pe©ple

ชีวิตของนักเขียนโนเบลสาขาวรรณกรรมอย่าง อัลแบร์ กามูส์ (Albert Camus) อาจเป็นสิ่งว่างเปล่าไร้ความหมายจริงๆ เหมือนปรัชญาว่าด้วยความไร้สาระ (absurdity) ของเขา หากกามูส์ไม่ได้เจอกับครูคนหนึ่ง 

เราจะใช้ชีวิตอย่างไรท่ามกลางความไร้แก่นสาร (absurdity) ของโลก? นั่นคือคำถามที่เจ้าของผลงานชื่อดัง เช่น คนนอก (L’Étranger), ความตายอันแสนสุข (La Mort heureuse), มนุษย์สองหน้า (La Chute) และอีกมากมาย เฝ้าใคร่ครวญมาตลอดชีวิต

สงครามโลกทั้งครั้งที่ 1 และ 2 ส่งผลต่อชีวิตของกามูส์อย่างหนัก เขาเห็นการฆ่าฟันมาตั้งแต่วัยเยาว์ เคยเกือบเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 (สมัครเป็นทหาร แต่ถูกปฏิเสธเพราะเป็นวัณโรค) เห็นผู้คนที่สละชีวิตให้แก่ความเชื่อความศรัทธา แต่สุดท้ายชีวิตก็ช่างเบาหวิวไร้ค่าราวปุยนุ่นที่ปลิดปลิว เมื่อเรา—เหล่ามนุษย์ไม่ได้เป็นอะไรเลยนอกจากการเกิดมามีลมหายใจ ถูกสาปให้ทำสิ่งไร้แก่นสารตามค่านิยมของสังคมวนเวียนไปจนกระทั่งตายลง

แม้ปรัชญาของกามูส์จะว่าด้วยความไร้แก่นสารของชีวิตเพียงใด แต่หลังจากเขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในเดือนตุลาคมปี 1957 เขาก็เขียนจดหมายฉบับหนึ่งถึง ‘ครู’ ของเขาในวัยเด็ก ผู้ทำให้ชีวิตอับเฉาไร้ความหมายของกามูส์สร้างความหมายให้ผู้คนมากมายผ่านวรรณกรรมของตนในกาลถัดมา

Photo: STF / AFP — อัลแบร์ กามูส์ในวันประกาศผลรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม

เรื่องราวความผูกพันธ์ระหว่างกามูส์ และครูของเขาที่ชื่อ หลุยส์ เจอเมน (Louis Germaine) เริ่มต้นขึ้นเมื่อ พ่อแท้ๆ ของกามูส์ถูกฆ่าในสนามรบระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 จนทำให้เขาและพี่ชายต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างยากจน และถูกเลี้ยงขึ้นมาด้วยแม่ผู้อ่านหนังสือไม่ออกเขียนไม่ได้ และยายจอมเผด็จการ

ชีวิตของกามูส์แทบมองไม่เห็นอนาคตอันสว่างไสว จนกระทั่งได้เจอกับเเมอซิเออร์ เจอเมน ครูผู้มองเห็นศักยภาพที่ซ่อนอยู่ภายในตัวเด็กชายตัวน้อย คอยส่งเสริม และกระตุ้นให้กามูส์ค้นพบจุดประสงค์บางอย่างของการมีชีวิตอยู่ และด้วยการดูแลของเมอซิเออร์ เจอเมนนี่เอง ที่ทำให้กามูส์ฉายแววของอัจฉริยะ และกลายมาเป็นนักเขียนคนสำคัญของโลกได้ในที่สุด

หลุยส์ เจอเมน (Louis Germaine)

กามูส์เป็นนักเขียนโนเบลที่มีอายุน้อยที่สุดคนหนึ่ง เขาได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ในวัยเพียง 44 ปีเท่านั้น แม้จะน่าเสียดายที่หลังจากได้รับรางวัลโนเบลเพียง 3 ปี ชีวิตของกามูส์จะต้องคืนกลับสู่ความไร้สาระของความตายด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ แต่ก่อนจากไป กามูส์ก็ได้สร้างผลงานไว้มากมาย และในผลงานชิ้นสุดท้ายที่เขาเขียนไม่จบชื่อ Le premier homme หรือ The First Man ในภาคผนวก ก็มีจดหมายของเขาที่เขียนถึงครูนาม หลุยส์ เจอเมน อยู่ด้วย ซึ่งหากผู้อ่านได้มีโอกาสอ่านงานชิ้นนี้ ที่มีบทแรกของเรื่องชื่อ ‘การตามหาบิดา’ (Search for the Father) ก็คงพอจะทำให้เข้าใจได้ว่าเหตุใดจดหมายถึงครูคนหนึ่ง ซึ่งเปรียบดั่งพ่อคนที่สองของกามูส์ ถึงถูกนำมาบรรจุอยู่ในงานเขียนชิ้นสุดท้ายของเขา

Photo: STF / AFP

และเนื่องในโอกาส ‘วันครูแห่งชาติ’ ของไทยที่จะเวียนมาในวันที่ 16 มกราคมของทุกปี becommon จึงขออนุญาตแปลจดหมายของกามูส์ถึงครูของเขามาให้อ่าน

ราวหนึ่งเดือนหลังได้รับรางวัลโนเบล กามูส์เขียนจดหมายถึงหลุยส์ เจอเมนไว้แบบนี้….

19 พฤศจิกายน 1957

เมอซิเออร์ เจอเมนที่รัก,

ผมปล่อยให้ความอลม่านรอบตัวในช่วงนี้ตกตะกอนนอนก้นสักเล็กน้อย ก่อนจะเขียนถึงคุณจากก้นบึ้งของหัวใจ ผมเพิ่งได้รับเกียรติที่ยิ่งใหญ่เกินไปซึ่งผมไม่เคยแสวงหาหรือเรียกร้อง แต่เมื่อผมได้รับข่าว (ว่าจะได้รับรางวัลโนเบล—ผู้แปล) ความคิดแรกนอกจากการคำนึงถึงแม่ มันก็คือคุณ โดยปราศจากคุณ ปราศจากความเมตตาที่คุณยื่นให้เด็กยากไร้คนหนึ่ง โดยปราศจากคำสั่งสอนและตัวอย่างที่คุณมอบให้ ทั้งหมดนี้คงไม่มีวันเกิดขึ้นได้ ผมไม่มีความเห็นมากนักเกี่ยวกับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ แต่อย่างน้อยมันก็มอบโอกาสให้ผมบอกกล่าวต่อคุณในสิ่งที่คุณเป็น และยังเป็นอยู่สำหรับผม เพื่อที่ผมจะยืนยันว่าความพยายาม งานที่คุณทุ่มเท และหัวใจอันไพศาลที่คุณมอบให้ยังคงสถิตอยู่ในตัวเด็กนักเรียนตัวน้อยของคุณ ผู้ที่ยังคงเป็นนักเรียนที่ระลึกถึงคุณงามความดีของคุณเสมอ แม้เวลาจะผ่านมาเนิ่นนานเพียงใด ผมยอมรับในตัวคุณอย่างสุดหัวใจ

อัลแบร์ กามูส์

Photo: STF / AFP

 

อ้างอิง

  • Albert Camus. The First Man (translated by David Hapgood).