w©rld

เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งในชีวิตมนุษย์ แม้กระทั่งเรื่องละเอียดอ่อนมากๆ อย่างการดูแลจิตใจให้แข็งแรงสำหรับคนทั่วไป และการเยียวยารักษาสุขภาพจิตสำหรับผู้ป่วย ซึ่งมนุษย์เคยคิดว่าไม่น่าจะมีสิ่งใดเข้ามาทำหน้าที่นี้แทนได้

แต่กลายเป็นว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ยิ่งส่งสัญญาณให้มนุษย์ทบทวนความคิดเดิมที่เคยเชื่อมั่น เพราะผลลัพธ์จากนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เช่น สมาร์ทโฟน แอพลิเคชัน และปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เทคโนโลยีช่วยอำนวยความสะดวกให้มนุษย์ดูแลและจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับจิตใจของตัวเองได้

หรือเทคโนโลยีจะเข้ามาทำหน้าที่นี้แทนที่มนุษย์ได้จริงๆ’

โรคอนาคต

ปัจจุบัน ผู้คนทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 500 ล้านคนกำลังประสบปัญหาสุขภาพจิต ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าถึง 300 ล้านคน มากไปกว่านั้น คนปกติทั่วไปจำนวน 1 ใน 4 คน ซึ่งมั่นใจว่าสุขภาพจิตของตนแข็งแรงมั่นคงดี ก็มีโอกาสประสบกับภาวะผิดปกติทางจิตได้เหมือนกัน โดยอาจเกิดขึ้น ณ ช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต

ถึงแม้ว่าโรคจิตเวชส่วนใหญ่ รักษาให้ดีขึ้นได้ แต่ผู้ป่วยทั่วโลก จำนวน 2 ใน 3 คน กลับไม่ได้รับการรักษาใดๆ เนื่องจากขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านจิตเวช ไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยที่นับวันยิ่งเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงการดูแลรักษาได้ทันท่วงที เช่น ระยะทางระหว่างบ้านกับสถานพยาบาลอยู่ห่างไกลจนเดินทางลำบาก และขัดสนเรื่องเงิน

นอกจากนี้ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งสหราชอาณาจักร หรือ Royal College of Psychiatrists ยังเผยผลสำรวจหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งชี้ให้เห็นอุปสรรคของการเข้ารับการรักษาอาการทางจิตในประเทศอังกฤษว่า ต้องรอคอยนานเป็นเดือนถึงเป็นปี กว่าจะได้พบจิตแพทย์ครั้งแรก รวมถึงครั้งต่อๆ ไป

ระยะทาง ค่าใช้จ่าย และระยะเวลา จึงเป็นสาเหตุหลักที่ขัดขวางไม่ให้ผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาโรค

สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ได้คาดการณ์ว่า ภายในปี 2030 หรืออีกแค่ 10 ปีข้างหน้า ปัญหาจากโรคทางจิตเวชและอาการที่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตหรือกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขไม่ได้อีก อาจสร้างความเสียหายในทางเศรษฐกิจทั่วโลกได้มากถึง 16 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ดังนั้น หนทางที่จะช่วยบรรเทาความรุนแรงนี้ได้ คือ ต้องลดระยะทาง ระยะเวลา และค่าใช้จ่าย เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้เร็วที่สุด

ด้วยหน้าที่รับผิดชอบ ลำพังแค่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขไม่อาจแก้ไขปัญหานี้ได้ เทคโนโลยีจึงเป็นทางเลือกใหม่ สำหรับใช้สร้างเครื่องมือและโปรแกรมเฉพาะ เพื่อสนับสนุนกระบวนการรักษาให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย รวมถึงช่วยลดภาระงานที่ไม่จำเป็นออกไปจากผู้เชี่ยวชาญ ทำให้มีเวลาทุ่มเทกับการรักษามากขึ้น

แต่ทุกอย่างไม่ได้ง่ายเหมือนจับวาง เพราะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของมนุษย์ย่อมมีเงื่อนไขและข้อจำกัดเสมอ ซึ่งจำเป็นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นตามมาอย่างรอบครอบและรอบด้าน

 

โลกอนาคต 

เทคโนโลยีสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ผ่านช่องทางการสื่อสารบนโลกออนไลน์ ทำให้ทุกคนเชื่อมต่อถึงกันได้ วิถีชีวิตของคนทั่วโลกจึงปรับเปลี่ยนเป็น digital lifestyle เพราะโลกในอนาคต มนุษย์จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น

ขณะเดียวกัน digital natives หรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับการก้าวกระโดดของเทคโนโลยีอย่างเต็มตัว กลายเป็นผู้เร่งให้เทคโนโลยีต้องพัฒนาขึ้นไปอีก เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ให้ครบถ้วนที่สุด

การเลือกใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลืองานในแวดวงจิตเวชจึงสร้างโอกาสให้คนเข้าถึงกระบวนการดูแลรักษาสุขภาพจิตได้มากกว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นรูปแบบเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาตลอดเวลา ภายในระยะเวลา 5 ปี เฉพาะสตาร์ทอัพที่สร้างเทคโนโลยีด้านสุขภาพจิต มีการลงทุนเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า

จำนวนผู้ใช้งานแอปพลิเคชันสำหรับดูแลสุขภาพใจจึงเติบโตและแพร่หลายอย่างกว้างขวาง รวมถึงมีแนวโน้มได้ความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับจิตใจ กระตุ้นให้ผู้พัฒนาระบบและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ร่วมกันแบ่งปันความรู้เพื่อออกแบบแอปพลิเคชันให้ตรงกับพฤติกรรมของผู้ใช้งานกลุ่มต่างๆ

ปัจจุบัน แอปพลิเคชันได้กลายเป็นเครื่องมือที่คนส่วนใหญ่ใช้ดูแลและรักษาสุขภาพจิต แบ่งออกเป็นหลายประเภทขึ้นอยู่กับเป้าหมายการใช้งาน เช่น

แอปพลิเคชันสำหรับบริหารจัดการตัวเอง (self-management apps) ผู้ใช้กรอกข้อมูลเกี่ยวกับร่างกาย และตอบคำถามคัดกรอง เพื่อให้ระบบประมวลผลข้อมูลออกมาเป็นคำแนะนำและข้อควรระวัง ซึ่งมีประโยชน์สำหรับจัดการอารมณ์ ความรู้สึกส่วนตัว และบอกภาวะของสุขภาพจิตในขณะนั้นได้

แอปพลิเคชันสำหรับฝึกฝนทักษะ (skill-training apps) เรียนรู้วิธีจัดการรับมือปัญหาและความไม่สบายใจในรูปแบบต่างๆ ผ่านการฝึกฝนที่ช่วยให้ผู้ใช้ผ่อนคลายอาการหวั่นวิตกหรือความกังวลใจลงได้ อย่างการฝึกสมาธิ การปรับมุมมอง การตรวจสอบความคิดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยิ่งฝึกมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เกิดเป็นทักษะ

แอปพลิเคชันสำหรับสนับสนุนการรักษา (supported care apps) ใช้ติดต่อ นัดหมาย และขอคำปรึกษาจากจิตแพทย์ นักจิตวิทยา รวมถึงเภสัชกร หากจำเป็นต้องใช้ยาทางจิตเวช  ข้อมูลทั้งหมดจะเชื่อมโยงกับบริการสุขภาพของสถานพยาบาลเพื่อติดตามผลระหว่างรักษา นำไปสู่ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังมีกรณีศึกษาที่น่าสนใจของ IBM เกี่ยวกับการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ และ Machine Learning (ML) หรือการป้องข้อมูลระบบคอมพิวเตอร์เรียนรู้ได้เอง สำหรับช่วยวิเคราะห์อาการทางจิตบางอย่าง เพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคของจิตแพทย์ โดยทดลองเก็บข้อมูลคำพูดของผู้ป่วยระหว่างเข้าพบแพทย์ แล้วนำมาวิเคราะ์การใช้คำ และสร้างรูปแบบการตรวจจับคำพูด เพื่อคาดการณ์ว่า การใช้คำพูดแบบไหนบ้าง เสี่ยงต่ออาการป่วยทางจิต

แต่ในความสะดวกสบายของแอปพลิเคชันและเทคโนโลยีเหล่านี้ ทำให้เกิดข้อโต้แย้งตามมามากมาย ทั้งเรื่องความแม่นยำและความน่าเชื่อถือ เพราะระบบอาจรายงานผลลัพธ์ผิดพลาด รวมถึงเรื่องความปลอดภัยของการจัดการข้อมูลส่วนบุคคล เพราะข้อมูลทางการแพทย์ไม่สามารถนำไปเผยแพร่หรือกระทำใดๆ ได้ หากไม่ได้รับความยิมยอมจากเจ้าของ หรือต่อให้ได้รับอนุญาตแล้ว ก็มีขอบเขตทางกฏหมายกำกับดูแลอยู่

โจทย์สำคัญของเทคโนโลยีด้านสุขภาพ จึงอยู่ที่การแก้ไขข้อจำกัดต่างๆ ให้สามารถพัฒนาและใช้งานระบบการรักษาอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด โดยยึดหลักจริยธรรม มนุษยธรรม และความแม่นยำของการประมวลผลข้อมูล

ดังนั้น คำตอบของคำถามที่ว่า ‘หรือเทคโนโลยีจะเข้ามาทำหน้าที่นี้แทนมนุษย์ได้จริงๆ’ ณ วันนี้ จึงยังไม่เป็นความจริงที่ชัดเจน แต่ในอนาคตอันใกล้ เทคโนโลยีด้านสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง เพราะเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นไปได้ว่า เทคโนโลยีอาจทำหน้าที่แทนมนุษย์ได้จริง

หากวันนั้นมาถึงอย่างแน่นอน ‘เราพร้อมแค่ไหน’ คือ คำถามสำคัญกว่าที่ทุกคนควรถามตัวเองตั้งแต่ตอนนี้ 

 

อ้างอิง 

  • IBM. Five Innovations that will Help Change our Lives within Five Years. https://ibm.co/3p3sw4E 
  • P. Murali Doraiswamy et. al. This is how we can empower 8 billion minds by 2030. https://bit.ly/36ca80V 
  • Royal College of Psychiatrists. Long waits for mental health treatment. https://bit.ly/3n0jkMj 
  • The National Institute of Mental Health (NIMH). Technology and the Future of Mental Health Treatment. https://bit.ly/3l0WwLQ