life

เอมมี่ เพอร์ริน (Amy Perrin) รู้สึกอายเกินกว่าจะบอกใครว่าเธอ เหงาและโดดเดี่ยว’ ออกมาตรงๆ

ในวัย 30 ปีเธอตัดสินใจย้ายรกรากไปใช้ชีวิตในอีกเมืองกับคนรักที่คบมาตั้งแต่วัยเยาว์ แต่ไม่นานหลังจากนั้นความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็จบลง นั่นเองที่เธอพบว่าตนกำลังอยู่เพียงลำพังในเมืองแปลกหน้า ห่างไกลจากเพื่อนและครอบครัวกว่า 200 ไมล์ “ฉันเอาแต่เดินเตร็ดเตร่ไปมาในลานจอดรถหลังจากเลิกงานในเย็นวันศุกร์อย่างไร้หวัง ตระหนักว่าฉันจะไม่ได้พูดกับใครอีกเลยจนกระทั่งเช้าวันจันทร์”

ไม่กี่เดือนหลังจากนั้นเธอถึงรู้ตัวว่าเธอกำลังโดดเดี่ยวสุดขั้วหัวใจ สิ่งที่เธอทำได้คือการลงคอร์สเรียนปั้นถ้วยชาม เข้ายิม แต่ก็กลับยังรู้สึกว่ามันช่างยากเย็นเหลือเกินในการหาเพื่อนใหม่ๆ “ฉันรู้สึกอาย ความโดดเดี่ยวไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเอามาพูดกัน”

คงไม่ผิดนัก หากจะสรุปแบบรวดรัดว่า ‘ความโดดเดี่ยว’ กำลังเป็น ‘โรคระบาดแห่งยุคสมัย’ แม้ไม่ใช่อะไรที่อันตรายเทียบเท่าโควิด-19 แต่เอาแค่ผลสำรวจในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2019 ตัวเลขก็ชี้ว่า ประชากรอเมริกามีจำนวนคนเหงามากถึง 61% และผลวิจัยต่างๆ ก็ยืนยัน ว่าการเผชิญกับความโดดเดี่ยวชนิดเรื้อรังนั้นจะส่งผลร้ายต่อร่างกาย ทั้งอัตราความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจสูงขึ้น ความอ่อนแอของภูมิคุ้มกันโรคที่จะลดลง และอื่นๆ

จอห์น คาซซีโอโป (John Cacioppo) ผู้ศึกษาด้านความโดดเดี่ยวมายาวนานบอกว่า “ความเหงาเกิดจากพันธุกรรมถึง 50% แต่ไม่ได้หมายความว่าความโดดเดี่ยวถูกกำหนดโดยยีนส์ สิ่งที่สืบทอดกันได้จริงๆ คืออัตราความรุนแรงของความเจ็บปวดที่ใครสักคนจะรู้สึกเมื่อเขาถูกโดดเดี่ยวออกจากสังคม” ซึ่งนั่นหมายความว่า ‘สภาพแวดล้อม’ มีผลอย่างยิ่งต่อความรู้สึกทุกข์ทรมานจากความโดดเดี่ยว เช่น การย้ายไปยังประเทศอื่นที่เราต้องเผชิญกับความยากลำบากของกำแพงทางด้านภาษาหรือวัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในชีวิต เช่น การหย่าร้าง และความสูญเสีย รวมถึงมุมมองที่เรามีต่อตัวเองและโลกอีกด้วย

ศาสตราจารย์ สตีฟ โคล (Steve Cole) จาก UCLA บอกว่า

“คนเหงาไม่ได้เลือกที่จะโดดเดี่ยว พวกเขามักโดดเดี่ยวเพราะนั่นคือวิธีปกป้องตัวเองจากโลกที่พวกเขามองว่ากำลังคุกคามหรือไม่เป็นมิตรต่อพวกเขา”

และแม้คุณจะรู้สึกโดดเดี่ยวในตอนนี้ ก็ขอให้วางใจได้ว่าคุณไม่ได้ทุกข์ทรมานกับความโดดเดี่ยวนี้เพียงลำพัง การมองเห็นว่าความเหงาคืออารมณ์สามัญที่มนุษย์มากมายต่างเผชิญร่วมกัน ก็อาจเป็นตัวช่วยหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกโดดเดี่ยวน้อยลงได้บ้าง โดยนักวิจัยชื่อ คริสเตน เนฟฟ์ (Kristen Neff) พบว่า การมีความเห็นอกเห็นใจต่อตัวเอง (self-compassion) ทำให้เรามีความสามารถในการฟื้นฟูอารมณ์เพิ่มขึ้น มันช่วยทำให้มุมมองที่เรามีต่อตัวเองเที่ยงตรงขึ้น และช่วยพัฒนาพฤติกรรมที่เรามีต่อความสัมพันธ์ต่างๆ ได้

“คำจำกัดความของคำว่า ‘มนุษย์’ ก็คือ สิ่งที่ไม่ได้เป็นอมตะ เปราะบาง และไม่สมบูรณ์แบบ ดังนั้น การมีความเห็นอกเห็นใจต่อตัวเองจึงรวมถึงการตระหนักว่า ความเจ็บปวดและความไร้ศักยภาพคือประสบการณ์ที่มนุษย์มีร่วมกัน บางครั้งมันคือสิ่งที่พวกเราทุกคนต่างต้องผ่านพ้นมากกว่าจะเป็นบางสิ่งที่ฉันต้องพบเจอเพียงลำพัง”

เหมือนที่เอมมี่ เพอร์รินโชคดีอย่างยิ่งที่หลุดพ้นจากความโดดเดี่ยวนั้นมาได้ เธอกลายเป็นนักบำบัดอาชีพ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ Marmalade Trust ขึ้นมาในเมืองที่เคยแปลกหน้าสำหรับเธอแห่งนั้น เพื่อมุ่งเน้นช่วยเหลือให้ผู้คนไม่ต้องเผชิญภาวะโดดเดี่ยวเพียงลำพัง และไม่ต้องอายที่จะพูดมันออกมาดังๆ อีกต่อไป

อ้างอิง