life

เธอชอบตัวเองตอนนี้มั้ย?

ชีวิตช่วงนี้เป็นยังไงบ้าง?

เป็นผู้ใหญ่เหนื่อยมากมั้ย?

ถ้าหากเราตายไปวันนี้ เราได้ใช้ชีวิตแบบที่เราตั้งใจไว้หรือยัง?

เหล่านี้คือคำถามที่ปรากฏอยู่ในอินเทอแรคทีฟเว็บไซต์ชื่อ วิชาชีวิต’ ภายใต้แฮชแท็กแคมเปญ #ชีวิตสอนให้รู้ว่า รวมถึงอีกหนึ่งโปรเจ็กต์ก่อนหน้าในทำนองเดียวกันอย่าง  #DeadlineAlwaysExists ที่ชวนให้คนเข้ามาเล่นเพื่อทบทวนชีวิตของตัวเอง ผ่านการออกแบบประสบการณ์และคำถามที่เราอาจหลงลืมถามตัวเองในทุกๆ วันของการรีบเร่งใช้ชีวิตที่กำลังผ่านไปจนกลายเป็นไวรัลในรอบปีที่ผ่านมา

เริ่มต้นจากการเป็นโปรเจ็กต์จบ ในโครงการออกแบบเรขศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่าง นาย ที่สนใจในเรื่องการผัดวันประกันพรุ่ง สู่ความร่วมมือกับเพื่อนอีกคนอย่าง มินนี่ ที่เสนอให้นำเรื่องของการทบทวนความตาย และ deadline มาผนวกรวมเข้าเป็นเนื้อหาเดียวกัน

‘ขอเวลา 5 นาทีมาคุยกับตัวเองกัน’ อินเทอแรคทีฟเว็บไซต์ภายใต้แฮชแท็ก #DeadlineAlwaysExists ชักชวนผู้คนให้เข้าสู่เว็บไซต์ไว้เช่นนั้น ก่อนจะมีผู้เข้ามาใช้งานอย่างถล่มทลาย มีการแชร์การ์ด ‘ของที่ระลึกจากความตาย’ ซึ่งเป็นผลลัพธ์สุดท้ายที่ได้จากการเล่นเว็บไซต์นี้เต็มหน้าฟีด

จาก #DeadlineAlwaysExists พวกเขาก่อตั้งทีมเล็กๆ ที่มีสมาชิกเพียง 6 คน อย่างจริงจังในชื่อ Inside the sandbox ก่อนจะได้รับงานจาก กสศ. (กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา) ให้ออกแบบเว็บไซต์ ‘วิชาชีวิต’ ออนไลน์แพลตฟอร์มสุดสร้างสรรค์ ชวนให้ผู้คนตอบคำถามของบทเรียนชีวิตและระลึกย้อนความหลังว่า ชีวิตนี้สอนอะไรเราบ้าง

จากการขอเวลาคุยกับตัวเอง 5 นาที สู่การ ‘ขอเวลา 7 นาทีพักดูการเติบโตของตัวเองกัน’

จากหนึ่งไวรัลในเดือนกรกฎาคม สู่อีกหนึ่งปรากฏการณ์เมื่อเดือนพฤศจิกายน และโปรเจ็กต์น่ารักส่งท้ายปี 2020 อย่าง #ถึงคนที่อ่านอยู่

และตอนนี้เราอยากขอเวลาสักไม่เกิน 10 นาที ทำความรู้จักกับ Inside the sandbox กลุ่มคนที่ใช้อินเทอแรคทีฟเว็บไซต์ชวนเราตั้งคำถามถึงสิ่งที่เราหลงลืมไปในชีวิต

การสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลง

#DeadlineAlwaysExists โปรเจ็กต์แรกของ Inside the sandbox เริ่มต้นจากความสนใจในเรื่องความตาย และการผัดวันประกันพรุ่ง

“เราพบว่าความตายและการผัดวันประกันพรุ่งเป็นเรื่องเดียวกัน” มินนี่เริ่มเล่าถึงเบื้องหลังวิธีคิดของการสร้าง#DeadlineAlwaysExists “พอเราพูดถึงเรื่องผัดวันประกันพรุ่ง สิ่งที่คนจะรู้สึกเสียดาย มันไม่ใช่เรื่องงาน เรื่องกวาดบ้านหรือเรื่องล้างจานเลย เขาไม่ได้เสียดายว่าวันนั้นฉันน่าจะล้างจาน แต่สิ่งที่คนรู้สึกเสียดายมันจะเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ ความฝัน ชีวิต จุดมุ่งหมาย มันคือเรื่องสำคัญในชีวิตที่เขาผัดผ่อนไปเรื่อยๆ การมีเดตไลน์ในเรื่องงานมันทำให้รู้ว่าเราควรทำงานให้เสร็จตอนไหน แต่พอมันเป็นเรื่องที่ไม่มีเดตไลน์ เช่น ความฝัน หรือแค่การกินข้าวกับแม่ มันเลยทำให้เราผัดไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งมันจะทำให้เราเสียดายทีหลัง”

เรื่องของเดตไลน์จึงกลายมาเป็นแรงบันดาลใจเพื่อทำให้คนที่กำลังมีชีวิตอันยุ่งเหยิงมีเวลาตั้งคำถามและย้อนคิดว่า ชีวิตที่ดีคืออะไร

“เรานำหลักมรณานุสติในเรื่องการอยู่ดีมาใช้ในการออกแบบสื่อสาร การอยู่ดีมันว่าด้วยเรื่องที่ว่าเราจะทำอย่างไรให้มีชีวิตอยู่โดยเมื่อถึงวันตาย เราจะไม่รู้สึกเสียดายกับอะไรเลย ซึ่งเรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็รู้ว่าถึงวันหนึ่งเราต้องตาย สิ่งที่เราทำก็แค่นำเอาเนื้อหาเหล่านี้มาปัดฝุ่น และออกแบบให้เข้ากับสังคมร่วมสมัยมากขึ้น นั่นคือจุดเริ่มต้น”

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ตรงนั้น #DeadlineAlwaysExists ส่งผลให้เกิดการกระจายความคิดต่อเรื่องเดตไลน์และความตายในแง่บวกไปสู่ผู้คนในวงกว้าง

“เราเห็นคนที่เขาไปบอกรักใครสักคนเพราะได้แรงบันดาลใจจาก #DeadlineAlwaysExists เราเห็นคนในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศตัดสินใจกลับบ้านไปหาแม่หลังจากไม่ได้กลับมาสองปี เราเห็นคนที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งและอยากจะลุกขึ้นมารักษาโรคของตัวเองเพื่อจะได้มีชีวิตอีกครั้ง เราเลยรู้สึกว่าผลลัพธ์เหล่านี้มันกลับมาเป็นแรงบันดาลใจให้เราด้วย เราเลยตั้งทีมขึ้นมาในชื่อ Inside the sandbox ที่รับทำงานสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา”

ซึ่งไอเดียหลักที่ซ่อนอยู่ในปรัชญาการทำงานของ Inside the sandbox ก็เริ่มต้นจากคำถามที่ว่า ‘สิ่งที่ Inside the sandbox อยากเห็นก่อนตายคืออะไร’ 

“สิ่งที่เราอยากเห็นก่อนตายคือเราอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในสังคม พวกเราเป็นกลุ่มคนที่อยากมีลูก และสมมติลูกเราเป็นผู้หญิง เราก็อยากให้ลูกของเราแต่งตัวอย่างไรก็ได้ เดินไปไหนก็ได้โดยไม่ต้องกลัวอะไร หรือถ้าเป็นผู้ชาย เขาก็ควรจะร้องไห้ได้โดยที่ไม่ต้องกลัวว่าสังคมจะตัดสิน เราอยากให้ลูกของเราอยู่ในโลกที่อากาศดี รถไม่ติด อยู่ในสภาพการเมืองที่ดีนี่คือไอเดียของการก่อตั้งทีมทำงานออกแบบสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลง”

หลัง Inside the sandbox ถูกก่อตั้งขึ้น พวกเขาได้รับโจทย์จากลูกค้าอย่าง กสศ. (กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา) ที่มองว่า ตนคือองค์กรในการเป็นผู้ให้โอกาสด้านการศึกษาต่อเด็กๆ ผ่านการให้ทุน แต่สิ่งที่ กสศ. ไม่สามารถมอบให้ได้ นั่นคือ ‘ความมั่นใจ’ ในการจะก้าวเดินต่อไปในอนาคต ดังนั้นการออกแบบ อินเทอแรคทีฟเว็บไซต์ชื่อ ‘วิชาชีวิต’ ภายใต้แฮชแท็กแคมเปญ #ชีวิตสอนให้รู้ว่า จึงตั้งอยู่บนโจทย์ของการมอบ ‘ความเชื่อมั่นต่อตัวเอง’ และการ ‘ยอมรับในตัวเอง’ ให้แก่เด็กๆ กลุ่มนั้น

“กสศ. มาพร้อมกับนักจิตวิทยา และข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์เยอะมาก หน้าที่ของเราคือการแปลงข้อมูลเชิงวิทยาศตร์เหล่านั้นออกมาเป็นงานที่พูดคุยกับมนุษย์ ซึ่งปัญหาของเรื่องการยอมรับในตัวเองคือ เวลาเราพูดว่าคุณค่าของเราไม่ตรงกับคุณค่าที่สังคมคาดหวัง เรามักมองไปข้างหน้าเสมอว่า ทำไมฉันไม่เป็นคนที่ฉันอยากเป็นในอนาคตสักที ฉันอยากเป็นคนที่เรียนเก่งสอบติด มีเงิน โดยเราหลงลืมจะมองที่ชีวิตผ่านมาว่า เราผ่านอะไรมาเยอะแยะมากมายเลยกว่าจะเดินทางมาถึงตรงนี้ได้ และนั่นคือคุณค่าของเราที่ไม่ต้องรอให้สังคมกำหนดให้ด้วยซ้ำ มันจึงเป็นการพูดถึงการเรียนรู้ระหว่างทาง”

 

“อะไรก็ตามที่ทำให้คุณไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างที่คุณอยากใช้ ลองตั้งคำถามกับมันเยอะๆ ดู”

 

คำถามที่มักถูกหลงลืม

ทีม Inside the sandbox เริ่มต้นทำทั้ง #DeadlineAlwaysExists และ #ชีวิตสอนให้รู้ว่า ด้วยการจำแนกปัญหาที่ ‘แท้จริง’ ในประเด็นนั้นๆ

“เราเชื่อว่าการสื่อสารมันไม่ใช่หนทางแก้ปัญหาในสังคม แต่มันคือการขยายความให้เราเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างชัดเจนมากขึ้น เราจึงเริ่มจากการมองปัญหาก่อนว่ามันคืออะไร ควบคู่กับปลายทางที่เราอยากให้งานของเราไปถึงมันคือจุดไหน มันมีอุปสรรคอะไรที่ทำให้เราไม่สามารถเดินไปถึงเป้าหมายได้ ก่อนจะพาตัวเองลงพื้นที่ไปคุยกับผู้คนจริงๆ จำนวนมากเพื่อหา insight ก่อนนำข้อมูลมาออกแบบเป็น story telling สู่การออกแบบ prototype แล้วการทดลอง รับฟีดแบ็ก และแก้ไขครั้งแล้วครั้งเล่า อย่าง #วิชาชีวิต นี่แก้ไขไป 51 ครั้ง”

เบื้องหลังของอินเทอร์แรคทีฟเว็บไซต์ของทีม Inside the sandbox จึงเกิดจากการทำแบบสอบถาม การสัมภาษณ์ และข้อมูลมหาศาลจากผู้คนจริงๆ ที่ถูกแปลงออกมาในรูปแบบการเดินทางผ่านเรื่องเล่าบนเว็บไซต์ คล้ายการเล่นเกมที่มีหน้าตาเป็นมิตรเข้าถึงง่าย แต่มันก็ได้ซ่อน Insight ที่ลึกซึ้งไว้ภายใน และหนึ่งใน Insight สำคัญที่ผู้คนยุคนี้มีร่วมกัน มันอาจเป็นการไม่มีเวลาที่จะได้หยุดนิ่งสัก 5 นาที เพื่อได้ลองตั้งคำถามพื้นฐานที่สำคัญต่อตัวเอง

“สิ่งหนึ่งที่เราเจอจากการสัมภาษณ์คนซ้ำๆ คือคนจะตอบคำถามธรรมดาๆ ไม่ค่อยได้ เช่น ‘วันนี้คุณรู้สึกอย่างไร?’ หรือ ‘ทำไมคุณถึงทำสิ่งนี้?’ ทุกวันนี้เหมือนเราใช้ชีวิตด้วยระบบออโต้ บางทีออกจากบ้านเรายังจำไม่ได้เลยว่าล็อกประตูหรือยัง ต้องย้อนกลับไปดู มันทำให้เราลืมไปเลยว่าวันนี้เรารู้สึกยังไง นั่นคือสิ่งที่สังคมเมืองทำกับเรา สังคมเมืองกำหนดมาให้แล้วว่าวันนี้คุณต้องทำอะไร อีกสิบปีข้างหน้าคุณควรเป็นอย่างไร แต่เอาง่ายๆ เลยว่า ตอนนี้คุณรู้สึกอะไรอยู่ คุณตอบได้ไหม เราว่าการตั้งคำถามเหล่านี้คือสิ่งที่เป็นมนุษย์มากๆ เลยนะ แต่มันกลับหายไปจากมนุษย์ ซึ่งที่งานเราใช้ประโยคว่าขอเวลา… เพราะเราอยากให้คนรู้สึกเหมือนเขาเดินเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ เราอยากให้เขาใช้เวลากับมันจริงๆ เหมือนเขาได้เสพงานศิลป์เราไม่ได้มองตัวเองในแง่นักวิทยาศาสตร์ หรือนักออกแบบโครงสร้าง เราแค่คิดว่างานของเราคืองานศิลปะ เราเลยอยากขอเวลาให้คนเพ่งพินิจกับมัน” 

ซึ่งมินนี่ได้แสดงความคิดเห็นว่า การจะหลุดออกจากระบบออโต้ที่เราต่างกำลังดำเนินชีวิตอยู่ในภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่นได้นั้น มันอาจเริ่มต้นด้วยการลองสละเวลาและตั้งคำถามง่ายๆ กับตัวเอง

“ลองถามตัวเองบ่อยๆ ว่า ถ้าไม่นับสิ่งที่เราเคยเป็นมาในอดีต และไม่นับสิ่งที่อยากเป็นในอนาคต เอาแค่ตัวเราวันนี้ ตัวเราคือใคร เรารู้สึกอะไร เราคิดว่านี่คือขั้นแรกของการเคารพตัวเอง เราไม่ต้องเคารพตัวเองที่เราอยากเป็นอีกสิบปีข้างหน้า แค่เคารพตัวเอง ณ วันนี้ก่อน หลายครั้งเราเจอคนที่เคร่งครัดกับแบบแผนมาก เช่น ฉันวางแผนมาตั้งแต่ ป.6 แล้วว่าฉันจะเป็นสิ่งนี้ และฉันจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงมัน แม้กระทั่งเวลาผ่านมาแล้วเป็นสิบๆ ปี เพราะฉันสัญญากับตัวเองไว้แล้ว แต่เราแค่คิดว่า เอา ณ ตอนนี้ก่อนดีกว่าไหม วันนี้คุณรู้สึกอะไร เหนื่อยหรือยัง อยากพอกับมันไหม หรือคุณยังชอบมันมากอยู่ หลายครั้งเราเจอว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่เราไม่ได้ชอบมัน เราแค่ไม่ได้ถามตัวเองเฉยๆ เราเลยคิดว่าการย้อนกลับมาถามตัวเอง การมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับตัวเอง เป็นเรื่องที่สำคัญมาก”

ซึ่งเมื่อพิจารณาจากเนื้อหาจาก #DeadlineAlwaysExists และ #ชีวิตสอนให้รู้ว่า แล้ว เธอกลับบอกว่าเนื้อหาเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องที่ควรกลายเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้น แต่มันควรเป็นเรื่องสามัญที่เราควรถามตัวเองในทุกๆ วัน

“การที่คำถามธรรมดาๆ ในโปรเจ็กต์ที่ผ่านมา ซึ่งเราควรถามกันเป็นปกติบนโต๊ะกินข้าว กลายเป็นไวรัลที่ทำให้คนสนใจขึ้นมา มันแสดงว่าสังคมเรากำลังมีความผิดปกติอะไรอยู่หรือเปล่า ทำไมเราถึงไม่เคยถามตัวเองว่าเรารู้สึกยังไง ทำไมเราไม่เคยถามตัวเองว่า เฮ้ย ถ้าเรากำลังจะตายเราเสียดายอะไร หรืออย่างคำถาม คุณชอบตัวเองไหม คุณโตมายังไง มันควรจะเป็นคำถามที่เราสามารถตอบได้โดยไม่ต้องคิดด้วยซ้ำ”

 

“ทุกวันนี้เหมือนเราใช้ชีวิตด้วยระบบออโต้ บางทีออกจากบ้านเรายังจำไม่ได้เลยว่าล็อกประตูหรือยัง ต้องย้อนกลับไปดู มันทำให้เราลืมไปเลยว่าวันนี้เรารู้สึกยังไง นั่นคือสิ่งที่สังคมเมืองทำกับเรา สังคมเมืองกำหนดมาให้แล้วว่าวันนี้คุณต้องทำอะไร อีกสิบปีข้างหน้าคุณควรเป็นอย่างไร แต่เอาง่ายๆ เลยว่า ตอนนี้คุณรู้สึกอะไรอยู่ คุณตอบได้ไหม”

 

สังคมแห่งความคาดหวังกำลังไล่ล่าเรา แต่เราสามารถลุกขึ้นเพื่อเปลี่ยนแปลงมันได้

“สังคมนี้มีความคาดหวัง สังคมนี้มี ‘สิ่งที่ควรจะเป็น’ เยอะเกินไป สังคมมีสิ่งที่กำหนดมาให้หมดเลยว่าเราควรรู้สึกอะไรแบบไหน เช่น ไปเจอเพื่อนเก่าคุณควรแฮปปี้มีความสุข แต่ถามจริงๆ ว่าบางครั้งคุณอยากไปเจอเพื่อนหรือเปล่า หรือคุณอยากนอนอยู่บ้านมากกว่า สังคมไม่เคยถามเราว่าเราอยากทำอะไรจริงๆ และสิ่งที่ขาดคือ เราก็ไม่เคยถามตัวเองเลยว่าสิ่งที่สังคมกำหนดมาให้แล้วเหล่านั้น เรารู้สึกกับมันยังไง เราโอเคหรือเปล่า”

นั่นคือหนึ่งในสาเหตุที่มินนี่มองว่ามันทำให้คนในยุคนี้ โดยเฉพาะคนเมืองไม่มีความสุขกับตัวเองมากนัก

“สังคมเรามองทุกอย่างสมบูรณ์แบบเกินไป เช่น เรื่องความเศร้าที่เป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องเจอ แต่ทุกครั้งที่เราเศร้า สังคมไทยจะบอกว่า ‘สู้ๆ นะ’ หรือ ‘แค่นี้เอง อย่าเศร้าดิ’ มันเลยเหมือนกับว่าสังคมไม่เคยสอนให้เราอยู่กับความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต”

แม้โปรเจ็กต์ต่างๆ ที่ผ่านมาจะมีเนื้อหามุ่งเน้นการย้อนกลับไปพิจารณาตัวเองในฐานะปัจเจก Inside the sandbox ก็ไม่ได้ทอดทิ้งหรือละเลยที่จะมองเห็นรากฐานของปัญหาที่แท้จริง ซึ่งมักมาจากระบบอันผิดเพี้ยน และค่านิยมอันบิดเบี้ยวของสังคม โดยมินนี่แสดงความคิดเห็นว่า

“เราบอกกับตัวเองตลอดว่า ยารักษาโรคซึมเศร้ามันราคาแพง ดังนั้นเราจงออกไปทำอะไรสักอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม เพราะมันราคาถูกกว่ายารักษาโรคซึมเศร้าเยอะ ดังนั้นเราจึงเชื่อในมนุษย์ เราเชื่อในการจุดประจายเพื่อให้มนุษย์ออกไปทำอะไรสักอย่างเพื่อความเปลี่ยนแปลงสู่สังคมที่ดีขึ้น ถ้าประเทศนี้ยังเป็นประชาธิปไตย มันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ยุคสมัยที่ความฝันเติบโตได้มันจะมาถึง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันต้องเริ่มต้นจากการตั้งคำถามถึงสิ่งที่สังคมกำหนดมาให้ก่อน โปรเจ็กต์ต่อๆ ไปของทีมเรา เราเลยอยากทำเรื่องการเมือง เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการศึกษา เราอยากพาตัวเองกระโจนออกไปหาประเด็นที่สามารถจุดประกายให้สักคนออกมาเปลี่ยนแปลง เราพูดกันเสมอว่า พวกเราเป็นเด็กโง่ที่มารวมตัวกัน แต่สิ่งที่เราทำได้คือการจุดประกายให้คนที่ฉลาดกว่าออกไปเปลี่ยนแปลง เราอยากให้งานศิลปะของเรา จุดประกายให้ใครสักคนในกระทรวงศึกษาฯ อยากเปลี่ยนแปลง จุดประกายให้ใครสักคนตั้งคำถามถึงชีวิตที่ดีกว่านี้”

#ชีวิตสอนให้รู้ว่า

“สอนให้รู้ว่าไม่ตายดีที่สุดแล้ว” นั่นคือคำตอบของมินนี่ต่อการถูกถามย้อนถึงบทเรียนในชีวิตของตัวเองในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเนื้อหาที่โปรเจ็กต์ ‘วิชาชีวิต’ ภายใต้แฮชแท็กแคมเปญ #ชีวิตสอนให้รู้ว่า ชักชวนให้ผู้คนได้กลับไปสำรวจ

“ถ้าสักแวบหนึ่งก่อนอายุ 23 ปี มีจังหวะหนึ่งในชีวิตที่ทำให้เราต้องตายไป เราคงไม่ได้เห็นตัวเองในอายุเท่านี้ เราคงไม่รู้ว่าเราเจอคนที่เรารักได้มากขนาดนี้ เราคงไม่รู้ว่าชานมไข่มุกอร่อยขนาดนี้ (หัวเราะ) หรือเราคงไม่รู้ว่าอนาคตมันจะเป็นยังไง ชีวิตมันอาจจะทำร้ายเราอย่างรุนแรง ทำให้เรารู้สึกอยากตาย ทำให้รู้สึกไม่ไหวแล้ว แต่ในขณะเดียวกันชีวิตก็จะให้บางอย่างที่คุ้มค่าต่อการรอคอยในการมีชีวิตอยู่ต่อไป”

ส่วน ขวัญ หนึ่งในทีม Inside the sandbox ในฐานะ AE ที่นั่งคุยอยู่ด้วยกับเรา ก็เล่าถึง ‘#ชีวิตสอนให้รู้ว่า’ ของตัวเธอเองว่า “ถึงแม้ชีวิตจะไม่ได้เรียบง่ายหรือสวยหรู แต่ถึงวันนี้มันสอนให้เรารู้ว่า การได้หัวเราะอย่างเต็มเสียง ด้วยเสียงที่ดังอย่างไม่ต้องกังวลสังคมรอบข้างมันเป็นอย่างไร มันทำให้เราได้สัมผัสจุดที่เราไปสุดในแต่ละมุม ทั้งเรื่องเสียใจที่สุด ดีใจที่สุดหรืออาหารอร่อยที่สุด”

บทสนทนาระหว่างเราและ Inside the sandbox เข้าสู่ช่วงสุดท้ายด้วยหนึ่งคำถามสำคัญที่ปรากฏอยู่ใน #DeadlineAlwaysExists ที่ว่า ‘หากวันนี้คุณต้องตาย คุณเสียดายเรื่องอะไรบ้าง?’ ซึ่งมินนี่และขวัญตอบแบบชัดถ้อยชัดคำด้วยคำตอบเดียวกันว่า “ยังไม่เห็นประเทศเปลี่ยนเลยค่ะ” โดยมินนี่อธิบายเพิ่มเติมว่า “เราเกิดในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง และเราเชื่อว่านี่คือยุคของเรา เราเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เร็วมากในยุคของเรา มันมีความหวังแล้วว่าเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลง ซึ่งถ้าตายวันนี้คงเสียดายมาก เพราะเราเชื่อว่าเรามีแรงที่จะคิดและลงมือทำเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่แค่เพื่อตัวเรา แต่เพื่อคนอื่นๆ ด้วย เราอยากเห็นโลกที่ดีกว่านี้”

ส่วนคำถามที่ว่าเราควรใช้ชีวิตอย่างไรให้ไม่รู้สึกเสียใจหรือเสียดายเมื่อช่วงสุดท้ายชีวิตมาเยือน มินนี่ตอบไว้สั้นๆ แต่เป็นคำตอบแสนสั้นที่กินความหมายมหาศาลว่า

ก็ใช้วันนี้ ใช้อย่างที่คุณอยากใช้ เพราะคุณไม่รู้หรอกว่ามันจะมีอนาคตอยู่จริงหรือเปล่า แล้วอะไรก็ตามที่ทำให้คุณไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างที่คุณอยากใช้ ลองตั้งคำถามกับมันเยอะๆ ดู