life

ไม่เป็นไร, ช่างเถอะ, ยังไหวอยู่, แล้วทุกอย่างจะดีขึ้น

หลังจากพบเจอเหตุการณ์บางอย่างที่กระทบกระเทือนจิตใจจนทำให้เกิดผลลัพธ์ทางความรู้สึกตามมา ตั้งแต่ความรำคาญระดับเล็กน้อยไปจนถึงขั้นเดือนร้อนเป็นกังวล การบอกตัวเองให้มองโลกแง่บวก อาจเป็นทางลัดที่ทำได้ทันท่วงที อย่างน้อยที่สุด ก็พอจะช่วยบรรเทาอาการหัวเสีย และกอบกู้ความรู้สึกดีๆ ไว้ไม่ให้ใจจมอยู่กับความทุกข์เหล่านั้นได้

แต่อะไรก็ตามที่มากเกินไป ย่อมไม่เป็นผลดีทั้งนั้น แม้กระทั่งการมองโลก เพราะการคิดบวกที่ใครหลายคนเข้าใจว่าเป็นเรื่องดี จะเป็นปัญหาทันที หากการคิดปลอบใจตัวเองทำนองนี้ขยายหรือลุกลามไปสู่เหตุการณ์อื่นๆ ในชีวิตที่ไม่ควรพลิกมุมมอง

ในทางจิตวิทยามีศัพท์เฉพาะว่า Toxic Positivity แปลตรงตัวคือ ภาวะคิดบวกเป็นพิษ สำหรับใช้อธิบายพฤติกรรมมองหาแต่ด้านดีจากปัญหาใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน คล้ายว่าการคิดบวกเป็นการพยายามหาข้ออ้าง เพื่อปฏิเสธความจริง (denial) และลดทอนปัญหาให้เล็กลง กล่อมตัวเองว่าปัญหานั้นเป็นเรื่องไม่สำคัญเท่าไหร่ เพราะใจจะได้ไม่ต้องแบกรับความทุกข์ แม้ว่าปัญหาจะยังคงอยู่ต่อไปโดยไม่ได้รับการแก้ไขใดๆ

ในระยะยาว หากคิดแต่ด้านบวกโดยไม่สนใจความเป็นจริง แสดงว่าคนคนนั้นไม่ต้องการให้เกิดความรู้สึกด้านลบ แม้จะต้องหลอกตัวเองตลอดเวลา โดยหลงลืมไปว่าความรู้สึกที่อยากกำจัดออกไป เช่น ความเสียใจ ความเครียด ความเกรงกลัว หรือแม้กระทั่งความกดดัน ต่างมีความสำคัญต่อการพัฒนาความคิดและการใช้ชีวิตอย่างมีวุฒิภาวะ

ความน่าเป็นห่วงจึงอยู่ที่การตัดสินใจมองข้ามปัญหามากกว่ามองหาวิธีการรับมือและจัดการกับความรู้สึกที่เกิดขึ้น เพราะจะสะสมจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ต่อไป ซึ่งอาจส่งผลรุนแรงและทำลายความรู้สึกได้หนักหนากว่าเดิม

เพื่อสร้างการตระหนักรู้ไม่ให้ตกอยู่ในกลุ่มเสี่ยงของภาวะคิดบวกเป็นพิษ และป้องกันตัวเองจากการมองโลกแง่บวกเกินจริง ให้สำรวจตัวเองตามพฤติกรรมเตือนภัยต่อไปนี้

(1) ซ่อนความรู้สึกเก่ง ไม่ยอมเผยความรู้สึกที่แท้จริงออกมาให้ใครรู้ โดยเฉพาะความรู้สึกไม่ดีที่รบกวนความสงบสุขของใจ

(2) เลือกคิดว่า “ทนๆ ไปก่อน” เมื่ออยู่ในสถานการณ์ลำบากที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจ

(3) รู้สึกผิดต่อตัวเองทุกครั้ง หากปล่อยให้ความรู้สึกไม่ดีเกิดขึ้นในใจ รวมทั้งไม่เห็นด้วยและไม่พอใจกับคนที่แสดงความรู้สึกด้านลบออกมา

(4) รู้สึกว่าปัญหาหนักอกหนักใจ หรือความวุ่นวายที่เกิดขึ้นรอบตัวทั้งของตัวเองและผู้อื่น คลี่คลายลงได้ด้วย คำคมให้กำลังใจ

(5) หากต้องให้กำลังใจคนอื่น เลือกใช้คำพูดทำนองว่า “ยังมีคนที่แย่กว่านี้อีก” โดยไม่สนใจปัญหาที่คนอื่นประสบมาว่าหนักหนาแค่ไหน

คำแนะนำหรือกำลังใจจากคนที่มีภาวะ Toxic Positivity จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ควรระมังระวัง เพราะอาจทำให้ปัญหาของคนอื่นแย่ลง เนื่องจากขาดการรับรู้ความรู้สึกรอบด้าน และมีแนวโน้มว่ามักจะตัดสินความรู้สึกคนอื่นด้วยความเชื่อของตัวเอง ซึ่งอาจบานปลายเป็นความเข้าใจผิดจนสั่นคลอนความสัมพันธ์

สำหรับวิธีแก้ไขถ้าไม่อยากเป็นคนคิดบวกมากเกินไป เริ่มต้นจากเปิดใจให้กว้าง ยอมรับว่าความสุขและความพึงพอใจจากการหลอกตัวเองไม่ได้ช่วยทำให้อะไรดีขึ้นได้จริง ดีที่สุด คือ มองโลกอย่างเป็นจริง เพราะการรับรู้ทุกความรู้สึกที่เกิดขึ้น ความไม่รื่นรมย์ ความเศร้าเสียใจ และน้ำตา หรือความรู้สึกด้านลบ จะทำให้เราเข้าใจทั้งตัวเองและคนอื่น รวมถึงเรียนรู้ที่จะมีชีวิตอยู่อย่างเห็นคุณค่าของความไม่สวยงามว่าอีกด้านหนึ่งก็ช่วยให้เราเติบโตขึ้นอย่างมีภูมิคุ้มกันทางใจ

 

อ้างอิง 

  • Allyson Chiu. Time to ditch ‘toxic positivity,’ experts say: ‘It’s okay not to be okay’. https://wapo.st/3k0pPxD 
  • Jamie Long and Samara Quintero. Toxic Positivity: The Dark Side of Positive Vibes. https://bit.ly/2SY6MYX 
  • Konstantin LukinToxic Positivity: Don’t always look on the bright side. https://bit.ly/2SSPSet