©ulture

ว่ากันว่าปี 2020 คือปีที่แย่ที่สุดในประวัติศาสตร์ปีหนึ่ง การแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ส่งผลถึงชีวิตของผู้คนในหลายด้าน และด้านที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนที่สุดนั่นก็คือการท่องเที่ยว ซึ่งเคยเป็น privilege ของใครหลายคน 

แผนการเดินทางต้องหยุดชะงัก การเดินทางข้ามประเทศทำได้ยากราวกับเราย้อนกลับไปสู่โลกยุคโบราณที่ยังไม่มีนวัตกรรมสำหรับเดินทางอย่างเครื่องบิน ทราเวลเลิฟเวอร์อาจกำลังเผชิญสถานการณ์ชวนอึดอัด โดยเฉพาะช่วงหยุดยาวปลายปีที่เคยใช้ไปกับการเดินทางไกลข้ามประเทศ

ในภาวะเช่นนี้ becommon ไม่มีคำปลอบโยนใด นอกจากการทำคอนเทนต์รวมสารคดี ช่องยูทูบ และภาพยนตร์เชิงท่องเที่ยวน่าดูมาให้ โดยหวังว่ามันจะทำให้การไม่สามารถเดินทางไปไหนไกลๆ ในช่วงหยุดยาวท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของคุณไม่เงียบเหงาและเปล่าเปลี่ยวจนเกินไป

01

Eva Zu Beck

2018: “ในวันที่ 1 มกราคม 2018 ฉันยื่นใบลาออก คืนห้องเช่าที่ลอนดอน และประกาศแผนการของตัวเองต่อครอบครัว ฉันสมัครเป็นอาสาสมัครในฟาร์มม้าที่มองโกเลีย ซื้อกล้องมือสอง และจองตั๋ว”

2020: “ทุกทริปของฉัน ทุกแผนที่ฉันวางไว้สำหรับปีนี้ ถูกยกเลิกหมดแล้ว

ต้นเดือนมีนาคมฉันพบว่าตัวเองอยู่ที่เกาะ Socrato ในเยเมน และฉันใช้ชีวิตอยู่บนเกาะนั้นถึง 80 วัน

นั่นหมายถึงฉันใช้เวลาทั้งหมดในช่วงล็อกดาวน์บน Socrato”

Eva Zu Beck ดูเหมือนจะเป็นยูทูบเบอร์สายท่องเที่ยวเพียงไม่กี่คนที่ยังแอคทีฟ และเดินทางข้ามประเทศอยู่เสมอในช่วงของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 หลังการท่องเที่ยวต้องหยุดชะงักด้วยมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลแต่ละประเทศ 

เธอผ่านการ swab test อันแสนทรมานเพื่อตรวจหาเชื้อโควิดมาแล้วมากกว่า 5 ครั้ง เดินทางผ่านหลายประเทศทั้งโรมาเนีย แอลเบเนีย คอซอวอ และอื่นๆ vlog บันทึกการเดินทางของเธอจึงเป็นสิ่งที่แสนจะเรียลในสถานการณ์ของโรคระบาดที่ทำให้การท่องเที่ยวไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ในแต่ละคลิปเราจะได้เห็นทั้งอารมณ์ความรู้สึกแบบขึ้นสุดลงสุดของสถานการณ์กดดันอันหลากหลาย เช่น การต้องพาตัวเองข้ามพรมแดนในช่วงที่มีกฎเคร่งครัด หรือการติดอยู่บนเรือขนสินค้านานถึง 14 วันจากผลกระทบของโควิด-19 แถมเรายังจะได้เห็นวัฒนธรรมอันหลากหลาย และมิตรภาพมากมายที่เกิดขึ้นรายทาง 

แม้เธอจะยอมรับว่าการได้ท่องโลก โดยเฉพาะในช่วงที่การเดินทางไกลของใครหลายคนต้องหยุดชะงักนั้นเป็น privilege อย่างหนึ่ง แต่ตลอดระยะเวลาของการเป็น ‘นักเดินทางเต็มเวลา’ ที่เธอมักใช้แนะนำตัวเองในคลิปวิดีโอต่างๆ เธอก็ต้องยอมแลกกับอะไรไปแล้วมากมาย อย่างน้อยๆ ก็ชีวิตแต่งงานที่เธอเพิ่งเปิดเผยออกมาในอินสตาแกรมส่วนตัวเมื่อไม่นานมานี้ 

ในปี 2018 Eva Zu Beck ตัดสินใจจองตั๋วเครื่องบินเที่ยวเดียวไปเนปาล ด้วยหวังว่าเธอจะได้บอกเล่าเรื่องราวการเดินทางของตัวเองผ่านยูทูบ โดยไม่เคยมีความรู้ทางด้านการถ่ายทำคลิปวิดีโอใดๆ มาก่อน

“ฉันต้องการอิสระ ต้องการเวลาค้นหาตัวเองบนเงื่อนไขที่ฉันกำหนดขึ้นเอง ฉันต้องการออกไปสำรวจโลก ต้องการค้นหาเสียงเพรียกอันแท้จริงของตัวเอง”

ปัจจุบันเธอไปมาแล้วหลายประเทศ จากตะวันออกจดตะวันตก จากเหนือสู่ใต้ และมีคนติดตามเธอมากถึง 2 ล้านคนในทุกช่องทาง วิดีโอเชิงท่องเที่ยวของเธอมียอดวิวรวมกันมากกว่า 80 ล้านวิว

“สำหรับฉันสิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดของการเดินทางคือการได้รู้จักผู้คนทั่วโลก ได้เห็นว่าพวกเขาใช้ชีวิตอย่างไร และสิ่งเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วเกิดขึ้นผ่านมิตรไมตรีของคนแปลกหน้า”

Where to watch: https://www.youtube.com/c/evazubeckofficial

 

02

Andes Mágicos 

“เทือกเขาแอนดีสนั้นทรงสเน่ห์ 

ทุกคนที่เคยมาที่นี่ต่างตกหลุมรักมัน และกลายเป็นคนที่หลงใหลในธรรมชาติ

เพราะไม่จุดใดก็จุดหนึ่ง คุณจะถูกแอนดีสทำให้รู้สึกทึ่ง”

เทือกเขาแอนดีสเป็นเทือกเขาที่ยาวที่สุดในโลก มันกินพื้นที่ของเกือบทั้งทวีปอเมริกาใต้ ไล่ตั้งแต่โคลัมเบีย เวเนซูเอลา เปรู โบลิเวีย ชิลี อาร์เจนตินา ซึ่งซีรีส์สารคดีความยาว 6 ตอนชื่อ Andes Mágicos  หรือ Magical Andes จะพาเราไปสำรวจธรรมชาติอันตระกานตาเหล่านั้นที่กินระยะทางมากกว่า 8,500 กิโลเมตร

แต่แม้จะเป็นสารคดีที่มุ่งเน้นนำภาพอันงดงามของทั้งภูมิประเทศแบบภูเขา ธารน้ำแข็ง เกล็ดหิมะ ต้นไม้นานาพันธุ์ หรือกระทั่งทะเลทรายมานำเสนอ แต่มันก็ไม่ละเลยจะสำรวจจิตวิญญาณของผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นั่น ซึ่งประสบการณ์การนั่งนิ่งๆ ซึมซาบไปกับความงดงามที่สัมผัสสัมพันธ์กันของชีวิตและธรรมชาติช่างรื่นรมย์อย่างยิ่ง นี่คือสารคดีอันแสนสมบูรณ์สำหรับทุกคนที่อยากใช้เวลาว่างช่วงหยุดยาวท่องเที่ยวไปแบบ virtual traveler ขณะกำลังเฝ้ารอเวลาเพื่อจะได้ออกบินไปสัมผัสกับสถานที่แห่งนี้ด้วยตัวเองจริงๆ

“ขอบคุณแอนดีสที่ทำให้ผมสามารถบินได้ ถ้าปราศจากขุนเขามันคงเป็นไปไม่ได้ แอนดีสคือพรจากพระเจ้าสำหรับผม” นักพาราไกลดิ้งผู้อาศัยอยู่ในเทือกเขาแอนดีสกล่าวไว้ในสารคดีเช่นนั้น

Where to watch:  https://www.netflix.com/th-en/title/81154549

 

03

The Climb (L’ascension) 

“ผมถูกด่าว่าเป็นไอ้พวกชายขอบแสนห่วยมาตลอดชีวิต 

ผมถูกบอกว่าจะไม่สามารถทำอะไรได้

และมันก็เป็นแบบนั้นมาเสมอมา กระทั่งผมลุกขึ้นสู้”

ข้อความด้านบนเป็นคำพูดของ Nadir Dendoune ชาวฝรั่งเศส-แอลจีเรียคนแรกที่พิชิตยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกอย่างเอเวอร์เรสได้ในปี 2008 ซึ่งนอกจากเรื่องการพิชิตหลังคาโลกแล้ว สิ่งที่ทำให้เขาถูกจดจำเพิ่มมากขึ้น นั่นก็คือ ข้อเท็จจริงที่ว่า ก่อนปี 2008 เขาแทบจะไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการปีนเขาเลยด้วยซ้ำ ทว่าแรงผลักดันนั้นก็มาจากการเป็นคนชายขอบผู้มีภูมิหลังเป็นคนอพยพและโดนดูถูกอยู่ตลอดเวลา จนเขาลุกขึ้นสู้ด้วยวิธีการบางอย่างเพื่อจะได้รับการยอมรับ

ในปี 2008 Nadir Dendoune พิชิตเอเวอร์เรสสำเร็จ และป้ายที่เขาชูขึ้นเหนือหลังคาโลกเพื่อบันทึกภาพความสำเร็จของตนในวันนั้นคือป้ายตัวเลข 93 ที่เขียนขึ้นด้วยลายมือ ซึ่งเป็นชื่อย่านชานเมืองของปารีสที่เต็มไปด้วยคนชายขอบอันสถานที่ที่เขาเติบโตมา

จนกระทั่งปี 2017 เค้าโครงจากชีวิตจริงของ Nadir Dendoune ก็ถูกนำมาสร้างเป็นหนังในชื่อ The Climb แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาบางส่วน และเปลี่ยนตัวละครเอกให้กลายเป็นคนดำเชื้อชายเซเนกัล แต่เนื้อหาหลักของเรื่องก็ยังคงไอเดียในการบอกเล่าภาพความเป็นคนชายขอบของคนต้นเรื่องได้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ผู้กำกับอย่าง Ludovic Bernard ยังได้หยอดเรื่องราวเชิงโรแมนติกคอมเมดี้เข้าไปเพิ่มอรรถรส โดยเพิ่มแรงขับดันของความต้องการในการพิชิตยอดเขาเอเวอเรส์ให้แก่ตัวละครเอกเข้าไปอีกอย่างนั่นคือ เป้าหมายในการพิชิตใจสาว

นี่คือเรื่องราวที่เป็นประหนึ่ง ‘เทพนิยายของลูซเซอร์’ เต็มไปด้วยบรรยากาศอบอุ่น แม้ทัศนียภาพของเทือกเขาหิมาลัยในหนังจะหนาวสะท้านแทบขาดใจ แต่การออกเดินทางไกลเพื่อเป้าหมายสำคัญก็มักทำให้หัวใจของเราอุ่นซ่านได้เสมอ 

Where to watch: https://www.netflix.com/th-en/title/80194671

 

04

Mark Wiens

“ผมเชื่อว่าเมื่อคุณท่องเที่ยว มันไม่มีหนทางใดในการปฏิสัมพันธ์กับผู้คน

มากไปกว่าอาหาร”

Mark Wiens น่าจะเป็นยูทูบเบอร์ชาวต่างชาติที่คนไทยรู้จักดีที่สุดคนหนึ่ง เพราะเขาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทย ลงทุนทำร้านผัดกระเพราชื่อ เผ็ดมาร์ค ( Phedmark) เป็นของตัวเอง มาร์คคลั่งไคล้ในการลิ้มรสอาหารไทยเป็นอย่างยิ่ง ประโยคติดปากของเขาคือ “ไม่เผ็ดไม่กิน” คอนเทนต์ที่ทำให้ช่องยูทูบของเขามีผู้ติดตามมากกว่า 7 ล้านคนก็มาจากเรื่องอาหารเสียส่วนใหญ่ แต่เขาก็มักจะเดินทางไปประเทศอื่นอยู่เสมอ เพื่อนำวัฒนธรรม ผู้คน และแน่นอน อาหารที่หลากหลายมานำเสนอ ผ่านข้อมูลที่สืบค้นมาอย่างดี

แม้ในรอบปี 2020 เขาจะไม่ได้เดินทางต่างประเทศมากนัก แต่มาร์คก็ยังปล่อยคลิปวิดีโอเกี่ยวกับอาหารของเขาออกมาแทบทุกสัปดาห์ ไม่ว่าจะเป็นคลิปการทำอาหารอยู่ที่บ้านในช่องล็อกดาวน์ หรือการเดินทางไปกินอาหารท้องถิ่นทั่วประเทศไทยจากเหนือจรดใต้หลังผ่านพ้นช่วงล็อกดาวน์มาแล้ว

และจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียนที่ติดตามช่อง Mark Wiens และพาตัวเองไปตามรอยร้านอาหารแนะนำของมาร์กมาแล้วหลายร้าน ก็ต้องบอกว่าท่าทางตื่นเต้น การร้อง ‘โอ้ ว้าว’ เมื่อเขาได้ชิมอาหารต่างๆ ไม่ใช่เรื่องเกินจริงโอเวอร์แอคติ้งแต่อย่างใด เพราะแต่ละร้านที่เขาแนะนำนั้นเข้าขั้นร้านเด็ดถูกปากคนไทยของจริง

นอกจากนี้ มาร์คยังมีช่องยูทูบอีกสองช่องชื่อ Mark Abroad ที่เป็นการให้ข้อมูลในการท่องเที่ยวต่างประเทศล้วนๆ ไล่มาตั้งแต่การรีวิวสายการบิน โรงแรม อพาร์ตเมนต์ที่เขาไปพักในประเทศต่างๆ รวมถึงข้อมูลสำคัญของเมืองนั้นๆ และอีกช่องคือ Big On Spice – Mark Wiens ที่จะพาผู้ชมไปสำรวจลงลึกถึงแหล่งกำเนิดของเครื่องเทศต่างๆ ที่เขาคลั่งไคล้ก่อนที่มันจะกลายมาเป็นอาหารจานโปรด

และผู้เขียนเชื่อว่าการได้ไล่ชมวิดีโอของมาร์คแบบแรมดอมจากไทยสู่แอฟริกา จากแอฟริกาสู่ยุโรป หรือแม้กระทั่งบ้านเกิดของเขาอย่างอเมริกาในช่วงหยุดยาวนี้ น่าจะเป็นการเก็บข้อมูลชั้นดีสำหรับการเตรียมตัวในการเดินทางหลังผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ไปได้

Where to watch: https://www.youtube.com/c/MarkWiens/

 

05

Death to 2020

“มันแสดงให้เห็นว่าไวรัสสามารถติดต่อจากคนธรรมดาถึงซุปเปอร์สตาร์ได้ 

ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้สูงขึ้นที่สักวันพระเจ้าจะติดเชื้อ

และพระเจ้าก็ยังมีอายุขัยมากกว่าจักรวาล ซึ่งนั่นทำให้เขาถูกจัดอยู่ในประเภทผู้มีความเสี่ยงสูง”

หนังเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว แต่มันเป็น mockumentary หรือภาพยนตร์เล่าเรื่องในแบบสารคดีที่นำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดปี 2020 (ซึ่งส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวโดยตรง) มาเสียดสีได้อย่างเจ็บแสบ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ การเรียกร้องความยุติธรรมของคนผิวดำหลังเหตุการณ์การเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ (Killing of George Floyd) หรือกระทั่งกระแสของไลฟ์โค้ชที่จุดติดต่อเนื่องมายาวนานและดูเหมือนจะเดินทางมาถึงจุดสิ้นสุดในยุคโควิด-19 เมื่อคำปลอบใจหลอกๆ ไม่สามารถใช้ได้กับชีวิตในโลกยุคที่กำลังจะถึงคราวล่มสลายอีกต่อไป

ฉากที่น่าจดจำใน Death to 2020 ที่สุดฉากหนึ่งคือ บทสนทนาง่ายๆ ระหว่าง นักประวัติศาสตร์ซึ่งแสดงโดย Hugh Grant และผู้กำกับสารคดี (ปลอม) ในประเด็นของการทุบทลายรูปปั้นของเผด็จการหรือทรราชที่เกิดขึ้นทั่วโลกว่า

“ดูสิ คนพวกนั้นกำลังพยายามทำลายประวัติศาสตร์”

ก่อนที่ผู้กำกับหลังกล้องจะถามกลับว่า

“การทุบทำลายรูปปั้นเหล่านั้น อีกแง่หนึ่งคือการสร้างประวัติศาสตร์ไม่ใช่เหรอ?’

คมคาย แสบสันต์ และดูเหมือนจะเป็นฉากซึ่งเป็นภาพแทนของปี 2020 ที่แม้จะแห้งเหี่ยวด้วยโรคระบาด แต่กลับมีกระแสการตื่นตัวทางปัญญาเกิดขึ้นทั่วโลกได้เป็นอย่างดี

แม้จะมีเสียงวิจารณ์และความผิดหวังมากมายหลัง Death to 2020 เข้าฉายในเน็ตฟลิกซ์เมื่อวันที่ 27  ธันวาคมที่ผ่านมา ทั้งเรื่องของเนื้อหาที่ค่อนข้างสะเปะสะปะ หรือโปรดักชั่นต่างๆ ที่ไม่เนียนสมกับชื่อผู้สร้าง Charlie Brooker และ Annabel Jones ซึ่งมีผลงานขึ้นหิ้งอย่าง Black Mirror สักเท่าไหร่

แต่อย่างน้อย การได้นั่งลงดูหนังเรื่องนี้ อาจเป็นการเดินทางย้อนกลับไปมองดูเศษเสี้ยวความทรงจำที่ถูกทำให้กระกระจายโดยปีที่เลวร้ายที่สุดของมวลมนุษยชาติปีนี้ แม้มันจะไม่น่าอภิรมย์นัก แต่เชื่อได้ว่ามันคงมอบบทเรียนที่แตกต่างกันไปให้แก่เราแต่ละคนได้บ้างไม่มากก็น้อย แม้ในอนาคตข้างหน้า ถึงต่อให้มีเครื่องย้อนเวลา เราจะไม่อยากท่องเที่ยวหวนกลับไปหาปีที่เลวร้ายปีนี้ก็ตาม

Where to watch: https://www.netflix.com/th-en/title/81332175