life

“eat, drink and be merry for tomorrow we die” 

กินและดื่ม เพื่อตายอย่างสำราญในวันพรุ่งนี้ 

เป็นวลีที่ระบุอยู่ในคัมภีร์ไบเบิลฉบับพระเจ้าเจมส์ (King James Bible) ที่ชวนให้ออกไปกิน ดื่มเที่ยว และแสวงหาความสุขเสียตั้งแต่ตอนนี้ เพราะชีวิตแสนสั้นเกินกว่าจะเสียเวลาไปกับความทุกข์ 

นอกจากอาหารที่ประทังให้ร่างกายอยู่รอดไปได้แต่ละวัน มนุษย์ยังแสวงหาถึงเหตุผลในการมีอยู่ของตัวเองอยู่เป็นนิจ วิวัฒนาการและต้นกำเนิดของมันถูกอธิบายทั้งในรูปแบบวิทยาศาสตร์และศาสนา เมื่อรู้ที่มาของตนเอง ก็จะนำไปสู่การค้นหา ‘ความหมายของการมีชีวิตอยู่ 

คนเรามีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร? 

คำตอบของคำถามข้อนี้ไม่ได้ชัดเจนเหมือนผลลัพธ์จากสมการคณิตศาสตร์ สำหรับบางคนอาจใช้เวลาทั้งชีวิตเพียงเพื่อหาข้อสรุปความหมายในการมีอยู่ของตัวเอง นักปรัชญาก็พยายามค้นหาความหมายในแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อัตถิภาวะนิมที่เชื่อในเสรีภาพของมนุษย์ วิมุตินิยมที่เชื่อในความสงบในจิตใจ ปัญญานิยมที่ให้คุณค่ากับการแสวงหาความรู้ และหนึ่งในนั้นเป็นแนวคิดที่น่าจะเป็นคำตอบของใครหลายคนคือ ‘ชีวิตคือการแสวงหาความสุข’  

มนุษย์ผู้เปรียบได้ดั่งนกที่โบยบินอย่างที่ใจต้องการ เสาะแสวงหาความสำราญให้กับตัวเองกำลังใช้ชีวิตไปตามครรลองลองของแนวคิด สุขนิยม (Hedonism) แนวคิดทางปรัชญาที่เชื่อว่ามนุษย์มีชีวิตเพื่อหาความสุขใส่ตัวให้ได้มากที่สุดก่อนจะจากโลกใบนี้ไป 

สุขนิยมเป็นหนึ่งในคำตอบของคำถามที่ว่า “เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร” เป็นผลผลิตของปรัชญากรีกยุคเริ่มต้นอย่าง สสารนิยม (Materialism) หรือ วัตถุนิยม ที่เชื่อว่ามนุษย์เป็นสสาร มีชีวิตดำรงอยู่เพียงช่วงเวลาหนึ่งและดับสูญเมื่อตายไป โดยปราศจากวิญญาณและโลกหน้า สิ่งที่เหลืออยู่มีเพียงร่างกายที่จะเน่าเปื่อยไปตามกาลเวลาเท่านั้น นั่นทำให้สสารนิยมมองเห็นว่าสารัตถะของการเป็นมนุษย์คือ ‘ความสุข’ มนุษย์ควรแสวงหาความสุขให้ตัวเอง โดยเฉพาะความสุขทางกาย ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ เงินทอง หรืออำนาจก็ล้วนมีจุดมุ่งหมายเพื่อการตอบสนองความต้องการทางกายเป็นหลัก ให้รู้สึกคุ้มค่าที่สุดกับการเกิดมามีเพียงชีวิตเดียว ความสุขและทุกข์สำหรับแนวคิดนี้เป็นสีคู่ตรงข้าม หากความสุขคือความดีงาม ความทุกข์จึงเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ในชีวิตมนุษย์ 

ในทางจิตวิทยาระบุว่า ความสุขเป็นความรู้สึกสากลที่มนุษย์รับรู้ได้โดยสัญชาตญาณ แต่ในทัศนะของนักปรัชญากลับกล่าวถึงความสุขในหลากแง่มุมมากกว่านั้น เพราะถึงความรู้สึกนี้มนุษย์จะรับรู้ได้เหมือนกัน แต่ความเข้มข้นและปัจจัยที่จะทำให้มนุษย์แต่ละคนเกิดความพึงพอใจนั้นมีอยู่หลายแบบ ‘ความสุข’ จึงถูกตีความทั้งในแง่ของการมีคุณค่าในตัวของมันเอง และขึ้นอยู่กับปัจเจกบุคคล คล้ายกับการพยายามให้ความหมายของความดีและความงาม 

อาริสติปปัส (Aristippus)

แนวคิดสุขนิยมแรกที่เกิดขึ้นในช่วง 435 ปีก่อนคริสตศักราช คือ ไซเรเนอิก (Cyrenaics) โดย อาริติปปัส (Aristippus) นักปรัชญาผู้หลงใหลชีวิตอันหรูหรา เขาเชื่อว่าความสุขเป็นความดีงามสูงสุดที่มนุษย์ควรแสวงหาโดยทันทีขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ อีกทั้งยังเชื่อว่าความสุขทางกายสำคัญกว่าจิตใจเพราะจับต้องได้และรู้สึกจริงโดยไม่ต้องตีความใดๆ ให้ยุ่งยาก อาริติปปัสแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับความทุกข์ จนอาจเรียกได้ว่าเป็นแนวคิดแรกที่เชื่อมั่นในความสุขอย่างเข้มข้น แม้จะดูเหมือนสุดโต่ง แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าวิถีชีวิตแบบนี้ยังคงมีอยู่เสมอในทุกสังคมทุกวันนี้ 

เช่นเดียวกับ เออร์รอล ฟลินท์ (Errol Flynn) นักแสดงภาพยนตร์ที่โด่งดังและมีเสน่ห์คนหนึ่งแห่งศตวรรษที่ 19 

เออร์รอล ฟลินท์ (Photo : www.prod-images.tcm.com)

เดิมทีฟลินท์เป็นพ่อค้าและชายหนุ่มนักผจญภัยที่มีความทะเยอทะยานสูง ก่อนจะเข้าสู่วงการบันเทิงเขาพาตัวเองไปเป็นนักข่าวและนักเขียน จนกระทั่งเสี่ยงโชคไปอังกฤษเพื่อเป็นดาราฮอลลีวูดได้อย่างใจหวัง จนประสบความสำเร็จ ทั้งมั่งคั่งและมีชื่อเสียง เขาเป็นเจ้าของคฤหาสถ์หลังใหญ่ เรือยอร์ชหลายลำ มีสัมพันธ์กับหญิงสาวหลายคน ชโลมตัวเองด้วยฤทธิ์ของเฮโรอีนและโคเคน 

ทางเดินของฟลินท์ มีจุดมุ่งหมายอันโชติช่วงชัชวาลย์ เขามุ่งใช้ชีวิตให้คุ้มค่าที่สุด เสพทุกความสุขเท่าที่จะทำได้ เพราะเชื่อว่าควรลองทุกอย่างหากคนเรามีชีวิตอยู่ได้เพียงชีวิตเดียว 

ฟลินท์เสียชีวิตลงในวัย 50 ปี ด้วยโรคตับแข็งจากการดื่มแอลกอฮอล์เกินขนาด ไม่มีใครรู้ว่าสำหรับเขาแล้วการดื่มด่ำกับความสุขแบบที่ว่าอย่างอิ่มเอมและจากไปอย่างรวดเร็วนั้นทำให้เขารู้สึกอย่างไร ความหมายในชีวิตของฟลินท์ยังคงเป็นปริศนาและจากไปพร้อมกับเขาตลอดกาล แต่สิ่งที่เหลืออยู่อันเป็นร่องรอยของการใช้ชีวิตของฟลินท์คือเหล่าภรรยาและลูกๆ ทั้ง 4  ที่กำลังทุกข์ทรมานและได้รับผลกระทบอย่างสาหัสจากการจากไปของเขาในครั้งนั้น 

ความทุกข์ที่แนวคิดแบบไซเรอิกพยายามมองข้ามกลับขยายใหญ่เป็นเงามืดที่ปกคลุมคนรอบข้างของฟลินท์เอาไว้ จนนำมาซึ่งการตั้งคำถามว่า หากมุ่งเน้นทำให้ตัวเองมีความสุขโดยละเลยความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับชีวิตอื่นๆ อันเป็นผลมาจากการกระทำเพื่อให้ตนเองมีความสุข ท้ายที่สุดแล้วจะยังเรียกสิ่งนั้นว่า ‘ความสุข’ ได้จริงๆ อย่างนั้นหรือ? 

ทัศนะที่ว่าด้วยเรื่องความสุขถูกวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นอีกครั้งจนทำให้เกิด สุขนิยมเชิงบรรทัดฐาน (Normative Hedonism) หรือ สุขนิยมเชิงจริยธรรม ที่ใช้เกณฑ์ทางจริยศาสตร์เข้ามานิยามความหมายของความสุขให้เข้าร่องเข้ารอย และเป็นธรรมกับคนที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำที่ได้ชื่อว่าทำเพื่อความสุขมากขึ้น 

โดยครั้งนี้ความสุขถูกแบ่งเป็น แบบ ต่างจุดมุ่งหมาย คือ สุขนิยมส่วนบุคคล (Hedonistic Egoism) และ สุขนิยมสากล (Hedonistic Utilitarianism) ทั้งสองแนวคิดถ่วงดุลกันไปมา แต่ขณะเดียวกันก็โต้แย้งสุขนิยมแบบดั้งเดิมไปด้วย 

ความสุขส่วนบุคคล (Hedonistic Egoism) เป็นแนวคิดที่ให้เชื่อว่าความสุขที่เกิดขึ้นกับตัวเองเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุด มองข้ามความทุกข์ของคนอื่น และมุ่งเน้นหาความสุขใส่ตัวโดยที่ไม่ต้องสนใจการกระทำของใคร เป้าหมายของการมีชีวิตที่ทำเพื่อตัวเองเพียงอย่างเดียวทำให้แนวคิดนี้ไม่ค่อยเป็นที่นิยมในหมู่นักปรัชญาเท่าใดนัก เพราะมีข้อขัดแย้งมากมายว่าหากเอาความสุขของตนเป็นที่ตั้ง เป็นความดีความชอบของทุกสิ่งโดยไร้ซึ่งข้อโต้แย้งใดๆ นั่นอาจหมายถึงความเห็นแก่ตัวและผลักความทุกข์ไปยังผู้อื่น 

นั่นทำให้เกิดอีกหนึ่งแนวคิดขึ้นมาถ่วงดุลความเชื่อแรก คือ สุขนิยมสากล (Hedonistic Utilitarianism) ซึ่งยังคงความเชื่อหลักของสุขนิยมที่ว่ามนุษย์ควรเสาะแสวงหาแต่ความสุข แต่ความสุขนั้นจะต้องไม่สร้างความทุกข์ให้กับผู้อื่น การกระทำใดๆ ที่สร้างสุขแก่ตนแต่กลับทำให้คนอื่นเป็นทุกข์ ถือว่าไม่ใช่เป็นการกระทำที่ดี ความสุขที่เรียกว่าความสุขได้อย่างแท้จริงคือความสุขที่คนส่วนใหญ่ได้รับร่วมกัน 

สุขนิยมสากลมีรากฐานมาจากจริยศาสตร์แบบประโยชน์นิยม ซึ่งเชื่อว่าความดีงาม ความถูกต้องจะเกิดขึ้นเมื่อคนหมู่มากได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน แม้จะทำให้แนวคิดสุขนิยมสมดุลขึ้น แต่ยังคงเกิดข้อโต้แย้งขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากถือเป็นการลดทอนคุณค่าที่แท้จริงของความสุข อันเป็นสิ่งที่คนจะรู้สึกร่วมกันได้โดยสัญชาตญาณ 

เอพิคิวรัส (Epicurus)

สุขนิยมเป็นเหมือนไม้เนื้อขรุขระที่ค่อยๆ มีช่างฝีมือดีเข้ามาแกะสลักให้เป็นรูปร่างอีกครั้ง มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องจึงทำให้เกิด แนวคิดเอพิคิวเรียน (Epicurean) หรือ สุขนิยมแบบทางสายกลาง ซึ่งกลั่นกรองจาก เอพิคิวรัส (Epicurus) นักปรัชญาที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาของสุขนิยม 

แม้จะยังคงแก่นดั้งเดิมของสุขนิยมที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ตัวเองมีความสุข แต่เอพิคิวรัสได้นิยามความหมายของความสุขได้ครอบคลุมกว่าที่ผ่านมา 

เขาระบุว่าความสุขมี แบบ ได้แก่ ความสุขทางกายและทางจิตใจ ก่อนมนุษย์จะได้สัมผัสความสุขทั้งสองแบบนั้น สิ่งที่จำเป็นต้องมีเป็นอันดับแรกคือ ความต้องการพื้นฐาน หรือ ปัจจัย ซึ่งได้แก่อาหาร ที่อยู่ เสื้อผ้า และยารักษาโรค 

(Photo : Romans during the Decadence by Thomas Couture,1847)

เมื่อมีปัจจัยพื้นฐานครบแล้ว ความสุขในขั้นต่อมาคือความสุขจากปัจจัย ที่เกินความจำเป็น เช่น อาหารอร่อยๆ ที่กินเพื่อดื่มด่ำรสชาติมากกว่าประทังชีวิต เสื้อผ้าสวยๆ ที่สวมใส่ด้วยเหตุผลที่มากกว่าการปกปิดร่างกาย การแสวงหาความสุขทางเพศ การดื่ม เที่ยวเพื่อความสนุกสนาน เอพิคิวรัสมองว่านี่เป็นความสุขที่อาจเป็นนำมาซึ่งความทุกข์ในภายหลังก็เป็นได้ เขาจึงเลือกที่จะให้คุณค่ากับความสุขที่เกิดขึ้นในจิตใจของมนุษย์เสียมากกว่า 

เอพิคิวรัสมองว่าการเป็นมนุษย์ต้องการสิ่งที่ช่วยชโลมให้จิตวิญญาณมีความสมบูรณ์ กล่าวคือจิตใจของเราเองไม่ต่างอะไรจากกระเพาะที่หิวโหยและต้องการอาหารมาเติมเต็ม ความสุขทางใจในทัศนะของเอพิคิวรัสคือ อิสระ เชื่อว่ามนุษย์จะเป็นสุขได้ด้วยการไม่ตกเป็นทาสใคร อยู่อย่างสันโดษได้อย่างที่ต้องการ ในขณะเดียวกันก็ไม่ลืมที่จะให้คุณค่ากับมิตรภาพอันยืนยาวระหว่างเพื่อนมนุษย์อีกด้วย 

การนิยามความสุขอย่างรอบด้านทำให้สุขนิยมแบบเอพิคิวเรียนได้ชื่อว่าเป็นทางสายกลาง และเป็นรากฐานของสุขนิยมในยุคต่อๆ มา หลังจากที่แนวคิดนี้ถือกำเนิดขึ้น นิยามของความสุขก็ได้แปรรูปเปลี่ยนร่างไปพร้อมๆ กับการผันผ่านของยุคสมัย มีมิติที่มากกว่าเดิม พร้อมกับข้อโต้แย้งทางวิทยาศาสตร์ จิตวิทยาที่อธิบายธรรมชาติของการเป็นมนุษย์ที่รอบด้านมากกว่าในอดีต 

(Photo : The Blind Fiddler by Sir David Wilkie,1806)

แนวโน้มในโลกปัจจุบันและอนาคตข้างหน้านั้น ความสุขจะถูกตีความอย่างละเอียดกว่าเดิม ความสุขกำลังเปลี่ยนไปจากยุคเริ่มแรก ที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนคือการไม่มองข้ามความทุกข์ เพราะนั่นเป็นหนึ่งในหนทางที่นำพาไปสู่ความสุขด้วยเช่นกัน และสังคมที่หลอมรวมคนให้มองเห็นความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นมากขึ้น ได้ยินเสียงของผู้คนมากขึ้น ก็ทำให้ความสุขที่มุ่งมองแต่ตัวของปัจเจกเปลี่ยนทิศทางออกมาสู่เพื่อนมนุษย์มากขึ้น 

อาจกล่าวได้ว่าวลี กินและดื่ม เพื่อตายอย่างสำราญในวันพรุ่งนี้ ที่ระบุในพระคัมภีร์ อาจถูกต่อเติมด้วยข้อความจากปลายปากกาของยุคสมัยใหม่ จนได้ความว่า “กิน ดื่ม และสุขสำราญ เผชิญหน้ากับความทุกข์ และตายในวันพรุ่งนี้โดยไม่ละทิ้งความเจ็บปวดไว้ให้ผู้คนข้างหลัง” ก็เป็นได้