แม้จะมี iPhone และได้รับคำเชิญ แต่ Doomer จะไม่มีวันเข้าร่วมแอพพลิเคชั่น Clubhouse, พวกเขาไม่โปรดักทีฟ, Doomer ซึมเซาตลอดเวลา ดื่มหนักและสูบจัด เป็นโชเพนเฮาเออเรียน (Schopenhauerian) ผู้ยึดติดอยู่กับความคิดแง่ลบ และมองไม่เห็นแสงสว่างของโลก, Doomer เชื่อว่าโลกนั้นไร้หวัง มืดมน และกำลังล่มสลาย…
ปี 2018 ในเว็บไซต์อิมเมจบอร์ดชื่อ 4chan ที่มีผู้เยี่ยมชมมากกว่า 20 ล้านคนต่อเดือนด้วยจุดเด่นเรื่องการไม่ระบุตัวตนผู้ใช้งาน มีผู้ใช้รายหนึ่งโพสต์ภาพการ์ตูนแนวล้อเลียนที่ต่อมาถูกรู้จักในนาม Wojak ที่มีหลากหลายตัวละครรวมอยู่ในซีรีส์ลายเส้นง่ายๆ สไตล์เดียวกัน และที่โดดเด่นที่สุดเห็นจะเป็นตัวการ์ตูนที่มีชื่อว่า 30-Year-Old Boomer ซึ่งล้อเลียนกลุ่มเจเนอเรชั่น Millennials ผู้แม้จะเกิดมาในสังคมสมัยใหม่ แต่กลับมีพฤติกรรมไปคล้ายคลึงกับเจเนอเรชั่นที่มีความหัวโบราณอย่าง Baby Boomer จนกลายเป็น meme ยอดฮิต
Wojak มีตัวการ์ตูนอื่นๆ มากมายที่ต่อมากลายเป็น meme เช่น Zoomer ที่เป็นการสื่อถึงและล้อเลียนคน Gen-Z ก่อนจะแตกย่อยไปเป็น Bloomer ที่ก็คือกลุ่มคน Gen-Z เช่นกัน แต่กลุ่มนี้จะเป็น Gen-Z ผู้มีความสามารถในการปรับตัวและมองโลกในแง่บวก หรือจะเป็น Gloomer— Gen-Z ผู้ทุกข์ทรมานเพราะไม่มีความสามารถในการปรับตัวเหมือน Bloomer
ส่วนในบทความนี้ เราจะโฟกัสไปที่ Doomer กลุ่มคน Gen-Z เวอร์ชั่นที่ดูจะร้ายแรงกว่า Gloomer ผู้เชื่อว่าโลกหมดหวังและกำลังล่มสลาย
Doomer มาจากคำภาษาอังกฤษอย่าง Doom ที่แปลว่า ‘วันโลกาวินาศ’ โดย เคทลิน ทิฟฟานี่ (Kaitlyn Tiffany) นักข่าวสายโซเชี่ยลมีเดียแห่ง The Atlantic ตั้งข้อสังเกตไว้ในบทความของเธอเมื่อปี 2020 ถึง Doomer ว่า “พวกเขาไม่มีความสนใจจะไล่ล่ามิตรภาพหรือความสัมพันธ์อีกต่อไป พวกเขาไม่มีความสุขกับเรื่องใดๆ เลย เพราะพวกเขารู้ว่าโลกกำลังเดินทางมาถึงจุดจบ” โดยเธอยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดจาก meme ชิ้นหนึ่ง ที่เมื่อ Doomer ซื้อโทรศัพท์สมาร์ตโฟนมา พวกเขาจะใช้มันแค่เอาไว้ดูเวลาเท่านั้น ทั้งๆ ที่มันยังมีฟังก์ชั่นอื่นๆ ให้ใช้งานอีกมากมาย
มองในแง่นี้ Doomer จึงอาจเป็นมรดกตกทอดของนักปรัชญาผู้มีแนวคิดมองโลกในแง่ลบชื่อดังอย่าง อาเธอร์ โชเปนเฮาเออร์ (Arthur Schopenhauer) นักปรัชญาสาย ‘ทุนิยม’ (pessimism) หรืออาจรวมถึง ‘สุญนิยม’ (nihilism) ที่เสนอว่า ‘การดำรงอยู่คือความผิดพลาด’ หรือ ‘ชีวิตนั้นไร้ทั้งจุดหมายและความหมาย’ หรือ ‘ชีวิตคือความเจ็บปวด’ และ ‘ความจริงคือคำโกหกคำโต’
“ชีวิตแกว่งไกวไปข้างหน้าและหลังราวกับลูกตุ้ม ระหว่างความเจ็บปวดและความเบื่อหน่าย”
โชเปนเฮาเออร์ เคยหล่นถ้อยคำไว้เช่นนั้น
และคนที่เป็น Doomer ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม พวกเขาจึงอาจเป็นทายาทของโชเปนเฮาเออร์ ผู้อาจมองเห็นแล้วว่าแนวคิดของนักปรัชญาผู้นี้จริงยิ่งกว่าจริง เมื่อ Doomer คือ Gen-Z ที่เกิดมากับการเปลี่ยนแปลงของโลกจากอนาล็อกสู่ดิจิทัล เทคโนโลยีช่วยย่อให้โลกเล็กลง พวกเขามองเห็นความวุ่นวายสับสน และคุณค่าที่ผู้คนยึดถือตามๆ กันไป ซึ่งอาจทำให้ Doomer คิดว่าทั้งหมดนั้นมันไม่จริง ทุกสิ่งเป็นเรื่องไร้สาระไม่มีความหมาย จนกระทั่งรู้สึกถูกตัดขาดและเป็นคนแปลกหน้าต่อโลก หรือเป็นสิ่งมีชีวิตจากต่างดาวผู้แค่พลัดตกลงมาในสถานที่ที่ตนรู้สึกต่อไม่ติดกับสิ่งที่ผู้คนจำนวนมากยึดถือ
ยิ่งในโลกขณะนี้ ที่ผู้คนทั่วโลกต่างทนทุกข์กับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังไม่นับรวมการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เลวร้ายขึ้นทุกปี จากการความโลภและการสวาปามทรัพยากรทุกอย่างเกินควรของมนุษย์ นี่เองที่พวกเขามองว่า โลกกำลังหมดหวัง
ขณะที่ Boomer อาจเป็นพวก ignorant ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับความจริงข้อนี้ และยังใช้ชีวิตปกติ เสวยสุขกับปัจจัยใดๆ ก็ตามที่เอื้อประโยชน์ต่อชีวิตตัวเองราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น Doomer แม้จะเห็นความเป็นไปของโลกชัดกว่า แต่พวกเขาก็คิดว่าโลกที่กำลังพังนั้นไร้ทางเยียวยา Doomer จึงเลือกหันหลังให้ ยอมแพ้กับการตามหาความหมายของการมีชีวิต จ่อมจมลงสู่ความระทมทุกข์ และเอาแต่หวนระลึกถึงความหลังครั้งที่โลกยังงดงาม
หนังแนวโลกล่มสลายที่เข้าฉายเมื่อปี 2020 ชื่อ She Dies Tomorrow ของนักแสดงและผู้กำกับชาวอเมริกันนาม เอมี ไซเมตซ์ (Amy Seimetz) คืออีกหนึ่งตัวอย่างของการฉายภาพ Doomer ได้อย่างชัดเจน
หนังแนวโลกล่มสลายเรื่องนี้ไม่มีเอเลี่ยนบุกโลก ไม่มีภัยพิษัติน้ำท่วมโลก ภูเขาไฟระเบิด หิมะถล่ม น้ำแข็งละลาย มันไม่มีอุกกาบาตที่กำลังพุ่งชนจนอาจทำให้โลกสูญสลาย จะมีเพียงแค่ความหมดหวังที่เริ่มจากตัวละครตัวหนึ่งชื่อ เอมี่ ที่กำลังกังวลว่าพรุ่งนี้เธอจะตาย กระทั่งเธอตัดสินใจเล่าความกังวลนี้ให้คนอื่นฟัง แล้วอาการกลัวตายดังกล่าวก็พลันลุกลาม กลายเป็นโรคระบาดที่ถูกส่งต่อราวกับมันคือเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง คอยกัดกินชีวิตผู้คน จนกระทั่งบางคนมีลักษณะไม่ต่างจาก Doomer ผู้สิ้นหวัง ใช้ชีวิตซึมๆ ไปวันต่อวันเพื่อรอคอยความตาย
คำถามคือ ถ้าต้องทุกข์ทรมานกับการรู้ความจริงถึงความอัปลักษณ์ของชีวิตและโลกเช่นนี้ การเป็น Doomer มันดีจริงๆ หรือเปล่า หรือเราควรเปลี่ยนตัวเองเป็น Boomer ผู้ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับความจริงน่าเกลียดน่ากลัวอันไร้สาระใดๆ นี้ดี
ขออภัยที่เราไม่มีคำตอบให้ แต่สิ่งที่พอจะทำให้คุณสบายใจขึ้นได้บ้างก็คือ แม้คุณจะรู้สึกว่าตัวเองเป็น Doomer ผู้คิดว่าโลกมืดมนและไร้หวัง เราจะขอยืนยันว่าคุณไม่ได้กำลังโศกเศร้าอยู่เพียงลำพัง ยังมีผู้คนมากมายเหลือเกินที่กำลังเผชิญภาวะเช่นนี้ และเอาเข้าจริงต่อให้เป็น Boomer, Zoomer, Gloomer หรือ Doomer เหล่านี้ก็เป็นเพียงบุคคลิกภาพที่หลากหลายของสังคมมนุษย์ ที่ไม่ว่าเราจะสมาทานแนวคิดแบบใดก็ตาม เราก็ควรมีที่หยัดที่ยืนได้ในพื้นที่ของตัวเองโดยไม่คุกคามซึ่งกันและกัน
แถมในโลกนี้ก็ยังมีอีกหลายคนที่ไม่ได้จำกัดตัวเองไว้กับนิยามใดนิยามหนึ่ง …ในบทความชื่อ Meet the doomers: why some young US voters have given up hope on climate ของ The Guardian ที่พูดถึงความหมดหวังต่อการเยียวยาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก มีความคิดเห็นของคนที่เรียกตัวเองว่า Doomer หลายคนที่น่าสนใจ เช่น นักศึกษาวัย 19 ปีจากแคลิฟอร์เนียที่บอกว่า “คุณอาจแทบจะไม่เห็นผู้คนกำลังวางแผนเพื่ออนาคต นั่นก็เพราะว่าอนาคตในปัจจุบันดูเหมือนจะไม่แน่นอนและคาดเดาไม่ได้อย่างยิ่ง”
แต่ก็มี Doomer บางคน เช่น นักศึกษาจากนิวยอร์กวัย 20 ปีที่บอกว่าแม้เขาจะเห็นด้วยเกือบทุกข้อที่ Doomer เชื่อ แต่เขาก็จะลงมือทำอะไรบางอย่างอยู่ดี โดยบอกว่า
“ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย สิ่งที่เลวร้ายที่สุดก็จะเกิดขึ้น แต่อย่างน้อยถ้าเราทำอะไรสักอย่าง มันก็ยังพอมีโอกาส บางทีอาจไม่ใช่ตอนนี้ แต่มันอาจอยู่ที่ปลายทาง”
ราวกับนักศึกษาจากนิวยอร์กคนนี้กำลังเปลี่ยนแปลงตัวเองจาก Doomer เป็น Bloomer โดยใช้ประโยชน์จากการมองโลกในแง่ร้ายแบบ Doomer เพื่อเห็นโลกในมุมมองที่ชัดขึ้น ก่อนจะใช้ความ ‘ตระหนักรู้’ นี้มาเป็นเครื่องมือนำทางให้ตัวเองยังพอมีชีวิตอยู่ได้ท่ามกลางโลกอันไร้ความหมายแห่งนี้
อ้างอิง
- knowyourmeme.com. Doomer. https://bit.ly/3s5eWOY
- Kaitlyn Tiffany. The Misogynistic Joke That Became a Goth-Meme Fairy Tale. https://bit.ly/2LZcg5Q
- Alexandra Villarreal. Meet the doomers: why some young US voters have given up hope on climate. https://bit.ly/3dpMRxA
- Arthur Schopenhauer. Studies in Pessimism: The Essays.