‘ทมิฬหินชาติ’ วลีที่ใช้บรรยายถึงความโหดร้ายป่าเถื่อน มีที่มาจากชาวทมิฬจริง
ส่วนชาวทมิฬจะโหดร้ายหรือไม่ คงยังตอบไม่ได้ เพราะข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับที่มาของวลีนี้ ล้วนมาจากชนชาติที่เคยเป็น ผู้ชนะ และ ศัตรู
ดังนั้น เราจะมาดูข้อสันนิษฐานอื่นๆ เกี่ยวกับ ‘ทมิฬหินชาติ’ เพื่อหาคำตอบว่า ชาวทมิฬ เป็นชนชาติที่โหดร้ายจริงหรือ?
ทมิฬ = หินชาติ
คำว่า ‘ทมิฬ’ หากสืบค้นความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ จะมีคำจำกัดความว่า
(๑) [ทะมิน] น. ชนพื้นเมืองอินเดียเผ่าหนึ่ง ปัจจุบันมีอยู่มากทางอินเดียแถบใต้และเกาะลังกาแถบเหนือ, ชื่อภาษาของชนเผ่านั้น. (ป.).
(๒) [ทะมิน] ว. ดุร้าย, ร้ายกาจ, เช่น ใจทมิฬ ยุคทมิฬ, บางทีก็ใช้เข้าคู่กับคำ หินชาติ เป็น ใจทมิฬหินชาติ. (ป.).
ฉะนั้น ‘ทมิฬ’ ใน ‘ทมิฬหินชาติ’ น่าจะมีความหมายในแบบที่สอง คือเป็น คำวิเศษณ์ ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับชนชาติใดๆ
และที่หยิบเอา ทมิฬ มาคู่กับ หินชาติ ก็น่าจะเป็นลักษณะการใช้คำประเภท “คำซ้อน”
โดยเป็นการซ้อนเพื่อความหมาย คือใช้คำที่มีความหมายเหมือนกันหรือใกล้เคียงมาซ้อนกัน เพราะทั้ง ทมิฬ และ หินชาติ ก็ล้วนมีความหมายในเชิงลบไม่ต่างกัน
ท้ายที่สุด หากตัดอคติเรื่องชนชาติ ความขัดแย้ง และการรบราฆ่าฟันออกไป คงเหลือไว้แต่เพียงคำว่า ‘ทมิฬ’ ก็จะพบว่า ทมิฬ ในฐานะเป็นคำวิเศษณ์นั้น เป็นไปในทางเดียวกับ ‘หินชาติ’ จริงๆ
แต่หากพูดถึง ทมิฬ ในแง่ของคำนามที่หมายถึงชนชาติแล้ว จะพบว่าเป็นคนละเรื่อง
คนทมิฬ ≠ ใจทมิฬ
ชาวทมิฬในปัจจุบัน คือ ลูกหลานของชาวดราวิเดียน
ชาวดราวิเดียน คือ ชนชาติที่ก่อกำเนิดอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ ทั้งเมืองโมเฮนโจ ดาโร และเมืองฮารัปปา อารยธรรมเก่าแก่ยุคแรกๆ ของโลก ที่มีการวางผังเมืองอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย สะท้อนถึงความรู้ด้านวิศวกรรมและเรขาคณิตอันยอดเยี่ยม รวมไปถึงระบบสุขาภิบาล ที่มีการสร้างท่อระบายน้ำ แยกน้ำดี-น้ำเสีย ตลอดจนมีการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และติดต่อค้าขายกับต่างชาติ
นอกเหนือไปจากนั้น ปัจจุบัน ภาษาทมิฬยังจัดว่าเป็นภาษาเก่าแก่ที่สุดภาษาหนึ่งของโลกที่ยังไม่ตาย อีกทั้งยังเป็นภาษาแรกที่มีการเขียนแบบเฉพาะสำหรับบทกวี โดยมีผู้ใช้ภาษาทมิฬประมาณ 78 ล้านคน นับเป็นภาษาที่มีผู้ใช้มากที่สุดเป็นอันดับที่ 20 ของโลก
เรียกได้ว่า ถ้าจิตใจโหดเหี้ยมดุร้าย จะกล่าวว่า ‘ใจ ทมิฬหินชาติ’ ก็คงไม่ผิด…
แต่ถ้าจะบอกว่า ‘คน ทมิฬหินชาติ’ อาจจะต้องรื้อประวัติศาสตร์กันอีกยาว.
อ้างอิง :
- Lani Seelinger. The 10 Oldest Languages Still Spoken in the World Today. http://bit.ly/2CWSkdS
- NGThai. ไม่มีอารยันและดราวิเดียนแท้ในอินเดีย. http://bit.ly/2AkE2RB
- คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง. ภารตะ-สยาม? ผีพราหมณ์ พุทธ?. กรุงเทพฯ : มติชน, 2560.
- น้าชาติ ประชาชื่น. สยามวงศ์. http://bit.ly/2Pdt0pE
- มนสิชา เอกปิยะพรชัย, ผศ. ดร. ชานป์วิชช์ ทัดแก้ว. เสวนาภารตวิทยา: “ทมิฬไม่หินชาติ”. วันที่ 17 พฤษภาคม 2561
- มติชนสุดสัปดาห์. ศรีลังกา ปัญหาชนชาติ บีบคั้นชาวทมิฬ ผ่านภาษาสิงหล จนต้องฆ่ากันตาย. https://www.matichonweekly.com/scoop/article_11080
- วิกิพีเดีย. ภาษาทมิฬ. https://th.wikipedia.org/wiki/ภาษาทมิฬ
- วิกิพีเดีย. อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ. https://th.wikipedia.org/wiki/อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ