life

ถ้ามอบคำแนะนำได้หนึ่งข้อ คำแนะนำของคุณคืออะไร?

“ทำตัวปกติ อย่างโง่เง่า อย่าบูลลี่คนอื่น”

เด็กน้อยวัยเจ็ดขวบนาม ฌอน (Sean) ให้คำแนะนำต่อ เดส (Des) ชายวัยเกษียณที่มีอายุห่างจากเขาถึง 57 ปี 

ก่อนหน้านั้น เดสให้คำแนะนำต่อฌอนว่า “คำแนะนำที่ผมจะให้คุณก็คือ คุณไม่จำเป็นต้องรวยเพื่อจะมีความสุข จงทำในสิ่งที่คุณชอบซึ่งมันจะทำให้คุณรู้สึกดี เมื่อคุณมีความสุขด้วยตัวคุณเอง ทุกๆ คนก็จะมีความสุข”

บทสนทนาง่ายๆ นี้ อยู่ในคลิปวิดีโอบนยูทูปชื่อ 57 Years Apart – A Boy And a Man Talk About Life ของช่อง Facts. เมื่อปี 2015 เป็นการจับคนต่างช่วงวัยมาเผชิญหน้ากัน เพื่อพูดคุยถึงชีวิตและการเติบโต ซึ่งหลังปล่อยคอนเทนต์นี้ออกมา 5 ปี มันก็มียอดผู้ชมไปแล้วมากถึง 20 ล้านวิว 

ไม่ว่าอยู่ในช่วงวัยไหน เราต่างมีทัศนะต่อชีวิตเป็นของตัวเองเสมอ ด้วยประสบการณ์ที่แตกต่าง บริบทสังคมที่เติบโตมา ด้วยความคาดหวังอันหลากหลายต่อชีวิต 

ซึ่งการทบทวนว่าในชีวิตของเรามีคำแนะนำทรงคุณค่าใดที่ควรพูดออกไปก็ดูเหมือนจะมีประโยชน์ แม้มันจะไม่สามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตที่แตกต่างของแต่ละคนในแต่ละสภาพสังคม-วัฒนธรรมได้อย่างครอบคลุม แต่อย่างน้อย การถูกถามคำถามเช่นนั้น ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรืออ้อม ก็เป็นประหนึ่งการพาเราหวนย้อนพิจารณาถึงชีวิตที่เคยผ่านมาและยังดำเนินอยู่ 

ปี 2016 ช่องยูทูปอีกช่องอย่าง LifeHunters ปล่อยวิดีโอสัมภาษณ์ผู้อาวุโสอายุเกิน 100 ปี 3 คนในชื่อ Life Lessons From 100-Year-Olds และบทเรียนชีวิตอันยาวนานนี้เองที่ทำให้คลิปนั้นมียอดคนดูเกิน 19 ล้านวิวในระยะเวลา 4 ปี 

ถ้ามอบคำแนะนำได้หนึ่งข้อ คำแนะนำของคุณคืออะไร?

คลิฟ โคซีเออร์ (Cliff Crozier) จากประเทศอังกฤษผู้เกิดในปี 1915 ซึ่งทำให้เขามีอายุ 101 ปีในช่วงที่คลิปวิดีโอถูกถ่ายทำ บอกว่า คำแนะนำของเขาต่อชีวิตคือ “สื่อสารและพูดคุยกับพ่อแม่ของคุณ รับฟังคำแนะนำของพวกเขาด้วย หรืออย่างน้อยก็พิจารณามันสักหน่อย คุณไม่จำเป็นต้องทำตามเสมอไป แต่แน่นอนว่าอย่าโยนมันทิ้งออกนอกหน้าต่าง” และ “เป็นอิสระเท่าที่ทำได้ แต่อย่าต่อต้านการร้องขอความช่วยเหลือเมื่อคุณต้องการมัน”

ส่วนผู้ถูกสัมภาษณ์อีกคนอย่าง จอห์น เดเนอร์ลีย์ (John Denerley) ผู้เกิดในปี 1914 ก็บอกว่า “มุ่งไปข้างหน้าสู่ปลายสุดของถนน”

คำตอบของผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวมานานเกิน 100 ปีช่างเรียบง่าย เป็นคำตอบต่อคำถามที่ว่า ‘ถ้ามอบคำแนะนำได้หนึ่งข้อ คำแนะนำของคุณต่อผู้คนคืออะไร’ ที่อาจดีกับใครบางคน และอาจแย่ หรือไม่เข้ากับชีวิตของใครอีกหลายคน แต่ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วน คำตอบของคำถามนี้ ก็อาจเป็นแค่บทสรุปจากการเรียนรู้ของประสบการณ์ในชีวิตจริง จากทั้งความสุข ความทุกข์ หรือความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ไม่ว่ามันจะเป็นคำแนะนำที่ผิดหรือถูกก็ตาม

ซูซาน ไวต์บอร์น (Susan Whitbourne) นักจิตวิทยาจาก University of Massachusetts Amherst บอกว่า ไม่ว่าเราจะมีชีวิตมายาวนานหรือแสนสั้นเพียงใด แต่หากตัวตนของเราในตอนนี้ยังไม่ใช่ตัวตนในอุดมคติที่เราหวังไว้ เราก็ไม่จำเป็นต้องอยู่กับความไม่ลงร่องลงรอยนั้นไปตลอดชีวิต และการคิดย้อนกลับสู่อดีตที่ผ่านพ้น ก็ไม่ใช่การโหยหาถึงห้วงเวลาอันไม่อาจย้อนกลับเพื่อแสดงความรู้สึกผิดต่อมันเพียงเท่านั้น แต่มันคือการใช้ความทรงจำของตัวเองในเวอร์ชั่นที่เยาว์วัยกว่า เพื่อชี้ช่องสู่หนทางของการใช้ชีวิตในอนาคตที่กำลังเข้ามา

และมันอาจเริ่มต้นได้ด้วยการถามตัวเองว่า 

ถ้าสามารถมอบคำแนะนำได้หนึ่งข้อ คำแนะนำต่อตัวเราเองจะเป็นอะไร?

 

อ้างอิง