©ulture

พ.ศ.นี้ คนไทยรู้จัก ‘ดุสิตธานี’ ในฐานะโรงแรมระดับ 5 ดาวที่ตั้งอยู่หัวมุมถนนพระรามสี่

แต่ในยุคหนึ่ง คำว่า ดุสิตธานี หมายถึง เมืองจำลองที่รัชกาลที่ 6 ทรงสร้าง เพื่อทดลองการปกครองส่วนท้องถิ่น (บ้างก็ว่าเป็น ‘เมืองทดลองประชาธิปไตย’)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 (photo: silpa-mag.com)
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
(photo: silpa-mag.com)

เมืองแห่งนี้เป็นเมืองจำลองขนาดเล็ก มีพื้นที่ราว 3 ไร่ บ้านแต่ละหลังมีขนาดเหมือนบ้านตุ๊กตาที่ใหญ่กว่าศาลพระภูมิ มีกฎหมาย ไฟฟ้า ชื่อถนน และมีสิ่งต่างๆ ที่เมืองเมืองหนึ่งพึงมี

แล้ววันนี้ ‘ดุสิตธานี’ ที่เรากำลังพูดถึงอยู่ที่ไหน?

 

“…ได้หายสาบสูญไปแล้วโดยไม่มีร่องรอย ยิ่งกว่าเมืองปอมเปย์ในสมัยโรมัน หรือกรุงศรีอยุธยา เมื่อ 200 ปีมาแล้ว…”

 

หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล พูดประโยคข้างต้นเมื่อครั้งบรรยาย พาชมดุสิตธานี ในงานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้า ณ ห้องประชุมหอสมุดแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ.2513

ด้วยความสงสัยใคร่รู้ common ลองพิมพ์ ‘นิทรรศการ ดุสิตธานี’ ในช่องเสิร์จกูเกิ้ล ก่อนจะพบว่าข้อสันนิษฐานในการบรรยายครั้งนั้น อาจไม่ถูกซะทีเดียว

พบเบาะแส

‘นิทรรศการ ดุสิตธานี’

จากคีย์เวิร์ดนี้ กูเกิ้ลพาเราไปพบร่องรอยของเมืองดุสิตธานีที่ยังหลงเหลืออยู่

ภาพ ‘อาคารจำลองส่วนที่ยังคงเหลือ’ ในนิทรรศการ ‘ดุสิตธานี เมืองประชาธิปไตยฯ’ ที่ปรากฏในเว็บไซต์หอสมุดแห่งชาติ (photo: nlt.go.th)
ภาพ ‘อาคารจำลองส่วนที่ยังคงเหลือ’ ในนิทรรศการ ‘ดุสิตธานี เมืองประชาธิปไตยฯ’ ที่ปรากฏในเว็บไซต์หอสมุดแห่งชาติ
(photo: nlt.go.th)

เว็บไซต์หอสมุดแห่งชาติระบุ ข้อมูลการจัดแสดงนิทรรศการถาวร ดุสิตธานี เมืองประชาธิปไตย ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหอวชิราวุธานุสรณ์ (อาคารนี้อยู่ในรั้วเดียวกับหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี)

และแสดงภาพอาคารจำลองของเมืองดุสิตธานี พร้อมระบุว่า ‘อาคารจำลองส่วนที่ยังคงเหลือ ประกอบด้วยพระราชวังและวัดรวม 14 หลัง’

โดยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แต่เดิมดุสิตธานีมีสถาปัตยกรรมกว่า 300 หลัง ได้แก่ พระราชวัง วัด โรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม โรงทหาร ธนาคาร สถานีตำรวจ สวนสาธารณะ และบ้านเรือน

ส่วนสาเหตุที่เหลือเพียง 14 หลัง เนื่องจากหลังรัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคต อาคารจำลองต่างๆ ได้กระจัดกระจาย และส่วนที่เป็นบ้านเรือนคหบดี เจ้าของก็นำกลับไปเก็บรักษาเป็นสมบัติส่วนตัว

ข้อมูลที่กูเกิ้ลค้นพบได้กลายเป็นเบาะแสสำคัญ ทำให้รู้ว่าดุสิตธานียังไม่หายสาบสูญ และยังมีร่องรอยหลงเหลืออยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ

‘หากสนใจชมนิทรรศการ ติดต่อสอบถามได้ที่…’

เราเห็นข้อความนี้ที่ท้ายเว็บไซต์ แล้วหยิบโทรศัพท์โทรไปสอบถามทันที

ดุสิตธานี เมืองจำลองที่บ้านใหญ่กว่าศาลพระภูมิ

ไม่มีเสียงตอบรับจากปลายสาย นาฬิกาบนสมาร์ทโฟนบอกเวลา 07:39 สงสัยเราจะรีบโทรหาเร็วไปหน่อย

ระหว่างที่รอให้ถึงเวลาเปิดทำการ เราใช้เวลาที่มีสืบค้นข้อมูลของดุสิตธานี…

หลายคนอาจไม่รู้ว่าจุดเริ่มต้นของไอเดียเมืองจำลองดุสิตธานีนั้นเกิดขึ้นที่ทะเล ตอนนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ ทรงประทับอยู่ที่พระราชวังบ้านปืน จังหวัดเพชรบุรี ในช่วงฤดูร้อน

ขณะที่พระองค์ทรงเสด็จสรงน้ำทะเลที่หาดเจ้าสำราญ ได้ทอดพระเนตรเห็นมหาดเล็กเล่นทรายกันที่ชายหาด จึงทรงพระราชทานคำแนะนำให้มหาดเล็กสร้างเมืองทราย แล้วทรงสอนให้รู้จักการทำน้ำตก การลำเลียงน้ำผ่านคลอง ฯลฯ

ต่อมาพระองค์ทรงมีพระราชดำริในการให้ความรู้การปกครองระบอบประชาธิปไตย จึงทรงหวนนึกถึงเมืองทรายที่ริมหาด

จากเมืองทรายจึงกลายมาเป็นเมืองจำลองดุสิตธานี ณ พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2461

จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช)
จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช)

จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุทรเวช) บันทึกในเรื่อง ดุสิตธานี: เมืองประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงสภาพบ้านเมืองในดุสิตธานีว่า

“บ้านแต่ละหลังมีขนาดโตกว่าศาลพระภูมิ สร้างขึ้นด้วยฝีมือประณีต ฉลุสลักลวดลายอย่างวิจิตร ทาสีสวยงาม ทุกๆ บ้านมีไฟฟ้าติดสว่างอยู่กลางบ้าน

“ถนนหนทางในเมืองดุสิตธานีส่วนมากเป็นถนนสายเล็กๆ มีบางสายที่ใหญ่โต พอที่จะเดินได้ ถนนทุกสายสะอาดสะอ้าน สวยงาม ปลูกต้นไม้เล็กๆ ไว้ร่มรื่นสองข้างทางถนนที่เป็นสายสำคัญ”

บ้านเรือนในดุสิตธานี (photo: หอวชิราวุธานุสรณ์)
บ้านเรือนในดุสิตธานี
(photo: หอวชิราวุธานุสรณ์)

ผู้คน วิถีชีวิต และกฎหมาย

นอกจากบ้านเมืองจะมีสภาพเหมือนเมืองจริงๆ แล้ว ดุสิตธานียังมีรัฐบาลและราษฎรอยู่อาศัยภายใต้บทบาทสมมติที่ตราไว้ในกฎหมาย ‘ธรรมนูญลักษณะปกครองคณะนคราภิบาล (ดุสิตธานี) พระพุทธศักราช 2461’

โดยผู้ปกครองในดุสิตธานีเรียกว่า “นคราภิบาล” ที่ได้มาจากการเลือกตั้งทุกๆ ปี

‘นาครศาลา’ เป็นที่ประชุมเลือกตั้งเชษฐบุรุษและนคราภิบาล ที่เปรียบเสมือนผู้แทนฯ และผู้ปกครองเมือง (photo: หอวชิราวุธานุสรณ์)
‘นาครศาลา’ เป็นที่ประชุมเลือกตั้งเชษฐบุรุษและนคราภิบาล ที่เปรียบเสมือนผู้แทนฯ และผู้ปกครองเมือง
(photo: หอวชิราวุธานุสรณ์)

มีราษฎรที่เรียกว่า “ทวยนาคร” ที่มาจากมหาดเล็กรับใช้ใกล้ชิด มีทั้งเชื้อพระวงศ์ ชั้นหม่อมเจ้า โดยแต่ละคนจะสมมติชื่อตัวเอง มีอาชีพ มีบ้าน โดยเจ้าของบ้านทุกคนจะมีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยของบ้านตัวเอง เสียค่าน้ำ ค่าไฟ และจ่ายภาษี

หากผู้ใดทำผิดกฎหมาย ก็จะถูกลงโทษ “ปรับเงินเป็นพินัย” เช่น ปล่อยให้บ้านชำรุด เกิดความสกปรกอันเป็นเหตุให้ก่อโรค หรือเกิดอัคคีภัยได้ ก็จะถูกลงโทษปรับครั้งละไม่เกิน 5 บาท ถ้ายังขืนทำซ้ำก็จะถูกปรับเพิ่มขึ้น

รัชกาลที่ 6 ก็ทรงเป็นหนึ่งในทวยนาครที่อยู่เมืองแห่งนี้ พระองค์ทรงใช้ชื่อว่า “ท่านราม ณ กรุงเทพ” แต่คนดุสิตธานีจะนิยมเรียก “ท่านราม” มีอาชีพเป็นทนาย มรรคนายกวัดพระบรมธาตุ เป็นพระราชมุนี เจ้าอาวาสวัดธรรมาธิปไตย และทรงแสดงพระธรรมเทศนาจริงๆ ด้วย

สังฆาวาส วัดธรรมาธิปไตย (photo: หอวชิราวุธานุสรณ์)
สังฆาวาส วัดธรรมาธิปไตย
(photo: หอวชิราวุธานุสรณ์)
บ้านหย่อนใจ ของท่านราม ณ กรุงเทพ (photo: หอวชิราวุธานุสรณ์)
บ้านหย่อนใจ ของท่านราม ณ กรุงเทพ
(photo: หอวชิราวุธานุสรณ์)

นอกจากนี้ ดุสิตธานียังมีสื่อประจำเมืองเป็นหนังสือพิมพ์ทั้งหมด 3 ฉบับ ได้แก่ ดุสิตสมัย (รายวันฉบับแรก) ดุสิตสักขี (รายวันฉบับที่สอง) และดุสิตสมิต (รายสัปดาห์) โดยมี “ท่านราม” รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ ‘ดุสิตสมิต’
หนังสือพิมพ์ ‘ดุสิตสมิต’

*ดูตัวอย่างเล่มจริงได้ใน ห้องสมุดดิจิทัล สำนักหอสมุดแห่งชาติ

ใบเสร็จรับเงินค่าบำรุงรายเดือนหนังสือพิมพ์ ‘ดุสิตสมัย’
ใบเสร็จรับเงินค่าบำรุงรายเดือนหนังสือพิมพ์ ‘ดุสิตสมัย’

แม้ทุกสิ่งในดุสิตธานีจะจำลองโลกที่บางคนบอกว่าเป็น ‘สยามในฝัน’ ของรัชกาลที่ 6 แต่วันเวลาในดุสิตธานีนั้นเดินผ่านไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากย่อเวลาให้เหลือ 1 ใน 12 หรือ 1 ปีดุสิตธานีเท่ากับ 1 เดือนธรรมดา

มีบันทึกระบุว่า ในช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ.2461 – 2462 หรือราว 2 ปีนั้น (ราว 24 ปีของปฏิทินดุสิตธานี) ได้มีการเลือก “นคราภิบาล” ถึง 7 คร้ัง เพื่อให้มีการอภิปราย ติติง เลือกตั้ง ฯลฯ ผ่านบทบาทสมมติ อันเป็นพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 6 ที่จะทรงฝึกเสนาอำมาตย์ซาบซึ้งในพระบรมราโชบาย

ทว่าสุดท้ายวิถีชีวิตในดุสิตธานีก็ดูเหมือนจะเกิดขึ้น และจบเพียงเท่านั้น

‘ดุสิตธานีโมเดล’ ฝันไม่จริง

“วิธีการดำเนินการในธานีเล็กๆ ของเราเป็นเช่นไร ก็ตั้งใจว่าจะให้ประเทศสยามได้เป็นเช่นเดียวกัน…”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ ในวันที่เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศาลารัฐบาลมณฑลดุสิตธานี เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ.2462 คือสิ่งที่บ่งชี้ถึงแนวพระราชดำริในการจัดสร้างเมืองจำลอง ‘ดุสิตธานี’

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 (photo: นิทรรศการ ‘เฉลิมฟิล์มกระจก’ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า)
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
(photo: นิทรรศการ ‘เฉลิมฟิล์มกระจก’ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า)

ต่อมาพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ให้นำแนวทางการปกครองที่ทดลองนั้นมาปรับใช้จริงในจังหวัดต่างๆ โดยพระยาสุนทรพิพิธ (เชย ฆัฆวิบูลย์) ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่กระทรวงมหาดไทยขณะนั้นที่เล่าไว้ใน ดุสิตธานี: เมืองประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เขียนโดย จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุทรเวช) ว่า

“เดือนมีนาคม พ.ศ.2464 ข้าพเจ้าก็ได้รับโทรเลขกระทรวงมหาดไทยให้มารับราชการกรุงเทพฯ ขณะนั้นข้าพเจ้ารับราชการอยู่จังหวัดนครสวรรค์ ครั้นเข้ามาถึงและรายงานตัวตามระเบียบแล้ว ท่านเสนาบดีก็แจ้งความประสงค์ให้ทราบโดยตรง แล้วสั่งให้ไปฟังเรื่องราวละเอียดจากท่านปลัดกระทรวง เมื่อได้พบกับท่านปลัดกระทรวง ท่านจึงได้บอกเรื่องราวให้ทราบโดยตลอด…ท่านบอกว่า จังหวัดที่จะให้เริ่มงานนี้ได้ เลือกเอาจังหวัดสมุทรสาคร เพราะเหมาะด้วยเหตุผลหลายประการ”

ส่วนเหตุผลที่เลือกสมุทรสาครเป็นที่ทดลองการปกครองแบบใหม่ พระยาสุนทรพิพิธอธิบายว่า เพราะจังหวัดนี้คนทำอาชีพหลักหลากหลาย คือมีทั้งทำนา ทำสวน ทำประมง จังหวัดมีขนาดไม่ใหญ่ พลเมืองไม่เยอะ และอยู่ใกล้กรุงเทพฯ

อาคารในดุสิตธานี (photo: หอวชิราวุธานุสรณ์)
อาคารในดุสิตธานี
(photo: หอวชิราวุธานุสรณ์)

“…ดูจะเป็นความสะดวกด้วยประการทั้งปวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเห็นชอบด้วยแล้ว”

ทั้งที่รัชกาลที่ 6 ทรงเห็นชอบ แต่ทำไม ‘ดุสิตธานีโมเดล’ ถึงไม่เกิดขึ้นจริง?

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมเสนาบดี แล้วมีข่าวกระเส้นกระสายจะเท็จจริงอย่างไรไม่ทราบว่า มีเสนาบดีบางท่านเห็นว่าร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทยให้สิทธิแก่ราษฎรกว้างขวางเกินไป อาจกระทบกระเทือนต่อผลประโยชน์ของรัฐ เรื่องจึงยังตกลงไม่ได้ คงค้างพิจารณาอยู่…”

เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นค้างเติ่งในที่ประชุมเสนาบดี และยังคงเงียบอยู่เช่นนั้น จนกระทั่งวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2468 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

เรื่องทั้งหมดจึงเงียบหาย และคงไม่มีใครคาดคิดว่าอีกไม่กี่ปีต่อมา ประเทศไทยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยกลุ่มราษฎรที่ไม่ใช่ ‘ทวยนาคร’ ในดุสิตธานี แต่เป็นกลุ่มคนไทยที่ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนอก ซึ่งเรียกตัวเองว่า ‘คณะราษฎร’

คณะราษฎร สายทหารบก (photo: Wikipedia)
คณะราษฎร สายทหารบก
(photo: Wikipedia)
คณะราษฎร สายทหารเรือ (photo: Wikipedia)
คณะราษฎร สายทหารเรือ
(photo: Wikipedia)
หลังการปฏิวัติสยาม ได้มีการจัดประชุมคณะราษฎรครั้งแรกในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระยามโนปกรณนิติธาดา (ตรงกลาง สวมปลอกแขนสีดำ) ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการราษฎร หรือเทียบเท่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน (photo: Asia magazine Vol. 32 No. 9, พฤศจิกายน 1932)
หลังการปฏิวัติสยาม ได้มีการจัดประชุมคณะราษฎรครั้งแรกในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระยามโนปกรณนิติธาดา (ตรงกลาง สวมปลอกแขนสีดำ) ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการราษฎร หรือเทียบเท่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน (photo: Asia magazine Vol. 32 No. 9, พฤศจิกายน 1932)

ร่องรอยที่ถูกปิดตาย?

ตัวเลขนาฬิกาบนสมาร์ทโฟนบอกเวลา 09:22

เราติดต่อหอสมุดแห่งชาติอีกครั้ง เพื่อสอบถามเกี่ยวกับนิทรรศการถาวรที่จัดแสดงอาคารจำลองของดุสิตธานี

ครั้งนี้มีเสียงตอบรับจากปลายสาย เราถามถึงรายละเอียดของนิทรรศการและการเข้าชม

“ขอโทษด้วยนะคะ ตอนนี้เราปิดปรับปรุงค่ะ”

“จะเปิดให้เข้าชมอีกครั้งเมื่อไหร่ครับ?”

“ยังไม่มีกำหนดการเลยค่ะ”

การปิดปรับปรุงนิทรรศการอย่างไม่มีกำหนด ทำให้เราหมดโอกาสที่จะเข้าไปสัมผัสร่องรอยที่ยังเหลืออยู่ของดุสิตธานี

แต่ถึงอย่างนั้น ก็ใช่ว่าดุสิตธานีจะไม่มีร่องรอยอื่นๆ เหลืออยู่

หนังสือ รวมปาฐกถาของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล
หนังสือ รวมปาฐกถาของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล

หนังสือ รวมปาฐกถาของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้ทิ้งร่องรอยของดุสิตธานีผ่านคำบรรยายและภาพถ่าย พาชมดุสิตธานี ของ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เมื่อครั้งบรรยาย ณ ห้องประชุมหอสมุดแห่งชาติ ในพ.ศ.2513

คำบรรยายและภาพถ่ายในหนังสือพูดถึงดุสิตธานีไว้อย่างละเอียด จนผู้ที่ได้อ่านรู้สึกเหมือนกำลังไปเที่ยวชมเมืองแห่งนี้อยู่จริงๆ

โชคดีที่เรามีหนังสือเล่มนั้น.

 

FACT BOX

‘ดุสิตธานี’ อยู่ที่ไหน?

ดุสิตธานี
(photo:หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ตามบันทึกจากแหล่งต่างๆ ระบุตรงกันว่า ดุสิตธานีมีอยู่ 2 แห่ง

1. ดุสิตธานี ณ พระราชวังดุสิต

:เป็นดุสิตธานีแห่งแรก ตั้งอยู่บริเวณรอบๆ พระที่นั่งอุดร สร้างเมื่อ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2461 และตั้งอยู่จนถึงธันวาคม พ.ศ.2462

2. ดุสิตธานี ณ วังพญาไท

: เมื่อ “ทวยนาคร” เพิ่มขึ้น พื้นที่ดุสิตธานีแห่งแรกคับแคบ ประจวบกับรัชกาลที่ 6 ได้แปรพระราชฐานไปประทับที่วังพญาไท ซึ่งกว้างขวางกว่า จึงย้ายดุสิตธานีไปด้วย และตั้งอยู่จนสิ้นรัชกาล ส่วนที่ตั้งเมืองปัจจุบันเป็นพื้นที่ด้านหลังโรงพยาบาลพระมงกุฏฯ

 

อ้างอิง:

  • หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล. (2517). รวมปาฐกถาของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล. องค์การค้าของคุรุสภา
  • ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง. ดุสิตธานี. https://bit.ly/2JLVDHN
  • รศ.นรนิติ เศรษฐบุตร. ดุสิตธานี: การทดลองจัดการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อ พ.ศ.2461. http://www.kpi.ac.th/media_kpiacth/pdf/M10_215.pdf
  • Wikipedia. ดุสิตธานี. https://bit.ly/2LGbrt4
  • สมาน สุดโต. เปิดแล้วดุสิตธานีเมืองประชาธิปไตยของรัชกาลที่ 6. https://www.posttoday.com/dhamma/33844
  • ทวี สุรฤทธิกุล. ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (27). https://siamrath.co.th/n/16837
  • กลุ่มงานผลิตเอกสาร สำนักประชาสัมพันธ์. ดุสิตธานี : ศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตยแห่งแรกของไทย. http://bit.ly/2zHFHQy
  • patendex. เพิ่งรู้ว่า “เมืองจำลองดุสิตธานี” นี่คือเมืองเล็กๆ ที่มีบ้านหลังเล็กๆ วังเล็กๆ แบบบ้านตุ๊กตา. http://bit.ly/2E21QMq