©ulture

ดุสิตธานีเป็นเมืองจำลองในรัชกาลที่ 6 ที่ผู้คนบอกว่า “ได้หายสาบสูญไปแล้วโดยไม่มีร่องรอย…”

แต่โชคดีที่คำพูดนั้นไม่เป็นจริงไปทั้งหมด เพราะดุสิตธานียังมีร่องรอยหลงเหลืออยู่บ้าง อย่างน้อยก็ในภาพถ่าย

คนที่อ่าน พาชม ‘ดุสิตธานี’ ตอนที่ 2: เข้าเมืองดุสิตธานี คงได้เห็นร่องรอยเหล่านั้นแล้ว ซึ่งเป็นร่องรอยที่ผู้เขียนพบหลังจากได้เจอเบาะแสสำคัญ จนนำไปสู่การค้นหาภาพถ่ายดุสิตธานี

ดุสิตธานี หอวชิราวุธานุสรณ์
ห้องรามจิตติ ชั้น 2 หอวชิราวุธานุสรณ์ จุดหมายสุดท้ายในการค้นหาภาพถ่ายดุสิตธานี

หมายเหตุที่หน้าสุดท้าย

การเริ่มต้นหาภาพถ่ายชุดนี้ คงเหมือนการงมเข็มในมหาสมุทร ถ้าไม่พบหมายเหตุหน้าสุดท้ายของบทบรรยาย ‘พาชมดุสิตธานีฯ’ ในหนังสือ รวมปาฐกถาของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ที่ระบุถึงที่มาภาพถ่ายเมืองดุสิตธานี

ใจความสรุปได้ว่า ภาพเหล่านี้ถ่ายโดย ฉายาบรรทมสินธุ์ ร้านถ่ายรูปบนถนนอโยธยารังสรรค์ เมื่อ พ.ศ.2462

ต่อมา นายหรู ผิวงาม ผู้จัดการร้านนำภาพไปยังที่ประเทศอังกฤษ แล้วมอบให้สามัคคีสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ กรุงลอนดอน ในพ.ศ.2464

ราว 50 ปีต่อมา (พ.ศ.2513) สามัคคีสมาคมฯ ได้มอบต่อให้หอสมุดแห่งชาติเก็บรักษา

นี่คือเบาะสั้นๆ ที่เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญให้ผมติดต่อไปที่หอสมุดแห่งชาติ

เสียงตอบรับที่ปลายสาย

เจ้าหน้าที่หอสมุดที่ปลายสาย แนะนำให้ผมติดต่อไปที่ หอวชิราวุธานุสรณ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของหอสมุดแห่งชาติ

“ถ้าเกี่ยวกับรัชกาลที่ 6 ข้อมูลจะอยู่ที่นั่นเกือบทั้งหมดค่ะ”

ดุสิตธานี หอวชิราวุธานุสรณ์
หอวชิราวุธานุสรณ์

หลังได้เบอร์ติดต่อ ผมรีบกดโทรหา เจ้าหน้าที่คนหนึ่งรับสายก่อนจะส่งต่อให้คุยกับบรรณารักษ์

บรรณารักษ์แนะนำตัวว่าเธอชื่อ ‘ใหม่’ แล้วถามผมว่าไปเจอภาพดุสิตธานีจากที่ไหน? ผมพูดชื่อหนังสือ

เธอตกลงว่าจะเป็นธุระสำรวจภาพดุสิตธานีให้ แต่ไม่รับปากว่าจะพบภาพทั้งหมดตามที่ผมต้องการ

ก่อนวางสาย เธอเอ่ยปากขออีเมล “ถ้ามีความคืบหน้า จะแจ้งไปนะคะ”

ความหวังจากอีเมล

ผ่านไปสองวัน เธออีเมลมาหา

“ดิฉันส่งตัวอย่างภาพดุสิตธานีที่หอวชิรวุธานุสรณ์มี แต่ทางเรายังสำรวจภาพไม่เสร็จ อาจจะสำรวจเสร็จในวันพุธ พฤหัสค่ะ”

พร้อมแนบไฟล์ภาพถ่ายแนบมาด้วยหนึ่งรูป

ดุสิตธานี หอวชิราวุธานุสรณ์
ภาพที่แนบมาในอีเมล

จากนั้นเธอก็หายไปอีกสองวัน ก่อนจะส่งอีเมลมาหาอีกฉบับ

‘ทางเราสำรวจเบื้องต้นแล้ว มี 44 ภาพ เหมือนกับในหนังสือ และมีเพิ่มเติมอีก 1 ภาพด้วยค่ะ…’

ที่ท้ายอีเมล เธอชี้แจงวัน-เวลาเปิดทำการของหอวชิราวุธานุสรณ์ และชวนผมให้มาดูภาพถ่ายทั้งหมดด้วยตัวเอง

ภาพถ่ายและเอกสารในห้องสมุด

ผมเดินขึ้นชั้น 2 มาที่ห้อง ‘รามจิตติ’ ซึ่งเป็นห้องสมุดในหอวชิราวุธานุสรณ์

เธอยืนรออยู่หลังเคาท์เตอร์ ยิ้มน้อยๆ ทักทาย ก่อนจะชี้ไปที่กองเอกสารภาพถ่ายดุสิตธานีที่นอนรออยู่บนโต๊ะ

ดุสิตธานี หอวชิราวุธานุสรณ์
ภาพถ่ายดุสิตธานี

“คัดลอกภาพทั้งหมดได้ตามสบายเลยนะคะ” แต่เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบ เธอรบกวนให้ผมลงชื่อในสมุดเยี่ยมชม และเขียนแบบคำขออนุญาตใช้เอกสาร

ดุสิตธานี หอวชิราวุธานุสรณ์

จากนั้นเธอก็อาสาพาเดินชมพื้นที่ต่างๆ ในห้องสมุด ไม่ว่าห้องจำลองห้องสมุดของรัชกาลที่ 6 ที่มีหุ่นขี้ผึ้งขนาดเท่าพระองค์จริง ตู้หนังสือที่เก็บหนังสือส่วนพระองค์ ที่หนังสือส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ รูปเล่มงดงาม แลดูล้ำค่า จนถึงชั้นหนังสือที่เก็บรวบรวมเอกสาร งานประพันธ์ และบันทึกที่เกี่ยวข้องกับรัชกาลที่ 6

ดุสิตธานี หอวชิราวุธานุสรณ์

ดุสิตธานี หอวชิราวุธานุสรณ์

ท่ามกลางเอกสารมากมายบนชั้นหนังสือ ผมขอให้เธอช่วยแนะนำเอกสารที่น่าสนใจสักฉบับ

เธอหยิบหนังสือปกสีน้ำเงินเล่มหนึ่งจากชั้น “นี่เป็นสำเนาลายมือนามสกุลที่รัชกาลที่ 6  ทรงพระราชทานค่ะ” แล้วพลิกเปิดให้ดูทีละหน้า หลังไล่สายตาบนหน้ากระดาษ ผมพบว่านามสกุลที่พระองค์ทรงพระราชทานนั้นมีเยอะมาก หลายพันนามสกุลทีเดียว

“ถ้าคุณอยากรู้ว่ามีนามสกุลตัวเองไหม ก็ลองมาเปิดดูได้นะคะ”

พูดจบเธอก็ขอตัวไปทำงาน ส่วนผมเดินไปที่เอกสารกองโตบนโต๊ะ เพื่อถ่ายคัดลอกภาพดุสิตธานี

จำได้ว่าวันนั้นตอนที่เดินจากมา ผมพยายามมองหาเธอ แต่เธอคงทำงานอยู่ห้องอื่น

ผมจึงไม่ได้เอ่ยคำลาและขอบคุณ

ดุสิตธานี หอวชิราวุธานุสรณ์

หน้าที่ของบรรณารักษ์

หนึ่งสัปดาห์ผ่านไป หลังเขียนบทความ พาชม ‘ดุสิตธานี’ ตอนที่ 2: เข้าเมืองดุสิตธานี  เสร็จ

ผมส่งอีเมลไปหาเธอเพื่อขอ ชื่อ-นามสกุล สำหรับเขียนคำขอบคุณที่ท้ายบทความ

เธอตอบกลับมา ‘ไม่ต้องเขียนขอบคุณก็ได้ค่ะ เป็นหน้าที่อยู่แล้ว แต่รบกวนเขียนแหล่งที่มาอ้างอิงด้วยนะคะ’

ถึงแม้เธอจะบอกอย่างนั้น แต่ผมก็หวังว่าการเขียนบทความชิ้นนี้จะทำหน้าที่แทนคำขอบคุณได้บ้างไม่มากก็น้อย

ขอบคุณสำหรับการทำหน้าที่อย่างแข็งขันนะครับ.

Did you know/Quick Facts

  • หอวชิราวุธานุสรณ์ เป็นอาคารทรงไทยขนาดใหญ่ มี 3 ชั้น มีห้องใต้หลังคาและห้องใต้ดิน ใช้เก็บรวบรวมและให้บริการข้อมูลที่เกี่ยวกับ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ผู้ที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์และบุคคลทั่วไปสามารถเที่ยวชมได้ วันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 8:30 - 16:30 น. เว้นวันหยุดราชการ