pe©ple

สหรัฐอเมริกา, ปี 1989 มีเรื่องราวที่ไม่มีใครคาดคิดเกิดขึ้นในวงการรถยนต์

เมื่อแบรนด์รถหรูน้องใหม่จากญี่ปุ่นชื่อ ‘เลกซัส’ ทำยอดขายหลายหมื่นคันในปีแรกที่เผยโฉมสู่ตลาดโลก จนแบรนด์หรูฝั่งยุโรป ซึ่งเป็นเจ้าตลาดในอเมริกา ต่างได้รับผลกระทบ ด้วยยอดจำหน่ายที่ลดลง

จากนั้นอีกเพียงสองปี (ปี 1991) เลกซัสก็มียอดขายพุ่งสูงเป็นอันดับหนึ่งของกลุ่มรถหรูในสหรัฐอเมริกา 

 

คำถามคือเกิดอะไรขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ ไม่กี่ปี?

ทำไมแบรนด์รถหรูน้องใหม่จากญี่ปุ่น ถึงสร้างยนตรกรรมที่เต็มไปด้วยรายละเอียดความรู้ด้านวิศวกรรมและการออกแบบขั้นสูง ขึ้นมาตีตลาดแบรนด์หรูฝั่งยุโรปได้สำเร็จ

การจะตอบคำถามนี้ได้ เราอาจต้องย้อนกลับไปที่ เออิจิ โตโยดะ (Eiji Toyoda) ผู้ให้กำเนิดเลกซัสในวันที่ไม่มีใครเชื่อว่า ญี่ปุ่นจะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตรถหรูได้

เออิจิ โตโยดะ ผู้ให้กำเนิดแบรนด์เลกซัส (ภาพ: lexusatlanta.com)

อะไรคือสิ่งที่เขาคิดและทำ และสิ่งใดกันคือรากฐานที่ เออิจิ โตโยดะ สร้างไว้

จนทำให้เลกซัสยังคงเป็นแบรนด์รถหรูที่อยู่ในใจคนจนถึงวันนี้

โปรเจค F 1 กับโจทย์ ‘รถยนต์ที่ดีที่สุด’

เออิจิ โตโยดะ เกิดความคิดท้าทายตัวเขาและทีมงานในปี 1983 ว่าเราจะสร้างรถหรูที่ดีที่สุดในโลก

โปรเจคที่มีชื่อรหัส F1 ที่หมายถึง “Flagship One” จึงถือกำเนิด เพื่อพัฒนารถยนต์ Lexus LS 400 โดยหวังบุกตลาดรถหรูในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดรถหรูขนาดใหญ่ของโลก

LS 400 รถรุ่นแรกของเลกซัสที่เจาะตลาดอเมริกาได้ในปีแรกที่ออกจำหน่าย (ภาพ: carjager.com)

เออิจิรู้ดีว่าการเจาะตลาดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย

เพราะช่วงปี 1950s เขาเคยส่ง โตโยต้า คราวน์ ซึ่งเป็นรถหรูขนาดกลางของโตโยต้าเข้าไปจำหน่ายในอเมริกา แต่ผลลัพธ์กลับล้มเหลว เนื่องจากตลาดรถหรูเมืองลุงแซม เต็มไปด้วยแบรนด์รถหรูจำนวนมาก แข่งขันสูง และถ้าไม่ใช่รถที่ดีที่สุด ก็ยากที่จะเรียกเงินจากเศรษฐีอเมริกัน

ด้วยเหตุนี้ พอเริ่มโปรเจค F1 เออิจิจึงทุ่มงบประมาณแบบไม่อั้น และกำลังคนระดับหัวกะทิจำนวนหลายพัน ประกอบด้วย

นักออกแบบ 60 คน

ทีมวิศวกร 24 ทีม รวม 1,400 คน

นักเทคนิค 2,300 คน

หน่วยสนับสนุนอีก 220 คน

ในการวิจัยและพัฒนารถยนต์หรูที่ดีที่สุด เพื่อเจาะตลาดรถหรูในอเมริกา ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา ไม่เคยมีแบรนด์รถยนต์ใดจากเอเชียทะลวงเข้าไปได้

(ภาพ: blog.lexus.co.uk)

ลงลึกทุกรายละเอียด เพื่อความไร้ที่ติ

ระหว่างที่โปรเจค F1 กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น ในปี 1985 เออิจิยกทีมงานไปที่สหรัฐอเมริกาเพื่อศึกษาและสำรวจตลาด

เพราะการจะรู้จักลูกค้าได้อย่างแท้จริง ไม่มีวิธีใดเลย นอกจากการเข้าไปอยู่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของพวกเขา

เออิจิจึงให้ทีมวิศวกรเชิญผู้ใช้รถหรูจากทุกแบรนด์หลายร้อยคนมาสัมภาษณ์ ว่าอะไรคือสิ่งที่พวกเขาชอบ ไม่ชอบ เพื่อค้นหาความต้องการที่แท้จริง ซึ่งยังไม่มีแบรนด์รถหรูใดมอบให้

ไม่เพียงแค่ฟัง เออิจิยังส่งทีมนักออกแบบไปเช่าบ้านอาศัยอยู่ที่ Laguna Beach รัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อให้เฝ้าสังเกตวิถีชีวิตและรสนิยมของบรรดาเศรษฐีอเมริกัน ซึ่งจะเป็นลูกค้าในอนาคตของเลกซัส ว่าในชีวิตจริง คนเหล่านี้ใช้ชีวิตกินอยู่กันอย่างไร

ทุกรายละเอียดล้วนถูกเก็บมาเป็นข้อมูลในการพัฒนารถยนต์ และเพื่อให้เข้าถึงความเป็นรถยนต์ที่ดีที่สุด โปรเจค F1 ต้องใช้เวลาในการพัฒนาอย่างเข้มข้นจริงจังถึง 6 ปี ทำรถต้นแบบกว่า 450 คัน ทดลองวิ่งบนสนามทดสอบทั่วโลก ทั้งในสนามแข่งและถนนปกติ ในทุกสภาวะ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตั้งแต่สหรัฐอเมริกา เยอรมัน เบลเยี่ยม สวีเดน และแคนาดา รวมระยะทางกว่า 4.3 ล้านไมล์

เพื่อหาจุดบกพร่องให้พบ แล้วแก้ไขจนไร้ที่ติ เพื่อตอบโจทย์การสร้างรถหรูที่ดีที่สุด

(ภาพ: blog.lexus.co.uk)

ความใส่ใจขั้นสุด ดีเอ็นเอจากเออิจิ โตโยดะ สู่ดีเอ็นเอของเลกซัส

ถ้าเออิจิไม่ใช่ผู้ให้กำเนิดเลกซัส เลกซัสอาจไม่เป็นเลกซัสแบบที่เป็นอยู่

เพราะความใส่ใจในรายละเอียดขั้นสุดแบบไม่ปล่อยผ่าน ที่ต่อมาได้กลายเป็นออริจินัลสโลแกน ‘The Relentless Pursuit of Perfection’ หรือการแสวงหาความสมบูรณ์แบบอย่างไม่มีที่สิ้นสุดของเลกซัส จะว่าไปนี่คือคุณสมบัติที่อยู่ในตัวของเออิจิตั้งแต่วันแรกๆ ที่เริ่มต้นทำงาน

ตอนนั้นในฐานะคนหนุ่มที่เพิ่งเรียนจบด้านวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยโตเกียว เออิจิเข้ามาทำงานในธุรกิจครอบครัว ที่ขณะนั้นเป็นโรงงานทอผ้า ก่อนที่ในอีกหนึ่งปีต่อมา คิอิจิโร โตโยดะ ญาติของเขาจะบุกเบิกธุรกิจด้านยานยนต์ แล้วให้เออิจิมาช่วยดูแล

เออิจิ โตโยดะ วัย 54 ปี หลังเข้ามาดูแลธุรกิจรถยนต์ได้ 30 ปี (ภาพ: Toyota Motor Corporation)

ด้วยอายุที่น้อยและขาดไร้ประสบการณ์ แต่มีภาระงานที่ต้องรับผิดชอบจำนวนมากอยู่ตรงหน้า เออิจิจึงพยายามอย่างหนักเพื่อจะเข้าใจสิ่งที่เขาทำอย่างลงลึกที่สุด

“มันยากมากที่ผมจะรับรู้ความต่างหนึ่งในร้อยส่วนของมิลลิเมตร” เออิจิเปรยถึงช่วงปีแรกๆ ในการทำงาน เพราะเขาต้องการเข้าใจชิ้นส่วนต่างๆ ของรถยนต์ในระดับหน่วยที่เล็กที่สุด แน่นอน สิ่งนี้ไม่ง่าย แต่ถึงอย่างไร เขาก็คิดว่าการรับรู้ถึงความต่างเพียงเล็กน้อยเหล่านี้คือสิ่งสำคัญในการสร้างรถยนต์

ภายในห้องโดยสาร เลกซัส LS 400

และนี่เองได้กลายมาเป็นมาตรฐานของการพัฒนาและสร้างรถยนต์หรูภายใต้แบรนด์เลกซัส ที่สั่นสะเทือนตลาดรถหรูในสหรัฐอเมริกาทันทีตั้งแต่ปีแรกที่ออกจำหน่าย ด้วยสมรรถนะ คุณภาพการขับขี่ บริการหลังการขายชั้นยอด ที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาเพื่อแสวงหาความสมบูรณ์แบบ ที่พวกเขาบอกว่า มันไม่มีที่สิ้นสุด อะไรที่คิดว่าดีแล้ว ยังสามารถมีสิ่งที่ดีกว่าให้พวกเขาต้องก้าวไปหาเสมอ

บทความเลกซัส LS 400 ในนิตยสาร Sports Illustrated ปี 1989 (ภาพ: hemmings.com)

ซึ่งการถือกำเนิดของเลกซัส เป็นเหมือนผลงานชิ้นโบว์แดงที่เออิจิทุ่มสุดตัวและฝากไว้ในช่วงท้ายของการทำงาน ก่อนที่เขาจะเกษียณในอีกไม่กี่ปีต่อมา

ฉะนั้น หากเปรียบเลกซัสเป็นดั่งรอยเท้าที่เออิจิทิ้งเอาไว้ให้ผู้สืบทอดรุ่นหลัง ก็ต้องบอกว่านี่คือรอยเท้าที่ใหญ่มาก จนหลายคนอดคิดไม่ได้ว่าโตโยดะรุ่นหลัง จะเดินต่อไปได้ถึงจุดไหน 

สู่การแสวงหาความสมบูรณ์แบบในยุคใหม่ ที่ไปไกลกว่ารถยนต์

หน้าที่ในการสานต่อเลกซัส ตกเป็นของ อากิโอะ โตโยดะ (Akio Toyoda) ทายาทรุ่น 3 ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของเออิจิ 

และรอยเท้าขนาดใหญ่ที่เขาต้องก้าวเดินต่อนี้ไม่ง่ายเลย 

ยิ่งเออิจิทำไว้ดีเท่าไหร่ ความกดดันที่ถาโถมมาสู่เขายิ่งมากเป็นทวีคูณ 

ถึงแม้เลกซัสยังคงรักษาระดับการเป็นรถหรูที่ดีที่สุดได้อย่างไม่ลดหย่อน แต่ขณะเดียวกัน ก็ถูกตั้งคำถามถึงดีไซน์และความแปลกใหม่

‘เลกซัสเป็นรถที่ดีแต่ดูน่าเบื่อ’ นี่คือคำวิจารณ์ที่เขาต้องเผชิญในวันที่เข้ามาสานต่อเลกซัสในยุคหลัง

ในฐานะประธานบริษัท อากิโอะ รู้ว่า นี่ไม่ใช่สัญญาณที่ดี เขาจึงตัดสินใจเข้ามากุมบังเหียนดูแลแบรนด์เลกซัสด้วยตัวเอง

อากิโอะ โตโยดะ ผู้บริหารเลกซัสคนปัจจุบันในวันเปิดตัว LC 500h (ภาพ: wheelz.me)

ในวันแถลงข่าวเปิดตัว LC 500h รถยนต์สปอร์ตคูเป้รุ่นใหม่ล่าสุด อากิโอะเปิดตัวรถพร้อมๆ กับยืนอ่านคอมเมนต์ด้านลบของเลกซัสให้สื่อมวลชนฟัง คนอื่นอาจจะว่าแปลก 

แต่สำหรับคนเลกซัสอย่างเขา นี่คือแนวคิดพื้นฐานที่เขารับช่วงต่อมาจากเออิจิ 

นั่นคือการรับฟังทุกความต้องการ เพื่อแสวงหาความสมบูรณ์แบบอย่างไม่สิ้นสุดให้กับลูกค้าเช่นที่เป็นมา

“ผมมุ่งมั่นที่จะทำให้แน่ใจว่า คำว่า ‘น่าเบื่อ’ กับ ‘เลกซัส’ จะไม่อยู่ในประโยคเดียวกันอีกต่อไป”

ตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา อากิโอะได้พาเลกซัสเข้าสู่ปริมณฑลใหม่ของการออกแบบที่พลิกโฉม ด้วยดีไซน์ที่อาจเรียกได้ว่าหวือหวาสะดุดตา ทว่ายังคงใส่ใจในทุกรายละเอียด และพิถีพิถันในทุกขั้นตอนการผลิต พร้อมทั้งขยายนิยามของเลกซัสให้เป็นมากกว่าแค่รถยนต์

“เราต้องการสร้างแบรนด์เลกซัสให้เป็นมากกว่าแค่รถหรู แต่คือไลฟ์สไตล์”

เลกซัสภายใต้การนำของอากิโอะ ก้าวไปอีกขั้นด้วยการสร้างยานพาหนะอื่นๆ อย่างจักรยาน เรือยอร์ช รวมถึง INTERSECT BY LEXUS พื้นที่ไลฟ์สไตล์ที่รวมคาเฟ่ ร้านอาหาร บาร์ ที่จัดแสดงอีเวนต์ และขายสินค้า ซึ่งสะท้อนตัวตนและปรัชญาความเป็นเลกซัสในทุกรายละเอียด

หากความละเอียด พิถีพิถัน และใส่ใจคุณภาพแบบทุกตารางนิ้ว คือสิ่งที่เออิจิสร้างไว้ให้เป็นมาตรฐานความสมบูรณ์แบบของเลกซัส อากิโอะคือคนที่ต่อยอด ด้วยการพาสิ่งเหล่านั้นมาออกนอกรถ สู่ไลฟ์สไตล์แบบที่คนทั่วไปสัมผัสได้

ซึ่งสิ่งเหล่านี้เลกซัสเผยให้เห็นชัด เมื่อครั้งที่พวกเขาจัดกิจกรรม Lexus Cultural Experience  ที่พาสื่อมวลชนจากทั่วโลก ไปสัมผัสเบื้องหลังวิธีคิดและการสร้างรถยนต์ของเลกซัสถึงศูนย์การออกแบบและโรงงานผลิตในประเทศญี่ปุ่น

INTERSECT BY LEXUS

ความสมบูรณ์แบบที่ไม่สิ้นสุด

“อะไรคือสิ่งที่คุณภาคภูมิใจที่สุดเกี่ยวกับการออกแบบของเลกซัส”

นักข่าวคนหนึ่งถามอากิโอะในวันที่เขาเปิดตัวเรือยอร์ช ยานพาหนะใหม่ของเลกซัส ที่เป็นหมุดหมายว่า เลกซัสจะเป็นไลฟ์สไตล์แบรนด์ ที่ไม่จำกัดแค่รถยนต์อีกต่อไป

“ความสง่างาม” (The gracefulness) อากิโอะตอบ

ก่อนจะขยายความว่า แบรนด์หรูหราส่วนใหญ่มักพูดถึงความเหนือระดับ คุณภาพชั้นยอด หรือกระทั่งรถยนต์สมรรถนะสูง “แต่ผมต้องการแน่ใจว่า ท่ามกลางสิ่งเหล่านี้ เลกซัสจะต้องมีความสง่างามสำหรับคนที่ได้ขับขี่หรือเห็นยวดยานของเรา นั่นคือสิ่งที่ผมยืนยันได้เมื่อพูดถึงเลกซัส

“แต่ผมไม่ได้บอกว่า ณ จุดนี้ เราบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวแล้วอย่างสมบูรณ์”

เพราะสิ่งที่จะทำให้เลกซัสบรรลุวัตถุประสงค์นั้น สำหรับอากิโอะคือการพัฒนาและอบรมคนที่จะมาสร้างเลกซัสให้ก้าวไปข้างหน้า และที่สำคัญยิ่งกว่า คือการเปิดรับความคิดเห็นจากผู้คน

ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร แล้วเราควรจะพัฒนาให้ดีขึ้นได้อย่างไร “เขามักจะพูดถึงเรื่องนี้เสมอ เราจะต้องทำรถยนต์ที่ดีขึ้นกว่าเดิม” ทาเคชิ อุชิยามาดะ เจ้าหน้าที่บริหารคนหนึ่งพูดถึงอากิโอะ

ช่างฝีมือระดับ ‘ทาคุมิ’ ของเลกซัส ที่ต้องผ่านการฝึกฝนกว่า 60,000 ชั่วโมง กำลังตรวจสอบความเรียบร้อยของรถยนต์ (ภาพ: muz.li และ global.toyota)

เพราะนี่คือแนวคิดที่หยั่งรากลึกในแบรนด์เลกซัสตั้งแต่วันที่โลกยังไม่รู้จักว่าเลกซัสคืออะไร จนกระทั่งวันนี้ที่เลกซัสกลายเป็นแบรนด์รถหรูใหญ่ ที่เข้าไปนั่งในหัวใจคน อันเป็นผลของการแสวงหาความสมบูรณ์แบบอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ซึ่งเป็นแนวคิดที่ เออิจิ โตโยดะ ผู้ให้กำเนิดเลกซัสส่งต่อมาถึง อากิโอะ โตโยดะ ผู้บริหารคนปัจจุบัน จนทำให้แบรนด์รถหรูจากญี่ปุ่นอย่างเลกซัส สามารถบุกตลาดสหรัฐอเมริกา และครองใจผู้ใช้รถยนต์หรูหรามาจนถึงวันนี้

เลกซัส LS 400 (ปี 1989) และ เลกซัส LC 500 (ปี 2018)

ร่วมสัมผัสประสบการณ์การขับขี่สุดพิเศษกับเลกซัส ด้วยการลงทะเบียนทดลองขับได้ที่  http://bit.ly/2RhxjRr

 

อ้างอิง: