“คนที่โหดเหี้ยมกับสัตว์ย่อมปฏิบัติต่อมนุษย์คนอื่นด้วยความรุนแรงเช่นกัน เราจะล่วงรู้จิตใจของผู้คนได้จากวิธีที่พวกเขาปฏิสัมพันธ์กับสัตว์”
อิมมานูเอล คานธ์ (Immanuel Kant) นักปรัชญาชาวเยอรมันและนักคิดคนสำคัญของยุคแสงสว่าง (Enlightenment)
คานธ์เชื่อว่าคนเรามีจิตสำนึกมาตั้งแต่ลืมตาดูโลก เมื่อเรารักชีวิตตัวเอง เราจะเห็นคุณค่าของชีวิตอื่นๆ เมื่อเราเป็นมนุษย์ที่มีความรู้สึก เราจึงมีความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และจะไม่ทำให้ใครเจ็บปวด
แม้จะรู้อย่างนี้แล้ว แต่อะไรกันที่ทำให้ใครสักคนมีจิตใจโหดเหี้ยมผิดมนุษย์มนา?
ปัจจัยแรกคือ แม้มนุษย์จะเกิดมาอย่างรู้สำนึก แต่สิ่งที่ทำให้คนชั่วร้ายได้คือ สังคม
ในความเรียงเรื่อง The Spirit of Abstraction as a Factor Making for War โดย กาเบรียล มาร์เซล (Gabriel Marcel) นักปรัชญาอัตถิภาวนิยมชาวฝรั่งเศส กล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่า The spirit of Abstraction หรือ จิตวิญญาณนามธรรม ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้เกิดสงครามและความขัดแย้งในสังคม
ในทางจิตวิทยาอธิบายว่าสิ่งนี้คือการโน้มน้าวให้คนเชื่อในชุดความคิดนามธรรมหนึ่งอย่างไร้ข้อกังขาและอาจละทิ้งแม้กระทั่งความเป็นมนุษย์ของมนุษย์คนอื่น เช่น เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว หรือ โฮโลคอสต์ (The Holocaust) ของพรรคนาซีที่มี อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง เขาสร้างชุดความคิดนามธรรมที่ทำให้ชาวเยอรมันเชื้อสายอารยันเชื่อว่าตนเป็นชาติพันธุ์ที่สูงส่ง และผลักให้ชาวยิวซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศเดียวกันให้กลายเป็นเนื้อร้ายที่จะมาทำให้ชาวอารยันล่มสลาย หน้าที่ของพรรคจึงต้องกำจัดชาวยิวทิ้งไปให้หมดจากแผ่นดิน เหตุการณ์ครั้งนั้นนำมาสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์
เมื่อชุดความคิดนามธรรมนั้นกลายมาเป็นจารีตหรือกฏเกณฑ์ของสังคม หากมีใครสักคนลุกขึ้นมาตั้งคำถามหรือต่อต้านจึงเป็นเรื่องผิด คนส่วนใหญ่ในสังคมที่เติบโตมากับชุดความคิดนั้นจะมองคนที่เห็นต่างเป็นศัตรูที่ต้องกำจัด แม้ด้วยวิธีโหดเหี้ยมแค่ไหน เขาก็จะไม่รู้สึกผิดบาปเพราะเชื่อว่านั่นเป็นสิ่งที่ควรทำ
ผลวิจัยที่ระบุว่าคนเราจะลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนอื่นลง หากใครมีใครสักคนละเมิดกฎดังกล่าว ซ้ำร้ายไปกว่านั้น พอล บลูม (Paul Bloom) นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการให้เหตุผลทางสังคมและศีลธรรมให้ความเห็นอีกว่า ความโหดร้ายที่สุดอาจไม่ได้จบที่การลดทอนความเป็นมนุษย์ แต่กลับเห็นว่าอีกฝ่ายเป็นมนุษย์ที่เจ็บปวดเป็น เลยเลือกที่จะทำร้ายเพื่อเป็นการลงโทษที่เห็นต่างจากความคิดนามธรรมนั้นๆ
ไม่ใช่แค่สังคมที่ผิดเพี้ยนเท่านั้นที่ทำให้มนุษย์ไม่เห็นอกเห็นใจคนอื่น แต่สำหรับบางคน ความโหดเหี้ยมนั้นฝังรากลึกอยู่กับเขาในระดับ ‘พันธุกรรม’ นอกกจากพันธุกรรมจะเป็นตัวกำหนดลักษณะภายนอกของมนุษย์แล้ว ยังเป็นตัวกำหนดที่ทำให้เรามีพฤติกรรมบางอย่างที่แตกต่างกันด้วย
เรากำลังพูดถึงกลุ่มคนที่โหดเหี้ยมโดยธรรมชาติ อย่าง ไซโคพาธ (Psychopath) หรือ ซาดิสม์ (Sadism) ที่มักจะรู้สึกดีที่ได้เห็นคนอื่นเจ็บปวด มีความสุขที่เห็นคนอื่นถูกทรมาน เพราะไม่สามารถรู้สึกได้ถึงความเห็นอกเห็นใจอย่างที่มนุษย์คนหนึ่งควรจะมี หรือในบางกรณีอาจยังมีความรู้สึกนั้นหลงเหลืออยู่บ้าง แต่จะรู้สึกได้ก็ต่อเมื่อลงมือทำร้ายเหยื่อจนพอใจแล้ว
ความโหดร้ายที่ฝังรากลึกนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากพันธุกรรมเป็นทุนเดิมและมีสิ่งแวดล้อมที่ไม่พึงประสงค์เป็นตัวเสริมแรง สองอย่างนี้จะทำให้กลไกการป้องกันตัวทำงานหลงทิศหลงทาง เมื่อมียีนความโหดร้ายอยู่ในตัวและตกอยู่ในสถานการณ์แย่ๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้ เท่านั้นก็เป็นเส้นทางที่พาไปสู่การเป็นไซโคพาธได้อย่างง่ายดาย
ควิน เอ็ม บีเวอร์ (Kevin M. Beaver) นักอาชญวิทยาด้านชีวสังคม จาก College of Criminology and Criminal Justice มหาวิทยาลัยรัฐฟลอริดา เปิดเผยว่ายีนที่ว่าคือ ยีนนักรบ (Warrior gene) ที่ผลิตเอนไซม์ โมโนเอมีน ออกซิเดส เอ (Monoamine oxidase A: MAOA) ซึ่งมักจะทำให้เด็กผู้ชายชอบใช้ความรุนแรงและก้าวร้าวผิดปกติ ส่วนในเด็กผู้หญิงนั้นยีนชนิดนี้ไม่ได้ส่งผลกับพฤติกรรมรุนแรงสักเท่าไหร่นัก
MAOA เป็นเอนไซม์ที่ควบคุมระดับของสารสื่อประสาทในร่างกาย ซึ่งสารเหล่านั้นทำหน้าที่กระตุ้นความรุนแรง หากยีนนักรบปล่อย MAOA ในระดับต่ำนั่นหมายความว่าคนเราจะมีพฤติกรรมที่ใช้ความรุนแรงมากขึ้น
งานวิจัยอีกชิ้นในปี 2002 ยังค้นพบอีกว่าเด็กชายที่ถูกทารุณในวัยเด็กและมียีนที่ปล่อยเอนไซม์ MAOA ในระดับต่ำอาจเติบโตมาแล้วมีพฤติกรรมต่อต้านสังคม หุนหันพลันแล่นและนำไปสู่การก่ออาชญากรรมได้ง่ายกว่าเด็กชายอีกคนที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมเดียวกันแต่ยีนดังกล่าวปล่อย MAOA ในระดับที่สูงกว่า
เมื่อความชั่วร้ายเป็นเหตุสุดวิสัยที่เกิดจากพันธุกรรม จึงทำให้วงการกฎหมายกำลังถกเถียงกันว่าสิ่งนี้สามารถนำมาเป็นข้ออ้างในชั้นศาลให้กับจำเลยที่ก่อคดีสะเทือนขวัญผู้มียีนชนิดนี้ในร่างกายได้หรือไม่
อย่างไรก็ตามนักนิติวิทยาศาสตร์ให้ความเห็นว่าแม้พันธุกรรมจะมีส่วนที่ทำให้เกิดความรุนแรงจริงอย่างที่ว่า แต่นั่นไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมด เพราะส่วนหนึ่งนั้นเกิดจากสภาพแวดล้อมที่บีบคั้นให้จำเลยมีพฤติกรรมรุนแรงด้วย นั่นหมายความว่าคนมียีนชนิดนี้ไม่ได้ร้ายทุกคน และการมียีนชนิดนี้ไม่อาจเป็นข้ออ้างที่ทำให้จำเลยพ้นผิดได้โดยละเลยไม่พิจารณาเจตจำนงเสรีของเขา
หากมีพันธุกรรมแต่ไร้ซึ่งสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุน ก็ไม่อาจทำให้พฤติกรรมแสดงออกมาได้ เช่น โรคพิษสุราเรื้อรัง (Alcoholism) ที่อาจเกิดขึ้นจาก สนิปส์ (Single nucleotide polymorphism : SNPs) ซึ่งเป็นการแปรผันของดีเอ็นเอที่อาจเกิดขึ้นได้ในคนทั่วไป ความผิดปกติในพันธุกรรมแบบนี้อาจเป็นตัวกำหนดให้คนคนหนึ่งถูกจริตกับแอลกอฮอล์ ดื่มกี่แก้วก็ไม่เมา จนเสี่ยงเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังได้ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่มียีนแบบนี้จะต้องเป็นโรคนี้เสมอไป
ตัวเราเองอาจเป็นคนที่มียีนแห่งความโหดร้ายฝังอยู่ แต่นั่นไม่ใช่ตราบาปที่บอกว่าเราเป็นคนอย่างไร เพราะหากมนุษย์ได้อยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ดีและให้สังคมขัดเกลาไปเรื่อยๆ เราย่อมเรียนรู้ที่จะเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้
อ้างอิง
- Robert Schreib, Toms River. Do genes make people evil?. https://bit.ly/3b4c3Yp
- The Medical Futurist. The Prospects of Behavioral Genetics: Bad Genes Behind Crimes, Precision Education And Losing Free Will?. https://bit.ly/3xKV0o7
- Simon McCarthy-Jones. Why some people are cruel to others. https://bbc.in/3b1Vtsq
- Dolores Garcia-Arocena. The Genetics of Violent Behavior. https://bit.ly/3ehY5Ed
- Alex Lickerman. The True Cause Of Cruelty. https://bit.ly/3unKfps