life

‘แค่วัยรุ่นคนหนึ่งที่จะร่วมสู้เพื่อประชาธิปไตยกับทุกคนค่ะ’

เป็นข้อมูลส่วนตัวสั้นๆ ของ อั่งอั๊ง – อัครสร โอปิลันธน์ ในแอคเคาน์ทวิตเตอร์ของเธอ เพียงชั่วข้ามคืนจากผู้ติดตาม 20 คน ก็เพิ่มขึ้นเป็น 8,000 คน หลังจากที่เธอให้สัมภาษณ์เรื่องประชาธิปไตยจนกลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ 

วันนั้นเป็นวันเสาร์กลางเดือนกันยายน ที่เด็กวัยรุ่นคนหนึ่งน่าจะได้พักผ่อนอยู่บ้าน แต่อั่งอั๊งเลือกที่จะสวมรองเท้าผ้าใบ แบกเป้ ออกมารวมกลุ่มกับมวลมหาชนที่สนามหลวงท่ามกลางสายฝนที่โปรยปรายลงมาอย่างไม่ขาดสาย 

อะไรทำให้สุดสัปดาห์อันตรธานไปจากปฏิทินของเธอ?

อะไรทำให้เยาวชนอย่างอั่งอั๊งต้องออกมาตากฝนกลางสนามหลวง

อะไรทำให้เธอต้องออกมาแสดงจุดยืนในวันนั้น

ไม่ว่าคำตอบคืออะไร แต่นั่นย่อมเป็นเหตุผลเดียวกันที่ทำให้เธอมานั่งอยู่กับเราที่นี่ในวันนี้ 

แม้จะพูดจาฉะฉานตรงไปตรงมาอย่างที่เห็นในทุกการสัมภาษณ์ แต่อั่งอั๊งบอกว่าตอนเด็กเธอเป็นเด็กเงียบๆ พูดน้อย ใช้เวลาว่างหมดไปกับการเล่นเปียโนและตีกอล์ฟ 

จนกระทั่งได้เข้าร่วมการแข่งขันพูดภาษาจีนตอน ป.5 นั่นเป็นครั้งแรกที่ทำให้เธอรู้จักกับการ ‘โต้วาที’ เธอลงแข่งและพ่ายแพ้อยู่หลายหน แต่ก็ยังยืนยันที่จะแข่งแบบนั้นไปเรื่อยๆ เพื่อเอาชัยชนะมาให้ได้  

จากความอยากเอาชนะเปลี่ยนมาเป็นความชอบได้อย่างไร 

พอลองไปแข่งแล้วแพ้ หลังๆ เลยพัฒนาสกิลขึ้นเรื่อยๆ พอชนะก็รู้สึกว่าสนุกดี พอได้แข่งเวทีระดับชาติ ก็มีพื้นที่ให้พูดเกี่ยวกับปัญหาสังคมมากขึ้น ทำให้เราต้องอ่านหนังสือควบคู่ไปด้วย พออ่านหนังสือก็เริ่มสนใจ แรกๆ ชอบในเชิงวิชาการ หลังๆ เห็นแล้วว่ามันเกี่ยวข้องกับชีวิตเราด้วย 

เรามีชมรมโต้วาทีชื่อ MUN หรือ Model United Nations เป็นการจำลองสภา UN ที่จะมีทุกๆ สองเดือนครั้ง เป็นการรวมกลุ่มนักเรียนนานาชาติ แบ่งเป็นห้อง ห้องละ 20 คน มี 3 หัวข้อ เราต้องจำลองตัวเองเป็นตัวแทนประเทศต่างๆ ออกมาโต้วาที 

บนเวทีโต้วาทีพูดเรื่องอะไรกันบ้าง 

มีกลุ่มที่สนใจเรื่องความเท่าเทียมทางเพศบ้าง เรื่องโลกร้อนก็เยอะ แต่ไม่มีประเด็นไหนที่เกี่ยวกับไทยโดยตรงเลย เพราะหลักสูตรสอนแต่ global issue ไม่ค่อยมีใครที่มีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการเมืองไทย  

เวทีโต้วาที MUN จะสนใจแต่ประเด็นโลกมากกว่า ส่วนประเด็นของไทยไม่เคยไปถึงตรงนั้น และไม่ได้รับอนุญาตด้วย เขาบอกว่ามันเซนซิทีฟเกินไป  

คิดว่าอะไรทำให้เขามองว่าการเมืองเป็นเรื่องเซนซิทีฟ 

เราไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องเซนสิทีฟ เพราะการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน แต่เหตุผลที่เขาบอกว่าเซนสิทีฟ เพราะการเมืองเป็นเรื่องสกปรกและไม่เกี่ยวกับเรา ใครที่เข้าไปยุ่งจะติดคุกบ้าง หายตัวไปบ้าง มีแต่ปัญหายุ่งยากมากมาย เราไม่รู้ว่าเราพูดอะไรได้บ้าง เผื่อหลุดปากไปอาจเจอข้อหาก็ได้ จะมีปัญหาตามมาถึงโรงเรียนอีก 

สังคมไทยที่ผ่านมาพยายามทำให้การเมืองเข้าถึงยาก ไม่ได้ทำให้ทุกคนเข้าใจว่าการเมืองเป็นเรื่องที่สำคัญกับปัจเจกบุคคลจริงๆ สำคัญกับชีวิตของคนคนหนึ่งจริงๆ  

 

มุมมองของคนรอบตัวต่อการเมืองในความคิดคุณเป็นแบบไหน  

เรารู้สึกว่ามีหลายกลุ่ม ส่วนใหญ่เขาก็รู้แหละว่าในกรุงเทพฯ มีประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย แต่อาจไม่ได้สนใจที่จะอ่านต่อด้วยตัวเอง ไม่ใช่อิกนอแรนท์แต่เป็น apathy คือไม่อยากจะใส่ใจมากกว่า อีกกลุ่มหนึ่งก็เป็นกลุ่มที่อิกนอแรนท์ไปเลย ส่วนอีกกลุ่มก็อาจเป็นกลุ่มที่อนุรักษ์นิยม 

ถ้าเป็นเรื่องการเมืองไทย อาจจะตกใจที่เห็นเด็กนานาชาติเป็นอนุรักษ์นิยมเพราะหลายคนคิดว่าเราได้หลักสูตรจากตะวันตก ควรจะมีความลิเบอรัล แต่จริงๆ กลับลิเบอรัลเฉพาะปัญหาสังคมที่ไม่เกี่ยวกับไทย ควบคู่กับหลักสูตรที่โรงเรียนไม่ค่อยได้สอนด้วย มันมีหลายปัจจัยมากที่ทำให้เป็นแบบนี้ 

สำหรับตัวคุณเองได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง ถึงออกมาแสดงจุดยืน 

สำหรับคนกลุ่มพริวิเลจมันยังเห็นไม่ชัดเท่าไหร่ ผลกระทบโดยตรงมันยังไม่มี แต่ผลกระทบที่ใหญ่ที่สุดคือมันทำให้เรากลัว ไม่ว่าจะเป็นพริวิเลจหรือไม่เป็น เราทุกคนล้วนกลัวว่าอนาคตข้างหน้าจะอยู่ในสังคมที่ไม่เท่าเทียม ในสังคมที่ไม่มีประชาธิปไตย 

ท้ายที่สุด ไม่ว่าจะอยู่ชนชั้นไหน ถ้าเราหันมาสนใจการเมืองจริงๆ เราจะเห็นว่ามีความกลัวเกิดขึ้น กลัวส่งผลถึงอนาคตตัวเอง เราถึงต้องออกมาสู้เพื่ออนาคตของเรา ถ้าเราไม่ออกมาพูดเพื่ออนาคตของเรา แล้วใครจะออกมา  

ราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการออกมาพูดคืออะไร 

ความสัมพันธ์กับเพื่อน มีเพื่อนหลายคนที่ไม่เห็นด้วยอย่างสิ้นเชิงกับความคิดเห็นทางการเมืองของเรา เช่น เรื่องซื้อเรือดำน้ำ เราถามเขาไปว่า “แกเห็นด้วยจริงๆ เหรอ” เขาบอกว่า “เห็นด้วย เผื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สามขึ้น” บางทีถ้าคุยเรื่องการเมืองมันถึงขั้นขึ้นเสียงทะเลาะกัน เรารู้สึกว่าพูดเรื่องการเมืองที่โรงเรียนไม่ได้  

ความสัมพันธ์กับคุณครูด้วย โรงเรียนก็จะมีความอนุรักษ์นิยมหน่อยๆ มันไม่ได้ผิด แต่ด้วยความที่เราเป็นลิเบอรัล มันเลยเกิดความไม่ลงรอยกัน ได้ยินมาเหมือนกันว่าผู้ปกครองบางคนที่เป็นอนุรักษ์นิยมเขาไม่อยากให้ลูกตัวเองมาคุยกับอั่งอั๊งแล้วยุ่งเรื่องการเมืองมาก 

อีกอย่างคือความเป็นส่วนตัว อย่างที่นักกิจกรรมหลายคนเจอมา เราไม่มีความเป็นส่วนตัวเลย ก่อนที่จะไปชุมนุมวันที่ 19 กันยายน ทวิตเตอร์เรามีคนติดตาม 20 คน เช้าวันต่อมามีคนติดตาม 8,000 คน ก็เลยคิดว่า เอ๊ะ เราไปทำอะไรมาหรือเปล่า (หัวเราะ) หลังจากนั้นเราโพสต์ทวิตเตอร์ ได้ขึ้นเวทีเสวนาบ่อยขึ้น กลายเป็นว่าเราถูกพบเห็นในโลกออนไลน์ มีใครก็ไม่รู้โพสต์ประวัติของเรา มีคนขุดทุกเรื่องเกี่ยวกับเราและครอบครัวเรา ตอนนี้โดนข่มขู่จากพวกยูสเซอร์ anonymous ในทวิตเตอร์นี่แหละ เขาบอกว่า “ถ้าเจอที่อยู่ของคุณจะไปหา” 

และสิ่งสุดท้ายที่นักกิจกรรมโดยเฉพาะวัยรุ่นต้องเสียคือ ชีวิตวัยรุ่นที่เราควรจะได้ แทนที่เราจะได้มีความสุขกับการเป็นวัยรุ่น กลับต้องออกมาสู้เพื่ออนาคตของเรา กลัวว่าจะไม่มีอนาคตที่เท่าเทียม มันใช่เหรอ นี่แหละคือราคาที่ต้องเสีย  

สิทธิขั้นพื้นฐานมันไม่ใช่อะไรที่เราต้องยอม มันเป็นสิ่งที่เกิดมาแล้วต้องมี

 

คุณรู้ตัวว่ากำลังจะสูญเสียอนาคตไป แต่มีอีกหลายคนที่ไม่รู้ คุณจะบอกเขาอย่างไร  

เราค่อยๆ บอกทีละนิด เช่น วันที่ฝนตก รถติด เพื่อนๆ จะทักมาถามว่า “ถึงบ้านกันหรือยัง น้ำท่วมนะ” เราเลยถามกลับไปว่า “ทำไมน้ำท่วม” ถ้าตอบว่า “ท่อน้ำตัน” แล้วจะถามต่อว่า “ทำไมท่อน้ำตัน มันต้องแก้ที่ไหน” ท้ายที่สุดแล้วคำตอบก็ไปจบที่การเมือง เรื่องราคาน้ำมัน ราคาข้าวมันไม่กระทบต่อชีวิตเขาอยู่แล้ว จะไปยกเรื่องนั้นมาเขาก็ไม่สนใจอยู่ดี  

เราต้องให้เขาเห็นว่าการเมืองเกี่ยวข้องกับชีวิตเขาอย่างไร เราจะไม่โยนข้อมูลไปให้ เพราะเขามีกำแพง อาจไม่อยากรับข้อมูลนั้นอยู่ดี คอยตั้งคำถามมากกว่าค่ะ เราไม่ได้หล่อเลี้ยงความคิดเขา เรื่องการหล่อเลี้ยงมันต้องเป็นตัวเขาเอง สิ่งที่เราทำได้คือหว่านเมล็ดพืชและให้เขาพยายามคิดให้ได้ด้วยตัวเอง 

ถ้าเขาเจอความสูญเสียอยู่แต่ไม่รู้ว่านั่นคือความสูญเสียล่ะ 

ต้องเริ่มด้วยการเปิดโลกกว้าง มันมีคนกลุ่มหนึ่งเขามีน้ำสะอาดกิน เขามีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีกว่า ลองตั้งคำถามว่าทำไมถึงเหลื่อมล้ำกันขนาดนี้ ทั้งๆ ที่เกิดมาเหมือนกัน แต่ทำไมคนบางกลุ่มถึงมีโอกาสหลายๆ อย่างที่เราไม่มี 

โลกที่การเมืองดี มันมีความเป็นไปได้ที่จะดีกว่านี้เยอะมากๆ เราอยู่ในสังคมที่ต้องยอมตลอดเวลา สังคมที่อะไรก็ได้ อย่าไปขัดคนอื่นเขาเลย แต่จริงๆ มันไม่ใช่  

ทุกคนต้องเข้าใจถึงคุณค่าความเป็นคนของตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก เราต้องหันมาดูว่าอะไรยอมได้ อะไรยอมไม่ได้ สิทธิขั้นพื้นฐานมันไม่ใช่อะไรที่เราต้องยอม มันเป็นสิ่งที่เกิดมาแล้วต้องมี เราเกิดมาเป็นคนเท่ากับคนอื่น มีสิทธิอะไรบ้าง ต้องรู้ว่าการเกิดมาเป็นคนของสังคมนี้เราควรได้อะไรบ้าง

มองคนคิดต่างอย่างไร 

คิดต่างดีกว่าไม่คิดอะไรเลย บางทีเรารู้ว่าการถกเถียงปัญหาสังคมกับคนที่ไม่เห็นด้วย ท้ายที่สุดแล้ว เราก็เห็นตรงกันไม่ได้อยู่ดี ไม่ว่าจะคุยแบบสันติขนาดไหน แต่อย่างน้อยก็โล่งใจที่เขามีความคิดเป็นของตัวเอง มีจุดยืนเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน  

ที่เราออกมาตรงนี้ก็เหมือนกัน เราไม่ได้บังคับให้ทุกคนต้องมาเห็นด้วยกับทุกความคิดของเรา แค่อยากให้เห็นความสำคัญของประชาธิปไตย ถ้าเราทุกคนเข้าใจว่าคนต้องมีความเท่าเทียมกัน หลังจากนั้นเขาจะเดินทางไหนก็เป็นเรื่องของเขา เราไม่สามารถบังคับใครให้เชื่อเหมือนที่เราเชื่อได้  

อนาคตที่ทุกคนมีจุดยืนเป็นของตัวเอง ดีกว่าอนาคตที่ทุกคนไม่รู้อะไรเลย อนาคตที่ทุกคนไม่รู้อะไรเลยมันมืดไปหมด ถ้าคุณมีจุดยืน ก็ยังมีความเป็นไปได้หลากหลายสำหรับอนาคตข้างหน้า ไม่แน่นอนว่าจะเป็นไปในทางไหน แต่อย่างน้อยๆ มันก็มีความเป็นไปได้กว่าการที่ไม่รู้อะไรเลย 

อยากเห็นความเท่าเทียมในแง่ไหนมากที่สุด 

ความเท่าเทียมทางเพศ คิดว่าในเชิงความคิดของคนในสังคม ผู้หญิงยังมี double standard สมมุติมีประชุม ผู้ชายไม่ต้องแต่งหน้า แต่ถ้าผู้หญิงไม่แต่งหน้า เขาจะมองว่าคุณไม่พร้อม เป็นการสเตอริโอไทป์ที่ไม่ควรมองข้าม เรารู้สึกว่าผู้หญิงได้รับการปฏิบัติแบบสองมาตรฐาน เพราะสังคมไทยยังคงมีความชายเป็นใหญ่  

ที่น่ากลัวที่สุดคือ internalized misogyny คือการที่ผู้หญิงมาเหยียดเพศหญิงด้วยกันเอง เช่น ถ้าผู้หญิงคนหนึ่งใส่สายเดี่ยว ใส่กางเกงขาสั้น จะถูกตัดสินไลฟ์สไตล์ไปเลยแค่เพราะการแต่งตัว นี่เป็นสิ่งที่ไม่ใช่เลย มันเป็นสังคมที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางเพศเชิงทัศนคติ  

เราให้คุณค่าอันจอมปลอมกับเรื่องเพศ แล้วตีกรอบเพศว่าผู้หญิงต้องเป็นแบบนี้ ผู้ชายต้องเป็นแบบนี้ ไม่รู้ว่าใครเป็นคนบอก ทำไมต้องมีเส้นแบ่งแยก

การเมืองที่ดีจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร 

อย่างแรกเลยนะ ด้านกฎหมาย เช่น เรื่องการทำแท้ง การค้าประเวณีถูกกฎหมาย เพราะนี่คืออาชีพหนึ่งเหมือนกัน ทุกอาชีพมีศักดิ์ศรีเท่ากัน ไม่ว่าคุณจะอาชีพอะไร สังขารของมนุษย์เรามันก็แค่ร่างกาย จะนิยามอะไรมากมาย ท้ายที่สุดคนที่เป็นเจ้าของสังขารนั้น เขามีสิทธิ์ที่จะนิยามตัวเองว่าร่างกายของเขาคืออะไร ไม่ใช่ให้สังคมมานิยามเขาด้วยการแต่งตัว ด้วยอาชีพของเขา  

ถ้าการเมืองดี ความเท่าเทียมทางเพศจะเปลี่ยนไปในเชิงทัศนคติด้วย ยกตัวอย่างเช่น ไม่ว่าคุณจะใส่อะไรมันก็คือร่างกายของคุณ รัฐจะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับร่างกายของเรา เราจะตัดสินใจเองได้ ถ้าทุกคนมีความคิดพื้นฐานแบบนี้ เราคิดว่าความไม่เท่าเทียมทางเพศในเชิงทัศนคติมันจะลดน้อยลง 

คุณอยากอยู่ในโลกแบบไหน 

โลกที่ทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน เป็นโลกที่เราทุกคนเห็นคนเท่ากัน ยังไม่ต้องแตะกฎหมายก็ได้ เราแตะความคิดซึ่งเป็นสิ่งพื้นฐานของเราก่อน เราไม่อยากอยู่ในสังคมที่ต้องมานั่งตัดสินว่าใครสูงหรือต่ำจากการศึกษา อาชีพ เพศ ศาสนา สังคมที่อยากเห็นคือสังคมที่มีความเท่าเทียมกันเป็นพื้นฐาน  

อีกอย่างคือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตอนนี้เราไม่มี มันเป็นกรอบที่ทำให้เรากลัว อยากอยู่ในสังคมที่เวลาพูดอะไรออกไปแล้วไม่ต้องกลัวว่าจะมีอำนาจที่อยู่เหนือเรา ทุกอย่างต้องมีขอบเขต แต่ว่าขอบเขตในที่นี้คือเราสามารถวิจารณ์ได้โดยที่ไม่ต้องกลัวว่าจะส่งผลกระทบกับความเป็นอยู่ของเรา มันเป็นเรื่องพื้นฐานที่อยากให้มีมากๆ 

สิ่งที่อยากเห็นอีกอย่างคืออากาศบริสุทธิ์ เราโทษรัฐบาลไม่ได้ แต่ถ้าการเมืองดีมันจะช่วยได้เยอะขึ้น บางที่น้ำยังไม่สะอาดเลย โลกที่เราอยากเห็นเป็นโลกที่ทุกคนได้รับสิทธิพื้นฐานทุกอย่างเท่าเทียมกัน ทุกคนมีกินอย่างสุขสบาย เท่านี้แหละที่อยากเห็น  

 

ทุกคนมีราคาที่ต้องเสียอยู่แล้ว ราคาที่คุณเสีย กับอนาคตที่กำลังจะสูญเสีย ถ้าเลือกได้คุณจะยอมเสียอันไหน

 

เราทำอะไรเพื่อให้โลกเป็นไปอย่างที่อยากเห็นได้บ้าง 

ส่วนตัวอยากเขียนให้มากขึ้น อยากให้มีเวทีเสวนาที่เราจะได้ขึ้นไปพูด ไปแสดงความคิดเห็นของตัวเอง เพราะอยากให้คนรู้ว่า ถ้าคุณเห็นด้วยกับจุดยืนนี้ คุณก็ต้องออกมาพูด ทุกคนมีราคาที่ต้องเสียอยู่แล้ว ราคาที่คุณเสีย กับอนาคตที่กำลังจะสูญเสีย ถ้าเลือกได้คุณจะยอมเสียอันไหน 

ปีที่แล้วเราทำรีเสิร์ชเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย เลยสนใจเป็นพิเศษ ไม่ได้อยากทำงานในกรุงเทพอย่างเดียว อยากไปลงพื้นที่หลายๆ ที่ เพื่อให้เห็นความไม่เท่าเทียมที่เรากำลังพูดถึง 

นอกจากที่ทำด้วยตัวเองแล้วคงอยากให้เพื่อนๆ ออกมาด้วยกัน คนยิ่งเยอะเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนมากขึ้นว่าเราไม่ใช่คนกลุ่มน้อยที่เฝ้าฝันถึงอนาคตที่ดี 

การออกมาขับเคลื่อนของคนรุ่นราวคราวเดียวกันเป็นอย่างไรบ้าง 

เราออกมาด้วยสันติวิธีและความไม่กลัว พูดถึงมูฟเม้นท์ทั้งหมด รู้สึกว่ามันแตกต่างจากยุคก่อน คือคนส่วนใหญ่หลุดจากความสิ้นหวัง ที่คิดว่าเกิดมาก็ต้องทำงานหาเงิน หลุดจากกรอบ จากเป้าหมายของชีวิตแบบเดิมๆ คนในยุคใหม่เริ่มตั้งคำถามว่าทำไมเราต้องมีชีวิตแบบนี้ ทำไมเราต้องอยู่ในลูปแบบนี้ ทำไมเราไม่สามารถมีการเมืองดีๆ ที่จะเอื้อความฝันของเราได้ 

เรารู้สึกว่าวัยรุ่นไม่ว่าจะยุคไหน ก็เป็นวัยที่ไม่ค่อยกลัวอะไร กล้าพูด กล้าทำอยู่แล้ว พอวัยรุ่นทุกคนออกมา จุดแข็งคือเราไม่ถอย เรามีจุดยืนที่แน่วแน่มากๆ มันไม่ใช่แค่ความสนใจการเมือง แต่ทุกคนเข้าใจได้ว่ามันส่งผลต่อชีวิตเราอย่างไร  

เราคิดว่านักกิจกรรมทุกคนเริ่มจากการต่อสู้เพื่อตัวเองก่อน เริ่มด้วยความใฝ่ฝันที่เราอยากจะมีอนาคตที่ดีขึ้น หลังจากนั้นเราก็เห็นว่าไม่ได้สู้อยู่คนเดียว ก็เลยทำให้เราไม่กลัว

ถ้าทุกอย่างที่ทำมาทั้งหมดไม่ได้จบในรุ่นเรา 

สิ่งที่ยุคนี้แตกต่างกับยุคก่อนคือนี่เป็นยุคของเทคโนโลยี ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ห้านาทีต่อมาก็กลายเป็นข่าวได้แล้ว มีข่าวจากหลายสื่อ หลายมุมมองมาก มันไม่เหมือนแต่ก่อนที่ประวัติศาสตร์จะถูกเขียนโดยผู้ชนะเพียงอย่างเดียว ตอนนี้ทุกเรื่องมันไม่ได้มีแค่มุมมองเดียวอีกต่อไปแล้ว 

ถึงแม้ว่ามันจะไม่จบที่รุ่นเราจริงๆ แต่ทุกอย่างจะถูกจารึกไว้บนโลกออนไลน์ ในหนังสือประวัติศาสตร์ และคนรุ่นหลังจะได้เห็นถึงความฝันของเรา เราหวังว่าถ้าเขาได้อ่านแล้ว เขาจะมาสานต่อสิ่งที่เรากำลังสู้ในตอนนี้ การออกมาแสดงจุดยืนมันไม่เสียเปล่าอยู่แล้ว แค่คุณออกมาสู้ ก็มีความหวัง ถึงแม้จะเล็กน้อยขนาดไหน ถ้ายังมีความหวังอยู่มันก็ทำให้คนกล้าออกมา 

ตอนนี้อายุ 16 ยังไม่แน่ใจกับอนาคตเหมือนกัน แต่ก็หวังว่าตัวยังคงยึดอยู่กับอุดมการณ์เหล่านี้ไปเรื่อยๆ ไม่คิดว่าอีก 20 ปีข้างหน้ามันจะจบ ไม่ว่าตอนนั้นจะเดินสายอาชีพอะไร ก็จะสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเท่าเทียมอยู่ดีค่ะ  

FACT BOX

  • อั่งอั๊งและกลุ่มเพื่อนจัดทำแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า Choose Change ที่แปลข่าวและประเด็นในสังคมไทยเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้นักเรียนจากโรงเรียนนานาชาติได้อ่านข่าวของไทย ติดตามได้ทาง IG : choosechange.co
  • อั่งอั๊งถูกชักชวนให้เป็นคอลัมนิสต์ที่ Thisrupt สื่อภาษาอังกฤษที่เล่าประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นประเทศไทย