©ulture

รู้ไหม…กรุงเทพฯ มีร้านชาเก่าแก่ที่เปิดมาตั้งแต่รัชกาลที่ 6

ใครเคยผ่านไปแถว ‘สี่กั๊กเสาชิงช้า’ หรือสี่แยกที่เป็นจุดตัดระหว่างถนนเก่า 3 สาย (ถนนตะนาว ถนนบำรุงเมือง และถนนเฟื่องนคร)

คงเคยเห็นห้องแถวใหญ่หัวมุมถนน ตรงทิศที่ไปศาลเจ้าพ่อเสือ มีป้ายร้านเขียนกำกับว่า บริษัท ใบชาอ๋องอิวกี่ จำกัด

ร้านชา อ๋องอิวกี่ เสาชิงช้า ถนนบำรุงเมือง สี่กั๊กเสาชิงช้า รัชกาลที่ 6
ร้านชาอ๋องอิวกี่ ถ่ายเมื่อพ.ศ.2558 (Photo: Instagram / chanvout)

ความโอ่โถงและเก่าแก่บริเวณหน้าร้านและตัวอาคาร อาจทำให้บางคนรู้สึกเกรงขามเกินกว่าจะก้าวเท้าเข้าไป

แต่ด้านหนึ่ง ความเก่าแก่ก็เป็นเสน่ห์ดึงดูดให้ common เปิดประตูเข้าไปทำความรู้จักร้านชาแห่งนี้

เพื่อดื่มด่ำรสชาและเกร็ดประวัติศาสตร์ ที่เล่าผ่านทายาทรุ่นที่สาม ซึ่งหาไม่ได้จากร้านชาร้านใด

ร้านชา อ๋องอิวกี่ เสาชิงช้า ถนนบำรุงเมือง สี่กั๊กเสาชิงช้า รัชกาลที่ 6
นพพร ภาสะพงศ์ หรือ “พี่บี๋” ทายาทรุ่นที่สาม ร้านชาอ๋องอิวกี่

‘อ๋องอิวกี่’ ชื่อร้านและชาที่อยากให้คนจดจำ

‘อ๋องอิวกี่’ หมายถึงอะไร

นพพร ภาสะพงศ์ หรือ “พี่บี๋” ทายาทรุ่นที่สาม มักจะเจอคำถามนี้จากแขกหน้าใหม่ที่แวะเวียนเข้ามา

แต่เธอก็ยินดีอธิบายอย่างไม่มีเบื่อด้วยรอยยิ้ม

อ๋อง คือ แซ่หรือสกุล

อิวกี่ แปลว่า ขอให้ท่านจดจำไว้

“อ๋องอิวกี่” จึงหมายถึง ขอให้ลูกค้าได้จดจำชาชื่ออ๋องนี้ไว้

ร้านชา อ๋องอิวกี่ เสาชิงช้า ถนนบำรุงเมือง สี่กั๊กเสาชิงช้า รัชกาลที่ 6

พี่บี๋เล่าว่าอาก๋ง เฮ่ากึ๊น แซ่อ๋อง เป็นชาวฮกเกี๊ยนที่เดินทางเข้ามาเมืองไทยในสมัยรัชกาลที่ 6 ด้วยความที่บรรพบุรุษทำชา อาก๋งจึงมาตั้งรกราก โดยยึดอาชีพขายชา

แต่ในยุคนั้น ชายังไม่มีในเมืองไทย เมื่อขายชาหมด อาก๋งจะนั่งเรือกลับไปเมืองจีน เพื่อเอาชามาขายใหม่

“ตอนนั้นเป็นช่วงที่เมืองไทย ยังไม่ค่อยมีใครนำเข้าชาจีน” พี่บี๋เล่า

เมื่อชาเป็นของหายาก และคู่แข่งมีไม่มาก ธุรกิจชาของอาก๋งก็ค่อยๆ เติบโตขึ้นตามวันเวลา

จากเริ่มแรกที่แบกชาใส่กระด้งเดินขาย ก็ขยับขยายสู่การซื้อตึกแถวเปิดร้านขายชา ซึ่งเป็นตึกเดียวกับที่ตั้งร้านปัจจุบัน

ชาตราปั้น ใบชาตราปั้น ร้านชา อ๋องอิวกี่ เสาชิงช้า ถนนบำรุงเมือง สี่กั๊กเสาชิงช้า รัชกาลที่ 6

เสิร์ฟชาทุกระดับประทับใจ

หากเปรียบร้านชาอ๋องอิวกี่เป็นร้านอาหาร คงเป็นร้านอาหารชื่อดังของคอชา ที่มีเมนูให้เลือกหลากหลาย ทั้งคุณภาพและระดับราคา

‘คุณภาพของชาที่คัดมาเรียงรายบนชั้นแสดงให้เห็นถึงความพิถีพิถันของเจ้าของร้านที่บรรจงเลือกสรรชาเข้ามาจำหน่ายอย่างแท้จริง’

สตีเฟน หลิว (Steven Liu) นักเขียนเรื่องชา เจ้าของเว็บไซต์ สารพันสาระความรู้เรื่องชา เขียนเล่าถึงร้านอ๋องอิวกี่

Steven Liu
สตีเฟน หลิว

สตีเฟ่น หลิว บอกว่าเขาเป็น ‘บิ๊กแฟน’ ของที่นี่ เพราะชาที่นำมาขาย หลายตัวเป็นชาดีและหายาก เช่น ไป๋หาวอิ๋นเจิน (白毫银针) ชาขาวจากเมืองฝูติ่ง และเมืองหนานผิง มณฑลฮกเกี้ยน ที่มีคุณสมบัติแก้พิษร้อนใน ล้างพิษไข้ พิษทางเดินอาหาร และนิยมนำไปผสมกับสมุนไพรบางชนิด แต่ไม่ค่อยมีคนนิยมนำเข้ามาขาย เพราะเป็นชาที่แพงกว่าชาตลาด และอายุการเก็บรักษาสั้นมาก

ชาไป๋หาวอิ๋นเจิน ใบชาตราปั้น ร้านชา อ๋องอิวกี่ เสาชิงช้า ถนนบำรุงเมือง สี่กั๊กเสาชิงช้า รัชกาลที่ 6
ชาไป๋หาวอิ๋นเจิน (Photo: m.chayishu.cn)

‘เมื่อจิบแล้วให้รสชาติเบาๆ แต่มีความมัน กลิ่นหอมเหมือนกลิ่นดอกไม้พวกพุดซ้อนอ่อนๆ มีกลิ่นหญ้าสดผนวกกับกลิ่นงาคั่วเบาๆ

‘เป็นชาที่ละเอียดอ่อน นุ่มนวลสมกับเป็นยอดชาขาว ความรู้สึกชุ่มคอและชุ่มชื้นในปากเด่นชัด…​’

นอกจากชาดีมีราคา ที่นี่ยังมีชาเกรดรองลงไป แต่ให้รสชาติดีให้ล้ิมลอง เช่น ชาตราปั้น ยี่ห้อเก่าแก่ของร้าน ที่สร้างชื่อเสียงให้ร้านอ๋องอิวกี่เป็นที่รู้จัก จนมีพ่อค้าชาบางรายแอบอ้างชื่อไปใช้

ชาตราปั้น ใบชาตราปั้น ร้านชา อ๋องอิวกี่ เสาชิงช้า ถนนบำรุงเมือง สี่กั๊กเสาชิงช้า รัชกาลที่ 6
ใบชาตราปั้น (Photo: มิวเซียมสยาม)

แม้ชาตราปั้นจะมีราคาไม่แพง และจับกลุ่มตลาดล่างเป็นหลัก แต่ด้วยสูตรการปรุงเฉพาะของอ๋องอิวกี่ที่คัดสรรพันธุ์ชาท้องถิ่นมาผสมกับชานอกชนิดต่างๆ ทำให้รสชาติมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและถูกปากผู้คน

“การดื่มชาเราไม่จำเป็นต้องซื้อตัวแพงๆ นะ ค่อยๆ แยกให้ถูกว่าตัวไหนเป็นตัวไหน แล้วค่อยเอาความรู้ตรงนั้นไปต่อยอดเป็นตัวอื่นต่อ”

พี่บี๋ให้ความรู้ ก่อนให้พนักงานชงชาต้อนรับแขกที่มาเยือน

ร้านชา อ๋องอิวกี่ เสาชิงช้า ถนนบำรุงเมือง สี่กั๊กเสาชิงช้า รัชกาลที่ 6

แกล้มชาด้วยเรื่องเก่า และเกร็ดประวัติศาสตร์นอกตำรา

จิบชาก่อน แล้วค่อยคุยกันเรื่องค้าขาย คือธรรมเนียมการค้าจีนแต่โบราณ

ระหว่างนั่งคุย เราจึงซักถามพี่บี๋ถึงเรื่องราวต่างๆ ที่สงสัย

เช่น ผนังร้านด้านหนึ่งที่ดูคล้ายตู้เซฟ พี่บี๋บอกว่า นั่นคือ ‘ถ้ำชา’ สำหรับเอาไว้เก็บชาให้ไม่ชื้นและรักษากลิ่นชา

“ลองโผล่หน้าดมดู เก็บชามาตั้งแต่ 60 ปีก่อนจนถึงตอนนี้ กลิ่นชาจะหอมมาก”

พอยื่นหน้าเข้าไปใกล้ๆ ยังไม่ทันสูดหายใจ กลิ่นชาที่อวลอยู่ด้านในก็ส่งกลิ่นหอมฟุ้ง

ร้านชา อ๋องอิวกี่ เสาชิงช้า ถนนบำรุงเมือง สี่กั๊กเสาชิงช้า รัชกาลที่ 6
ถ้ำชา

สำหรับชา เรื่องกลิ่นเป็นสิ่งที่ต้องใส่ใจ

“เพราะชามีคุณสมบัติพิเศษในการดูดกลิ่นทุกชนิด อย่างกระดาษห่อชา สมัยก่อนห่อแล้วก็นำชาไปใส่ถ้ำ ต้องเลือกกระดาษที่ทำจากเยื่อไม้ที่ไม่มีกลิ่น หรือสีพิมพ์บนกระดาษ ก็ต้องไม่มีกลิ่นเช่นกัน”

ไม่เช่นนั้นชาจะดูดกลิ่นที่อยู่ใกล้ จนเสียกลิ่นดั้งเดิมที่เคยเป็น

ร้านชา อ๋องอิวกี่ เสาชิงช้า ถนนบำรุงเมือง สี่กั๊กเสาชิงช้า รัชกาลที่ 6
สมัยก่อนจะเก็บชาไว้ด้านบน แล้วส่งชาผ่านช่องเพดานโดยวิธีดึงรอก

จากถ้ำชา บทสนทนาไหลลื่นไปถึงเรื่องราวในอดีต ซึ่งเป็นเกร็ดประวัติศาสตร์

พี่บี๋เล่าว่า ที่นี่เป็นจุดกำเนิดของคำว่า ‘เทวดาเดินดิน กินข้าวแกง’

สมัยก่อนที่ยังมีพิธีโล้ชิงช้า (พระราชพิธีตรียัมปวาย) ขบวนของพิธีจะตั้งต้นที่นี่

สมัยนั้นแยกนี้ถือเป็นย่านการค้าที่คึกคัก เพราะมีวงเวียน รถยนต์วิ่งกันขวักไขว่ รถรางก็มาพบกันที่นี่ รอบๆ เต็มไปด้วยร้านรวงต่างๆ ของคนจีน ตั้งแต่ร้านค้า ร้านรองเท้า ร้านนาฬิกา กระทั่งร้านข้าวแกง

ร้านชา อ๋องอิวกี่ เสาชิงช้า ถนนบำรุงเมือง สี่กั๊กเสาชิงช้า รัชกาลที่ 6
สี่กั๊กเสาชิงช้าในอดีต

“วันพิธี คนที่แต่งชุดเป็นเทวดา จะมากันแต่เช้า แล้วก็มานั่งกินข้าวแกงแถวนี้

“นี่เป็นที่มาของคำว่า เทวดาเดินดินกินข้าวแกง”

พูดจบ พี่บี๋ก็รินชาแจกจ่ายแขกในร้าน และถามว่า ถ้าใครมีอะไรสงสัย ไม่ว่าเรื่องชา เรื่องร้าน เรื่องเกร็ดประวัติศาสตร์ที่เธอพอจะรู้ ถามได้ตลอด หรือถ้าวันนี้ยังไม่หนำใจ

“ถ้าอยากทดลองดื่มชา วันไหนว่างๆ ก็หาเวลามานั่งดื่มกันได้ค่ะ” พี่บี๋กล่าวพร้อมยิ้มตาหยี

ร้านชา อ๋องอิวกี่ เสาชิงช้า ถนนบำรุงเมือง สี่กั๊กเสาชิงช้า รัชกาลที่ 6

ร้านชาอ๋องอิวกี่ อยู่บริเวณสี่แยกเสาชิงช้า ถนนบำรุงเมือง เปิดวันจันทร์-เสาร์ เวลา 08:00 – 17:00 น. โทร.02 222 1748

อ้างอิง: