1.
หญิงสาวคนนั้นหน้าเสีย หูของเธอแดงเรื่อกระทันหัน กระอึกกระอัก
“ความฝันของคุณคืออะไร?” ก่อนหน้านั้นผมถาม คำถามธรรมดาที่สุด ซึ่งคนที่เคยคลุกคลีกับการตั้งคำถามเพื่อทำบทสัมภาษณ์มาหลายปีอย่างผม คิดว่ามันสามัญและเฉิ่มเชยเกินไปด้วยซ้ำ
แต่แล้วผมก็สัมผัสได้เดี๋ยวนั้นว่าเธออยากหันหลังหนี ก่อนเธอจะสูดลมหายใจยาวรวบรวมพลัง ตอบแผ่วเบาว่า “ไม่มี”
2.
ปี 2017-2018 ผมกำลังใช้ชีวิตอยู่บนเมืองกลางหุบเขาแห่งหนึ่งของอินเดียนาม ‘ดาร์จีลิง’
ใช้ชีวิต รับจ้างเขียนบทความ ขะมักเขม้นกับการเขียนนิยายเรื่องที่สองของตัวเอง ล่องลอยเป็นความฝัน บนเมืองสูงเหนือระดับน้ำทะเลราว 6,700 ฟุต หันหน้าด้านหนึ่งเข้าหายอดเขาที่สูงเป็นอันดับ 3 ของโลกในเทือกเขาหิมาลัยอย่าง ‘คันเชนจังก้า’
ภูมิทัศน์งดงามเหมาะแก่การเป็นฉากของนิยายสักเรื่อง ทว่านั่นไม่ใช่ฝันดีนัก ผมไปถึงที่นั่นสามวันหลังการประท้วงครั้งใหญ่ กระบอง โล่ไม้ไผ่ และแก๊ซน้ำตาถูกภาครัฐนำมาใช้กับประชาชน อันเป็นเหตุให้เกิดจลาจล สไตรค์หยุดงาน ทุกอย่างในเมืองชะงักงัน ทั้งสถานที่ราชการ โรงเรียน ตลาด ร้านอาหาร ทางเข้า-ออกเมืองถูกปิดตาย ก่อนภาครัฐจะตอบโต้ด้วยการตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ตของทั้งเมืองยาวนานต่อเนื่องเกิน 100 วัน
การประท้วงมาจากหลายปัจจัย ผสมปนเปทั้งความขัดแย้งอันยาวนานเรื่องชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนา และการเมือง ชนวนการประท้วงครั้งนี้ เริ่มจาก มามาตา บาเนอร์จี (Mamata Banerjee) มุขมนตรีแห่งรัฐเบงกอลตะวันตก มีนโยบายประกาศให้ภาษาเบงกาลี อันเป็นภาษาที่ชาวเมืองบนหุบเขาไม่ได้ใช้ (เพราะพวกเขาส่วนใหญ่มีชาติพันธุ์เป็นเนปาลี และพูดได้ทั้งภาษาหลักอย่างฮินดี อังกฤษ รวมถึงภาษาของตนอย่างเนปาลีอยู่แล้ว) กลายเป็น ‘วิชาบังคับ’ ในโรงเรียน
นั่นนับเป็นการหลู่เกียรติอย่างหนัก ชาวเมืองบนหุบเขารับไม่ได้ ข้อเรียกร้องที่พวกเขาเคยเรียกร้องมาหลายครั้งแล้วถูกนำมาใช้ นั่นคือความต้องการในการแบ่งแยกดาร์จีลิงให้เป็นรัฐอิสระจากเบงกอลตะวันตก
ชีวิตในเมืองปิดตายจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ผมถูกตัดขาดจากโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิง และฤดูกาลแรกที่เผชิญก็คือหน้ามรสุม ฝนหนาวบ้าคลั่งซัดกระหน่ำทุกวัน ขณะที่ต้องเดินขึ้นๆ ลงๆ บนภูมิประเทศแบบหุบเขา เพื่อออกตามล่าหาวัตถุดิบมาทำอาหารประทังชีวิต ซึ่งชาวเมืองก็ต้องแอบออกมาขายกันบนพื้นถนนด้วยแววตาหวาดกลัว เพราะหากถูกผู้มีอิทธิพลพบเข้า พวกเขาอาจโดนทำร้ายและของที่นำมาขายอาจถูกทำลาย ด้วยเหตุผลว่ามันจะทำให้ภาพของการประท้วงดูไม่แข็งแรงพอ
3.
การประท้วงดำเนินไปราวกับมันจะไม่มีวันจบสิ้น ลึกๆ พวกเขารู้อยู่แล้วว่าสุดท้ายจะพ่ายแพ้ กระนั้น การได้กางปีกของความฝันหรืออุดมการณ์รวมหมู่ทะยานไป ก็ทำให้ลมหายใจของใครหลายคนบนหุบเขาสดชื่น
ทว่าอีกแง่หนึ่งการกางปีกทะยานมันคือการแลก และในความคิดแบบปัจเจกแล้ว หลายคนก็ต้องทนทุกข์ทรมาน ต่อสู้ยึดมั่นอุดมการณ์ ทว่าสาปส่งภาวะเช่นนี้ไปพร้อมๆ กัน
รายได้ลดลงเมื่อเมืองปิดรับนักท่องเที่ยว อาหารหายากขึ้นทุกวัน เด็กๆ ขาดเรียนเมื่อโรงเรียนปิด ใบชาธุรกิจอันเป็นตัวขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจหลักของเมืองถูกปล่อยแห้งเหี่ยวร่วงหล่นไปตามกาลเวลา
เรื่องน่าสลดที่สุดคือ บางคนตัดสินใจปลิดชีวิตของตนให้ร่วงหล่นสู่ความตายตลอดกาลเหมือนใบชา เมื่อไม่สามารถทนกับภาวะอดอยากได้อีกต่อไป
4.
“ความฝันของคุณคืออะไร?” ผมถามเพื่อนสาวชาวเนปาลีที่เพิ่งรู้จักกันบนหุบเขา เธอเพิ่งจบปริญญามาหมาดใหม่ ช่วงวัยที่ควรสะพรั่งและเบ่งบาน แต่เธอตอบกลับมาว่าไม่มี ก่อนอธิบายกระอักกระอ่วนยืดยาวว่า การปิดเมืองรอบนี้กระทบถึงความมั่นคงทางการเงินในครอบครัวของเธอ เธอแค่ต้องการสอบเข้าเป็นครูของโรงเรียนรัฐให้ได้ โดยหวังว่าเงินเดือนและสวัสดิการน้อยนิดจะทำให้ชีวิตคนในครอบครัวของเธอดีขึ้น หรือไม่ก็ทำให้เธอถูกมองว่ามีเกียรติขึ้นมาบ้าง เพราะอย่างน้อย ครูของเมืองบนหุบเขาก็มักถูกเรียกโดยมีคำนำหน้าชื่อว่า ‘มิส’ ซึ่งเป็นการแสดงความนับถือผ่านวัฒนธรรมทางภาษา
“แบบนี้เรียกความฝันไหม”
เธอพูดด้วยคำถาม แต่ผมรู้ว่าเธอไม่ต้องการคำตอบ ผมสะอึก การมีชีวิตที่ดีขึ้นอาจเป็นความฝันของใครหลายคน แต่สำหรับหญิงสาวชาวเมืองบนหุบเขา มันดูไม่ยิ่งใหญ่มากพอที่เธอจะเรียกมันว่าความฝันได้ เมื่อสิ่งที่เธอหวังนั้นผูกติดอยู่กับพันธนาการหลายอย่าง ทั้งเรื่องการขาดไร้โอกาส ความเหลื่อมล้ำ ชนชั้น โครงสร้างทางสังคมที่ฟอนเฟะมายาวนานของอินเดีย สภาวะเศรษฐกิจ เมืองที่ถูกลั่นกุญแจปิดตาย หรือไม่ก็ค่านิยมบางอย่าง
ผมมองเห็นผ่านแววตาเขินอายคู่นั้น ว่าความฝันของเธอดูจะมีคำว่าอิสระพ่วงอยู่ ความฝันในความหมายของเธออาจเป็นการกางปีกทะยานโดยไม่ต้องคิด ไม่ว่าจะเป็นอะไร ก็จะต้องรู้สึกเข้มข้นกับมันสุดจิตสุดใจโดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง ไม่ใช่ฝันลอยลมบอกออกไปอัตโนมัติว่าอยากเป็นนั่นเป็นนี่ ทั้งที่ชีวิตโดนขอดปีกมาตลอดด้วยข้อแม้หลายประการ
ดังนั้นสิ่งที่ ‘ควรทำ’ กับสิ่งที่ ‘อยากทำ’ สำหรับเธอจึงเป็นคนละเรื่อง และสิ่งที่ควรทำ ถูกบังคับอ้อมๆ ให้ต้องทำ ก็ไม่ควรนับรวมว่าเป็นความฝัน
5.
ผมไม่ใช่แฟนตัวยงของประโยคปลอบใจที่ว่า ‘คนเรามีช่วงเวลาผลิบานเป็นของตน’ นัก ช่วงเวลาที่ควรผลิบานอยู่ที่ไหนกัน เพราะสำหรับบางคน ถึงที่สุดแล้ว ช่วงเวลาผลิบานนั้นไม่เคยและไม่มีวันจะมาถึง
ย้อนคิดถึงเพื่อนสาวคนนั้นที่ไม่ได้ติดต่อกันเนิ่นนาน ผมนึกสงสัยว่าชะตากรรมของเธอตอนนี้จะเป็นอย่างไรหลังเมืองเปิด เศรษฐกิจทำท่าจะดีขึ้น แต่ก็ต้องมาเจอกับวิฤตโรคระบาดยาวนานจนล้มไม่เป็นท่าอีก
“ถ้าเป็นครูไม่ได้ล่ะ?” ครั้งหนึ่งผมถามเธอ ก่อนที่เธอจะตอบกลับทันควันโดยไม่ต้องคิดว่าจะไปสมัครเป็นคอลเซนเตอร์ อาชีพที่มีตำแหน่งว่างมหาศาลและสมัครได้ไม่ยากนัก ซึ่งหมายถึงเธอต้องลงจากเมืองกลางหุบเขา สู่เมืองพื้นราบ และใช้ภาษาเบงกาลี (ที่เป็นชนวนของการประท้วง) ทำมาหากิน
ในช่วงที่ผ่านมาผมอ่านข่าวและบทความต่างๆ เกี่ยวยูทูบเบอร์คนหนึ่ง ผู้นำไฟฟ้าและโทรทัศน์ไปมอบให้เด็กน้อยบนยอดดอยห่างไกล ที่ในชีวิตไม่เคยรู้จักว่าโทรทัศน์คืออะไร และไม่มีความฝัน กระทั่งนึกถึงบทสนทนาระหว่างผมกับเพื่อนสาวคนนั้นขึ้นมา
ผมไม่แน่ใจว่า ในชีวิตหนึ่งชีวิตนี้ เรื่องของการมีฝันจับต้องได้นั้นสำคัญแค่ไหนกัน ไม่แน่ใจว่าควรมองแบบไหนกับการที่ยูทูบเบอร์คนนั้นบอกว่าการมีโทรทัศน์ให้ดูจะทำให้เด็กๆ รู้ว่าพวกเขาอยากฝันเป็นอะไร และไม่แน่ใจว่าควรคิดเห็นผ่านการยึดหลักวิชาการใด กับบทวิพากษ์ของนักวิชาการคนหนึ่งเรื่อง ‘การให้’ ที่บอกว่าการนำของไปบริจาคของยูทูบเบอร์เป็นแค่การสนองตัณหาฟีลกู๊ดของชนชั้นกลาง และไม่ใช่การสร้างความฝันที่ยั่งยืน
แต่ในสังคมที่ไม่อนุญาตให้บางคนมีโอกาสได้มีช่วงเวลาผลิบานเป็นของตัวเองด้วยซ้ำ สังคมกินคนที่คอยจะลิดปีกเราอยู่ตลอด การเหาะเหินโจนทะยานสู่เพดานที่สูงขึ้นบนท้องฟ้ามักเสียดสีผิวหนังจนแสบร้อน โดนแสงแดดแผดเผาพุพอง หรือบางคราวก็ถูกบังคับให้หุบปีกสูญหาย ผมคิดว่าการถ่างผืนฟ้าให้กว้างขึ้นด้วยวิธีคิดซื่อๆ ง่ายๆ ก็ไม่ได้แย่อะไร
ไม่ว่าจะอยากนั่งเฉยๆ หรือมีฝันยิ่งใหญ่ อยากกางปีกโจนทะยานหรือไม่ เราก็ควรมีท้องฟ้ากว้างใหญ่ไว้รองรับทั้งสำหรับการโบยบิน หรือกระทั่งเฝ้ามองเอื่อยเฉื่อยนิ่งๆ อย่างคนไร้ฝัน ไม่ว่าสุดท้าย เราจะเป็นได้แค่ต้นอ่อนที่ไม่เคยแตกยอดชูช่อ ดอกตูมพิกลพิการ หรือผลิกลีบเบ่งบานสวยสดงดงามก่อนร่วงโรย
6.
เมืองบนหุบเขากลับมาเปิดหลังจากปิดตายยาวนาน 104 วัน ผมใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นเป็นหลัก บางช่วงเวลาก็ร่อนเร่ไปทั่วอินเดียและประเทศใกล้เคียงอีกนับรวมแล้วเกือบหนึ่งปี ก่อนจะกลับบ้านเกิดกลางปี 2018 ด้วยอุบัติเหตุบางอย่าง
หลังจากนั้นผมก็ทั้งหุบปีกพับเก็บ และกางมันออกบินอีกหลายครั้ง กระทั่งพบตัวเองอยู่หน้ากระจกในห้องน้ำของคอนโดสูงกลางย่านธุรกิจใจกลางกรุงเทพมหานครอีกราว 3 ปีให้หลัง
ครั้งนี้ ผมย้อนถามตัวเอง ว่าความฝันของผมคืออะไร