life

คริสโตเฟอร์ แม็คแคนด์เลสส์ (Christopher McCandless) อาจไม่ใช่คนเก่ง เขาเป็นลูซเซอร์ แต่อีกแง่หนึ่งใครที่ได้รับรู้เรื่องราวของเขา อาจบอกว่าเขาเป็นคนกล้า เดือนเมษายน ปี 1992 แม็คแคนด์เลสส์ หรือ ‘คริส’ (ตามภาพยนตร์ที่ทำมาจากชีวิตจริงของเขาชื่อ Into The Wild [2007]) เดินทางถึงดินแดนห่างไกลชื่อ Healy ในฝั่งเหนือของอุทยานแห่งชาติ Denali เขามุ่งหน้าสู่บริเวณรกร้าง และตั้งแคมป์ในรถบัสโกโรโกโสที่ถูกทิ้งไว้ ก่อนใช้ชีวิตลำพังด้วยการออกล่าสัตว์ อ่านหนังสือ และเฝ้าชื่นชมธรรมชาติอันยิ่งใหญ่

จินตนาการถึงการใช้ชีวิตลำพังในดินแดนรกร้างห่างไกลผู้คน ที่ไม่มากก็น้อยมันคงก่อความกลัวขึ้นมาในหัวใจ

แต่สำหรับคริส ความกลัวกลับไม่ใช่ศัตรู มันเป็นแค่ถนนซึ่งถูกสิ่งของบางอย่างขวางทางไว้ชั่วคราว เขาแค่ต้องเตะมันออกและก้าวเดินไปสู่สิ่งที่ตนปรารถนา

ทำไมมนุษย์ถึงกลัวอะไรมากมายเหลือเกิน?

นักจิตวิทยาจาก Northwestern Medicine Clinical ชื่อ แซ็คคารี่ ซิโคร่า (Zachary Sikora) บอกว่า “ความกลัวคือปฏิกริยาตอบโต้ที่ทำให้เรามีชีวิตรอด” มันเป็นเงื่อนไขทางธรรมชาติและชีววิทยาที่เราทุกคนต้องประสบพบเจอ “มันสำคัญที่เราจำต้องมีความกลัวเพราะมันจะทำให้เราปลอดภัย”

แต่อีกแง่หนึ่งความกลัวที่มากเกินไปก็จะทำให้เราไม่กล้าเดินออกไปจากกรอบและพื้นที่ที่ตัวเองรู้สึกว่ามันปลอดภัย ไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ หรือสิ่งที่ลึกๆ แล้วเราปรารถนาจะลองทำสักครั้งในชีวิต

“ผู้คนมากมายใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีความสุข กระนั้นพวกเขาก็ไม่กล้าริเริ่มเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ของตัวเอง เพราะพวกเขาอยู่ภายใต้เงื่อนไขของความปลอดภัยในชีวิต ความสะดวกสะบาย และจารีตนิยม ทั้งหมดนั้นอาจทำให้คุณสุขสงบ แต่ในความจริงคือ ไม่มีอะไรที่อันตรายต่อวิญญาณเสรีมากไปกว่าความคิดคำนึงถึงอนาคตอันปลอดภัย” 

คริสโตเฟอร์ แม็คแคนด์เลสส์ เขียนจดหมายถึงเพื่อนคนหนึ่งก่อนจะออกเดินทางสู่ดินแดนไกลโพ้น 

“พื้นฐานอันสามัญในแก่นของการใช้ชีวิตอย่างเปี่ยมจิตวิญญาณคือความปรารถนาที่จะผจญภัยของผู้คน ความรื่มรมย์ของชีวิตมาจากการเผชิญหน้ากับประสบการณ์ใหม่ ดังนั้นมันไม่มีความสุขสันต์ใดยิ่งใหญ่ไปกว่าเส้นขอบฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่มีสิ้นสุดในทุกวัน ซึ่งเราจะได้เห็นพระอาทิตย์ดวงใหม่ที่แตกต่างออกไปจากเดิม”

คริสโตเฟอร์ แม็คแคนด์เลสส์ กับรถบัสซึ่งคือบ้านหลังสุดท้ายของเขา

ซูซาน เบียลี ฮาส (Susan Biali Haas) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านความเครียดและความกังวล เขียนอธิบายถึงวิธีที่จะเอาชนะความกังวลซึ่งเกิดจากความกลัวในการจะตัดสินใจทำอะไรบางอย่างไว้ โดยเสนอให้เราลองตั้งคำถามเพื่อสำรวจความกลัวของตนอย่างละเอียด ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจถึงความกลัวของตัวเองได้อย่างรอบด้านมากขึ้น เช่น “อะไรคือสิ่งที่คุณกังวลว่าจะเกิดขึ้น?”, “คุณกำลังอยู่ในความเสี่ยงจริงๆ หรือเปล่า​?”, “อะไรคือสิ่งที่แย่ที่สุดตามความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจนี้?”, “มีอะไรที่คุณทำได้เพื่อเพิ่มผลลัพธ์ที่ดีจากมัน?”, “อะไรที่คุณสามารถทำเพื่อให้สถานการณ์น่ากลัวน้อยลง หรือทำให้คุณรู้สึกดีขึ้น?” 

วันที่ 15 ตุลาคม 2563 ตำรวจบุกเข้าจับกุมตัว รุ้ง – ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำนักศึกษาและประชาชนผู้ออกมาเรียกร้องและทวงหาความยุติธรรม ซึ่งรู้จักในนาม ‘คณะราษฎร 2563’ ในโรงแรมที่เธอกำลังพัก ภาพของ คริสโตเฟอร์ แม็คแคนด์เลสส์ สวมทับเธอในวันนั้น รุ้งเป็นอีกคนที่กล้า กล้าที่จะทำและเรียกร้องในสิ่งที่ตนเชื่อ จะต่างกันแค่หนทางของเธอคือกรงขัง ส่วนคริสนั้นคือป่า

ก่อนการถูกจับกุม ผู้ทำสารคดีจากช่อง SBS ออสเตรเลีย ถามรุ้งว่ากลัวไหมที่เธอกำลังจะถูกจับจากการออกมาชุมนุมเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่สังคม ก่อนเธอจะตอบกลับด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า “ถามว่ากลัวไหมกลัว กลัวแต่ว่าทำอะไรไม่ได้” 

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่ ความกลัวในใจมักเป็นอุปสรรคสำคัญเสมอ แต่สิ่งที่อาจสำคัญกว่าก็คือ การลองตั้งคำถามดูสักครั้งว่า หากเราเอาชนะความกลัว และลงมือทำอะไรสักอย่างได้ ชีวิตและเส้นขอบฟ้ายามอาทิตย์อัสดงของเราจะงดงามขึ้นเพียงใด

“ฉันจะทำและเป็นอย่างไรหากฉันกล้าหาญมากกว่านี้?”

รุ้ง และรวมถึงคริสโตเฟอร์ แม็คแคนด์เลสส์ อาจเคยถามตัวเองเช่นนั้น พวกเขาจึงกล้าที่จะตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง

คริสเดินเข้าป่าด้วยความกล้า แม้จะมีความกลัวมากมายปรากฎออกมาผ่านตัวอักษรในบันทึกของเขาในช่วงที่ใช้ชีวิตโดดเดี่ยวลำพัง แต่ใครอีกหลายคนคงบอกว่าเขาเป็นคนเก่ง และแม้จะพบจุดจบไม่น่าอภิรมย์นักในฉากสุดท้าย แต่ดูเหมือนว่า คริสจะขอบคุณ… ‘ชีวิต’

อ้างอิง