life

‘ขยะ’ อาจเป็นสิ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นของที่หมดประโยชน์ และกำลังจะถูกทิ้งขว้าง

แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง สิ่งของเหล่านั้นก็เป็นสสารบนโลกที่อาจกำลังจะเปลี่ยนสถานะไปเป็นอย่างอื่น ขยะทุกชิ้นมีค่า และมีใครสักคนรอที่จะเปลี่ยนให้เป็นประโยชน์กับโลกใบนี้อยู่เสมอ 

becommon ขอชวนมาแยกขยะ และส่งไปให้กับใครสักคนที่เห็นคุณค่ากันดีกว่า

ขวดพลาสติก

ขวดพลาสติกชนิด PET หรือขวดน้ำพลาสติกที่เราดื่มกันอยู่ทุกวันนี้ สามารถนำไปรีไซเคิลเป็นเส้นใยสังเคราะห์สำหรับทอเป็นเครื่องแต่งกายได้ เช่น วัดจากแดง ที่เปลี่ยนขวดเหล่านี้ให้กลายเป็นจีวรพระ ที่ทั้งสวมสบายและแห้งเร็ว นอกจากนี้ ใยสังเคราะห์จากขวดพลาสติกยังแปรรูปเป็นกระเป๋าผ้า รองเท้าผ้าใบ และสิ่งทออื่นๆ ได้อีกมากมาย

วิธีคัดแยก : แกะฉลาก ฝาขวด และห่วงฝาขวดออกให้เรียบร้อย ทำความสะอาด แล้วตากให้แห้ง 

พิกัดบริจาค

  • วัดจากแดง – นำขวดพลาสติกไปรีไซเคิลป็นจีวรพระ

ที่อยู่ : วัดจากแดง ซอยวัดจากแดง ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ 10130 

โทร. 066-159-9558 (คุณแอน)

  • Tesco Lotus – นำขวดพลาสติกไปรีไซเคิลเป็นถุงผ้า โดยหย่อนลงในเครื่องรีไซเคิลขวดพลาสติกและกระป๋องอะลูมิเนียม จุดอยู่ที่ Tesco Lotus จำนวน 12 สาขาทั่วกรุงเทพฯ

รายละเอียดเพิ่มเติม:  https://www.tescolotus.com/news/view/605

 

ฝาขวดน้ำ

ฝาขวดน้ำส่วนใหญ่ในประเทศไทยเป็นชนิด HDPE และ PP ซึ่งเมื่อนำไปผ่านกระบวนการจะสามารถเปลี่ยนเป็นวัสดุและสิ่งของได้หลายชนิด หรือทำเป็นเม็ดพลาสติกเล็กๆ ซึ่งอยู่ในปากกา กระถางต้นไม้ พนักพิงเก้าอี้ ฯลฯ

โครงการ Precious Plastic Bag เป็นโครงการที่เปลี่ยนฝาขวดน้ำให้เป็นสิ่งของใหม่ๆ เช่น Mask Shield หน้ากากป้องกันโควิด-19 

วิธีคัดแยก : แยกฝาขวดและห่วงออกจากขวดน้ำ ล้างให้สะอาด แล้วตากให้แห้ง

พิกัดบริจาค

  • Precious Plastic Bangkok – นำฝาขวดน้ำ กล่องนม กล่องพลาสติกใส่อาหาร (พลาสติกประเภท HDPE และ PP) ไปรีไซเคิลเป็นของใช้

ที่อยู่ : Dominic Chakrabongse (Precious Plastic Bangkok) จักรพงษ์วิลล่า 396/1 ถ.มหาราช แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

รายละเอียดเพิ่มเติม: Precious Plastic Bangkok

 

กล่องเครื่องดื่ม UHT

กล่องนม UHT สามารถนำมารีไซเคิลเป็นวัสดุชิ้นใหม่ได้อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นหลังคา โต๊ะนักเรียน เก้าอี้ ฯลฯ หากรีไซเคิลกล่องนมจำนวน 1,000 กล่อง จะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 900 กิโลกรัม 

นอกจากจะช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศแล้ว กล่องนมหรือกล่องเครื่องดื่ม UHT ยังมีคุณสมบัติทำให้วัสดุรีไซเคิลที่ได้ มีความเหนียว ทนทาน ทนไฟ และน้ำหนักเบาอีกด้วย

วิธีคัดแยก : แกะกล่องให้กลายเป็นกระดาษผืนเดียว ล้างทำความสะอาด ตากให้แห้ง และพับเก็บให้เรียบร้อย

พิกัดบริจาค

  • โครงการหลังคาเขียว – นำกล่องนมและเครื่องดื่มไปทำหลังคา

ที่อยู่: บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด 689 ภิรัชทาวเวอร์ ชั้น 36 ถนนสุขุมวิท (ซอย 35) แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110 

โทร. 02 018 3000

รายละเอียดเพิ่มเติม: greenroof, www.tetrapak.com 

  • โครงการกล่องวิเศษ – ทำโต๊ะและเก้าอี้สำหรับนักเรียน เพื่อมอบให้เด็กๆ ที่ขาดแคลน 

ที่อยู่: ตรวจสอบจุดรับกล่องทั่วกรุงเทพฯ http://www.magicbox.in.th/drop-off-points/

รายละเอียดเพิ่มเติม : Magicbox กล่องวิเศษ

 

ถุงพลาสติก

แม้เราจะใช้ถุงพลาสติกน้อยลงจากเดิมมากแล้ว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าถุงพลาสติกยังเป็นไอเท็มที่มีเยอะที่สุดในบ้านสูสีกับขวดน้ำ 

ถุงชนิดนี้ย่อยสลายยาก แถมมีอายุยืนยาวถึง 450 ปี และมักจะลงเอยด้วยการกลายเป็นภัยคุกคามของสัตว์ใต้ทะเล 

ทั่วโลกจึงมีการหาทางออกให้กับถุงพลาสติกเจ้าปัญหา โดยการนำไปเป็นส่วนผสมของสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในประเทศไทยเองก็นำถุงพลาสติกไปผสมกับวัสดุอื่นๆ เพื่อทำเป็นพื้นถนนและบล็อกปูพื้น วิธีนี้นอกจากจะเป็นการกำจัดขยะที่ย่อยสลายได้ยากเย็นแล้ว พลาสติกยังช่วยให้ถนนที่ได้ทนทานและแข็งแรงขึ้นด้วย

อีกหนึ่งทางที่จะทำให้พลาสติกมีหนทางไปต่อ คือ การคืนชีพให้ถุงใบนั้นกลับมามีชีวิตอีกครั้ง เช่น นำมาใช้ซ้ำ นำมารีไซเคิลให้สามารถใช้งานได้ใหม่ เพื่อเป็นการลดการผลิตถุงเพิ่มในวงจรสิ่งแวดล้อมของเรา 

วิธีคัดแยก : ล้างทำความสะอาด แล้วตากให้แห้ง 

พิกัดบริจาค

  • โครงการ Green Road – นำพลาสติกไปทำถนนและบล็อก

ที่อยู่: ผศ.ดร.เวชสวรรค์ หล้ากาศ (โครงการกรีนโรด) 22 ซ.7 ถนนหมื่นด้ามพร้าคต ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50300

รายละเอียดเพิ่มเติม : GREEN ROAD

  • โครงการวน – นำถุงพลาสติกมาใช้ใหม่อีกครั้ง 

ที่อยู่: บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) 42/174 ม.5 ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม 73210

รายละเอียดเพิ่มเติม : Won

 

Eco Brick

จากเศษพลาสติกชิ้นเล็ก 

หากใครมีเศษพลาสติกชิ้นเล็กๆ ที่แยกได้ยาก สามารถนำทั้งหมดนั้นมาอัดลงในขวดน้ำขนาด 1.5-2 ลิตรให้แน่นๆ ทำเป็น eco brick แทนอิฐบล็อกสำหรับการก่อสร้างอาคารขนาดย่อมๆ 

วิธีคัดแยก : นำเศษขยะพลาสติกชิ้นเล็กๆ หรือหากเป็นขนาดใหญ่ก็ตัดให้เล็ก และอัดเข้าไปในขวดน้ำพลาสติกจนเต็มขวด กดให้แน่นแล้วปิดฝา

พิกัดบริจาค

  • Trash Hero Thailand – สร้างสิ่งก่อสร้างในโรงเรียน Bamboo School 

ที่อยู่: แบมบูสคูล (Bamboo School) 234 ซ.แมม แคท หมู่บ้านบ้องตี้ล่าง

ต.บ้องตี้ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี 71150

รายละเอียดเพิ่มเติม : Trash Hero Thailand

  • โครงการผึ้งน้อยนักสู้ – สร้างศาลาการเรียนรู้ให้เด็กๆ 

ที่อยู่: องค์กรผึ้งน้อยนักสู้ 1/790 อาคารการ์เด้นโฮมพลาซ่า โซน 2 ถนนพหลโยธิน 60 ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี 12130

รายละเอียดเพิ่มเติม : ผึ้งน้อยนักสู้

 

กระป๋องอลูมิเนียม หรือ กระป๋องเหล็ก 

กระป๋องอลูมิเนียมสามารถนำไปบริจาคให้กับโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อแปรรูปและปรับส่วนผสมให้กลายเป็นขาเทียมสำหรับผู้พิการได้ โดยกระป๋องเหล่านี้สามารถทำขาเทียมได้หลายชิ้น ไม่ว่าจะเป็นเบ้าแกน หน้าแข้ง เท้าเทียม และไม้เท้า

วิธีคัดแยก : ล้างกระป๋องให้สะอาด แล้วตากให้แห้ง

พิกัดบริจาค

  • มูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี – เปิดรับห่วงจากฝาหรือกระป๋องเครื่องดื่ม ฝาเครื่องดื่มแบบเกลียว กระป๋องน้ำอัดลม เศษอะลูมิเนียมจากข้อต่อบานพับ รั้ว ชิ้นส่วนจากเครื่องจักรและอะไหล่รถยนต์ เพื่อนำไปจัดทำขาเทียม 

รายละเอียดเพิ่มเติม : มูลนิธิขาเทียม Prostheses Foundation of HRH the Princess Mother

 

หลอดพลาสติก

หลอดพลาสติก หนึ่งในวัสดุที่มีความสิ้นเปลืองและกลายมาเป็นขยะได้ง่ายที่สุด เพราะการดื่มน้ำแต่ครั้ง เราใช้หลอดเฉลี่ยแล้วเป็นระยะเวลาเพียง 20 นาที แต่หลอดชิ้นนั้นจะอยู่บนโลกเป็นเวลานานถึงหลายร้อยปี 

หลอดเป็นพลาสติกประเภท PP ซึ่งสามารถนำไปรีไซเคิลใช้อีกครั้งได้ แต่ทว่าด้วยรูปทรงที่ทั้งยาวและเล็ก ทำให้การรีไซเคิลหลอดนั้นจำเป็นต้องใช้วิธีเฉพาะ และแยกออกมาจากพลาสติกรูปทรงอื่นๆ 

วิธีคัดแยก : ล้างให้สะอาด แล้วตากให้แห้ง

พิกัดบริจาค

  • ศูนย์สังคมพัฒนา สังฆมณฑลจันทบุรี – ทำหมอนให้ผู้ป่วยติดเตียงในชุมชน 

ที่อยู่: ศูนย์สังคมพัฒนา สังฆมณฑลจันทบุรี ตู้ ปณ.66 อ.เมือง จ.สระแก้ว 27000

โทร. 089-9398665 หรือ 086-61434118

รายละเอียดเพิ่มเติม : ศูนย์สังคมพัฒนา สังฆมณฑลจันทบุรี 

  • มูลนิธิพลังที่ยั่งยืน – ทำหมอนเพื่อผู้ป่วยติดเตียงจากหลอดพลาสติก (งดรับบริจาคชั่วคราวในช่วงโควิด-19)

ที่อยู่: มูลนิธิพลังที่ยั่งยืน สำนักงานใหญ่ เลขที่ 555 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 

โทร. 0 2537 3825-6

รายละเอียดเพิ่มเติม : มูลนิธิพลังที่ยั่งยืน

 

ภาชนะพลาสติก

กล่องใส่อาหารพลาสติกที่เรามักเห็นจากมุมอาหารลดราคาในห้าง เป็นชนิด PP และ PS ซึ่งจะเป็นพลาสติกชนิดอ่อนๆ บางอันสามารถล้างแล้วเก็บไว้ประยุกต์เป็นที่ใส่ของจุกจิกได้เป็นอย่างดี แต่หากเก็บไว้มากไปจนล้นบ้าน เราขอชวนให้ส่งพลาสติกเหล่านั้นให้คนที่กำจัดมันได้อย่างถูกวิธีดีกว่า

วิธีคัดแยก : ล้างให้สะอาด แล้วตากให้แห้ง 

พิกัดบริจาค

  • Yolo Zero Waste (งดรับบริจาคในช่วงโควิด-19)

ที่อยู่: 432 ถนนพรานนก – พุทธมณฑลสาย 4 บางเชือกหนัง เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170

โทร. 061 536 5514

รายละเอียดเพิ่มเติม: YOLO – Zero Waste Your Life

 

อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

เอ็มพีสามเครื่องเก่า มือถือจอพับที่นอนแน่นิ่งอยู่ในลิ้นชัก เครื่องเล่นเทปที่เปิดไม่ได้ตลอดกาล กลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างไม่ต้องสงสัย แม้อยากจะเก็บกวาดบ้านเต็มที แต่อย่าเพิ่งทิ้งของเหล่านี้ลงในถังขยะ เพราะนี่คือขยะชนิดพิเศษ ซึ่งหากกำจัดและย่อยสลายผิดวิธีจะทำให้เกิดการก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาล 

ดังนั้น ขยะเหล่านี้จึงต้องถูกรีไซเคิลอย่างถูกวิธี แม้จะไม่ได้นำไปใช้ต่อ แต่เราก็จำเป็นต้องแยกขยะชิ้นนี้ทุกครั้ง และส่งให้กับองค์กรหรือบริษัทที่สามารถกำจัดได้อย่างถูกวิธี

วิธีคัดแยก : ขยะอิเล็กทรอนิกส์ชิ้นเล็ก ไม่รวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ชิ้นใหญ่ ถ่านกระดุม แบตเตอร์รี่รถยนต์ ถ่านไฟฉาย และหลอดไฟ

พิกัดบริจาค

  • โครงการจุฬาฯ รักษ์โลก (Chula Loves the Earth) – นำขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปกำจัดอย่างถูกวิธี

ที่อยู่: โครงการจุฬาฯ รักษ์โลก ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 8 ถ.พญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 

โทร. 02 2183959

รายละเอียดเพิ่มเติม: โครงการจุฬาฯ รักษ์โลก (Chula Loves the Earth)

 

กระดาษ

ใบเสร็จที่กองเป็นตั้ง นอกจากจะเป็นเครื่องเตือนใจที่บอกว่าเราช้อปปิ้งไปหนักแค่ไหน ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้เป็นอย่างดีอีกด้วย 

เศษกระดาษเหลือใช้ และหนังสือพิมพ์ก็เช่นกัน สิ่งเหล่านี้สามารถแปรรูปเป็นสมุดดีๆ อันเป็นพื้นที่ให้จินตนาการและการเรียนรู้ของเด็กๆ ได้โลดแล่นอีกครั้ง  

วิธีคัดแยก : เลือกเฉพาะกระดาษที่ฉีกได้ ไม่ใช่กระดาษเคลือบน้ำมัน โดยเก็บไม่ให้เปียกหรือชื้น

พิกัดบริจาค

  • โครงการสมุด Green Way – รีไซเคิลกระดาษเป็นสมุด 

ที่อยู่: แผนกสื่อสารองค์กร บมจ. ทางยกระดับดอนเมือง 40/40 ถ. วิภาวดีรังสิต เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ 10210 

โทร. 02-792-6500

  • Paper Ranger จิตอาสาสมุดเพื่อน้อง – รีไซเคิลกระดาษเป็นสมุด 

ที่อยู่: บ้านจิตอาสา 2044/21 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310 

โทร. 089-670-4600

รายละเอียดเพิ่มเติม : Paper Ranger จิตอาสาสมุดเพื่อน้อง, www.paperranger.org