หน้า ‘คำอุทิศ’ ในหนังสือเล่มหนึ่ง อาจเป็นสิ่งที่นักอ่านพลิกหน้ากระดาษผ่านไปมากที่สุดเมื่อหยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน
แต่สำหรับคนเขียนหนังสือแล้วนั้น บางครั้ง การเขียนคำอุทิศให้ใครสักคน นอกจากเป็นการระลึกถึง แสดงความขอบคุณซื่อๆ ตรงๆ ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องราวส่วนตัว มันก็กลับซ่อนนัยความหมายมากมายถึงชีวิตไว้ภายใน
การเขียนหนังสือสักเล่มไม่ใช่งานง่าย มันโดดเดี่ยวอ้างว้าง เมื่อต้องเผชิญหน้ากับหน้ากระดาษว่างเปล่า แถมมันยังเป็นความอ้างว้างสาหัสต่อเนื่องยาวนาน ราวกับการวิ่งมาราธอนในความมืดมนอนธการเพียงลำพัง
จนกระทั่งเขียนจบ จนกระทั่งเผชิญหน้ากับกระดาษว่างเปล่าอีกรอบ เพื่อจะได้เขียนคำอุทิศสั้นแสนสั้นถึงใครบางคน แต่สำหรับนักเขียนหลายคน มันกลับกลายเป็นช่วงเวลาที่ปลอดโปร่งที่สุดของการเขียนหนังสือ การตอกแป้นพิมพ์ใส่ชื่อของคนที่พวกเขาอยากกล่าวถึงในหน้าคำอุทิศ ใช้เวลาเพียงชั่วกระพริบตา แต่มันกลับมีชีวิตชีวาและลมหายใจไม่ต่างจากนิยาย มีความหมาย และไม่ต่างอะไรกับจดหมายรักลับๆ ระหว่างใครสักคน
คำว่า ‘แด่’ นั้นสั้นแสนสั้น แต่ยืนยาวกว่าอะไรทั้งหมด แน่นอน มันอาจไร้ความหมายกับนักอ่านหลายคน แต่มันกลับมีความหมายอย่างยิ่งสำหรับคนที่เขียนมันขึ้นมา และนี่คำอุทิศในหนังสือต่างๆ ที่ becommon รวบรวมมา ซึ่งดูเหมือนว่าเรื่องราวระหว่างบรรทัดจะไปไกลมากกว่าประโยคสั้นๆ ไม่กี่ประโยค
The Little Prince (เจ้าชายน้อย)
Antoine De Saint-Exupery—เขียน
นี่คือส่วนหนึ่งของคำอุทิศที่นักเขียน-นักบินชาวฝรั่งเศสอย่าง Antoine De Saint-Exupery เขียนลงในหนังสือ The Little Prince หรือ เจ้าชายน้อย วรรณกรรมสำหรับเด็กสุดคลาสิก ที่เล่าเรื่องของเจ้าชายจากดวงดาวอื่นผู้พลัดตกลงมาบนโลก ด้วยสำนวนเรียบง่าย แต่กลับแฝงความหมายลึกล้ำถึงคำถามหลายประการ ทั้งความสัมพันธ์ การเติบโต พรมแดนระหว่างความเป็นเด็กและผู้ใหญ่ จนทำให้เจ้าชายน้อยเป็นนิยายที่เปิดอ่านในช่วงวัยที่ไม่เหมือนกัน ก็จะให้ความรู้สึกและแง่คิดที่แตกต่างออกไปเสมอ และคำอุทิศของหนังสือเล่มนี้ก็งดงามไม่แพ้เนื้อหาข้างใน คำอุทิศเต็มๆ นั้น Antoine De Saint เขียนไว้ว่า
“แด่ Leon Werth
ผมต้องขออภัยเด็กๆ ทุกคน เนื่องจากผมจะขออุทิศหนังสือเล่มนี้ให้แก่ผู้ใหญ่คนหนึ่ง ทว่าผมมีข้อแก้ตัวที่จริงใจ: ผู้ใหญ่คนนี้คือเพื่อนที่ดีที่สุดที่ผมเคยพบพานบนโลกใบนี้ ข้อแก้ตัวถัดมาคือ: ผู้ใหญ่คนนี้เข้าใจทุกอย่าง แม้กระทั่งวรรณกรรมสำหรับเด็ก และผมมีข้อแก้ตัวข้อที่สาม: เขาอาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส กำลังเผชิญกับความหิวโหยและหนาวเหน็บ เขาจึงต้องการคำปลอบประโลม แต่ถ้าคำแก้ตัวทั้งหมดยังฟังไม่ขึ้น ผมอยากขออุทิศหนังสือเล่มนี้ให้แก่เด็กน้อยที่ผู้ใหญ่คนนั้นเคยเป็น ผู้ใหญ่ทุกคนเคยเป็นเด็กมาก่อน (แต่มีไม่กี่คนที่จำได้) ผมจึงขอแก้ไขคำอุทิศดังนี้:
แด่ Leon Werth
ในวันวัยที่เขายังเป็นเด็กน้อย”
No Thanks
e e cummings—เขียน
e e cummings เป็นนามปากกา Edward Estlin Cummings กวีชาวอเมริกันผู้มีผลงานมากมายทั้งความเรียง บทละคร แถมยังเป็นจิตรกรอีกด้วย แต่ก็เหมือนกับในวงการวรรณกรรมทั่วโลก ที่การจะกลายมาเป็นกวีมีชื่อและได้รับพิจารณาตีพิมพ์นั้นเป็นเรื่องยากยิ่งกว่ายาก ดังนั้น ในปี 1935 e e cummings จึงตัดสินใจตีพิมพ์บทกวีของตัวเองด้วยเงินช่วยเหลือจากมารดาของเขาราวๆ 300 ดอลลาร์ โดยตั้งชื่อให้มันว่า No Thanks ก่อนจะเขียนคำอุทิศที่เป็นทั้งการตัดพ้อ และการเสียดสีสำนักพิมพ์ถึง 14 แห่งที่เคยปฏิเสธงานของเขาไว้ก่อนหน้าได้อย่างแสบสันต์ โดยการประกาศโต้งๆ ว่า เขาไม่ขอขอบคุณสำนักพิมพ์เหล่านั้น ประมาณว่า ไม่ตีพิมพ์ให้ใช่ไหม ข้าพเจ้าพิมพ์เองก็ได้ นั่นเอง
A Series of Unfortunate Events
Lemony Snicket—เขียน
A Series of Unfortunate Events หรือ อยากให้เรื่องนี้ไม่มีโชคร้าย เป็นวรรณกรรมชุดสำหรับเด็ก โดย Daniel Handler ภายใต้นามปากกา Lemony Snicket ที่มีด้วยกันมากถึง 13 เล่ม เล่าเรื่องความโชคร้ายปนแฟนตาซีของเด็กกำพร้าสามคน แต่ดูเหมือนความโชคร้ายที่หนักหนาสาหัสนั้นจะอยู่ในหน้าคำอุทิศของหนังสือชุดนี้ทุกเล่ม เมื่อมันมีชื่อของหญิงสาวคนหนึ่งปรากฏอยู่ และดูเหมือนว่าเธอจะเป็นคนรักของ Lemony Snicket (แม้เราจะไม่รู้ว่านั่นคือคนรักผู้มีชีวิตอยู่ในโลกจริง หรือเป็นเพียงตัวละครในจินตนาการตัวหนึ่ง เพราะนามปากกา Lemony Snicket ก็ได้กลายมาเป็นตัวละครในเรื่องเล่าของ Daniel Handler เช่นกัน)
แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม คำอุทิศนั้นเปิดเผยอย่างเป็นนัยว่า เธอได้จากเขาไปแล้ว Lemony Snicket จึงเขียนคำอุทิศเหล่านั้นขึ้น แถมข้อความที่เขียนถึงหญิงสาวที่ชื่อ Beatrice ในแต่ละเล่มก็ทั้งชวนเศร้าสร้อย และเห็นถึงความยึดมั่นในความรักของคนคนหนึ่งได้เป็นอย่างดี มันจึงได้รับการยกย่องว่า มีคุณค่าไม่ต่างอะไรกับเรื่องราวในนิยายรักดีๆ สักเรื่อง
และข้อความด้านล่างนี้คือ คำอุทิศบางส่วนจากหนังสือชุด A Series of Unfortunate Events
“แด่ Beatrice
ในตอนที่เราอยู่ด้วยกัน ผมรู้สึกหายใจติดขัด
แต่ตอนนี้ คุณกลับไร้ลมหายใจ”
–
จาก The Vile Village
“แด่ Beatrice
สุดที่รักผู้โบยบินอย่างผีเสื้อ
กระทั่งความตายโฉบลงมาเหมือนค้างคาว
ราวกับบทกวีของ Emma Montana McElroy ที่ว่า:
‘นั่นคือจุดจบของเรื่องราวทั้งหมด’”
–
จาก The Miserable Mill
“แด่ Beatrice
ผมทะนุถนอม คุณสูญสลาย
โลกกลายเป็นฝันร้ายนับจากนั้น”
–
จาก The End
The Lion, The Witch, And The Wardrobe
C.S. Lewis—เขียน
The Lion, The Witch, And The Wardrobe หรือ ตู้พิศวง คือหนึ่งในนิยายแฟนตาซีเยาวชน เล่าเรื่องการผจญภัยในโลกแห่งเทพนิยายนาม ‘นาร์เนีย’ จากชุด The Chronicles of NARNIA หรือ ตำนานแห่งนาร์เนีย โดยนักเขียนชาวอังกฤษ Clive Staples Lewis หรือในนามปากกา C. S. Lewis
ใน The Lion, The Witch, And The Wardrobe นั้น เขาเขียนคำอุทิศให้แก่ลูกอุปถัมภ์ของเขานาม Lucy Barfield ผู้ที่ C. S. Lewis หยิบยืมชื่อของเธอมาเป็นตัวละครตัวหนึ่งในเรื่องอย่าง Lucy Pevensie น้องสาวคนเล็กของพี่น้อง Pevensie ตัวละครเอกในตำนานชุดนี้ โดยคำอุทิศฉบับเต็ม Lewis เขียนไว่ว่า
“Lucy ที่รัก,
พ่อเขียนนิยายเรื่องนี้เพื่อลูก แต่ในแรกเริ่มที่พ่อเขียน พ่อไม่ได้ตระหนักว่าเด็กหญิงคนหนึ่งจะเติบโตรวดเร็วกว่าหนังสือ ซึ่งทำให้ในตอนนี้ ลูกโตเกินไปที่จะอ่านเทพนิยาย และในตอนที่มันถูกจัดพิมพ์รวมเล่ม ลูกก็คงยังโตเกินไปอยู่ดี ทว่าในสักวันหนึ่ง ลูกจะเติบโตมากพอที่จะเริ่มอ่านเทพนิยายอีกครั้ง ลูกอาจหยิบมันออกจากชั้นหนังสือ ปัดฝุ่นเสียใหม่ และบอกเล่าให้พ่อฟังหน่อยว่าลูกคิดเห็นอย่างไร ในตอนนั้น พ่ออาจจะหูตึงจนไม่สามารถได้ยินเสียงของลูก แก่เกินไปที่จะสามารถทำความเข้าใจสิ่งที่ลูกบอกกล่าว แต่พ่อจะยังคงอยู่กับลูกเสมอ
จากพ่อทูนหัวของลูกผู้เปี่ยมด้วยความรัก”
East of Eden
John Steinbeck—เขียน
Pascal Avram “Pat” Covici คือชื่อเต็มของ Pat ที่ปรากฏอยู่ในคำอุทิศของนิยายเล่มสำคัญของนักเขียนโนเบลชาวอเมริกันอย่าง John Steinbeck ผู้ได้รับการยกย่องจากงานเขียนแนวสัจนิยม ที่ผสานรวมกับจินตนาการอันเต็มไปด้วยอารมณ์ขัน แต่ก็ยังเปี่ยมไปด้วยความเข้าอกเข้าใจความเป็นไปของชีวิตและสังคม
Pat คือบรรณาธิการและผู้จัดพิมพ์หนังสือเชื้อสายยิว-อเมริกัน ที่มีความสนิทสนมกับ John Steinbeck มาตั้งแต่ Steinbeck ออกนิยายเล่มแรกๆ อย่าง Tortilla Flat เมื่อปี 1935
ขณะ Steinbeck เขียน Journal of a Novel: The East of Eden Letters ในช่วงทศวรรษ 1950 ซึ่งเป็นซีรีส์รวบรวมจดหมายที่เขาเขียนถึง Pat ขนานไปกับการเขียนนิยายเล่มยิ่งใหญ่ที่มีความยาวมากกว่า 250,000 คำอย่าง East of Eden เขามักเขียนกล่าวถึงการทำงานไม้ลงในจดหมายให้ Pat อ่านเสมอ จนกระทั่งวันหนึ่ง Pat มาเยี่ยมเขาที่บ้าน และขอให้ Steinbeck ทำกล่องไม้ให้เขาสักกล่องหนึ่ง
กระทั่ง Steinbeck เขียน East of Eden เสร็จสิ้น เขาจึงทำกล่องไม้มะฮอกกานีขึ้นมากล่องหนึ่งจริงๆ โดยได้ใส่ต้นฉบับหนาหนักของเขาลงภายใน และแกะสลักข้อความไว้บนกล่องไม้ ก่อนจะส่งให้แก่ Pat
ต่อมาข้อความนั้นกลายมาคำอุทิศที่ปรากฏอยู่ใน East of Eden โดย Steinbeck เขียนไว้ว่า
“Pat เพื่อนรัก,
คุณมาหาผมขณะที่ผมกำลังทำงานแกะสลักไม้อยู่ และพูดว่า ‘ทำไมคุณถึงไม่ทำงานไม้ให้ผมสักชิ้นล่ะ?’
ผมถามคุณว่าคุณอยากได้อะไร และคุณบอก ‘กล่องไม้’
‘เพื่ออะไร?’
‘ก็เพื่อใส่ของลงไปไงล่ะ’
‘ของอะไร?’
‘อะไรก็ตามที่คุณมี’ คุณบอก
และนี่คือกล่องที่ผมทำให้คุณ เกือบทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมมีถูกบรรจุอยู่ในนี้ แต่มันก็ยังไม่เต็ม ความเจ็บปวดและความตื่นเต้นต่างอยู่ในนั้น มันมีทั้งความรู้สึกดีและแย่ ความคิดชั่วร้ายและดีงาม มีทั้งความรื่มรมย์ของการออกแบบ ความสิ้นหวัง และความหฤหรรษ์ของการสร้างสรรค์อันยากอธิบาย
และบนกล่องกล่องนี้ คือทั้งหมดของความขอบคุณและความรักที่ผมมีต่อคุณ
และใช่ กล่องไม้นั้นยังคงไม่เต็ม
John”
อ้างอิง
- http://www.steinbeck.org
- Kim Renfro. Everything we know about the mysterious woman named Beatrice from ‘A Series of Unfortunate Events’. https://bit.ly/3jchNSG
- GLUMPUDDLE. The First Child to Read “The Lion, the Witch and the Wardrobe”. https://bit.ly/2Mtc5QA