life

“เพลงเป็นเหมือนสารกระตุ้นที่ถูกกฎหมายของนักกีฬา”

ดร.Costas Karageorghis ภาควิชาการกีฬาและการศึกษา มหาวิทยาลัยบรูเนล ลอนดอน ประเทศอังกฤษ กล่าว

ดร.Costas Karageorghis

เพลงสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของมนุษย์อยู่เสมอ เพราะร่างกายมนุษย์ตอบสนองกับดนตรีได้อย่างอัตโนมัติ เพลงก็มีอิทธิพลกับคนฟังหลายด้าน บางประเภททำให้ผ่อนคลาย และบางประเภททำให้เราสดชื่นเหมือนได้ซดน้ำแดงมะนาวโซดาของป้าหน้าปากซอยในวันที่อากาศเมืองไทยร้อนทะลุปรอท

นักวิจัยจาก American Council on Exercise พยายามสำรวจว่าเพลงนั้นมีผลกับการเคลื่อนไหวของมนุษย์อย่างไรบ้าง ในงานวิจัยหัวข้อ ‘Exploring the Effects of Music on Exercise Intensity’ ได้ผลสรุปออกมาทั้งหมด 3 ข้อ  คือ

  • เพลงทำให้คนเราอยาก ขยับร่างกาย เช่น การเคาะหรือกระดิกเท้าตามจังหวะกลอง 
  • รู้สึก กระตือรือร้นและตื่นตัว เมื่อได้ฟังเพลง คนเราจะรู้สึกอยากขยับร่างกายมากกว่านั่งอยู่เฉยๆ 
  • เบี่ยงเบนความรู้สึก ทำให้เราลืมความเหนื่อยล้าขณะเดินหรือออกกำลังกาย และมีความอดทนมากขึ้น

จะเป็นอย่างไรหาก ‘เดินไปฟังเพลงไป’

หากใครรู้สึกว่าการเดินไปไหนมาไหนนั้นน่าเบื่อและเชื่องช้าไม่ทันใจ ลองเปิดเพลงจังหวะสนุกๆคลอระหว่างทาง อาจทำให้เปลี่ยนความคิดที่มีต่อการเดินก็ได้ เพราะการเปิดฟังระหว่างเดินทำให้ลืมความเหน็ดเหนื่อย แถมยังรู้สึกถึงที่หมายเร็วขึ้น

นั่นไม่ใช่เพราะเราสนใจดนตรีจนลืมระยะทาง หรือเป็นกลไกทางจิตวิทยาแต่อย่างใด แต่มีการวิจัยออกมาแล้วว่า ‘การเปิดเพลงฟังทำให้คนเดินเร็วขึ้น’ จริงๆ 

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Ghent ประเทศเบลเยี่ยม สำรวจเรื่องความสัมพันธ์ของเพลงและการเดิน โดยให้ผู้เข้าทดสอบ 18 คน ฟังเพลง 52 เพลงที่ให้ความรู้สึกแตกต่างกัน แต่ทุกเพลงมีความเร็วเท่ากันคือ 130 bpm (beats per minute) หรือเพลงที่มีจังหวะเคาะนาทีละ 130 ครั้ง 

แน่นอนว่าผลการทดลองเป็นไปอย่างที่ตั้งสมมติฐานไว้ คือแต่ละคนจะก้าวเดินเข้ากับจังหวะเพลง โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 130 ก้าวต่อนาที ซึ่งปกติแล้วคนเราจะเดินเพียง 117 ก้าวต่อนาทีเท่านั้น  

นอกจากนี้ผลการทดลองยังระบุอีกว่า ความตื่นตัวและผ่อนคลายเมื่อได้ฟังเพลง จะขึ้นอยู่กับ ‘อัตราจังหวะ’ (metre) ของเพลงนั้นๆ ที่เป็นตัวกำหนดจังหวะดนตรี ซึ่งจังหวะแบ่งออกเป็น 2, 3 และ 4 จังหวะ 

เพลงที่มีความดุดัน สนุกสนาน หรือเพลงที่คล้ายคลึงกับเพลงสวนสนามของวงโยธวาทิต จะทำให้เรารู้สึกกระฉับกระเฉงและตื่นตัว ก้าวเท้าได้เร็วและยาวกว่าปกติ รู้สึกอยากจะเดินหรือลุกเต้น

ตรงกันข้ามกับเพลงที่มีจังหวะเนิบช้า เช่น เพลงวอลซ์ซึ่งเป็นเพลงเต้นรำบนฟลอร์สวยๆ จะทำให้คนรู้สึกผ่อนคลาย

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมทดลองยังให้ความเห็นว่าการเปิดเพลงเสียงดังจะช่วยให้มีพลังมากกว่าเปิดเบาๆ นั่นอาจเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเวลาอยู่ในคอนเสิร์ตที่เสียงดังกระหึ่ม ถึงทำให้เราอยากกระโดดไปพร้อมกับคนข้างๆ มากกว่าเวลาฟังเพลงอยู่คนเดียวที่บ้าน

ความลับของ ‘การฟังเพลงขณะเดิน’ 

อีกหนึ่งความลับของการฟังเพลงขณะเดินคือ ‘ทำให้เราแก่ช้า’ หลายคนอาจเคยสังเกตคุณตาคุณยายที่เดินเหินได้อย่างคล่องแคล่ว ทั้งๆ ที่อายุมากแล้ว นิสัยการเดินอย่างกระฉับกระเฉงอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พวกเขาอายุยืนก็เป็นได้ 

เมื่อคนเราอายุมากขึ้นร่างกายย่อมเสื่อมสภาพลง และส่งผลให้การเดินและการเคลื่อนไหวเริ่มเชื่องช้า ก้าวสั้นลง และเดินไม่เป็นจังหวะ จนในที่สุดอาจต้องใช้ไม้เท้าช่วยพยุง

แท้จริงแล้วการเดินฝึกฝนได้ หากพยายามเดินด้วยความเร็วสม่ำเสมอเหมือนตอนหนุ่มสาว จะทำให้อายุของเรายืนยาวตามไปด้วย

แน่นอนว่า ‘ดนตรี’ ก็มีส่วนช่วยให้เราเดินได้อย่างสมดุล โดยเฉพาะเพลงที่มีความเร็วประมาณ 137 – 139 bpm จะช่วยให้การเดินของเราเร็วขึ้น และไม่เชื่องช้าไปตามกาลเวลา

แล้วเราต้องเดินเร็วแค่ไหน ?

ความเร็วที่เหมาะสมคือควรเดินให้ได้ประมาณ 1 เมตร/วินาที หรือก้าวหนึ่งครั้งให้ยาว 1 เมตรนั่นเอง ทั้งนี้ จำนวนดังกล่าวอาจไม่ได้เหมาะสมกับทุกคนเสมอไป เนื่องจากสรีระของมนุษย์มีความแตกต่างกัน 

ไม่เพียงแค่การเดิน แต่การออกกำลังกายแบบอื่นๆ ก็ใช้เสียงเพลงช่วยได้เช่นกัน

ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งที่ใช้ความเร็วเพลงประมาณ 147–169 bpm 

หรือปั่นจักรยานที่ใช้ความเร็วเพลง 135–170 bpm

การเลือกเพลงที่เหมาะสมกับประเภทการออกกำลังกายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การออกกำลังมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ เสียงดนตรียังช่วยกลบเสียงลมหายใจของตัวเราเอง เพื่อเบี่ยงเบนไม่ให้รู้สึกเหนื่อย แต่กลับอดทนมากขึ้นด้วยนะ

พรุ่งนี้เช้าลองจัดเพลย์ลิสต์ที่ชอบแล้วเปิดฟังระหว่างเดิน เพื่อช่วยเติมความสดชื่นให้กับเส้นทางเดิมๆ

และอาจรู้สึกว่าถึงที่หมายเร็วกว่าวันอื่นๆ ก็เป็นได้

 

อ้างอิง