รับผลกระทบจากฝุ่นควันจากหลายทาง ไม่ว่าจะเป็น การจราจรบนท้องถนน ที่หนาแน่น ยิ่งรถติดและเคลื่อนตัวช้ามากเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้เกิดมลพิษมากขึ้นเท่านั้น รวมถึง โรงงานอุตสาหกรรม ที่เผาไหม้และผลิตควันปริมาณมหาศาลในแต่ละวัน
ยิ่งไปกว่านั้น เมืองใหญ่ยังมีโอกาสได้รับผลกระทบจาก การเผาไร่สำหรับทำการเกษตร จากเมืองรอบข้าง นั่นทำให้เมืองที่แออัดกลายเป็นเหมือนขวดโหลที่อัดแน่นไปด้วยมลพิษ
เมืองเหล่านี้ก็เช่นกัน
นิวเดลี,ประเทศอินเดีย
เดิมทีการจราจรที่แออัดและโรงงานอุตสาหกรรมที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดในประเทศอินเดียนั้นสร้างมลพิษและฝุ่นละอองเป็นจำนวนมหาศาลอยู่แล้ว แต่อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้นิวเดลีก้าวขึ้นเป็นเมืองที่มีค่าหมอกควันสูงที่สุดในเอเชีย คือการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับทำเกษตร
ในแผนที่สำรวจการเผาและความร้อนบนผืนโลกของ NASA แสดงให้เห็นว่ารอบๆ นิวเดลีเต็มไปด้วยจุดสีแดงหนาแน่น เนื่องจากมีการเผาที่ไร่เป็นจำนวนมากเพื่อเตรียมพื้นสำหรับการทำการเกษตร
วิถีการกินฉบับคนเมืองที่ต้องการผลิตอาหารมากๆ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้การเผาเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น เราจำเป็นต้องปลูกพืชเศรษฐกิจในจำนวนมากๆ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการผู้บริโภค การเกษตรแบบดั้งเดิมจึงไม่เพียงพอกับความต้องการของประชากรมากนัก ส่งผลให้ต้องเร่งปลูก เร่งเผา จนควันทั้งหมดกลับมาปกคลุมยังเมืองที่เราอยู่
ต้นเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา นิวเดลีประสบปัญหาหมอกควันร้ายแรงมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา และยังคงยาวนานมาถึงตอนนี้
ส่งผลให้รัฐบาลต้องประกาศให้โรงเรียนหยุด เครื่องบินจำนวน 37 ไฟลท์ต้องเลื่อนเวลาบินออกไปเนื่องจากทัศนวิสัยที่ย่ำแย่
กรุงเทพ, ประเทศไทย
เมืองหลวงของประเทศไทยเองก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน
ถึงแม้หมอกควันที่ร้ายแรงที่สุดในประเทศไทย จะเกิดขึ้นที่ภาคเหนือ ซึ่งมีการเผาพื้นที่ไร่ประจำปี จนทำให้เกิดวิกฤติหมอกควันกินเวลายาวนาน 2-3 เดือน
แต่ ‘กรุงเทพมหานคร’ ก็เป็นพื้นที่อันตรายไม่น้อยกว่าภาคเหนือ เนื่องจากต้องเผชิญฝุ่นละอองตลอดทั้งปี เพราะใจกลางเมืองกรุงเป็นพื้นที่ที่มีฝุ่น PM2.5 สูงที่สุด เนื่องจากการจราจรที่แออัด การก่อสร้าง และผังเมืองอันซับซ้อน เต็มไปด้วยตึกสูง ทำให้ระบายอากาศได้ยาก
นอกจากนี้ ในเขตชานเมืองทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีการเผาเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูมรสุมและฤดูแล้ง ส่งผลให้ลมจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือพัดฝุ่นควันเข้าสู่กรุงเทพฯ
นี่คือภัยเงียบที่อยู่กับคนกรุงมาเสมอ ซึ่งวันนี้กำลังเข้าขั้น ‘วิกฤติ’
เพราะเป็นเมือง…จึงเจ็บป่วย
ดร.อาร์วินด์ คูมาร์ ศัลยแพทย์ทรวงอกชั้นนำของอินเดียกล่าวว่า การหายใจในสภาพอากาศที่เต็มไปด้วยมลภาวะในอินเดียหนึ่งวันเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 25 มวน เป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง การพัฒนาสมองอาการหัวใจวาย โรคความดันโลหิตสูง ภาวะคลอดยาก โรคอ้วน โรคปอดบวม โรคเบาหวานและปัญหาระบบทางเดินหายใจ
การแก้ปัญหาฝุ่นละอองให้หายขาดนั้นต้องอาศัยนโยบายระดับประเทศ เช่น การห้ามเผาอย่างจริงจัง หรือพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้สร้างมลพิษน้อยลง ลดการขนส่งที่ทำให้เกิดมลพิษ ท้ายที่สุดแล้วอาจจะต้องเปลี่ยนถึงระดับการใช้พลังงานซึ่งต้องลดการเผาไหม้ของฟอสซิลให้น้อยลง
ทว่าการเปลี่ยนแปลงระดับเมืองนั้นไม่ได้แก้ไขได้ในวันเดียว นั่นหมายความว่าระหว่างที่เรากำลังเยียวยาเมืองอยู่นั้น คนเมืองต้องสูดเอามลพิษเข้าไปในร่างกายทุกวัน แม้ไม่ใช่ฤดูหมอกควันแต่ก็ต้องตระหนักอยู่เสมอว่า ‘ฝุ่นละอองอยู่กับเราตลอดเวลา’
ดังนั้น วิธีง่ายๆ ที่จะอยู่รอดในเมืองใหญ่ คือ ‘การป้องกัน’
เริ่มจากตรวจเช็คระดับฝุ่นละอองในแต่ละวันได้ง่ายๆ จากแอพลิเคชันที่มีให้ดาวน์โหลดในมือถือ หากวันนั้นเป็นวันที่มีค่าฝุ่นละอองหนาแน่นควรสวมหน้าหน้ากากอนามัย หากเป็นไปได้ติดควรเครื่องฟอกอากาศภายไว้ในบ้าน และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายนอกอาคารในช่วงเช้าและเย็น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีมลพิษหนาแน่นจากการจราจร การหายใจเฮือกใหญ่ๆ จากการวิ่งอาจทำให้เราได้รับมลพิษมากกว่าปกติได้
‘เมือง’ สำหรับหลายๆ คนอาจไม่ใช่แค่ที่อยู่ชั่วคราวแต่เป็นบ้านเกิดที่จำเป็นต้องใช้ชีวิตอยู่ตลอดไป การหลีกหนีออกจากเมืองใหญ่จึงอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย
แต่การทำให้เมืองที่เราอยู่ เป็นสถานที่ปลอดมลพิษต่างหาก คือสิ่งที่พวกเราทุกคนช่วยกันทำให้เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
อ้างอิง
- BBC.Why is India’s pollution much worse than China’s?.https://www.bbc.com/news/world-asia-50298972
- CBS NEWS.Dangerous air pollution in India forces Delhi schools to close for 2nd time in 2 weeks.https://www.cbsnews.com/news/air-pollution-in-india-delhi-forces-schools-industry-closed-health-problems-today-2019-11-15/
- SARAH O’MEARA.How to Breathe Easy in Polluted Cities.https://www.citylab.com/life/2015/07/how-to-breathe-easy-in-polluted-cities/398414/
- Thai PBS.365 วัน “กรุงเทพมหานคร” เมืองในฝุ่น.https://news.thaipbs.or.th/content/284652
- William Park.How city life affects your health and happiness.https://www.bbc.com/future/article/20190816-is-city-life-really-bad-for-you