w©rld

ทุกวันนี้การขยายตัวหรือการพัฒนาเมืองไม่จำกัดแค่อยู่ในเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่อีกต่อไป หลายจังหวัดในบ้านเรามีการเปลี่ยนแปลง

เช่นเดียวกับอุดรธานี ซึ่งเป็นจังหวัดที่ลุกขึ้นมาเริ่มต้นพัฒนาท้องถิ่นให้เป็นเมืองแห่งการเดิน ในคอนเซปต์ “อุดรธานี เมืองเดินได้ เดินดี” ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “ถนนชิบูย่าเมืองอุดรฯ”

การพัฒนาเมืองครั้งนี้ใช้การออกแบบผังเมืองที่เรียกว่า “Tactical Urbanism” มาเป็นตัวช่วย และมีการชักชวนผู้คนในท้องถิ่นมาร่วมทดลองเดินข้ามถนนแบบนี้เป็นครั้งแรกของประเทศไทย

โปรเจกต์ “อุดรธานี เมืองเดินได้ เดินดี” ออกแบบถนนใหม่ โดยใช้ “ Tactical Urbanism” มาเป็นตัวช่วย (photo: https://www.facebook.com/มาดีอีสาน)
Udon_Tactical Urbanism Shibuya
ถนนชิบูย่า ย่านธุรกิจใหญ่ในกรุงโตเกียว ที่พลุกพล่านไปด้วยผู้คน ที่สามารถจัดระเบียบการจราจรได้เป็นอย่างดี

แล้ว Tactical Urbanism คืออะไร??

ก่อนจะไปทำความรู้จักโปรเจกต์ใหม่ของชาวอุดรฯ ที่อาจทำให้คนจังหวัดอื่นๆ อิจฉา ชวนไปทำความรู้จักกับคำว่า “Tactical Urbanism” กันก่อน

“Tactical Urbanism” เป็นรูปแบบหนึ่งของการพัฒนาเมืองหรือชุมชน โดยการเปลี่ยนบริเวณรกร้างหรือมีบรรยากาศแห้งแล้ง เช่น ถนน ทางเท้า ลานจอดรถ สนามเด็กเล่น หรือแหล่งเสื่อมโทรม ให้กลายเป็นพื้นที่หรือย่านสร้างสรรค์ มีชีวิตชีวา และน่าอยู่มากขึ้น โดยการตกแต่งหรือก่อสร้างในต้นทุนต่ำ เน้นการมีส่วนร่วมและใช้แรงงานสองมือของคนในชุมชมเป็นหลัก และอาจเป็นแบบชั่วคราวหรือช่วงเวลาสั้นๆ การพัฒนาเมืองรูปแบบนี้จึงมีชื่อเรียกที่ดูน่ารักว่า “D.I.Y. urbanism” หรือเรียกได้ว่าเป็นการปรับปรุงเมืองแบบ low cost นั่นเอง เช่น การทาสี หรือสร้างงานศิลปะตกแต่ง

Tactical Urbanism ที่ไหนบ้างในโลก

จริงๆ แล้ว ปฏิบัติการ Tactical Urbanism เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการโดยการเคลื่อนไหวของกลุ่ม  New Urbanist (CNU NextGen) ในปี 2010 ที่เมืองนิวออร์ลีนส์ เมืองท่าสำคัญของสหรัฐอเมริกา ด้วยความหวังอยากให้แต่ละชุมชนรับผิดชอบย่านที่อยู่อาศัยของตัวเอง หากครั้้งหน้ามีโอกาสได้เดินทางไปต่างประเทศ ลองสังเกตสถานที่ต่างๆ กันดู อาจพบว่าจริงๆ แล้ว เทรนด์การปรับปรุงเมืองแบบ Tactical Urbanism อยู่รอบด้านและใกล้ตัวมากกว่าที่คิด

เมืองบาร์เบอร์ตัน รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา 

สี่แยกใจกลางเมืองบาร์เบอร์ตัน รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ใช้ศิลปะลวดลายจุดวาดสีสันสดใสลงไปบริเวณหัวมุมสี่แยก เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้คนเดินเท้า ลดความยาวบริเวณทางข้ามถนน และพยายามทำให้คนขับรถลดความเร็วและระมัดระวังคนข้ามทางม้าลายให้มากขึ้น พร้อมเปลี่ยนที่จอดรถให้เป็นร้านกาแฟแบบป็อบอัพ และสวนสาธารณะเล็กๆ สำหรับสุนัข ซึ่งโปรเจกต์นี้ยังช่วยแก้ไขการจราจรที่ติดขัดด้วย

ที่มา: https://youtu.be/HViS6pg7njk

เมืองซานติเอโก ประเทศชิลี

ถนน Bandera Street ใจกลางเมืองย่านธุรกิจอันแสนวุ่นวายในเมืองซานติเอโก ในประเทศชิลี ถูกเปลี่ยนเป็นถนนคนเดินยาวประมาณ 400 เมตรที่เต็มไปด้วยสีสัน พร้อมมีที่นั่งพักตลอดทาง โปรเจกต์นี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างการพัฒนาชุมชนแบบ Tactical Urbanism ที่โดดเด่นในแถบละตินอเมริกา โดยได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชนและศิลปินชาวละติอเมริกาหลายคน

Udon_Tactical_Bandera Street-Tactical Urbanism
photo: www.citylab.com

ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=cuIY0GSp7RE

กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ที่ปารีส เมืองหลวงสุดสวยของฝรั่งเศสก็ไม่น้อยหน้าใคร มีสนามบาสเก็ตบอลชื่อ “Paris Duperré” ที่ได้ชื่อว่าสวยที่สุดในโลกซ่อนตัวอยู่ในชุมชนหนึ่งระหว่างซอกตึก ออกแบบโดยบริษัทดีไซน์ฝรั่งเศสแห่งหนึ่ง ซึ่งจุดประสงค์ในการสร้างลานแห่งนี้ ไม่ได้ตั้งใจโชว์แค่ความสวยงามหรือเล่นบาสเก็ตบอลเพียงอย่างเดียว แต่มุ่งหวังให้เป็นพื้นที่สาธารณะของคนในชุมชนมารวมตัวกันเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมอื่นๆ ด้วย

Udon_Tactical_Tactical Urbanism Basketball Paris
photo: http://www.humankind.city
Udon_Tactical_Tactical Urbanism Basketball Paris
photo: http://www.humankind.city

Tactical Urbanism อุดรสไตล์

สำหรับในประเทศไทย อุดรธานีถือว่าเป็นจังหวัดแรกๆ ที่นำแนวคิด Tactical Urbanism มาใช้พัฒนาเมือง โดยเริ่มต้นที่บริเวณสี่แยกถนนทองใหญ่ ตัดกับถนนประจักษ์ศิลปาคม หน้าสถานีรถไฟอุดรธานี ซึ่งเป็นย่านธุรกิจของอุดรธานี แน่นอนว่าเมื่อเป็นสี่แยกใหญ่ติดตลาดสำคัญใจกลางเมือง การจราจรย่อมติดขัดแบบไม่ธรรมดา ทั้งจากปัญหาการจอดรถไม่เป็นระเบียบ คนข้ามถนนตามใจต้องการด้วยความสับสน เพราะไม่มีทางม้าลายเป็นไกด์นำ

“ถนนเส้นนี้เป็นถนนที่รถติดมากๆ โดยเฉพาะช่วงที่มีตลาดเปิดท้ายขายของตอนเย็น ปัญหาหลักๆ เกิดจากรถจอดซื้อของไม่เป็นระเบียบ คือจอดเลยเลนออกมา ทำให้รถเดินได้แค่เลนเดียว ประกอบกับคนข้ามถนนที่อยากจะข้ามตรงไหนก็ข้าม ส่วนตัวคิดว่าถ้ามีทางม้าลาย ช่วยกระตุ้นให้คนไปเดินบนทางม้าลายได้ ก็จะช่วยลดปัญหารถติดลงไปได้บ้าง และคนเดินทางเท้าน่าจะมีความปลอดภัยจากอุบัติเหตุ และจะดีมากๆ ถ้าคนใช้รถร่วมมือกัน ไม่จอดรถบนถนนเพื่อลงไปซื้อของด้วย เพราะการจอดแค่ 10-20 วินาทีบนถนนก็เป็นปัญหาทำให้รถติดแล้ว” เสียงสะท้อนจากแตง-สุคนธา วันเพ็ญ สาวชาวอุดรฯ เจ้าของร้านกาแฟแห่งหนึ่ง เล่าถึงประสบการณ์การใช้ถนนเส้นนี้ให้ฟัง

Udon Tactical ชิบูย่าอุดร1
ช่วงเย็นที่มีผู้คนออกมาจับจ่ายของในตลาด (photo: Facebook สมาคมการผังเมืองไทย)

Tactical Urbanism อุดรสไตล์ เริ่มต้นจากการตีเส้นทางม้าลาย 4 ด้านถนน และเพิ่มทางทแยงมุมเป็นสีเหลือง เลือกใช้สีสันฉูดฉาดสะดุดตา เพื่อกระตุ้นให้คนเดินถนนหันไปเดินบนทางม้าลายช่วยลดปัญหารถติดลงไปได้ไม่มากก็น้อย ที่สำคัญคือ มีความปลอดภัยมากขึ้น โมเดลนี้หลายคนบอกว่าคล้ายกับถนนในย่านธุรกิจ “ชิบูย่า” กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยวิศวกรรมจราจร มีความเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะทางม้าลายที่มีสีสันสะดุดตา ทำให้ผู้ขับขี่รถชะลอความเร็วโดยอัตโนมัติ พร้อมเปลี่ยนพฤติกรรมให้ขับรถช้าลง แต่เนื่องจากพฤติกรรมการขับขี่รถของคนไทยกับคนญี่ปุ่นไม่เหมือนกัน ดังนั้นการควบคุมสัญญาณไฟจราจรบริเวณแยกที่อุดรฯ ต้องสอดคล้องระหว่างคนเดินข้ามกับเวลาการหยุดของรถด้วย

อุดรธานี
(Photo : กิตติ สมใจ https://www.facebook.com/tiewrobtoa/)

นอกจากนี้ ถนนพิเศษสายนี้ยังออกแบบโดยใช้เกณฑ์ LEED-ND (Leadership in Energy and Environmental Design for Neighbourhood Development) โดยเริ่มทดสอบการปรับสัญญาณไฟจราจร เพื่อเอื้อต่อการเดินข้ามถนนทุกด้าน รวมถึงแนวทแยง โดยจะมีไฟแดง 3 จังหวะ จังหวะที่ 1 ไฟเขียวถนนประจักษ์ศิลาปาคม จังหวะที่ 2 ไฟเขียวถนนทองใหญ่ จังหวะ 3 ไฟแดงสี่ทิศทาง 30 วินาที เพราะถนนไม่กว้างมาก เพื่อให้คนเดินข้ามไปมาอย่างปลอดภัย

photo: https://www.thairath.co.th

งานนี้ทางจังหวัดอุดรธานีให้ความสำคัญกับทุกชีวิตบนท้องถนน ด้วยใช้โมเดลการออกแบบถนนสมบูรณ์ควบคู่ไปด้วย (Complete Streets) ที่ไม่เพียงเน้นกลุ่มคนเดินถนนเท่านั้น แต่รวมถึงคนใช้รถยนต์ จักรยานยนต์ ผู้ประกอบการธุรกิจบนถนน และคนขี่จักรยาน โดยเพิ่มพื้นที่สาธารณะริมถนนด้วย โดยระบายสีเป็นเกณฑ์มาตรฐานสากล ซึ่งเป็นสีที่ได้รับการยอมรับจากสมาคมการผังเมืองทั่วโลก

ถึงแม้ว่าการพัฒนาเมืองครั้งนี้อาจยังไม่สมบูรณ์แบบ 100 เปอร์เซนต์ เพราะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะคนใช้รถและใช้ถนนในชุมชน แต่ถือว่าเป็นการเริ่มต้นและเป็นก้าวแรกที่อาจสร้างแรงกระตุ้นและแรงบันดาลใจให้ผู้คนในจังหวัดอื่นๆ ต่อไป

อ้างอิง: