life

หนึ่งในปัญหาที่โลกยุคศตวรรษที่ 21 ต้องเผชิญ และเป็นประเด็นใหญ่ที่ทั่วโลกหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ การเข้าสู่ ‘สังคมผู้สูงอายุ’*

ซึ่งหลายประเทศเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์นี้ในหลากหลายรูปแบบ

‘เกาหลีใต้’ กำลังประสบวิกฤตนี้เช่นกัน

แต่หลายคนอาจไม่คาดคิดว่า ประเทศที่ได้ชื่อว่าพัฒนาแล้วด้วยอุตสาหกรรมบันเทิงเคป๊อบที่มีภาพลักษณ์สดใส และมีการท่องเที่ยวที่มีธรรมชาติอันสวยสดงดงาม รวมทั้งตัวเมืองที่เพียบพร้อมไปด้วยนวัตกรรม จะมีจำนวน ‘ผู้สูงอายุยากจน’ มากที่สุดในโลกแอบแฝงซ่อนอยู่ (ตามรายงานของ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ในปี 2016)

elderly south korea
(Photo by Youn Jae-Wook / AFP)

ผศ.ดร.คิม ซอง วอน (Kim Sung Won) อาจารย์มหาวิทยาลัยโตเกียว ผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยเกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุในเกาหลีใต้ บอกเล่าให้ฟังถึงเบื้องหลังของปัญหาและความพยายามปรับตัวของคนแดนโสม

เพื่อเปลี่ยนวิกฤต ‘สังคมผู้สูงอายุ’ แสนยากจนให้เป็นโอกาส

โดยใช้ต้นทุนทางสังคมที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

elderly south korea
ผศ.ดร.คิม ซอง วอน (Kim Sung Won) อาจารย์มหาวิทยาลัยโตเกียว ผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยเกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุในเกาหลีใต้ (photo: https://www.jfbkk.or.th)

‘สูงวัย ยากจน’ ปัญหาใหญ่ของคนแดนกิมจิ

ผศ.ดร.คิม เริ่มต้นด้วยการเล่าถึงสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตของสังคมสูงวัยในเกาหลีใต้ ซึ่งอีก 18 ปีข้างหน้า เกาหลีใต้จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว เช่นเดียวกับประเทศไทย

elderly south korea
(Photo by Ed Jones / AFP)

แต่เกาหลีใต้มีความน่าหนักใจมากกว่า เนื่องจากผู้สูงอายุกลุ่มดังกล่าว ยังมีคุณภาพชีวิตที่เข้าข่ายคำว่า ‘ยากจน’ สูงถึง 49.6% หากเปรียบเทียบกับเหล่าประเทศพัฒนาแล้วด้วยกัน และนับเป็นตัวเลขที่มากกว่าญี่ปุ่น ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงหลายเท่าตัว ซึ่งมีจำนวนที่ 19.4%

“ถึงแม้ว่าหลายคนอาจมองว่าเกาหลีใต้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว แต่หลายคน หลายอาชีพยังได้ค่าแรงน้อย ทำให้ไม่สามารถจ่ายบำนาญรายเดือนหรือค่าเบี้ยประกันต่างๆ ได้ ผู้สูงอายุในเกาหลีใต้ส่วนใหญ่จึงได้รับเงินสวัสดิการน้อยมาก”

elderly south korea
(Photo by Ed Jones / AFP)

ผศ.ดร.คิมเล่าถึงที่มาที่ไปของปัญหา และยังเสริมว่า คนเกาหลีใต้หลายคนที่มีอายุเพียง 40-50 ปี และยังมีกำลังทำงาน ถูกไล่ออกจากบริษัทแล้ว เพราะถูกมองว่าเป็นคนแก่ ไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานเท่าคนหนุ่มสาว ทำให้ผู้สูงวัยหลายคนต้องออกไปทำกิจการของตัวเอง และเมื่อมีการแข่งขันสูงขึ้น ธุรกิจของผู้สูงอายุหลายคนต้องปิดตัว ทำให้พวกเขากลับมาเป็นคนตกงานและไม่มีรายได้อีกครั้ง

elderly south korea
(Photo by Toru Yamanaka / AFP)

ลอกเลียนญี่ปุ่นไม่ใช่คำตอบ

ก่อนหน้านี้เกาหลีใต้พยายามแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตให้ผู้สูงอายุ โดยการดูตัวอย่างจากประเทศรุ่นพี่อย่าง ‘ญี่ปุ่น’ ซึ่งมีจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก และมีการเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว นำหน้าเกาหลีใต้มาได้สักระยะหนึ่ง

แต่ภายหลังเกาหลีใต้พบว่า การดูแลผู้สูงอายุแบบรัฐบาลญี่ปุ่นไม่ใช่คำตอบที่เหมาะสมหรือเข้ากับบริบทสังคมเกาหลีใต้

elderly south korea
(Photo by Choo Youn-Kong / AFP)

“เกาหลีใต้ลองใช้ระบบประกันแบบบำนาญเพื่อดูแลผู้สูงอายุในระยะยาวของญี่ปุ่นมาเป็นแบบอย่าง ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดี แต่ความเป็นจริงแล้ว ญี่ปุ่นและเกาหลีมีความแตกต่างกัน รัฐบาลญี่ปุ่นให้งบประมาณในการสนับสนุนมากกว่า ทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า

“เกาหลีไม่สามารถเลียนแบบได้ เพราะหมายถึงการใช้งบประมาณจำนวนมากและการเป็นหนี้สาธารณะของประเทศ”

ออกแบบและแก้วิกฤตด้วย ‘การบริจาคบริการ’

เมื่อนักสังคมสงเคราะห์และหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับผู้สูงอายุในเกาหลีใต้พบว่าโมเดลของญี่ปุ่น ‘ไม่ได้ผล’ จึงสร้างสรรค์แนวทางแก้ไขปัญหาในแบบฉบับของตัวเองขึ้นมาใหม่ โดยใช้ต้นทุนทางสังคมที่เกาหลีใต้มี นั่นคือ ‘ชุมชน’ ที่เข้มแข็ง และเน้นการให้ ‘บริการ’ แทนตัวเงิน

“สังคมเกาหลีมีเงินน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้วประเทศอื่น ทำให้เรามอบเงินอุดหนุนสวัสดิการผู้สูงอายุไม่ได้เยอะมาก เราจึงสร้างบริการที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ผู้สูงอายุเป็นการทดแทน”

ในปีพ.ศ. 2549 เกาหลีใต้จัดตั้งศูนย์สวัสดิการสังคมในชุมชนขึ้น 4 แห่ง เป็นแบบทดลองในช่วงแรก เพื่อทำงานเป็นตัวกลางระหว่างชุมชนและผู้สูงอายุ โดยเข้าไปติดต่อขอความร่วมมือจากร้านค้าและธุรกิจต่างๆ ชักชวนให้จัดบริการให้ผู้สูงอายุฟรี  ทั้งนี้ขึ้นอยู่ความสมัครใจของเจ้าของกิจการด้วย

เจ้าของร้านที่ร่วมโครงการให้บริการฟรีแก่ผู้สูงอายุ (photo: www.nippon.com)

อาทิเช่น โรงอาบน้ำสาธารณะที่เปิดให้ผู้สูงอายุอาบน้ำฟรี 3 คนต่อเดือน ร้านตัดแว่นที่ตัดแว่นสายตาให้ผู้ใหญ่วัย 60 ปีขึ้นไป 2 คนต่อเดือน หรือคลีนิคที่ทำการรักษาคนแก่ให้ฟรี 1 คนใน 1 วัน เป็นต้น นอกจากนีี้ ยังมีโรงหนัง ร้านอาหาร ร้านขายยา ร้านทำผม คลีนิคทำฟัน ขนส่งสาธารณะ ร้านคาราโอเกะ เข้าร่วมโครงการนี้ ซึ่งทางร้านค้าต้องทำสัญญากับทางโครงการด้วย

elderly south korea
ร้านชาบูในเกาหลีใต้ที่เปิดให้บริการให้ผู้สูงอายุทานฟรี (photo: www.nippon.com)
elderly south korea
ร้านแว่นในเกาหลีร่วมโครงการบริการตัดแว่นสายตาให้ผู้สูงอายุฟรี (photo: Jung Yeon-Je/AFP)

“ถ้าเรารอแต่เงินจากภาครัฐคงไม่เพียงพอ ดังนั้นเราจึงเปลี่ยนมาขอความร่วมมือจากคนภาคเอกชน ถ้าขอให้คนในชุมชนบริจาคเป็นเงินน่าจะลำบาก แต่หากขอเป็นบริการและทำเป็นคูปองให้ผู้สูงอายุใช้ มันได้ผลมากกว่า”

ผู้สูงอายุในโครงการนี้ไม่ได้เป็นฝ่ายรอรับเพียงอย่างเดียว พวกเขายังได้ร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อตอบแทนชุมชนในรูปแบบต่างๆ ด้วย เช่น เล่นดนตรี ทำข้าวกล่อง ทำกิมจิแจกจ่ายผู้คน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้สูงอายุยังรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเอง

elderly south korea
ผู้สูงอายุร่วมกันทำกิมจิแจกจ่ายคนในชุมชน เป็นการตอบแทนที่มอบบริการต่างๆ ให้ฟรี (photo: www.kukmindaily.co.kr)

ผศ.ดร.คิม ยืนยันว่า โครงการนี้ประสบความสำเร็จมาก และเกิดขึ้นแล้วตามชุมชนต่างๆ ประมาณ 500 แห่งทั่วประเทศ

ถือเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุด้วยวิธีการสร้างสรรค์ตามต้นทุนที่ตัวเองมี

และไม่จำเป็นต้องเลียนแบบใคร.

Fact Box

  • ‘สภาวะสังคมผู้สูงอายุ’ แบ่งเป็น 3 ระดับตามคำนิยามของสหประชาชาติ (United Nations)ได้แก่ สังคมที่มีผู้สูงอายุ อายุ 65 ปี มากกว่าร้อยละ 7 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ถือว่าประเทศนั้นได้กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) เมื่อมีจำนวนผู้สูงอายุร้อยละ 14 จะถือว่าประเทศนั้นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) และในประเทศที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมดประเทศ จะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่(Super-Aged Society)

  • ข้อมูลในเบื้องต้นสรุปจากเวทีเสวนาสาธารณะ ‘สังคมสูงวัยไทย-ญี่ปุ่น: สูงวัยอย่างมีพลังในยุคดิจิทัล ในช่วงของผศ.ดร.คิม ซอง วอน จัดขึ้นโดยความร่วมมือของเจแปนฟาวน์เดชั่น  กรุงเทพฯ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย  สมาคมญี่ปุ่นแห่งประเทศไทย และ SASAKAWA PEACE FOUNDATION

อ้างอิง:

  • กรมการส่งเสิรมการค้าระหว่างประเทศ.รายงานธุรกิจบริการผู้สูงอายุในเกาหลีใต้.https://bit.ly/2P1Dlm6
  • Thai Trade Center, Seoul.ความท้าทายในการปรับเปลี่ยนนโยบายตามการเติบโตของสังคมผู้สูงอายุของชาวเกาหลีใต้.https://bit.ly/2KqtjMA