เป็นระยะเวลากว่า 7 ปีที่ แพททริค วรินท์ แม็คเบลน โลดแล่นอยู่ในรายการอิงลิชเบรกฟาสต์
ออกอากาศทางโทรทัศน์ช่องไทยพีบีเอส เขาเป็นผู้ดำเนินรายการที่รับบทหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น พี่คุกกี้-เจ้าของร้านกาแฟ คุณแพท-นักข่าว โบรว์ โฮมบอย-คนเจ้าเล่ห์ อาจารย์วารินผู้เฉลียวฉลาด ฯลฯ
หลังห่างหายจากหน้าจอโทรทัศน์ไปพักใหญ่ เขาปรากฏตัวกลางสปอตไลท์อีกครั้งในฐานะหนึ่งในแกนนำคณะราษฎรผู้นำจดหมายเปิดผนึกไปยื่นต่อสถานเอกอัคราชทูตเยอรมันนีประจำประเทศไทย ในวันที่มีการชุมนุมบริเวณหน้าสถานทูตเยอรมันนี 26 ตุลาคม 2563
นอกจากบทบาทผู้ไปยื่นจดหมาย เขายังเป็นหนึ่งในคณะราษฎรอินเตอร์แนชันแนลซึ่งเป็นกลุ่มที่เรียบเรียงข้อความภาษาอังกฤษอันสละสลวยในจดหมายฉบับดังกล่าว ทั้งยังเป็นกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่คอยเผยแพร่ข่าวสารฉบับภาษาอังกฤษให้ทั่วโลกได้รับรู้อีกด้วย
และอีกหนึ่งบทบาทของแพททริคที่นอกเหนือจากที่กล่าวมาทั้งหมดคือ ว่าที่บัณฑิตจากคณะวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่กำลังสนใจศึกษาต่อด้านฟิสิกส์พลังงานสูง จากบทบาททั้งหมดที่กล่าวมาทำให้การออกมาแสดงจุดยืนของเขานอกจากจะทำเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยแล้ว เขายังอยากเห็นวงการวิทยาศาสตร์ไทยเติบโตหากประเทศมี ‘การเมืองที่ดี’
คุณเริ่มสนใจวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ตอนไหน
สนใจแต่ไม่ได้คิดจริงจัง เมื่อก่อนเวลาเราพูดถึงนักวิทยาศาสตร์ จะต้องมีภาพในหัวว่าใส่แว่นตา ใส่เสื้อกาวน์ ถือขวดทดลอง มีน้ำสีๆ เราเลยคิดว่า เห้ย เท่ว่ะ น่าสนใจ แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้ตามต่อ เพิ่งมาตัดสินใจว่าจะเป็นนักฟิสิกส์ในแบบที่ไม่มีเสื้อกาวน์และแว่นตาตอนประมาณ ม.ปลาย
อะไรทำให้คุณตัดสินใจในตอนนั้น
มีหลายปัจจัย ปัจจัยแรกคือช่วงน้ำท่วมใหญ่ ตอนนั้นเราอยู่ ม.3 หนีน้ำขึ้นไปภาคเหนือ คุณแม่พาเราไปฝากไว้กับอาจารย์ที่เคยสอนฟิสิกส์คุณแม่มาตั้งแต่เด็ก ตอนนั้นเกลียดฟิสิกส์มาก เพราะเคยเจออาจารย์ที่สอนไม่ดี ทำให้เรียนไม่รู้เรื่อง พอได้เรียนกับอาจารย์คนนี้เราเลยพบว่าจริงๆ ก็ไม่ได้ยากนี่หว่า มันมีหลักการของมันอยู่ พอเราเข้าใจหลักของมันปุ๊บ ไม่ว่าโจทย์จะเปลี่ยนไปอย่างไร เรายังสามารถใช้หลักเดิมในการแก้ได้ทั้งหมด มันน่าสนใจตรงนี้
ปัจจัยที่สองคือเราได้ดูสารคดีฟิสิกส์ที่เขาเอาฟิสิกส์ยุคใหม่มาย่อยให้เข้าใจง่าย ทำให้เราว้าวกับปรากฏการณ์หลายๆ อย่าง และปัจจัยสุดท้ายคือเราเข้า ม.ปลาย มาด้วยความหวังว่าจะเป็นหมอ เลยเรียนสายวิทย์-คณิต-คุณภาพชีวิต พอเจอข้อสอบชีววิทยาเข้าไป เรารู้สึกว่าไม่ใช่ทางแล้ว เรื่องมันกว้างเกินไป มันบูรณาการกับเคมีด้วย อ่านแล้วรู้สึกไม่เข้าหัว จับหลักหรือแกนของมันไม่ได้ อาจเพราะสมองเราไม่ได้ไปทางนั้น เลยเลิกแล้วเรียนฟิสิกส์ดีกว่า
ถ้าชีววิทยายากเพราะต้องจำเยอะ แล้วฟิสิกส์มีความยากอย่างไรบ้าง
สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับฟิสิกส์คือโจทย์ที่ให้มามันไม่ได้เป็นตัวเลข เราต้องหาวิธีแปลงโจทย์ให้เป็นรูปทางคณิตศาสตร์ พอเปลี่ยนเป็นคณิตศาสตร์ปุ๊บที่เหลือมันง่ายเลยเพราะแค่บวก ลบ คูณ หาร จุดนี้น่าจะเป็นจุดที่ยากที่สุดในการทำโจทย์ฟิสิกส์และเป็นจุดที่หลายๆ คนตกม้าตาย เราว่าเวลาคนส่วนใหญ่อ่านฟิสิกส์ก็จะคิดว่าเข้าใจแล้ว เช่น เรื่องการเคลื่อนที่ มีกฎของนิวตัน 3 ข้อ ถ้าเข้าใจก็สอบได้แล้ว จริงๆ ไม่ใช่ ฟิสิกส์เป็นวิชาที่ต้องทำโจทย์ เมื่อทำโจทย์ได้ ถึงจะมั่นใจว่าเราเข้าใจแล้ว ถ้าอ่านแค่เนื้อหามันไม่มีทางเข้าใจได้จริงๆ
ฟิสิกส์ที่คุณเรียนเกี่ยวกับอะไรแล้วทำไมถึงสนใจด้านนี้
เรียนจบฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยมหิดล ไม่ได้มีสาขาระบุชัดเจนในใบปริญญา แต่สิ่งที่สนใจและทำตอนเรียนเป็นทฤษฎีฟิสิกส์พลังงานสูง คือเดิมทีพวกกฎของนิวตัน ฟิสิกส์ตรงนั้นใช้อธิบายปรากฏการณ์ที่เราค่อนข้างคุ้นเคย คือของตก รถเคลื่อนที่ เครื่องบินบิน นกร่อน กฎของนิวตันอธิบายทุกอย่างได้ทั้งหมด แต่คราวนี้เราพบว่ามันมีบางกรณีที่กฎของนิวตันอธิบายไม่ได้ สมมุติว่าวัตถุวิ่งเร็วใกล้แสงขึ้นมา กฎของนิวตันก็จะใช้ไม่ได้แล้ว เราต้องใช้กฎใหม่แทนเรียกว่าสัมพัทธภาพ พอวัตถุมันเล็กมากๆ กฎของนิวตันก็ใช้ไม่ได้อีก ต้องใช้กฎกลศาสตร์ควอนตัม ฟิสิกส์พลังงานสูงจะสนใจอนุภาคที่เล็กและเร็วมากๆ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่เราเจอบ่อยกับอนุภาคในเครื่องเร่งอนุภาคไปจนถึงปรากฏการณ์บางอย่างในอวกาศ
ดูเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ค่อยได้เจอในชีวิตประจำวัน ทำไมถึงสนใจ
เราว่าความรู้ทุกอย่างมันสำคัญหมด แค่จะมีประโยชน์เมื่อไหร่ การทำวิจัยหลายๆ เรื่องมันอาจดูไร้สาระ ในขณะที่เรายังมีคนอดตายอีกมากมาย บางคนสงสัยว่าเราจะเสียเวลาเอาเงินไปทุ่มตรงนั้นทำไม แต่เราคิดว่างานวิจัยและองค์ความรู้ทั้งหมดมันคือรากฐานของนวัตกรรม
ไอน์สไตน์ค้นพบทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปตอนปี 1915 พอมีการพิสูจน์ว่าทฤษฎีนั้นเป็นจริงมันก็ถูกเก็บเข้ากรุ ไม่ได้มีประโยชน์อะไรในโลกความจริงนัก เพราะเอาไว้ใช้สำหรับบริเวณที่แรงโน้มถ่วงมันเข้มมาก เช่น หลุมดำ ปรากฏว่าพอนานไป มนุษย์สร้างดาวเทียมจีพีเอสขึ้นมา พอปล่อยใช้จริงพบว่าตำแหน่งมันคลาดเคลื่อนเยอะมาก คนก็งงว่าเกิดอะไรขึ้น ปรากฏว่าทฤษฎีสัมพัทธภาพที่คิดตั้งแต่ปี 1915 ทำนายไว้ว่าบริเวณที่แรงโน้มถ่วงเข้ม เวลาจะเดินช้ากว่า ดาวเทียมที่ลอยเหนือโลกอยู่ในแรงโน้มถ่วงที่อ่อนกว่า เวลาบนดาวเทียมมันเลยเดินเร็วกว่าบนโลก จีพีเอสที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งก็ต้องขอบคุณทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป
องค์ความรู้ รู้ไว้มันไม่เสียหาย 1.เป็นรากฐานของนวัตกรรม 2.เป็นรากฐานที่ตอบสนองความต้องการลึกๆ ของคน ที่ต้องการจะรู้ เข้าใจว่าจักรวาลทำงานอย่างไร เราว่าสองอย่างนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ต้องค้นคว้าวิจัย
การมีโอกาสได้เรียนด้านวิทยาศาสตร์ทำให้คุณเกิดความสงสัยต่อโลกและจักรวาลมากขึ้นไหม
มีคนบอกว่าทุกคนเกิดมามีความเป็นนักวิทยาศาสตร์ในตัว เด็กๆ ถามเจื้อยแจ้วตลอดเลยว่า ทำไมท้องฟ้าสีฟ้า นั่นคืออะไร นี่คืออะไร ทำไมนี่มีสี่ขา ความสงสัยเป็นสิ่งที่เรามีมาโดยตลอด ถ้าเราสามารถเลี้ยงไฟความสงสัยตรงนี้ให้กับเด็กๆ ได้ ถึงเขาจะไม่ได้โตมาเป็นนักวิทยาศาสตร์ ไม่ได้เป็นนักวิจัย แต่อย่างน้อยๆ มันก็ยังรักษาความสงสัยนี้ไว้ในตัวพวกเขาไว้ได้
เราไม่คาดหวังว่าทุกคนจะต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว อย่างนั้นก็ไม่มีคนที่ทำอาชีพอื่น เราแค่อยากให้คนชื่นชมวิทยาศาสตร์เหมือนที่ชื่นชมงานศิลป์
หมายความว่าพอโตขึ้นแล้วเราสงสัยน้อยลง
ระบบการศึกษาและสังคมมันรีดสิ่งนั้นออกไปจากเด็กๆ พอเราเข้ามาอยู่ในระบบการศึกษาปุ๊บ เราแทบไม่เหลือพื้นที่ให้ความสงสัยเลย เราถูกป้อนสูตรเข้าไป เคยชินกับอะไรที่ตายตัวตลอดเวลา จนเกิดปัญหากับการเรียนรู้ กลายเป็นว่าไม่ได้เรียนเพราะว่ามันสวยงาม ไม่ได้เรียนเพื่อตอบสนองความอยากรู้ แต่เราเรียนเพื่อเอาไปสอบ เอาไปเข้ามหาวิทยาลัย เราว่าปัญหาของระบบการศึกษาบ้านเราเป็นแบบนี้ ถ้าสามารถเลี้ยงไฟความสงสัยในตัวเด็กๆ ต่อไปได้ แล้วให้พยายามหาคำตอบด้วยตัวเอง ชี้ให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์มีความสวยงามขนาดไหน เราว่ามันจะทำให้เด็กโตมามีคุณภาพ
เราไม่คาดหวังว่าทุกคนจะต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว อย่างนั้นก็ไม่มีคนที่ทำอาชีพอื่น เราแค่อยากให้คนชื่นชมวิทยาศาสตร์เหมือนที่ชื่นชมงานศิลป์ เราอาจวาดรูปทุเรศที่สุดในโลกก็ได้ ไม่เป็นไร เพราะเราไม่ได้มาแข่งกันวาดรูป แต่อยากให้เห็นความสวยงามของรูปวาดรูปนั้น ให้รู้ว่าทำไมมันถึงสวยและมีความสำคัญสำหรับเรา อยากให้คนมีทัศนคติกับวิทยาศาสตร์ในแบบเดียวกัน
คิดว่าอะไรที่ทำให้การศึกษาบ้านเราเป็นแบบนั้น
นั่นเป็นปัญหาของสังคมด้วย ถ้าสังคมดี ถ้าการเมืองดี เราจะไม่จำเป็นต้องทำงานเพื่อหาเงินมาตอบสนองปัจจัยขั้นพื้นฐาน แต่การทำงาน การศึกษา การตั้งคำถามจะช่วยหล่อเลี้ยงจิตใจ ทำให้เรามีความเป็นมนุษย์มากขึ้น บางคนอาจคิดว่าเรามองโลกแบบยูโทเปียเกินไปหรือเปล่า แต่เราคิดว่ามันเป็นไปได้ ถ้าเรามีสวัสดิการที่ดีมารองรับปัจจัยขั้นพื้นฐาน เราจะไม่ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อแลกกับเศษเงิน คนจะไม่ต้องมารับใช้ทุนนิยม สามารถหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของตัวเองได้ คนจะตั้งคำถามและเรียนเพื่อความสวยงามได้โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าเราจะทำมาหากินอย่างไรในวันรุ่งขึ้น
คุณคิดว่าการเติมเต็มจิตวิญญาณมันสำคัญอย่างไรกับการเป็นมนุษย์
สำหรับเรา เรารู้สึกฟิน รู้สึกเหมือนคันมานานแล้วก็เกาถูกที่คัน (หัวเราะ) เราสงสัยแล้วเราอยากรู้อะไรหลายๆ อย่างถ้ามันไม่ออกมา มันขัดใจ เหมือนเราทำโจทย์ ถ้าไม่ได้คำตอบมันหงุดหงิดมากเลย โมเมนต์ที่ฟินที่สุด คือตอนที่คำตอบหลุดออกมาแล้วถูก แฮปปี้มาก นั่นแหละเราเกาถูกที่คันแล้ว มันเป็นอะไรที่เป็นความสุขง่ายๆ
ถ้าการเมืองดี การศึกษาก็จะดีตาม คุณเริ่มเห็นความจริงข้อนี้ตอนไหน
เราชอบประวัติศาสตร์ ชอบอ่านประวัติศาสตร์การเมืองและติดตามมาตลอด พอเข้าม.ปลาย เราอยู่ในกลุ่มเพื่อนที่เป็นคอการเมืองเหมือนกัน ก็คุยเรื่องนี้ตลอด ช่วงนั้นเกิดเหตุการณ์สำคัญหลายอย่าง มีเรื่อง พรบ. นิรโทษกรรม ช่วงที่ กปปส.ชุมนุม เกิดเหตุการณ์ยุบสภา เปลี่ยนเป็นรักษาการณ์ จากนั้นเกิดรัฐประหารในปี 57 เป็นช่วงที่ทำให้เราติดตามการเมืองตลอด เสียดายที่ตอนนั้นไม่ได้เทคแอคชันเท่าตอนนี้
ตอนนี้คุณทำอะไรบ้าง
ถ้าคนตามเฟสบุ๊กจะเห็นว่าเราเป็นตาแก่ขี้บ่น เราจะแชร์โพสต์มาแล้ววิจารณ์ (หัวเราะ) ไม่ได้เทคแอคชันจริงจังสักที จนกระทั่งมีโอกาสได้เป็นหนึ่งในผู้ช่วยแกนนำของกลุ่มผู้ชุมนุม เราเป็นเจเนอรัลเบ๊ ไม่ได้ช่วยงานสลักสำคัญอะไร พอถึงจุดหนึ่งเราก็ร่วมก่อตั้งคณะราษฎรอินเตอร์เนชันแนล และกลุ่มใหม่ล่าสุดที่เพิ่งเปิดได้ไม่นานแล้วก็มีคนให้ความสนใจพอสมควรคือ วิทยาศาสตร์และการเมือง เป็นกลุ่มที่รวมนักวิจัย เด็กสายวิทยาศาสตร์ที่สนใจและมุ่งหาทางแก้ไขปัญหาการเมืองที่เกี่ยวข้องกับสายงานวิทยาศาสตร์
งานวิจัยไม่ได้เป็นต้นไม้ที่ผลออกเร็ว ผลมันออกช้า ออกผลไม่แน่นอน เราอาจจะมองไม่เห็นตอนนี้ แต่เมื่อมันออกดอกออกผล มันจะนำมาซึ่งนวัตกรรม มันคือการลงทุนกับอนาคต
คุณตั้งใจจะเล่าเรื่องอะไรผ่านเพจนี้
เราอยากปรับทัศนคติของคน อยากให้กลุ่มนี้เป็นกระบอกเสียงเล็กๆ ให้วงการวิทยาศาสตร์ ทำให้คนทั่วไปเห็นว่าเราเรียนอะไร เห็นว่างานวิทยาศาสตร์ไทยมีปัญหาอย่างไร แล้วการเมืองที่ดีจะทำให้วงการวิทยาศาสตร์ดีขึ้นได้อย่างไร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเคยบอกว่าอย่าไปทำอะไรที่เป็นไปไม่ได้ ให้ทำอะไรที่เป็นไปได้ดีกว่า เราจำคำพูดเป๊ะๆ ไม่ได้ แต่เราว่าคำพูดนั้นมันสวนทางกับวัฒนธรรมของการวิจัย คนมักไม่เข้าใจว่าทำไมเราถึงต้องให้ความสนใจกับงานวิจัยที่ดูจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย เช่นพวกงานทฤษฎีที่เป็นงานวิจัยขึ้นหิ้ง คนชอบให้ความสนใจกับงานแอพพลาย งานที่เห็นผลทันตามากกว่า
เวลาทำงานวิจัย นักวิทยาศาสตร์จะต้องเข้าไปยุ่งกับโซนที่ไม่รู้ว่าจะเป็นไปได้หรือเปล่า เพราะหน้าที่ของงานวิจัยคือการขยายพรมแดนความรู้ออกไป ทำให้เห็นภาพกว้างขึ้น ทำให้เข้าใจโลกมากขึ้น เราอยากให้คนเห็นว่าธรรมชาติของงานวิจัยเป็นแบบนี้ สิ่งที่คนยังไม่เข้าใจคืองานวิจัยทุกงานเป็นรากฐานของนวัตกรรม งานวิจัยไม่ได้เป็นต้นไม้ที่ผลออกเร็ว ผลมันออกช้า ออกผลไม่แน่นอน เราอาจจะมองไม่เห็นตอนนี้ แต่เมื่อมันออกดอกออกผล มันจะนำมาซึ่งนวัตกรรม มันคือการลงทุนกับอนาคต
เรามักจะใช้แต่ผลของงานวิจัยมาตลอด โดยที่ไม่เคยปลูกต้นไม้นั้นด้วยตัวเอง เราไปเก็บแต่ผลของชาวบ้านที่เขาปลูกไว้แล้ว เทคโนโลยีต่างๆ ที่เราใช้ มีคนอื่นทำวิจัยรองรับไว้หมดแล้ว เรายังไม่ค่อยสนใจการปลูกต้นไม้ตรงนี้เองสักเท่าไหร่
ยกตัวอย่างเรื่องของนักวิทยาศาสตร์ชื่อ ไมเคิล ฟาราเดย์ (Michael Faraday) เขาเคยเสนอหลักการของสนามแม่เหล็กกับสนามไฟฟ้า นายกรัฐมนตรีอังกฤษมาเห็นก็ถามว่า “มันเอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง” ฟาราเดย์เลยถามกลับว่า “แล้วเด็กแรกเกิดมีประโยชน์อะไร” เขาต้องการจะสื่อว่างานตอนนั้นยังไม่ได้สำคัญเพราะเพิ่งเกิดใหม่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเราก็เห็นแล้วว่าจากขดลวดเล็กๆ ที่ตัดผ่านสนามแม่เหล็ก กลายมาเป็นรากฐานของไฟฟ้า มันคืออารยธรรมของโลก การที่รัฐบาลไทยเลือกสนับสนุนนวัตกรรมแล้วไม่สนับสนุนงานวิจัยถือเป็นการสนับสนุนที่ปลายเหตุ
สังคมแห่งวิทยาศาสตร์แบบไหนที่คุณใฝ่ฝันว่าจะได้เห็น
เราเคยไปฝึกงานที่ CERN (European Organization for Nuclear Research) เป็นองค์กรนานาชาติที่เกิดจากความร่วมมือของหลายๆ ประเทศ ที่นั่นให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรและการศึกษาวิทยาศาสตร์มาก โครงที่เราไปคือซัมเมอร์โปรแกรม เขาเปิดโอกาสให้นักศึกษาปี 3-4 หรือปริญญาโทเข้าไปฝึกงานเป็นเวลา 3 เดือน ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ว่าเราจะเปลี่ยนสายการเรียนตอนหลังหรือเปล่า แต่เขาก็พร้อมทุ่มงบประมาณเพื่อพัฒนาบุคลากร พร้อมให้คนเหล่านี้เข้าไปใช้อุปกรณ์ของเขาได้อย่างเต็มที่ เราว่าองค์กรนี้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์ ในขณะเดียวกันก็มองเห็นว่าบรรยากาศการเมืองที่ดีมันส่งผลต่อวิทยาศาสตร์อย่างไรด้วย
องค์กรไม่ได้เห็นแต่ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์อย่างเดียวแต่ยังให้ความสำคัญกับคนในนั้นด้วย มีค่านิยมดีๆ เยอะมาก เป็นองค์กรที่เปิดกว้าง ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ชาย ผู้หญิง หรือ LGBTQ ก็มีที่ยืนเท่ากันหมด
คุณคิดว่าการศึกษาวิทยาศาสตร์ในไทยยังต้องการอะไรอีกบ้าง
สิ่งที่โรงเรียนไทยไม่ค่อยมี ในมหาวิทยาลัยยังพอมีอยู่บ้างแต่ถือว่ายังน้อยอยู่ คือ demonstration หรือ การจัดชุดสาธิต ถ้าไปดูการเรียนของต่างประเทศ เวลาเรียนเรื่องอะไรเขาจะสาธิตเรื่องนั้นหน้าห้องเลย เช่น เรื่องอนุรักษ์โมเมนตัมเชิงมุม ชุดการทดลองเบสิกคือคนนั่งอยู่บนเก้าอี้หมุน ถือดัมเบล พอหดแขนเอาดัมเบลเข้าใกล้ตัว เก้าอี้จะหมุนเร็วขึ้น ถ้าเปิดด้วยการทดลองแบบนี้แล้วค่อยเข้าสู่การอนุรักษ์โมเมนตัมเชิงมุม ถ้าทำให้เห็นว่าเป็นเรื่องในชีวิตประจำวัน คนจะให้ความสนใจมากขึ้น
ในขณะเดียวกันบ้านเราควรมีพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพมากกว่านี้ ตอนไปฝึกงาน เราว้าวกับพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ที่มิวนิกมาก เขาทำชุดจัดแสดงทั้งหมดเป็นแบบ interactive ชุดจัดแสดงพวกนี้ถอดแบบมาจากบทเรียนที่เราเรียนในห้อง มันทำให้เราเห็นภาพว่าเป็นอย่างไร กี่สมการมันก็ไม่สู้ปรากฏการณ์ที่เห็น ขนาดเคยเรียนมาก่อนแล้วไปดูเรายังว้าวเลย ถ้าเป็นเด็กๆ ที่กำลังสนใจเรื่องนี้แล้วได้เห็นพิพิธภัณฑ์แบบนี้จะได้แรงบันดาลใจขนาดไหน
ถ้ารัฐทำให้คนมีอันจะกิน ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ให้สวัสดิการขั้นพื้นฐาน เมื่อคนกินอิ่ม นอนหลับและปลอดภัยแล้ว เราค่อยมาปรับทัศนคติผ่านการศึกษา
ก่อนจะไปถึงจุดนั้นได้ ประเทศไทยต้องแก้ปัญหาอะไรก่อนเป็นอันดับแรก
มีหลายปัจจัย อย่างแรกคือคนต้องไม่อดตาย มาร์สโลว์บอกว่าพื้นฐานของคนคือต้องทำมาหากินก่อน คนกำลังจะตายจะไม่เอาเวลามานั่งคิดถึงเรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องศิลปะ เพราะต้องเอาตัวเองให้รอดก่อน พูดแบบกำปั้นทุบดินเลยนะ ถ้ารัฐทำให้คนมีอันจะกิน ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ให้สวัสดิการขั้นพื้นฐาน เมื่อคนกินอิ่ม นอนหลับและปลอดภัยแล้ว เราค่อยมาปรับทัศนคติผ่านการศึกษา
การศึกษาแบบไหนที่คิดว่าจะช่วยให้ไปถึงจุดนั้นได้
แทนที่จะต้องท่องสูตร ท่องเนื้อหา เราทำให้คนเห็นภาพมากขึ้นดีกว่าว่าสิ่งที่เรียนมันมีผลอย่างไร ตัวเลขที่แก้โจทย์ออกมามันส่งผลต่อโลกความเป็นจริงมากน้อยขนาดไหน ถ้าคนเห็นความสวยงามตรงนี้ เห็นว่าฟิสิกส์ไม่ได้เป็นแค่สูตร แต่เป็นสิ่งที่จับต้องได้จริงๆ ตัวเลขที่เขียนออกมาสามารถทำนายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้จริง คนจะสนใจมากขึ้น
วิทยาศาสตร์มักให้คำตอบที่เป็นเหตุเป็นผล อยากรู้ว่าส่วนตัวแล้วคุณมีความศรัทธาในสิ่งไหนบ้าง แล้วคุณมีวิธีชั่งน้ำหนักสองสิ่งนี้อย่างไร
ส่วนตัวเราศรัทธาในความสามารถของคน ศรัทธาในตัวเอง เราไม่นับถือศาสนาใด แต่ในขณะเดียวกันเราเชื่อว่าความศรัทธาเป็นเรื่องของปัจเจก ไม่สามารถเอาเหตุผลมาคุยได้ เพราะกำลังดีลคนละเรื่อง พอพูดถึงศรัทธามันแทบไม่มีช่องว่างสำหรับเหตุผลเลย
เราเชื่อว่าตราบใดที่ศรัทธาไม่ได้ทำให้เกิดผลเสียกับตัวเอง กับคนรอบข้าง ถ้าเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจเราก็ไม่ติดอะไรถ้าคนจะมีศรัทธานี้ นักวิทยาศาสตร์เองก็ยังมีพื้นที่ให้ศาสนา ตราบใดที่เราให้ศาสนาเป็นเรื่องของปัจเจก องค์กรทางวิทยาศาสตร์ต้องไม่มาตั้งศาลพระภูมิ ไม่มีการปวรนาเป็นพุทธมามกะ องค์กรรัฐต้องวางตัวเป็นกลางทางศาสนา ต้องไม่อุดหนุนศาสนาใดและไม่ดูถูกเหยียดหยามความเชื่อใคร
การตั้งคำถามกับความศรัทธาของตัวเองสำคัญอย่างไร
ถ้าศรัทธานั้นมันทำร้ายคนรอบๆ ส่งผลเสียกับคนในสังคม เราว่ามันเป็นศรัทธาที่ผิด ต้องตั้งคำถามแล้วว่าทำไมคุณถึงยังเชื่ออะไรแบบนี้ ศรัทธาเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เราเองเคยเป็นประเภทที่ไม่เอาศาสนาเลย แต่พอถึงจุดหนึ่งเราคิดว่ามันเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ แต่คีย์สำคัญคือศาสนาต้องไม่ทำร้ายตัวเอง ต้องไม่ทำร้ายคนอื่น ถ้าศาสนาเป็นอันตรายต่อสังคมก็ต้องมีมาตรการที่เหมาะสม
คำตอบทางวิทยาศาสตร์มักจะเป็นคำตอบที่แน่นอน ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง สิ่งนี้มีผลทำให้ปักใจข้อมูลชุดเดียวไหม
เราว่านักวิทยาศาสตร์ที่ดีจะต้องเปิดใจรับความคิดใหม่ๆ เสมอ นักวิทยาศาสตร์ที่ดีจะรู้ว่าทฤษฎีจะไม่ถูกต้องเสมอไป มันต้องเปลี่ยนได้ เหมือนเมื่อก่อนที่คนจะเชื่อเสมอว่ากฎของนิวตันอธิบายได้ทุกอย่างตั้งแต่อะตอมไปจนถึงจักรวาล จนกระทั่งมีคนค้นพบว่ากฎของนิวตันไม่สามารถอธิบายอะไรบางอย่างได้ ก็คิดทฤษฎีใหม่ พอทฤษฎีนี้ใช้ไม่ได้กับอะไรบางอย่าง ก็คิดทฤษฎีใหม่ขึ้นมาอีก คนอาจคิดว่าวิทยาศาสตร์ตายตัว แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ วงการนี้มีพลวัตเสมอ โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์ยุคปัจจุบันที่คนมักจะเอาทฤษฎีมานั่งเถียงกัน
วิทยาศาสตร์ก็เกิดการถกเถียงกัน อันไหนที่มันผิดก็ยอมรับว่าผิด อันไหนที่ถูกหรือมีโอกาสจะถูก เราก็เอามาเถียงกันด้วยข้อมูลหรือข้อเท็จจริง
การถกเถียงในวงการวิทยาศาสตร์เป็นไปอย่างไรบ้าง
บางอย่างในวิทยาศาสตร์ก็เปิดช่องให้ตีความลักษณะเดียวกับปรัชญา เช่น แมวของชโรดิงเงอร์ (Schrödinger’s Cat) ซึ่งเป็นการทดลองทางความคิด ไม่ได้เกิดขึ้นจริงของนักฟิสิกส์ชื่อชโรดิงเงอร์ เขาบอกว่ามีแมวในกล่องกล่องนี้มีอนุภาคกัมมันตรังสีตัวหนึ่ง เมื่ออนุภาคสลายตัวจะมีเครื่องตรวจจับ เมื่อตรวจพบว่ามันสลายตัว เครื่องจะส่งสัญญาณไปที่ฆ้อนให้ตีขวดยาพิษแตก แมวที่อยู่ในกล่องจะตายทันที แต่ถ้าอนุภาคตัวนี้มันไม่สลายตัวแล้วขวดก็ไม่แตก แมวก็ยังอยู่ อนุภาคที่ว่านี้มีโอกาสครึ่งครึ่งที่มันจะสลายตัว เมื่อเราปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยที่ยังไม่เปิดกล่อง แมวในกล่องจะอยู่หรือจะตาย
เหตุผลที่กล่องนี้มันสำคัญในทางวิทยาศาสตร์เพราะมันคือความพยายามที่จะอธิบายปรากฏการณ์ทางควอนตัมที่ใช้อธิบายอะตอมขนาดเล็ก ผลทางควอนตัมขยายให้เห็นว่าผลในโลกความเป็นจริงมันแปลกขนาดไหน เราจะไม่รู้ว่าอนุภาคจะสลายหรือไม่สลาย ไม่รู้ว่าปิดกล่องปุ๊บพอผ่านไปสักระยะหนึ่งแมวจะอยู่หรือตาย
ความพยายามที่จะอธิบายกล่องนี้นำมาซึ่งความเชื่อแบบต่างๆ คล้ายกับปรัชญา กระแสหลักบอกว่าจริงๆ แล้วแมวในกล่องอยู่และตายพร้อมๆ กัน พอไปเปิดกล่องดูเราเห็นว่าแมวข้างในมันเป็นอย่างไร หมายความว่าเราต่างหากที่ทำให้มันอยู่หรือตาย การเปิดกล่องทำให้เราไปตัดสินระบบในกล่อง ระบบต้องคายออกมาว่าจะอยู่หรือจะตาย ถ้าแมวตาย คุณต่างหากเป็นคนที่ฆ่าแมว
ความคิดกระแสรองบอกว่าพอเราเปิดกล่องปุ๊บ ความเป็นไปได้มี 2 แบบ คือแมวอยู่ กับแบบที่สองคือแมวตาย ไม่ว่าเราจะเปิดแล้วได้ผลอย่างไร เราอยู่ในจักรวาลนั้น แต่อีกจักรวาลหนึ่งเป็นจักรวาลคู่ขนาน ที่เราไม่สามารถ interact กันได้
วิทยาศาสตร์มันมีวิธีการตีความ ซึ่งบางอย่างถูกพิสูจน์ได้ว่าไม่จริง ก็จะถูกปรับตกไป มีการตีความหนึ่งบอกว่า จริงๆ แล้วผลถูกล็อกไว้แล้วว่าจะอยู่หรือตายแต่เราแค่ไม่รู้ ทฤษฎีนี้ปัดตกไปเพราะมีการทดลองที่พิสูจน์ได้จริงๆ แต่การตีความที่เหลือคณิตศาสตร์มันให้ผลหมดเลย แค่เป็นเรื่องของความเชื่อ เคสนี้ทำให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์ก็เกิดการถกเถียงกัน อันไหนที่มันผิดก็ยอมรับว่าผิด อันไหนที่ถูกหรือมีโอกาสจะถูก เราก็เอามาเถียงกันด้วยข้อมูลหรือข้อเท็จจริง
ไม่ว่าจะเป็นสายวิทยาศาสตร์หรือสายสังคมในแง่ของการวิจัยมันมีบางอย่างที่เหมือนๆ กัน ในแง่ของงานวิจัย วิทย์กับสังคมไม่ได้ทิ้งห่างกัน สังคมเองก็ใช้วิธีการหลายๆ อย่างเหมือนวิทยาศาสตร์ แล้วก็เจอปัญหาในลักษณะคล้ายๆ กัน คือเป็นงานวิจัยที่มีประโยชน์แต่ต้องรอเวลา
ช่วงโควิดคนกลับมานั่งดูงานพวกนี้เป็นบ้าเป็นหลังเพราะจะต้องเอาไปใช้อธิบายว่าลักษณะทางสังคมแบบไหนที่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อน้อยที่สุด มันคือประโยชน์ที่รัฐเพิ่งมามองเห็นตอนจะต้องใช้ อย่างงานวิจัยวัคซีน งานวิจัยอื่นๆ ที่เพิ่งได้รับความสนใจตอนโควิดลง มันทำให้เราเห็นว่านักวิจัยบ้านเรามีศักยภาพมากเลย แต่ว่าไม่เคยได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม จึงไม่สามารถทำงานได้ด้วยตนเองอย่างอิสระ บางคนเลือกไปทำงานที่อื่น เพราะสุดท้ายแล้วก็ต้องกินต้องใช้ ถ้ารัฐให้ความสำคัญตรงนี้ เชื่อว่างานวิจัยไทยไม่เป็นรองใครแน่นอน