©ulture

“เรื่องสุนทรภู่พูดทั้งวันก็ไม่จบ”

อ.พรเทพ โตชยางกูร ผู้แต่งหนังสือ ‘ตามรอยสุนทรภู่สู่ระยอง’ และหลงใหลในคำกลอนของสุนทรภู่ กล่าวเปรยระหว่างการบรรยายในพิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ ณ วัดเทพธิดาราม

สุนทรภู่ พิพิธภัณฑ์ ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต บทกวี วัดเทพธิดาราม กลอน กวี
ประตูทางเข้ากุฏิสุนทรภู่ วัดเทพธิดาราม

ในฐานะผู้ฟัง เราพบแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจจากเรื่องเล่าของอาจารย์ นั่นคือ ไม่ว่าจะเห็นอะไร สุนทรภู่ก็สามารถแปรสิ่งนั้นเป็นบทกลอน

‘ผู้หายใจเป็นกลอนแห่งกรุงรัตนโกสินทร์’ อ.พรเทพ เปรียบเปรยแบบนั้น

อาจารย์ พรเทพ โตชยางกูร สุนทรภู่ พิพิธภัณฑ์ ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต บทกวี วัดเทพธิดาราม กลอน กวี
อ.พรเทพ โตชยางกูร

ความไพเราะ ความคิดอันเด็ดขาด และการสังเกตสิ่งต่างๆ ทำให้บทกลอนของสุนทรภู่เปรียบเสมือนบันทึกประวัติศาสตร์สังคมในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ อันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากสังคมไทยโบราณเข้าสู่สมัยใหม่

ก่อนจะพูดถึงคำกลอนของสุนทรภู่ที่สะท้อนวิถีชีวิต วัฒนธรรม และภูมิปัญญาในสมัยนั้น เราขอแวะไปที่ความเป็นกวีของท่าน ว่าสุนทรภู่เริ่มฉายแววความเป็นกวีเอกเมื่อใด

สุนทรภู่ พิพิธภัณฑ์ ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต บทกวี วัดเทพธิดาราม กลอน กวี อนุสาวรีย์
อนุสาวรีย์สุนทรภู่ในพิพิธภัณฑ์

เพียงเห็นลมพัด ก็พรรณา

หนังสือ คนเจ้าบทเจ้ากลอน และเกร็ดนิยายวรรณคดี ของประจักษ์ ประภาพิทยากร เล่าถึงตอนที่สุนทรภู่ (หรือ “ภู่” ในเวลานั้น) ยังเล็กว่า ขณะเรียนหนังสืออยู่วัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม บางกอกน้อย) ท่านได้ติดตามอาจารย์ไปทุ่ง แล้วเกิดลมบ้าหมู

สุนทรภู่ก็กล่าวขึ้นทันที “แต่ลมยังเป็นบ้าสุกรพัด ไฉนสัตว์จะไม่หลงในสงสาร”

พออาจารย์ได้ยินก็เอ่ยว่า “เอ็งนี่ ต่อไปจะได้เป็นจินตกวีเอกจริงเจียว”

‘โคบุตร’ นิทานกลอนเรื่องแรกสู่นิราศลำดับที่หนึ่ง

เมื่อย่างเข้าวัยหนุ่ม สุนทรภู่ผู้โปรดปรานการแต่งบทกลอนมากกว่าทำงานอื่นใด ได้แต่งบทประพันธ์เรื่องแรกคือ โคบุตร ซึ่งเป็นการแต่งนิทานด้วยกลอนสุภาพ ที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน

สุนทรภู่ พิพิธภัณฑ์ ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต บทกวี วัดเทพธิดาราม กลอน กวี โคบุตร หนังสือ
นิทานคำกลอนสุนทรภู่ เรื่อง โคบุตร (Photo: ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ)

จากนั้นเวลาออกเดินทางไปที่ใด สุนทรภู่ก็เริ่มใช้กลอนประพันธ์เป็นนิราศ เช่น นิราศเมืองแกลง ซึ่งเป็นนิราศเรื่องแรกที่สุนทรภู่แต่งระหว่างเดินทางไปหาพ่อที่เมืองแกลง และบรรยายสภาพการเดินทางต่างๆ ไว้โดยละเอียด

เช่นที่ ‘พัทยา’ ที่พรรณนาว่า สมัยนั้นพัทยายังเป็นทุ่ง ไม่มีอะไรสวยงามเช่นทุกวันนี้

เข้าเดินดงพงชัฏสงัดเงียบ

เย็นยะเยียบน้ำค้างพร่างพฤกษา

ออกชะวากปากทุ่งพัทยา

นายแสงพาเลี้ยวหลงที่วงเวียน

สุนทรภู่ พิพิธภัณฑ์ ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต บทกวี วัดเทพธิดาราม กลอน กวี พัทยา
พัทยาในอดีต พ.ศ.2495

คำกลอนหนึ่งพลิกผันโชคชะตา

เมื่ออายุย่างเข้าสามสิบ สุนทรภู่เวลานั้นเข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์ในรัชกาล 2 ได้เลื่อนขั้นจากอาลักษณ์ปลายแถว เป็นขุนสุนทรโวหาร หลังแสดงฝีมือต่อกลอนที่รัชกาลที่ 2 ทรงติดขัดระหว่างการแต่งบทละคร รามเกียรติ์ ตอนนางสีดาผูกคอตาย

สุนทรภู่ พิพิธภัณฑ์ ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต บทกวี วัดเทพธิดาราม กลอน กวี
รัชกาลที่ 2

“ตรงนี้จะแต่งต่ออย่างไรดีนะ ให้หนุมานเข้าช่วยนางสีดาได้ทันการณ์…” วิดีทัศน์ในพิพิธภัณฑ์เล่าจำลองเหตุการณ์ในครั้งนั้น

ใครที่เคยผ่านตากลอนบทนี้จะรู้ว่า รามเกียรติ์ ที่รัชกาลที่ 2 ใช้เป็นต้นฉบับ ซึ่งแต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 นั้น เป็นบทกลอนที่ค่อนข้างยาว เนื่องจากเป็นกลอนอ่าน แต่พอต้องทำเป็นบทละคร มีตัวละครแสดงประกอบ คำกลอนเดิมนั้นอาจยาวยืดเกินไป

จากกลอนยาว 4 บท รัชกาลที่ 2 จึงแต่งใหม่ให้กระชับ โดยตัดลงครึ่งหนึ่ง แล้วแต่งบทแรกว่า

จึงเอาผ้าผูกพันกระสันรัด

เกี่ยวกระหวัดไว้กับกิ่งโศกใหญ่

ชายหนึ่งผูกศออรไท

แล้วทอดองค์ลงไปจะให้ตาย…

แล้วทรงติดขัด ไม่อาจไปต่อ สุนทรภู่จึงมีโอกาสแสดงฝีมือกลอน โดยแต่งต่อให้ได้ความกระชับและไพเราะว่า

บัดนั้น

วายุบุตรแก้ได้ดังใจหมาย

จึงเข้ามานบนอบยอบกาย

ถวายบังคมก้มพักตร์

เพียงกลอนสั้นๆ หนึ่งบทข้างต้น ได้สร้างความพอพระทัยให้รัชกาลที่ 2 อย่างยิ่ง และพลิกชะตาของสุนทรภู่จากอาลักษณ์ธรรมดา กลายเป็นกวีคนโปรดที่มีชีวิตรุ่งเรืองในสมัยรัชกาลที่ 2

สุนทรภู่ พิพิธภัณฑ์ ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต บทกวี วัดเทพธิดาราม กลอน กวี แกลง ระยอง
อนุสาวรีย์สุนทรภู่ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง (Photo: ปานตะวัน รัฐสีมา)

อีกหนึ่งคำกลอนพัดพาพลิกผัน

หลังสิ้นยุครัชกาลที่ 2 สุนทรภู่ก็ลาออกจากราชการ แล้วออกบวช

มีการตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุที่สุนทรภู่ทิ้งชีวิตราชการหลังเปลี่ยนรัชสมัย เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 2 ท่านเคยหักหน้ากรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 ที่ต่อมาเสด็จเถลิงถวัลย์ครองราชย์เป็น รัชกาลที่ 3) หลังกรมหมื่นฯ นำบทกลอนที่ทรงแต่งมาให้สุนทรภู่ดู ก่อนจะนำไปให้รัชกาลที่ 2 ทรงทอดพระเนตร สุนทรภู่ดูแล้วก็ไม่ว่าอะไร

น้ำใสไหลเย็นแลเห็นตัว

ว่ายแหวกกอบัวอยู่ไหวไหว

แต่พอไปถึงหน้าพระพักตร์ รัชกาลที่ 2 ทรงตรัสถามทำนองว่า นี่กลอนอะไร ตัวอะไร ไม่รู้เรื่อง สุนทรภู่จึงแก้เป็น…

น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา

ว่ายแหวกปทุมมาอยู่ไหวไหว

ว่ากันว่าการแก้บทกลอนนี้ ทำให้กรมหมื่นฯ ไม่พอใจอย่างยิ่ง พอเปลี่ยนรัชสมัย สุนทรภู่รู้แก่ใจ ว่าอยู่ต่อไปคงจะไม่รุ่ง จึงขอลาออกจากราชการ แล้วบวชเป็นพระ

สุนทรภู่ พิพิธภัณฑ์ ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต บทกวี วัดเทพธิดาราม กลอน กวี กุฏิ
ข้าวของเครื่องใช้ของสุนทรภู่ที่เก็บรักษาไว้ในกุฏิ

วันคืนผ่าน…เดินทางไกลกลับสู่วังและฆราวาส

สุนทรภู่บวชเป็นเวลา 18 พรรษา โดยระหว่างนั้นได้ย้ายไปอยู่วัดต่างๆ หลายแห่ง และธุดงค์ไปที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยช่วงหนึ่งจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม ซึ่งปัจจุบันบริเวณกุฏิของท่านกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเรื่องราวของสุนทรภู่

สุนทรภู่ พิพิธภัณฑ์ ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต บทกวี วัดเทพธิดาราม กลอน กวี ต้นชมพู่
ป้ายในห้อง ‘แรงบันดาลใจไม่รู้จบ’ ที่จัดแสดงประวัติของสุนทรภู่

ว่ากันว่าวัดเทพธิดารามแห่งนี้ เป็นสถานที่ค้นพบต้นฉบับลายมือวรรณกรรมทรงคุณค่าอย่างพระอภัยมณี ตอนนางสุวรรณมาลีฆ่าตัวตาย

“เราเจอต้นฉบับลายมือนี้ที่วิหารภิกษุณี 52 รูป ระหว่างที่กรมศิลปากรมาบูรณะ อยู่ดีๆ ก็หล่นลงมาจากหลังคา” พี่ตุ้ม เจ้าหน้าที่ประจำพิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ให้ข้อมูล

พี่ตุ้ม สุนทรภู่ พิพิธภัณฑ์ ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต บทกวี วัดเทพธิดาราม กลอน กวี
พี่ตุ้ม

หลังจากสึก สุนทรภู่ก็กลับมารับราชการอีกครั้งกับเจ้าฟ้าจุฬามณี (ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นรัชกาลที่ ๔) ด้วยความที่เจ้าฟ้าจุฬามณีสนใจด้านวิทยาการตะวันตก โปรดคบค้ากับชาวต่างชาติและมิชชันนารี ทำให้สุนทรภู่ได้เดินทาง เห็นโลก และได้รับความรู้แปลกใหม่มากมาย

ซึ่งส่งผลให้วรรณกรรมของสุนทรภู่ในยุคหลังเป็นโดดเด่นด้านการเป็นบทบันทึกประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาที่น่าศึกษาค้นคว้า

สุนทรภู่ พิพิธภัณฑ์ ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต บทกวี วัดเทพธิดาราม กลอน กวี ต้นชมพู่

สุนทรภู่ พิพิธภัณฑ์ ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต บทกวี วัดเทพธิดาราม กลอน กวี ต้นชมพู่
มุมหนึ่งในห้อง ‘มณีปัญญา’ ของพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงบทกลอนสุนทรภู่ที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตด้านต่างๆ

ประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาในบทกลอน

หนึ่งในภูมิปัญญาที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงอย่างกว้างขวางคือเรื่องวิธีการรักษาด้วย ‘การผ่าตัด’ ที่ปรากฏใน พระอภัยมณี ซึ่งสุนทรภู่แต่งขึ้นในสมัยที่ทำงานกับเจ้าฟ้าจุฬามณี ทำให้รู้ว่า ในสมัยนั้น มีการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดแล้ว

บทกลอนดังกล่าวบรรยายถึงวิธีรักษาไว้อย่างเห็นภาพ…

ฝ่ายสุวรรณมาลีศรีสวัสดิ์

ถึงปรางค์รัตน์เร้ารวดปวดอังสา

ให้หมอแก้แผลกำซาบซึ่งอาบยา

เอามีดผ่าขูดกระดูกที่ถูกพิษ

 

เป่าน้ำมันกันแก้ตรงแผลเจ็บ

เอาเข็มเย็บยุดตรึงขี้ผึ้งปิด

ทั้งข้างนอกพอกยาสุรามฤต

ให้ถอนพิษผ่อนปรนพอทนทาน

สุนทรภู่ พิพิธภัณฑ์ ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต บทกวี วัดเทพธิดาราม กลอน กวี พระอภัยมณี
ภาพวาดราว พ.ศ.2393-2443 ที่คาดว่าเป็นตอนหนึ่งของวรรณคดีเรื่อง พระอภัยมณี

พี่ตุ้ม เจ้าหน้าที่ประจำพิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ อธิบายว่ากลอนบทนี้ทำให้รู้ว่า คนสมัยก่อนเมื่อผ่าตัดแล้ว ต้องขูดพิษหรือเนื้อร้ายออก แล้วเย็บ จากนั้นจึงใช้ขี้ผึ้งปิดแผล ส่วนการฆ่าเชื้อและแก้ปวดจะใช้เหล้า

“ตุ้มเคยถามคนที่ทำขึ้ผึ้ง ว่าขี้ผึ้งทำจากอะไร” เธอเล่า

“เขาบอกทำจากรังผึ้ง มีคุณสมบัติดีคือทำให้แผลสมานเร็วและน้ำไม่เข้า แต่รังผึ้งสมัยนี้หายาก และขี้ผึ้งมีราคาแพง เราจึงใช้ยาฝรั่งและผ้าก๊อซปิดแผล”

หรือใน นิราศเมืองเพ็ชร ที่สุนทรภู่แต่งเมื่อพ.ศ.2388 ช่วงปลายรัชสมัยรัชกาลที่ ๓ มีตอนหนึ่งสะท้อนว่า คนสมัยนั้นเริ่มให้ความสำคัญกับเงินตรา เมื่อท่านเดินทางผ่านบ้านคนจีนที่ร่ำรวยจากการค้าขาย แล้วได้เมียสวย

ถึงบางหลวงล่วงล่องเข้าคลองเล็ก

ล้วนบ้านเจ๊กขายหมูอยู่อักโข

เมียขาวขาวสาวสวยล้วนรวยโป

หัวอกโอ้อายใจมิใช่เล็ก

 

ไทยเหมือนกันครั้นว่าขอเอาหอห้อง

ต้องขัดข้องแขงกระด้างเหมือนอย่างเหล็ก

มีเงินงัดคัดง้างเหมือนอย่างเจ๊ก

ถึงลวดเหล็กลนร้อนอ่อนละไม

สุนทรภู่ พิพิธภัณฑ์ ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต บทกวี วัดเทพธิดาราม กลอน กวี
ภาพแสดงวิถีชีวิตผู้คนในสมัยสุนทรภู่ในห้อง ‘มณีปัญญา’

“ความพิเศษของวรรณคดีไทยอยู่ตรงนี้ มันมีจินตนาการ มีภูมิปัญญาที่ซ่อนอยู่” อ.พรเทพ โตชยางกูร ผู้แต่งหนังสือ ‘ตามรอยสุนทรภู่สู่ระยอง’ กล่าวในช่วงท้ายของการบรรยายในพิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ ณ วัดเทพธิดาราม

“ขอเพียงแค่ตัดความว่าไม่เอาอ่ะ ยาก เชย ล้าสมัยออกไปก่อน เปิดใจเข้าไปอ่านดู ทำความเข้าใจ ค้นคว้า คุณจะเห็นความงดงามในวรรณคดีไทยอีกมาก ไม่ใช่แค่เพียงผลงานของสุนทรภู่เท่านั้น”

สุนทรภู่ พิพิธภัณฑ์ ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต บทกวี วัดเทพธิดาราม กลอน กวี
วัดเทพธิดาราม

ราวเที่ยงเกือบบ่ายวันนั้น หลังการบรรยายในพิพิธภัณฑ์สุนทรภู่จบลง ระหว่างที่เดินออกจากวัดเทพธิดาราม เรานึกถึงเรื่องราวของสุนทรภู่ที่ได้ฟัง แล้วคิดว่าจะลองเปิดใจกลับไปทำความรู้จักสุนทรภู่อีกครั้งผ่าน นิราศภูเขาทอง ซึ่งเป็นงานประพันธ์ของสุนทรภู่ที่ อ.พรเทพ บอกว่าเขาชอบมากที่สุด

เพราะเต็มไปด้วยอรรถรสทางวรรณคดี ความไพเราะ รสคำ ความคิด สัจธรรมของชีวิต และมีหักมุมในตอนจบ

ซึ่งเราค้นพบว่านิราศเรื่องนี้ (และอีกหลายเรื่อง) มีให้อ่านออนไลน์ในเว็บไซต์ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ http://bit.ly/34pEriq

สุนทรภู่ พิพิธภัณฑ์ ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต บทกวี วัดเทพธิดาราม กลอน กวี นิราศ หนังสือ
หนังสือ ประชุมกลอนนิราศต่างๆ ภาคที่ ๑ ในเล่มมีเรื่องนิราศภูเขาทอง (Photo: ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ)

ผู้อ่านท่านใดสนใจไปเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ สามารถเยี่ยมชมได้ทุกวัน ตั้งแต่ 10:00 – 17:00 โดยตัวพิพิธภัณฑ์อยู่ในวัดเทพธิดาราม มีป้ายบอกตลอดทาง หาไม่ยาก คนไทยเข้าฟรี คนต่างชาติเสียค่าเข้าชม 50 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร 085 120 8914

*หมายเหตุ: เรียบเรียงจากการบรรยายในกิจกรรม Cultural District 2019 หัวข้อ เรียนรู้ เข้าใจเรื่องกลอนสุนทรภู่และความสัมพันธ์ของสุนทรภู่กับรัชกาลที่ ๒ จัดโดยมิวเซียมสยาม