ไม่ว่าจะอยู่ในความสัมพันธ์แบบเพื่อน คนรัก แม้กระทั่งญาติพี่น้อง เมื่อเกิดความรู้สึกเคลือบแคลงใจขึ้นแล้ว ต่อให้ยังไม่บานปลายจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ ย่อมต้องรีบหาทางเคลียร์ใจ ก่อนทุกอย่างจะสายเกินแก้ไข
เพราะจุดแตกหักที่สร้างรอยร้าวในความสัมพันธ์ให้ขาดสะบั้นจนต่อไม่ติด อาจเริ่มต้นจากความไม่พอใจกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ดูยังไงก็ไม่น่าจะทำให้เกิดความลำบากใจขึ้นตามมาภายหลัง แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้นี่แหละที่ทำให้ใครหลายคนผิดใจกันนักต่อนัก
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะมองเห็นหรือสนใจว่าเรื่องเล็กๆ น้อยๆ คือชนวนของปัญหาในความสัมพันธ์ ความเข้าใจไม่ตรงกันตรงนี้เอง ทำให้นักจิตวิทยาพยายามหาคำตอบว่า ทำไมแต่ละคนถึงตีความเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตความสัมพันธ์ไปคนละทิศคนละทาง คนหนึ่งมองว่าเป็นปัญหา แต่อีกคนกลับไม่คิดเช่นนั้น เพื่อหวังว่า คำตอบที่ได้น่าจะเป็นหนทางหนึ่งสำหรับพัฒนาความสัมพันธ์ให้ดีขึ้นต่อไป
อแมนดา โรส (Amanda Rose) ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์จิตวิทยา (psychological science) มหาวิทยาลัยมิสซูรี (University of Missouri) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาพัฒนาการ (developmental psychology) เป็นหนึ่งในคนที่สนใจเรื่องนี้อย่างมาก
เธอสังเกตว่าความบาดหมางใจในความสัมพันธ์ส่วนใหญ่ เริ่มต้นมาจากวิธีรับมือและจัดการกับความวุ่นวายใจของคู่รัก ซึ่งแตกต่างกันราวกับอยู่คนละขั้ว เช่น ผู้หญิงจะมองว่าทุกสิ่งที่สร้างผลกระทบไม่ดีให้ความสัมพันธ์สั่นคลอนล้วนเป็นปัญหาทั้งหมด และจำเป็นต้องส่งสัญญาณบางอย่างให้อีกฝ่ายรับรู้ ซึ่งส่วนมากมักจะพูดถึงสิ่งนั้นด้วยท่าทีกังวลใจ
ขณะที่ผู้ชายไม่ได้เป็นอย่างนั้น ต่อให้รู้ว่าเกิดปัญหาในความสัมพันธ์จริงๆ แต่กลับเลือกสนใจวิธีแก้ไขมากกว่าพูดถึงปัญหาซ้ำๆ เพราะคิดว่าเสียเวลาเปล่า สู้เอาเวลาพร่ำบ่นมาคิดหาทางออกร่วมกันจะดีกว่า
โรสได้ตั้งข้อสงสัยว่า ถ้าการกระทำและทัศนคติในวัยผู้ใหญ่ มีรากฐานมาจากความคิดความอ่านในวัยเด็ก มุมมองต่อปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในความสัมพันธ์ ก็น่าจะพัฒนามาจากวัยเด็กเหมือนกัน เธอจึงสำรวจความคิดเห็นในหมู่เด็กๆ รวมถึงผู้ปกครอง เพื่อศึกษาท่าทีและการตัดสินใจของเด็กเมื่อเผชิญหน้ากับปัญหาในชีวิตประจำวัน
โดยทั่วไปแล้ว ในบริบทสังคมส่วนใหญ่มักจะปลูกฝังเด็กผู้ชายไม่ให้เปิดเผยความรู้สึกของตัวเอง ต่อให้รู้สึกอึดอัดใจมากแค่ไหนก็ต้องเก็บเอาไว้ข้างใน เพราะการแสดงออกอย่างชัดเจนว่าฟูมฟายกับปัญหาในชีวิตไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม ย่อมถูกมองว่าเป็นคนอ่อนแอทันที
ดังนั้น เมื่อถูกถามว่า การพูดถึงปัญหาทำให้รู้สึกอย่างไรบ้าง คำตอบจากเด็กผู้ชายจึงเป็นไปทิศทางเดียวกันว่า พวกเขาไม่ค่อยแสดงความรู้สึกมากนัก เพราะการเปิดเผยความรู้สึกส่วนตัวต่อปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา ไม่เกิดสาระประโยชน์ใดๆ
ตรงกันข้ามกับเด็กผู้หญิง พวกเธอรู้สึกว่า ยิ่งพูดถึงปัญหาและความรู้สึกของตัวเองที่มีต่อปัญหามากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้รู้สึกดีมากขึ้นเท่านั้น อย่างน้อยๆ ก็ได้แสดงความจริงใจออกไปว่าพวกเธอรู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น
ข้อค้นพบนี้จึงนำไปสู่ข้อสรุปว่า เมื่อเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายต่างมีมุมมองพื้นฐานและการจัดการต่อปัญหาต่างกัน ทัศนคติและวิธีรับมือกับปัญหาในความสัมพันธ์เมื่อเติบโตขึ้นไปสู่วัยผู้ใหญ่จึงแตกต่างกันตามไปด้วยอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว
เมื่อเกิดปัญหา มีความเป็นไปได้ว่าผู้หญิงต้องการให้อีกฝ่ายระบายความกังวลใจออกมา เพราะเธอคิดว่าเป็นวิธีช่วยทำให้รู้สึกดีขึ้น แต่ผู้ชายกลับเห็นต่าง และมักจะแสดงท่าทีไม่สนใจ ด้วยมุมมองที่คิดว่ามีวิธีแก้ไขแบบอื่นซึ่งได้ผลดีกว่า ผู้ชายยังคิดด้วยว่ายิ่งพูด จะยิ่งเพิ่มโอกาสทำให้ปัญหาลุกลามคล้ายกับการสุมเชื้อไฟ ผู้ชายหลายคนจึงเลือกปลีกตัวไปทำกิจกรรมอย่างอื่น เพื่อขจัดความคิดไม่ให้จมปลักอยู่กับปัญหาเดิมๆ
แม้ว่าต่างฝ่ายจะมีความคิดต่างกัน แต่ไม่ได้หมายความว่ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกหรือผิด สิ่งสำคัญที่สุด คือ ความเข้าใจในความต่าง เพราะจะช่วยเพิ่มโอกาสให้แต่ละฝ่ายเรียนรู้ธรรมชาติของกันและกัน เพื่อหาจุดกึ่งกลางพอดี ที่ไม่มาก ไม่น้อยเกินไป ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อพูดคุยกัน
ปัญหาเล็กน้อย หรือสิ่งที่ค้างคาใจ จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะขึ้นอยู่กับมุมมองของคู่ความสัมพันธ์ ซึ่งไม่ควรปล่อยผ่าน แต่ต่างฝ่ายต้องตระหนักรู้ถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง ไม่อย่างนั้น หากไม่เคลียร์ใจตั้งแต่แรก สิ่งเล็กๆ ที่คาใจข้างในลึกๆ อาจสะสมจนกลายเป็นความคับข้องใจ และสร้างความลำบากใจได้ในภายหลัง เมื่อรู้ตัวอีกที อาจสูญเสียความรู้สึกที่ดีต่ออีกฝ่ายหนึ่งไปแล้ว
อ้างอิง
- Amanda Rose et al. How Girls and Boys Expect Disclosure About Problems Will Make Them Feel: Implications for Friendships. https://bit.ly/3qt969R