หากต้องเลือกระหว่าง ‘คนที่รักเรา’ กับ ‘คนที่เรารัก’ ควรตัดสินใจอย่างไร
แม้ว่าการเลือกที่ข้องเกี่ยวกับความรักและความสัมพันธ์ จะเป็นเรื่องท้าทายเสมอ เพราะในแง่หนึ่ง คือการชั่งน้ำหนักหาจุดที่เรายอมรับได้ระหว่างความรู้สึกพอใจและความเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งความเหมาะสมที่กลายมาเป็นคำตอบของการตัดสินใจ อาจไม่ได้อยู่ตรงจุดกึ่งกลางพอดี เพราะท้ายที่สุด เรามักจะเอนเอียงเลือกผลลัพธ์ที่ชอบ หรือที่ทำให้รู้สึกสบายใจมากกว่า หรือไม่ก็เป็นผลลัพธ์ที่ทำร้ายความรู้สึกของเราให้เจ็บปวดน้อยที่สุด
แต่สิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าการได้คำตอบ คือกระบวนการที่เกิดขึ้นระหว่างทางก่อนตัดสินใจ ซึ่งในที่นี้หมายถึง ความชอบ (liking)
โดยปกติแล้ว ความชอบเป็นความรู้สึกส่วนตัวที่ทุกคนมีต่อสิ่งต่างๆ ทั้งกับคน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ รวมถึงประสบการณ์ ความคิด และความทรงจำ แต่ถ้าความชอบที่เกิดขึ้น รุนแรงถึงขั้นดึงดูดใจหรือทำให้หลงใหล อาจเป็นจุดเริ่มต้นของความรัก และนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีและยั่งยืนได้
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
ก็เพราะว่า เมื่อมนุษย์แต่ละคนรู้สึกชอบพอกัน ทั้งคู่จึงตกลงปลงใจร่วมใช้ชีวิตในฐานะคนรัก หมายความว่า ความสัมพันธ์ที่ดีไม่อาจเกิดขึ้นได้จากความพยายามของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงคนเดียว แต่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจช่วยกันถักทอความสัมพันธ์เป็นความรักแน่นแฟ้นและแข็งแรงมั่นคง ไม่หวั่นไหวต่อปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ
ความชอบจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ดำรงเผ่าพันธุ์มาได้จนถึงทุกวันนี้ เมื่อต่างฝ่ายต่างตั้งใจหยิบยื่นความปรารถนาดีให้แก่กันแล้ว ทั้งคู่ย่อมได้รับสิ่งที่ดีเหล่านั้นกลับคืนสู่กัน ซึ่งเป็นผลประโยชน์จากความชอบทั้งสิ้น ในทางจิตวิทยา เรียกความชอบลักษณะนี้ว่า reciprocal liking บางครั้งเรียกว่า reciprocity of liking หรือ reciprocity of attraction
reciprocity คือ การต่างตอบแทน เป็นหลักการพื้นฐานที่พิสูจน์ให้เห็นว่ามนุษย์คือสัตว์สังคม เพราะทุกคนต้องพึ่งพาอาศัยกันเพื่อความอยู่รอดปลอดภัย ดังนั้น reciprocal liking จึงไม่ได้หมายถึงความชอบทั่วไป แต่เป็นความชอบเฉพาะเจาะจงต่อใครก็ตามที่แสดงท่าทีสนใจเราก่อน การได้เป็นที่รักของใครสักคน จะทำให้เรารู้สึกดีทั้งต่อตัวเองและคนที่มาชอบ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าเราจะชอบคนคนนั้นกลับภายใต้เงื่อนไขหลัก 4 ข้อนี้
1. เรามีแนวโน้มชอบคนที่คล้ายคลึงกับตัวเอง (similarity)
ความคล้ายคลึงนี้ ครอบคลุมทุกเรื่องในชีวิต ตั้งแต่รูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน สถานะทางสังคม ฐานะและความมั่นคงทางการเงิน รวมถึงความคิดความอ่าน ความเชื่อ และค่านิยมหรือหลักการที่ยึดถือ โดยเฉพาะทัศนคติ ยิ่งมีหลักคิดหรือมุมมองในชีวิตคล้ายกันมากเท่าไหร่ โอกาสชอบกลับจะมากขึ้นตามไปด้วย
2. ความใกล้ชิดสนิทสนมทำให้เราชอบและสนใจกัน (proximity)
การได้พบปะกันอยู่เรื่อยๆ จะเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายเรียนรู้ดูใจกันมากขึ้น ซึ่งไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเห็นหน้าค่าตากันอย่างเดียว เพราะคนส่วนมากเลือกใช้ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์พูดคุยและทำความรู้จักกันร่วมด้วย ความใกล้ชิดสนิทสนมสร้างความรู้สึกอุ่นใจและไม่โดดเดี่ยว ทำให้ชอบกลับได้ง่าย และเปิดทางให้พัฒนาความสัมพันธ์ต่อไป
3. หน้าตาและรูปร่างดีสร้างความประทับใจแรกให้เราเสมอ (physical attractiveness)
ทุกคนย่อมชอบสิ่งสวยงาม เพราะโดยธรรมชาติ มนุษย์ได้ปักใจเชื่อไปแล้วว่า ความสวยงามคือสิ่งดีงาม เมื่อมีคนเข้ามาชอบ รูปร่างและหน้าตาจึงกลายเป็นความประทับใจแรกเห็น ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่า คนส่วนใหญ่มักจะชอบคนรูปร่างหน้าตาดี ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด ทั้งหมดขึ้นอยู่กับว่าเราเลือกให้ความสำคัญหรือคุณค่ากับสิ่งใดมากกว่า
4. จะชอบกลับมากหรือน้อยบอกได้ด้วยความเป็นเรา (personal characteristic)
บุคลิกภาพและลักษณะต่างๆ ที่สะท้อนออกมาให้เห็นว่าเราเป็นคนอย่างไร ไม่ได้มีผลต่อความชอบกลับเท่านั้น แต่อาจทำให้เราไม่รู้ว่ามีคนเข้ามาชอบแต่แรกด้วยซ้ำ เพราะเป็นคนไม่เปิดรับใคร หรือไม่ค่อยสนใจเรื่องความรักใดๆ ในขณะนั้น แต่สำหรับคนที่ชอบเข้าสังคม ย่อมรู้ตัวทันทีหากมีคนชอบ เริ่มต้นสร้างมนุษยสัมพันธ์ได้ง่าย และมีแนวโน้มชอบกลับมากกว่า
reciprocal liking จึงเป็นปรากฎการณ์ทางจิตวิทยาที่พยายามหาคำอธิบายให้แก่การตอบสนองของคนเราเมื่อมีคนอื่นมาชอบก่อน เมื่อเราตอบรับด้วยการชอบกลับ ก็อาจเป็นเหตุของความรักที่ดีได้เช่นกัน เพราะจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ ก็คือความชื่นชอบและหวังดีต่อกัน
อ้างอิง
- Harry T. Reis & Susan Sprecher (2009). Encyclopedia of Human Relationships. Thousand Oaks: Sage.