“ต่อจากนี้ไป ข้าพเจ้าขอพาท่านชมดุสิตธานี โดยใช้ภาพประกอบ…”
หลังจาก หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล กล่าวประโยคนี้ในตอนที่แล้ว (พาชม ‘ดุสิตธานี’ ตอนที่ 1: บันทึกเที่ยวชมเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๓) เขาก็เริ่มพานำชมเมือง
โดยเริ่มจากภาพทิวทัศน์ดุสิตธานีในมุมกว้าง แล้วก็ค่อยๆ พาเที่ยวชมเมืองทีละเขต พร้อมเปิดภาพถ่ายทีละภาพ
และเรื่องเล่าจากลิ้นชักความทรงจำ…
ก่อนเดินเข้าเมือง หม่อมหลวงปิ่นในฐานะมัคคุเทศก์ แนะให้หยุดดูแผนผังของดุสิตธานีเสียก่อน เพื่อให้เห็นภาพของเมืองทั้งเมือง
เขตพระราชวัง
หม่อมหลวงปิ่นนำชมที่เขตนี้เป็นแห่งแรก อาคารส่วนใหญ่ในเขตพระราชวังนั้นจำลองมาจากพระบรมมหาราชวังที่กรุงเทพฯ แต่มีขนาดย่อมเยาว์กว่า
“กลุ่มอาคารที่มีความสำคัญอันดับ 1 คือพระราชวังที่มีชื่อว่า พระวัชรินทร์ราชนิเวศน์ นั่นเอง ส่วนใหญ่จำลองมาจากพระบรมมหาราชวังที่กรุงเทพฯ…”
“ภาพนี้คือพระราชวังมองจากทิศเหนือ เห็นกลุ่มพระมหาปราสาทอยู่บนเนินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ป้อมทางขวามือคือ ป้อมเผด็จฤทธิ์แรง และป้อมที่มุมทางซ้ายมือคือ ป้อมแผลงฤทธิ์กล้า…”
“พระที่นั่งองค์ใหญ่ที่คล้ายพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง …ขอให้ท่านผู้มีเกียรติสังเกตความประณีตของสถาปัตยกรรม…”
“ท่านผู้มีเกียรติคงจะบอกได้ทันทีว่า ภาพนี้เหมือนพระที่นั่งสุทไธสวรรค์ระหว่างประตูเทวาพิทักษ์ และประตูศักดิ์ชัยสิทธิ์ ของพระบรมมหาราชวังที่กรุงเทพฯ แต่ภาพนี้คือ พระที่นั่งสุทไธสูรย์ปราสาท ระหว่างประตูกุเวรรังสรรค์ และประตูเวสสะวัณรังสฤษฏ์ของพระวัชรินทร์ราชนิเวศน์ในดุสิตธานี”
“…นี่คือ ‘ตำหนักแพ’ อยู่ตรงประตูอุทกราชาของพระราชวังทางด้านถนนเขื่อนเพชร…”
“…จากใกล้ไปหาไกล คือ พระที่นั่งสุทไธสูรย์ปราสาท หอพระพุทธรัตนสถาน และพระที่นั่งจันทรกานต์มณี (เก๋งจีน)…”
“นี่คือ หอพระพุทธรัตนสถาน ซึ่งตั้งอยู่บนเนินริมกำแพงพระราชวังด้านตะวันตก…”
“ภายในบริเวณพระราชวังทางทิศทักษิณ มีพระที่นั่ง…ซึ่งสร้างคล้ายพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นพระที่นั่งบรมพิมาน) ในพระบรมมหาราชวัง”
“ภายในบริเวณพระราชวังมีลำน้ำและสระน้ำที่สวยงามดังภาพนี้…”
“ภาพ เขาแก้วริมสระ ในพระวัชรินทร์ราชนิเวศน์…”
“ทางด้านบูรพา มีอาคารทรงอินเดีย มีนามว่า พระตำหนักเฟดรายานี มีน้ำพุเป็นแถวอยู่เบื้องหน้า คล้ายกับว่าจะล้อทาชมาฮาลที่เมืองอัครา”
“ภายในพระราชวัง สุดทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ มี พระตำหนักเรือนต้น …ตามทะเบียนบัญชีสำมะโนครัวทวยนาครในตำบลดุสิต ปรากฎว่าพระราชวังพระวัชรินทร์ราชนิเวศน์ ตั้งอยู่ที่ถนนหน้าพระลานมี 35 หลังคาเรือน มีคนอยู่เพียง 1 คน ชื่อ พระวิสุทธิ เป็นคนเฝ้าพระราชวัง”
—
“บัดนี้ ข้าพเจ้าจะนำท่านออกไปนอกพระราชวัง”
อำเภอดุสิต
อำเภอแห่งนี้มีความเกี่ยวข้องกับหม่อมหลวงปิ่นไม่น้อย เพราะหม่อมหลวงปิ่นมีบ้านอยู่ที่นี่ นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานหนังสือพิมพ์ ‘ดุสิตสมัย’
“ภาพนี้เป็นภาพที่สวยงามมากที่สุด คล้ายกับว่าถ่ายจากอากาศ (ความจริงถ่ายจากเฉลียงชั้นบนของพระตำหนักอุดมวนาภรณ์) …มีลำน้ำดุสิตอยู่เบื้องล่าง …สะพานที่มีลักษณะแบบนี้มีอยู่ 4 แบบ คือ สะพานพระรามทรงศรี สะพานจักรีทรงสวัสดิ์ สะพานจอมกษัตริย์ทรงเดช สะพานนเรศทรงฤทธิ์…”
“…สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมเขมรฝีมือประณีตงดงามมาก ขอให้สังเกตพระพุทธรูปยืนในซุ้มเหนือประตูพระอุโบสถนั้น…”
“…ด้านตะวันตก คือส่วนที่เป็นสังฆาวาส มีกำแพงล้อมรอบ ภาพนี้ถ่ายจากถนน 22 กรกฎาคม อาคารหลังวัด หลังใหญ่คือศาลารัฐบาลมณฑลดุสิต…”
“…ถ่ายจากด้านถนน 22 กรกฎาคม เป็นภาพศิลปะทางมุมซ้ายบนในระยะที่ไกลมาก…”
“…ตั้งอยู่ที่ริมลำน้ำดุสิต ตรงสุดเขตวัดธรรมาธิปไตย ด้านถนน 22 กรกฎาคม ไม่ห่างศาลมณฑล หอนาฬิกาแบบนี้ที่กรุงเทพฯ หามีไม่”
“อาคารหลังนี้คือ ศาลารัฐบาลมณฑลดุสิต อยู่ที่เลข 17 ถนนสยามชนะศึก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ.2462”
“โรงทหารก็มีอยู่…ดังภาพนี้ ด้านหน้าเป็นสวนสาธารณะ”
“ภาพนี้มีประวัติที่ควรทราบ คือเมื่อทหารอาสากลับจากราชการสงคราม ณ ทวีปยุโรป ได้มีการเรี่ยไรทวยนาคร เพื่อสร้างอนุสาวรีย์เป็นที่ระลึกถึงทหารที่ได้เสียชีวิต ภายใน 7 วัน ได้เงิน 1,689 บาท จึงได้สร้างอนุสาวรีย์ที่เห็นนี้ ทำด้วยศิลาขาว ประดิษฐานอยู่บนเนินในสวนนันทอุทยาน ถนนชัยชนะสงคราม อำเภอดุสิต…”
—
“ข้าพเจ้าได้พาท่านชมอำเภอดุสิตมาเป็นเวลาช้านาน ก่อนที่จะออกจากอำเภอนี้ ข้าพเจ้าใคร่จะเรียนให้ท่านทั้งหลายทราบด้วยว่า ข้าพเจ้าเองมีบ้านอยู่ในอำเภอนี้ คืออยู่ที่เลขที่ 9 ถนนชัยชนะสงคราม ตรงข้ามกับสวนนันทอุทยานนี้เอง
“เพื่อนบ้านของข้าพเจ้าที่อยู่บ้านเลขที่ 8 คือ หม่อมเจ้าดิศานุวัติ ดิสกุล และเพื่อนบ้านที่อยู่บ้านเลขที่ 10 คือ ขุนสันทานมาลากร
“แถบที่บ้านข้าพเจ้าตั้งอยู่ มีโรงไฟฟ้า ตลาด บ้านเช่า ร้านค้า ร้านค้าที่สำคัญ คือ ร้านสุจริตเกศากันต์ (ตัดผม), ร้านสว่างนาน (ขายเครื่องเขียน), ร้านฉายาลัย (ถ่ายรูป), ห้างซีซูโอกาสาขาบุณยเกียรติ (ขายของต่างๆ) กับมีสำนักงานหนังสือพิมพ์ดุสิตสมัยด้วย
“บัดนี้ ข้าพเจ้าจะพาท่านไปยังอำเภอปากน้ำ”
อำเภอปากน้ำ
อำเภอนี้เสมือนตั้งอยู่ติดปากแม่น้ำ มีพระราชวังพระวรุณราชนิเวศน์ วัดพระพุทธบาท และบ้านใหญ่ๆ หลายหลัง ทั้งยังมีอู่ต่อเรือ โรงทหารราชนาวีหรือทหารเรือ โรงสี และตลาดปลาทู
“ภาพนี้คือ คลองมิ่งเมือง ซึ่งกั้นเขตระหว่างอำเภอดุสิตทางขวามือ และอำเภอปากน้ำทางซ้ายมือ …คลองนี้เป็นคลองลัด…”
“ดุสิตธานีมีอาคารไม่ต่ำกว่า 1,000 หลัง ส่วนใหญ่เป็นอาคารสองชั้น แต่อาคารสามชั้นงามๆ ก็มีมาก เช่น บ้านหลังนี้ซึ่งอยู่ในอำเภอปากน้ำ ดูแบบที่สร้างเห็นว่าคงจะอยู่สบายมาก”
“สิ่งที่สำคัญที่สุดในอำเภอปากน้ำ …อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของดุสิตธานี ในภาพนี้จะแลเห็นวิหารพระพุทธบาทอยู่ทางซ้ายและพระเจดีย์ทางขวา”
“…ในอำเภอนี้ (ปากน้ำ) มีถนนสายหนึ่งหลังเขาพระพุทธบาทริมคลองขวัญเมือง ชื่อถนนราษฎรมรรคา เขียน ‘ร-า-ษ-ฎ-ร’ ในลำน้ำดุสิต ใกล้ปากน้ำมีทุ่นสำหรับจอดเรือด้วย”
“ภาพนี้เข้าใจว่าเป็นตำหนักของท่านสมุหเทศาภิบาล ในอำเภอปากน้ำก่อนที่จะย้ายไปตั้งที่อำเภอบางไทร
“ในอำเภอปากน้ำนี้ยังมีสถานที่สำคัญอีกคือ สวนวิจิตรมาลี ในสวนนี้มีบ่อนากและบ่อปลา มีผู้ชมความงามของสวนเป็นโคลงสี่สุภาพ…”
งามสวนพิเศษพร้อม พฤกษี
ชื่อ วิจิตรมาลี เลิศล้ำ
อรุณวงศ์วัฒกี ผู้จัด ทำเฮย
แสนสุขสนุกกล้ำ เก่งแม้นเมืองแมน
“อรุณวงศ์วัฒกี ที่กล่าวถึงนั้น คือบริษัทรับเหมาก่อสร้าง มีสำนักงานอยู่ที่ถนนเยี่ยมสมุทร …และมีสาขาอยู่ในอำเภอบางไทร”
—
“ข้าพเจ้าจะขอพาท่านไปชมอำเภอดอนพระราม และบึงพระรามต่อไป…”
อำเภอดอนพระราม-บึงพระราม
หม่อมหลวงปิ่นนิยามสองอำเภอนี้สั้นๆ ว่า “เป็นชนบทของดุสิตธานี”
ที่ดอนพระรามมีข้อควรรู้คือ จะมีถนนสายใหญ่ที่ชื่อคล้องกัน ได้แก่ พระรามประพาส-สุรราชเรืองเดช-บุณยเกษตรสีมา ส่วนซอกซอยจะไม่เรียกซอย แต่เรียกว่า “แพรก” เช่น แพรกหณุมาน แพรกชมภูพาน แพรกองคต
ส่วนด้านล่างต่อไปนี้ คือภาพอำเภอบึงพระราม
“บึงพระราม นั้น มีบึงใหญ่และเกาะเล็กเกาะน้อย รู้สึกว่าเป็นชนบทของดุสิตธานี…”
“…บ้านโปร่งใจ ของท่านราม ณ กรุงเทพ อยู่ทางตะวันออกของบึง มุงหลังคาจาก และรั้วบ้านเป็นรั้วไม้ไผ่…”
“…สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมทิวดอร์ สมัยพระนางเจ้าอลิซาเบทแห่งประเทศอังกฤษ เมื่อ 400 ปีมาแล้ว จึงเรียกกันติดปากว่า พระราชวังอังกฤษ
“…แต่ที่น่าพิศวงก็คือเงาสีขาวทางขวามือนั้นเงาอะไร ต้องกลับภาพให้ข้างล่างขึ้นข้างบน จึงจำได้ว่าเป็นภาพระเบียงทางเดินชั้นบนจากพระที่นั่งอัมพรสถาน ไปยังพระที่นั่งอุดร ซึ่งฉายเงาลงไปในน้ำ”
“ภาพนี้คือส่วนหนึ่งของพระราชวังอังกฤษ มีสะพานข้ามไปยังถนนบุณยเกษตรสีมา …โปรดสังเกตสะพานนี้ว่า สร้างสวยงามและมั่นคงเพียงใด”
“นี่คือพระอุโบสถของ วัดสุขสมาวาส อยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอบึงพระราม…”
—
“บัดนี้ ข้าพเจ้าจะพาท่านไปชมอำเภอเขาหลวงต่อไป…”
อำเภอเขาหลวง
ชื่ออำเภอตั้งตามเขาที่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำลำคลองส่วนใหญ่ในดุสิตธานี มีคลองส่งน้ำไปสู่ที่ทำการประปา หม่อมหลวงปิ่นพูดถึงอำเภอนี้ว่า “มีลักษณะคล้ายตำบลที่เราเรียกกันว่า ‘บางกะปิ’ ในกรุงเทพฯ”
ข้อมูลที่บันทึกหลังภาพถ่ายใบนี้ของหอวชิราวุธานุสรณ์ระบุว่า ‘บ้านหลังนี้คาดว่าเป็นบ้านหย่อนใจของ ท่านราม ณ กรุงเทพ ซึ่งตั้งอยู่บนเขาหลวง’
“เข้าใจว่าบ้านนี้คือ บ้านมาลากุล ของท่านเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี อยู่ที่ถนนพายวาสตร์…”
“การวางผังถนนในอำเภอเขาหลวงน่าสนใจมาก …ท่านทั้งหลายก็คงจะทราบแล้วว่า พระนารายณ์สี่กรทรงถือ คฑา จักร สังข์ ธรณี เราก็มีถนนธนูศักดิ์ จักรขลัง สังข์สง่า คฑาศรี และธรณีสวัสดิ์ เรียงลำดับกันมาจากใต้ไปหาเหนือ เช่นเดียวกับ 1st Street, 2nd Street, 3rd Street ฯลฯ ในนคร New York”
“บางบ้านก็มีแบบสถาปัตยกรรมแปลกๆ ไม่ทราบว่ากี่ชั้น เช่นบ้านนี้”
“สิ่งที่สวยงามที่สุดในอำเภอนี้ น่าจะเป็นพระราชวังที่มีชื่อว่า พระมหาคีรีราชปุระ ลักษณะอาคารคล้ายกับอาคารที่ฝรั่งเศสเรียกว่า Chateau หรือที่อังกฤษเรียกว่า Castle เยอรมันเรียกว่า Schloss…”
“บริเวณพระราชวังมหาคีรีราชปุระ มีภาพปั้นคนวิ่งถือกิ่งชัยพฤกษ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่า “ไชโย” หมายถึง ม้าใช้ในสมัยโบราณที่นำข่าวชัยชนะในการศึกสงครามมาให้ ซึ่งเป็นคติทางยุโรป มีชื่อภาษาฝรั่งเศสว่า Gloire en guerre”
—
“บัดนี้ ข้าพเจ้าเชิญให้ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายไปยังอำเภอบางไทร…”
อำเภอบางไทร
นี่เป็นอำเภอที่เกิดขึ้นใหม่หลังตั้งเมืองดุสิตธานี แต่เจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีการย้ายสถานที่สำคัญหลายแห่งมาอยู่ที่นี่ เช่น โรงละครคนธรรพนาฏศาลา ที่ย้ายจากอำเภอดุสิต หรือ สมุหเทศาภิบาลมณฑลดุสิต ที่แต่เดิมอยู่อำเภอปากน้ำ และเป็นที่ตั้งของโรงแรมสุดหรูชื่อ โฮเต็ลเมโตรโปล
“วัดสำคัญในอำเภอนี้ …มีท่านราม ณ กรุงเทพ เป็นมรรคนายก”
“…ขอให้ท่านสังเกตดูฝีมือสถาปัตยกรรม ดูเหมือนจะประณีตยิ่งกว่าที่สุโขทัย หรือศรีสัชชนาลัยเสียอีก…”
“ภาพที่ท่านเห็นอยู่นี้น่าดูมาก เป็นภาพ บ้านผูกใจ เดิมของท่านราม …แต่ต้นไม้บังอาคารใหญ่เสียบ้าง ท่านรามยกที่ดินตรงมุมบ้านนี้ให้สร้างอนุสาวรีย์นางพระธรณีบิดมวยผมแบบเดียวกับที่เชิงสะพานผ่านพิภพลีลาในกรุงเทพฯ (สร้างทีหลังกรุงเทพฯ ราว 1 ปี)”
“วัชรพยาบาล …แต่ทวยนาครไม่ระมัดระวังในการพูด จึงมักจะกลายเป็น วชิรพยาบาล ไป โรงพยาบาลแห่งนี้ใหญ่มาก
“…ท่านทั้งหลายโปรดสังเกตด้วยว่า หลังโรงพยาบาลแห่งนี้มีอาคารหนาแน่น ที่อาจเรียกได้ว่าศูนย์การค้า ในแถบนี้เองมีที่ตั้งสำนักงานกรุงเทพและพึ่งบุญ บริษัท อรุณวงศ์วัฒกี (สาขา) ฉายาดุสิต และฉายาบรรทมสินธุ์
“ฉายาบรรทมสินธุ์นี้เองเป็นผู้ถ่ายภาพเหล่านี้ไว้ ทำให้ท่านผู้มีเกียรติได้ชมในครั้งนี้…”
“ภาพนี้คืออาคารหลังหนึ่งของวัชรพยาบาล…”
“ภาพนี้แสดงให้เห็นกลุ่มอาคารของโฮเต็ลเมโตรโปล ซึ่งประกอบด้วยอาคารใหญ่น้อย 12 หลัง อยู่ที่ถนนเอนทราสตร์ ตรงทางแยกถนนกระบี่
“…อาคารใหญ่ที่เป็นฉากหลังอยู่ที่มุมซ้าย คือ โรงบิลเลียดของ โฮเต็ลเมโตรโปล (ใหญ่)
“…โฮเต็ลแห่งนี้มีกุ๊กฝีมือดี จึงมีการจัดเลี้ยงกันระหว่างทวยนาครบ่อยๆ
“ข้าพเจ้าได้พบใบรับเงินค่าอาหารเข้าฉบับหนึ่ง ออกให้นายจ่ายวด ในการเลี้ยงฉลองสัญญาบัตร เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2462
“มีผู้มากินเลี้ยง 65 คน อาหารเย็นอิ่มละ 3 บาท แชมเปญขวดละ 8 บาท บุหรี่ฝรั่งมวลละ 10 สตางค์ ให้ผู้รับใช้ 16 คน คนละ 1 บาท
“รวมค่าใช้จ่ายเลี้ยง …เป็นเงิน 533 บาท 60 สตางค์ จมื่นเด็กชาเป็นผู้รับเงิน ข้าพเจ้าส่งใบรับเงินฉบับนั้นไปดุสิตธานีที่ศาลาแดง ท่านผู้จัดการฝ่ายบริการจัดอาหาร กรุณาตีราคาให้ว่า ถ้าจำนวนคนเท่านี้ มารับประทานอาหารอย่างนี้ จะเสียเงินเท่าไร
“ปรากฏว่าจะเสียเงิน 20,540 บาท 85 สตางค์ แพงกว่าเดิมเกือบ 38 เท่า ภายในเวลา 51 ปี”
“อาคารสามชั้นทางซ้ายมือ คือ โรงละครคนธรรพนาฏศาลา (หรือดุสิตนาฏศาลา) อาคารที่มีลักษณะเป็นบ้านทางขวามือนั้น เข้าใจว่าเป็น บ้านเย็นใจ ที่ท่านราม ณ กรุงเทพ ให้เช่าไป…”
“…ลำน้ำไทรนี้ไหลไปรวมกับลำน้ำดุสิต แล้วลอด สะพานพระรามทรงศรี อันสวยงามที่แลเห็นเสาสีขาวอยู่ในภาพ”
“ภาพนี้เป็นภาพสุดท้าย…
“ข้าพเจ้าได้พาท่านทั้งหลายมาถึง นาครศาลา ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนอโยธยารังสรรค์ ข้าพเจ้ายกให้สถานที่แห่งนี้เป็นหัวใจของดุสิตธานีเมืองประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว…”
ในบทบันทึก ‘พาชมดุสิตธานีฯ’ หม่อมหลวงปิ่นไม่ได้กล่าวถึงเหตุผล ว่าทำไมที่แห่งนี้ถึงเป็นหัวใจของดุสิตธานี
แต่จากการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า เหตุที่ นาครศาลา เป็นหัวใจของเมืองนี้ ก็เพราะว่าที่นี่คือที่ประชุมเลือกตั้งเชษฐบุรุษและนคราภิบาล ที่เปรียบเสมือนผู้แทนฯ และผู้ปกครองเมือง
“สวัสดี”
หม่อมหลวงปิ่นกล่าวอำลาผู้ฟังในวันนั้น โดยมีภาพนี้ปิดการบรรยาย.
*หมายเหตุ: ระหว่างที่เขียนบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนพบปัญหาภาพถ่ายดุสิตธานีที่ตีพิมพ์ในหนังสือ รวมปาฐกถาหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล นั้นไม่ชัดเจน จนเกือบหยุดเขียนกลางคันเนื่องจากหาภาพประกอบไม่ได้ แต่โชคดีที่ได้พบเบาะแสสำคัญ ซึ่งเบาะแสนั้นพาผู้เขียนไปพบกับภาพถ่ายชุดที่ใช้ประกอบบทความ
ติดตามเรื่องราวการค้นหาภาพถ่ายเมืองจำลองดุสิตธานีในรัชกาลที่ ๖ ได้ที่ พาชม ‘ดุสิตธานี’ ตอนที่ 3: ค้นหาภาพถ่ายดุสิตธานี
FACT BOX
- พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ ท่านราม ณ กรุงเทพ เคยเสด็จพระราชดำเนินยังดุสิตธานีในฐานะพระมหากษัตริย์แห่งประเทศสยามเพียง 2 ครั้ง คือ เมื่อเสด็จไปทรงวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ ๑ และเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศาลารัฐบาลมณฑลดุสิตราชธานี
- ท่านราม ณ กรุงเทพ เป็นผู้มีฐานะดี มีบ้านอยู่ในตำบลต่างๆ ถึง 15 แห่ง แต่ละแห่งจะมีคำว่า ‘ใจ’ อยู่ในชื่อ เช่นบ้านที่ปรากฏในบทความนี้ 4 แห่ง คือ บ้านเย็นใจ บ้านผูกใจ บ้านหย่อนใจ บ้านโปร่งใจ และอื่นๆ อีก 11 แห่ง ได้แก่ บ้านสบายใจ บ้านยาใจ บ้านชื่นใจ บ้านสมใจ บ้านถูกใจ บ้านยวนใจ บ้านยั่วใจ บ้านเย้าใจ บ้านปลื้มใจ บ้านเปรมใจ บ้านปลอดใจ
- คำบรรยายในบทความตัดทอนและเรียบเรียงจากต้นฉบับให้กระชับขึ้น ผู้อ่านสามารถหาอ่านต้นฉบับ ‘พาชมดุสิตธานีฯ’ ได้จากหนังสือ รวมปาฐกถาของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ที่หอวชิราวุธานุสรณ์ สำนักหอสมุดแห่งชาติ