life

‘สี’ เป็นได้มากกว่าสิ่งที่ตามองเห็น

เพราะแต่ละสีที่ปรากฏให้เห็นอยู่รายรอบตัวเรา ย่อมส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด และช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้นหรือทำให้แย่ลงได้อย่างที่ใครหลายคนเริ่มหันมาสนใจเลือกใช้สีที่เกี่ยวข้องกับกิจวัตรประจำวันและการใช้ชีวิตกันมากขึ้น ทั้งการแต่งตัวและการแต่งบ้าน

เมื่อถึงคราวต้องตัดสินใจว่าจะใช้สีอะไร ผู้คนส่วนใหญ่มักเลือกตามความชอบและความพอใจ อาจเป็นสีที่มองแล้วให้ความรู้สึกสบายตา หรือไม่ก็อ้างอิงสีมงคลตามความเชื่อส่วนบุคคล

แต่ในทางจิตวิทยา การเลือกใช้สีเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์ หากเข้าใจความหมายและรู้จักหลักการเลือกอย่างพอเหมาะพอดี สีนั้นจะกลมกลืนไปกับทุกจังหวะของชีวิต ช่วยขับเน้นความรื่นรมย์และคงความเป็นตัวเองไว้ได้ ตรงกับข้าม แม้เป็นสีเดียวกัน ถ้าใช้ผิดที่ผิดทาง ผลที่ตามมาจะกลายเป็นความน่ารำคาญชวนหงุดหงิด

คาเรน ฮาลเลอร์

เพื่อเสริมสร้างและปรับเปลี่ยนบรรยากาศให้บ้านน่าอยู่ คาเรน ฮาลเลอร์ (Karen Haller) ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้สีตามหลักจิตวิทยาจากประเทศอังกฤษ ถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานมากกว่า 20 ปี ออกมาเป็นข้อควรรู้ฉบับกระชับสำหรับทุกคน ซึ่งสรุปรวบยอดให้เห็นความสำคัญของการเลือกใช้สีแต่งห้อง ทั้งหมดนี้คือเคล็ดลับจับคู่ ‘สี’ กับ ‘ห้อง’ ที่ฮาลเลอร์แนะนำ

สีแดง

Photo: Fifty Shades of Grey (2015), Courtesy of Universal Pictures

สีแดงคือความร้อนแรง ทำให้รู้สึกฮึกเหิม ตื่นเต้น คึกคัก กล้าหาญ มีพละกำลัง กระปรี้กระเปร่า เหมาะกับห้องออกกำลังกาย แต่แฝงความไม่เป็นมิตร ก้าวร้าวรุนแรง และอันตราย ทำให้ไม่รู้สึกผ่อนคลายและไม่น่าไว้ใจ ไม่ควรนำมาใช้กับห้องทำงาน ห้องหนังสือ ห้องพระ หรือพื้นที่ที่ต้องการให้เกิดความรู้สึกสงบ

แต่ความหมายเฉพาะทางจิตวิทยาของสีแดงคือ กระตุ้นให้เกิดความอยากอาหาร จึงเหมาะกับห้องหรือพื้นที่ที่ใช้นั่งกินข้าว สังเกตได้จากร้านอาหารและผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอาหารปรุงสำเร็จส่วนใหญ่นิยมเลือกใช้สีแดงเป็นสีหลักของสัญลักษณ์ บรรจุภัณฑ์ และการตกแต่งภายในของร้าน

คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าสีแดงไม่เหมาะกับห้องนอน ซึ่งไม่ผิด เพราะสีแดงทำให้ตื่นตัวตลอดเวลา อาจกระทบต่อการนอนได้ แต่ถ้าโปรดปรานกิจกรรมทางเพศและบรรยากาศเย้ายาวใจ สีแดงในห้องนอนคือตัวเลือกแรกที่ไม่ควรมองข้าม

สีชมพู

Photo: Glass (2019), Courtesy of Jessica Kourkounis / Universal Pictures

เป็นสีที่ลดทอนมาจากสีแดง สื่อถึงความอ่อนโยนและอ่อนเยาว์ เกี่ยวข้องกับการดูแลเอาใจใส่และความรักสดใส ให้ความรู้สึกน่าเอ็นดู น่าโอบอ้อม น่าทะนุถนอมด้วยความเมตตา แต่ถ้าใช้สีนี้มากเกินไปจะทำให้ดูเปราะบาง อ่อนแอ่ ไร้เดียงสาหรือถึงขั้นไร้วุฒิภาวะ เพราะเรียกร้องความสนใจให้คนอื่นมาคอยเป็นห่วงเป็นใย

ในทางจิตวิทยาสีชมพูมักจะถูกเชื่อมโยงกับร่างกาย เช่น ผิวหนังสุขภาพดีมีเลือดฝาดสีอมชมพู ไม่ใช่สีแดงเลือดขึ้นหน้าจากความโกรธเกรี้ยว จึงเป็นสีที่เหมาะทั้งห้องนั่งเล่น ห้องนอน ห้องของเด็กๆ เพราะช่วยเยียวยาจากความรู้สึกอ้างว้าง แต่ไม่เหมาะกับยิมหรือพื้นที่ที่ใช้ออกกำลังกายแบบเผาผลาญ เพราะสีชมพูลดทอนความรู้สึกแข็งแกร่ง ยิ่งลดระดับความเข้มให้อ่อนลงมากเท่าไหร่จะยิ่งดูบอบบางมากเท่านั้น

สีเหลือง

Photo: Grand Budapest Hotel (2014), Courtesy of Tecma Solutions

สีเหลืองคล้ายกับแสงแดดเป็นความสว่างของธรรมชาติ สื่อถึงการเริ่มต้น ความอบอุ่น ความเบิกบานแจ่มใส มั่นใจและนับถือตัวเอง มองโลกในแง่ดี รวมถึงอำนาจและความเลื่อมใสศรัทธาที่ยกระดับจิตใจ สีเหลืองยังเป็นสีของทองหรือของมีค่าที่เอาไว้ใช้แสดงบารมี เป็นความโอ่อ่า หรูหรา และฟุ่มเฟือย

แต่สีเหลืองที่เข้มเกินพอดี จะเร้าอารมณ์ขุ่นเคืองใจ ทำให้วิตกกังวล เพราะสีเหลืองเข้มคือสีของป้ายจราจรที่พบเห็นบนท้องถนน ให้ความรู้สึกถึงการเตือนภัย ต้องระมัดระวังตัว เป็นการห้ามปราม และบังคับให้ทำตามคำสั่ง

สีเหลืองไม่ควรใช้เป็นสีหลักของห้อง เพราะจะชนกับแสงธรรมชาติที่ส่องเข้ามา จะให้ดี ควรใช้บริเวณทางเดิน ทางผ่าน อาจเป็นพื้นที่ที่แสงแดดส่องถึงน้อย ช่วยปรับความรู้สึกไม่ให้อึดอัดใจ โดยเฉพาะในพื้นที่อับแสง

สีส้ม

Photo: The Shining (1980), Courtesy of Warner Bros.

ต่อให้ไม่ร้อนแรงเท่าสีแดง แต่ใช้สีส้มแทนได้เพราะให้ความรู้สึกใกล้เคียงกัน สื่อถึงความสนุกสนาน ความบันเทิงรื่นเริง กระตุ้นให้ตื่นตัวและกระตือรือร้นไม่หยุดนิ่ง สนับสนุนให้เรียนรู้และทำงานได้ดีตามไปด้วย

สีส้มจึงเหมาะกับห้องครัว พื้นที่นั่งกินข้าว และห้องออกกำลังกาย หรือพื้นที่ที่ใช้ทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวบ่อยๆ แต่ถ้าจะใช้สีส้มในห้องเรียนหรือห้องทำงานรวมถึงในสำนักงาน ต้องระวังความพอดีและสัดส่วนการใช้สีในห้อง หากใช้สีส้มมากและเข้มเกินไป จะดึงดูดความสนใจจนไม่มีสมาธิอยู่กับงานอย่างที่ควรจะเป็น

สีน้ำตาล

Photo: Parasite (2019), Courtesy of Neon

หากชีวิตเผชิญความวุ่นวายจากสังคมภายนอกในแต่ละวัน สีน้ำตาลจะช่วยเยียวยาทุกอย่าง เพราะเป็นสีที่ช่วยปรับความรู้สึกและสร้างสมดุลอารมณ์ให้กลับมาอยู่กับตัวเอง ขณะเดียวกันก็สื่อถึงความเป็นผู้ใหญ่ ความปลอดภัย คงทน และหนักแน่นในใจไม่ต่างจากผืนดินที่อุดมสมบูรณ์เป็นปึกแผ่น

สีน้ำตาลเป็นสีเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ จึงเหมาะกับห้องนั่งเล่น ห้องหนังสือ และห้องนอน แต่ถ้าหากใช้สีน้ำตาลมากเกินไปจะกลายเป็นความแข็งกร้าว ไร้อารมณ์ขัน เคร่งเครียด และจริงจังจนผ่อนคลายไม่ลง

สีฟ้าและสีน้ำเงิน

Photo: The Darjeeling Limited (2007), Courtesy of Fox Searchlight Pictures

ทั้งสองสีมีความหมายเดียวกันคือ ความเงียบ สงบนิ่ง ชวนให้ครุ่นคิด เพราะเป็นสีของท้องฟ้าและมหาสมุทร ซึ่งให้ความรู้สึกได้ปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระ เป็นความโล่งสบายทั้งกายและใจ สีฟ้าและสีน้ำเงินถึงเหมาะกับห้องนอนและห้องน้ำมากที่สุด หรือจะใช้กับห้องทำงานก็ได้ เพราะช่วยทำให้ใจเย็นมีสมาธิจดจ่ออยู่กับงาน

แต่ถ้าใช้สีปริมาณมากเกินไปจะกลายเป็นความรู้สึกแข็งทื่อเย็นชาและห่างเหิน เหมือนกับความอ้างว้างและโดดเดี่ยวท่ามกลางมหาสมุทร ข้อควรระวังที่สุด คือ หลีกเลี่ยงใช้สีฟ้าและสีน้ำเงินกับห้องครัวและพื้นที่นั่งกินข้าว เพราะในทางจิตวิทยา สีเหล่านี้ให้ความรู้สึกเป็นพิษและลดความอยากอาหาร

สีเขียว

Photo: https://www.thenordroom.com/blog/2021/5/wes-anderson-meets-provence-in-a-london-basement-kitchen

ไม่มีสีไหนอีกแล้วที่ให้ความรู้สึกสบายตาและสงบร่มเย็นได้เท่าสีเขียว แฝงความหมายเชิงเยียวยารักษาและฟื้นฟู เพราะเป็นสีของต้นไม้แทนความสดชื่นของธรรมชาติ แต่ถ้าใช้มากเกินไปจะกลายเป็นความเกียจคร้าน ไม่อยากทำงาน และไม่ต้องการคิดถึงเรื่องหนักหัว

หากต้องการทำให้ดูน่าเชื่อถือมากขึ้นควรใช้สีเขียวเข้ม สีเขียวจึงเป็นสีที่ใช้ได้กับทุกห้องทุกส่วนของบ้าน โดยเฉพาะห้องนอนและห้องนั่งเล่น ยกเว้นสีเขียวอ่อนซึ่งให้ความรู้สึกตื่นตัวจึงไม่ควรใช้กับห้องนอนเพราะทำให้หลับยาก

สีม่วง

Photo: https://www.dulux.com.sg/en/colour-inspiration/living-room-lilac-and-lavender

ในอดีตสีม่วงเป็นสีที่หายาก กว่าจะสกัดสีออกมาได้ ต้องใช้ทั้งเวลาและความเชี่ยวชาญของช่าง ทำให้เป็นสีที่มีราคาสูง ชาวบ้านไม่มีโอกาสเข้าถึง กลายเป็นสีที่สงวนไว้ใช้ในหมู่ชนชั้นสูง สีม่วงจึงสื่อความหรูหรา ความสูงศักดิ์ และสติปัญญา

ห้องที่ควรใช้สีม่วงมากที่สุดคือห้องนอนและห้องนั่งเล่น รวมถึงห้องพระ เพราะสีม่วงแทนอารมณ์สงบ ส่งเสริมให้มีสมาธิและสติอยู่กับตัวเอง ส่วนห้องที่ไม่ควรใช้คือห้องครัว เพราะสีม่วงเข้มเป็นสีของความเจ็บปวดคล้ายรอยฟกช้ำ ซึ่งจะกดความรู้สึกอยากอาหารได้ไม่ต่างกับสีน้ำเงิน

สีเทา

Photo: Parasite (2019), Courtesy of Allstar / Curzon Artificial Eye

ด้วยความเป็นสีกลางๆ ระหว่างดำและขาว ทำให้สีเทาสื่อถึงความสมดุล สุขุม ความเป็นผู้ใหญ่ และความถ่อมตัว ไม่ฉูดฉาด โดยยังคงไว้ซึ่งเสน่ห์บางอย่างที่ชวนให้รู้สึกว่าน่าค้นหา ชักชวนให้อยากทำความรู้จัก แต่ไม่ควรใช้สีเทาเป็นสีหลักหรือสีโดดของห้อง เพราะจะทำให้รู้สึกน่าเบื่อ ไร้ชีวิตชีวา ขมุกขมัวและหดหู่ใจ

วิธีใช้สีเทาที่แนะนำ คือใช้คู่กับสีอื่นๆ เพราะสีเทาทำหน้าที่เป็นพื้นหลังช่วยขับให้สีอื่นดูเด่นได้ดีกว่า เช่น จับคู่กับสีขาวหรือสีน้ำตาลจะทำให้ห้องนั่นดูน่าสนใจมากขึ้น

สีดำ

Photo: Courtesy of The VIPP Shelter / VIPP

สีดำมีความหมาย 2 ขั้วที่ขัดแย้งกันอย่างมาก ฝั่งหนึ่งหมายถึง พลังอำนาจ เกียรติยศ ให้ความรู้สึกทันสมัย อีกฝั่งหมายถึงความลึกลับ ความชั่วร้าย ความทุกข์ ความตาย การเข้าควบคุม สีดำจึงเป็นเรื่องรสนิยมขึ้นอยู่กับว่าจะมองเห็นแล้วคิดตีความเข้าข้างฝั่งไหน

ในทางวิทยาศาสตร์สีดำเป็นสีที่ดูดความร้อนได้ดีที่สุด โดยทั่วไปไม่นิยมใช้เป็นสีหลักเพราะทำให้บรรยากาศของห้องร้อนและอบ ให้ความรู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัว หลังการใช้จึงเหมือนกับสีเทา คือใช้เป็นสีตกแต่งเพื่อขับสีอื่นๆ

สีขาว

Photo: A Space Odyssey (2001), Simon Birch and KplusK Associates (2016), Courtesy of The 14th Factory

เป็นสีแห่งความสมบูรณ์แบบและความบริสุทธิ์ที่ปราศจากมลทินและตำหนิ สื่อความหมายถึงความเรียบง่ายเท่าเทียม ความอ่อนเยาว์ ความว่างเปล่าที่หลุดพ้นพันธนาการ และการเปิดเผย สีขาวจึงเป็นสีอเนกประสงค์มากที่สุดในบรรดาทุกสี ใช้ได้กับทุกห้องของบ้าน โดยเฉพาะห้องที่ต้องการให้รู้สึกถึงความสงบและความสะอาด บรรเทาอารมณ์ให้ผ่อนคลายลง และช่วยชำระล้างความคิดฟุ้งซ่าน

แต่ข้อควรระวังคือสีขาวสะท้อนแสงได้ดี อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตาหากใช้กับห้องที่เปิดโล่งให้แสงแดดส่องเข้ามาทั่วถึงทุกมุม

 

อ้างอิง

  • Haller, Karen (2019). The Little Book of Colour: How to Use the Psychology of Colour to Transform Your Life. London, UK: Penguin Life.