life

หากความตายไม่ใช่จุดสิ้นสุดที่ดับสูญโดยสมบูรณ์ แต่เป็นจุดเปลี่ยนผ่านไปสู่การเริ่มต้นใหม่ของชีวิตอีกครั้ง โลกหลังความตายอาจมีอยู่จริง

วิทยาศาสตร์กับความเรื่องลี้ลับคือขั้วตรงข้ามระหว่างความจริงที่พิสูจน์ได้กับความงมงายที่หาที่มาที่ไปไม่เจอ แต่ถึงอย่างนั้นนับตั้งแต่อดีต นักวิทยาศาสตร์ต่างพยายามใช้วิทยาศาสตร์ศึกษาเรื่องนี้ ด้วยหวังว่าสักวันพวกเขาจะไขความกระจ่างได้

ท่ามกลางข้อกังขาและการถกเถียงเรื่องความไม่น่าเชื่อถือมากมายต่อการทดลองวิญญาณ ผี และโลกหลังความตาย แต่อย่างน้อยที่สุด ความพยายามเหล่านี้บอกให้รู้ได้ว่า มนุษย์ไม่เคยหยุดหาคำตอบในเรื่องที่ตนสงสัย ต่อให้ถูกมองว่าไร้สาระแค่ไหนก็ตาม

 

The Spirit Phone
ฟังเสียงผู้ล่วงลับ

ปลายช่วงปี 1920 เวลาไม่นานก่อนที่ โทมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) นักประดิษฐ์และนักธุรกิจชาว​อเมริกันผู้ทำให้หลอดไฟกลายเป็นสินค้าที่ผู้คนต้องมีทุกบ้านจะเสียชีวิต เขาหารือกับนักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งอย่างลับๆ เพื่อร่วมกันคิดวิธีติดต่อกับคนตาย

Photo: AFP

เอดิสันเคยให้สัมภาษณ์กับ American Magazine ว่า เขาใช้เวลาศึกษามาระยะหนึ่งแล้ว ตั้งใจจะสร้างเครื่องมือบางอย่างเพื่อพูดคุยกับวิญญาณ ซึ่งไม่ใช่วิธีแปลกประหลาด แต่เป็นความพยายามใช้วิธีทางวิทยาศาตร์มาเป็นสื่อกลางพิสูจน์เรื่องนี้ เขายังหวังด้วยว่าจะทำได้สำเร็จในเร็ววัน ทั้งหมดเกิดจากความสงสัยส่วนตัว เขาตั้งสมมติฐานว่า ถ้าหากวิญญาณคือพลังงานรูปแบบหนึ่ง ก็น่าจะสื่อสารกับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ได้

Photo: https://archive.nerdist.com/thomas-edison-spirit-box-life-death-ghosts/

แต่นักประวัติศาสตร์ไม่เชื่อ เพราะไม่มีหลักฐานใดยืนยันว่าเป็นความจริง จนกระทั่งในปี 2015 ฟิลิปส์ บอลด์วิน (Philippe Baudouin) นักข่าวชาวฝรั่งเศสพบหนังสือหายากในร้านขายของมือสองด้วยความบังเอิญ คือ The Diary and Sundry Observations of Thomas Alva Edison (1948) หรือบันทึกส่วนตัวของเอดิสันฉบับแปลภาษาฝรั่งเศส

ความน่าสนใจจึงอยู่ตรงที่ว่า ในฉบับแปลภาษาฝรั่งเศสพูดถึงทฤษฎีและมุมมองของเอดิสันต่อ spirit world หรือโลกวิญญาณหลังความตาย รวมถึงสารพัดวิธีที่อาจใช้ติดต่อวิญญาณได้ ซึ่งเป็นบทที่ถูกตัดออกจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ สาเหตุคงเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ หากนักประดิษฐ์คนสำคัญในแวดวงวิทยาศาสตร์กลับไปสนใจและหมกมุ่นอยู่กับความลึกลับ แต่ถึงอย่างนั้น แนวคิดของเอดิสันได้สร้างแรงบันดาลใจและจุดกระแสการประดิษฐ์ Spirit Phone หรืออุปกรณ์พูดคุยกับคนตายในยุคต่อมา

Photo: National Portrait Gallery, Smithsonian Institution; transfer from the Smithsonian American Art Museum; gift of Eleanor A. Campbell to the Smithsonian Institution, 1942

ปี 1941 แอตติลา วอน ซาเลย์ (Attila von Szalay) ช่างภาพชาวอเมริกัน และ เรย์มอนด์ เบย์เรส (Raymond Bayless) ศิลปินผู้วาดภาพประกอบชาวอเมริกัน ร่วมกันพยายามบันทึกเสียงวิญญาณด้วยอุปกรณ์ที่พวกเขาปรับแต่งใหม่โดยป้องกันไม่ให้มีเสียงแทรกเข้า ผ่านไป 15 ปี ซาเลย์กล่าวอ้างว่าบันทึกเสียงคนที่ตายได้เป็นครั้งแรก การค้นคว้าของทั้งคู่ได้รับการกล่าวถึงในบทความ The Dead Speak To Us ซึ่งตีพิมพ์ลงวารสา American Society for Psychical Research ในปี 1959 ด้วย

ปีเดียวกันนั้น เฟรดริช ยูเกนสัน (Friedrich Jürgenson) ผู้ควบคุมดูแลการผลิตภาพยนตร์ชาวสวีเดน ได้ยินเสียงพูดผู้ชายปริศนาระหว่างที่เขากำลังบันทึกเสียงนกเพื่อนำไปใช้ในหนัง ยูเกนสันจึงบันทึกเสียงมากขึ้นเพื่อหวังให้ได้ยินเสียงแปลกๆ เพิ่ม ปรากฏว่าเขายิ่งได้ยินเสียงคนพูดซึ่งไม่ทราบแห่งที่มา

Photo: Courtesy of The Friedrich Jürgenson Foundation

คอนสแตนติน รอดดีฟ (Konstantin Raudive) นักจิตวิทยาเชื้อสายแลตเวีย จึงร่วมศึกษาเรื่องนี้กับยูเกนสัน พวกเขาบันทึกเสียงคนปริศนาได้จำนวนมาก ช่วงปี 1960 รอดดีฟจึงสร้างห้องทดลอง เขาติดตั้งฉนวนเพื่อป้องกันสัญญาณวิทยุสื่อสารจากภายนอกไม่ให้หลุดรอดเข้าไปได้ แต่พวกเขายังคงได้ยินเสียงคนพูดผ่านเครื่องบันทึกเสียงเหมือนเดิม การทดลองของเขาถูกตั้งคำถามมากมาย ซึ่งรอดดีฟเองก็ไม่อาจหาคำตอบใดมาอธิบายได้

ปัจจุบัน Electronic Voice Phenomena หรือปรากฏการณ์ตรวจจับและบันทึกเสียงลึกลับ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น Pseudo-Science หรือการลวงให้หลงเชื่อว่าเป็นวิทยาศาสตร์

 

The Soul Weight
น้ำหนักของวิญญาณ

หากความเชื่อเรื่องวิญญาณจะหลุดออกจากร่างคนตายคือความจริง เป็นไปได้ว่าน้ำหนักของร่างกายระหว่างยังมีชีวิตกับเพิ่งหมดลมหายใจย่อมเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย แล้ววิธีง่ายที่สุดที่จะทำให้รู้ได้ว่า วิญญาณของมนุษย์มีน้ำหนักเท่าไหร่ ก็คือการชั่ง

Photo: https://www.wonews.it/post/21-grammi-peso-dell-anima-duncan-macdougall

ในปี 1901 ดันแคน แม็คดูกัลล์ (Duncan MacDougall) แพทย์ประจำโรงพยายาลในเมืองเฮเวอร์ฮิลล์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา จึงคิดค้นการทดลองเพื่อหาคำตอบในเรื่องนี้ แม็คดูกัลล์เริ่มต้นคัดเลือกผู้ป่วยระยะวิกฤตในโรงพยาบาลที่เขาทำงานอยู่มา 6 คน แบ่งเป็นผู้ป่วยวัณโรค 4 คน ผู้ป่วยโรคเบาหวาน 1 คน และผู้ป่วยไม่ทราบสาเหตุของโรค 1 คน

ผู้ป่วยทุกคนผ่านการประเมินและตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดแล้วว่าคงมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกได้ไม่นาน และต้องอยู่ในภาวะอ่อนแรง เพื่อผู้ป่วยจะได้นอนนิ่งๆ สาเหตุที่เขาไม่อยากให้ผู้ป่วยขยับตัวบ่อย เพราะการสั่นไหวของร่างกายแม้เพียงเล็กน้อยจะทำให้เครื่องชั่งบอกน้ำหนักได้ไม่คงที่ จากนั้นแม็คดูกัลล์จะเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปนอนพักบนเตียงซึ่งดัดแปลงให้วางบนเครื่องชั่งน้ำหนักขนาดใหญ่ที่ใช้ในอุตสาหกรรม เพื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัว

Photo: Public domain

แม็คดูกัลล์พยายามควบคุมทุกอย่างที่มีผลต่อน้ำหนักผู้ป่วย โดยเฉพาะการสูญเสียน้ำในร่างกายระหว่างวันจากการหายใจและการขับถ่าย แต่ความยากที่สุดของการทดลองนี้คือ ความเอาแน่เอานอนไม่ได้ เขาไม่มีทางรู้ล่วงหน้าว่าผู้ป่วยแต่ละคนจะตายตอนไหน เพราะข้อมูลที่เขาต้องการคือ น้ำหนักตัวที่ชั่งได้ทันทีหลังจากผู้ป่วยตาย

ยังดีที่แม็คดูกัลล์พอจะคาดคะเนเวลาตายของผู้ป่วยวัณโรคได้ในระดับชั่วโมง เมื่อผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ แม็คดูกัลล์เขียนไว้ในบันทึกการทดลองว่าน้ำหนักตัวที่เครื่องชั่งวัดได้ลดลงทันที 3 ส่วน 4 ออนซ์ เทียบเท่า 21.3 กรัม แต่ผลลัพธ์ของผู้ป่วยแต่ละคนกลับไม่เท่ากัน เขายังจำเป็นต้องตัดผลการทดลองของผู้ป่วย 2 คน เพราะความคลาดเคลื่อนของผลลัพธ์ เนื่องจากตาชั่งมีปัญหาและวัดไม่ทันเวลาตาย

Photo: William Blake, The Soul hovering over the Body, 1813 / Royal Academy of Arts, London

แม้น้ำหนักที่วัดได้ไม่ใช่ค่าคงที่ แต่แม็คดูกัลล์กลับเลือกสรุปผลการทดลองว่า วิญญาณมนุษย์มีน้ำหนัก 21 กรัม และตั้งชื่อการทดลองนี้ว่า 21 Grams Experiment เขายังทดลองด้วยวิธีการเดียวกันกับสุนัข 15 ตัวเพื่อหาน้ำหนักวิญญาณสัตว์ แต่ไม่พบการเปลี่ยนแปลง

ปี 1907 แม็คดูกัลล์ตัดสินใจตีพิมพ์การทดลองเป็นบทความลงวารสาร American Medicine และ American Society for Psychical Research นำไปสู่ข้อโต้แย้งทางการแพทย์หลายประเด็น เพราะตลอดการทดลองเกิดความผิดพลาดทำให้ข้อมูลทั้งหมดคลาดเคลื่อนและไม่น่าเชื่อถือใดๆ

 

Near-Death Experiences
ประสบการณ์ใกล้ตาย

ทำไมคนที่ผ่านประสบการณ์ใกล้ตตายจึงมักจะบอกเล่าเรื่องราวทำนองกันว่า พวกเขาเห็นแสงจ้า หรือเห็นผู้คนในชีวิตที่ล่วงลับไปแล้วมาหา บ้างก็เห็นตัวเองนอนแน่นิ่งขณะหมอและพยาบาลช่วยกันปั๊มหัวใจให้ร่างกายของเขาฟื้น เกิดอะไรขึ้นกับมนุษย์กันแน่

ความจริงที่วิทยาศาสตร์ยืนยันได้ตอนนี้คือ ชีวิตกับความตายไม่ได้แบ่งแยกจากกันฉับพลันทันทีเหมือนสับสวิตซ์จากเปิดเป็นปิด แต่ความเป็นและความตายมีระยะทางเชื่อมถึงกัน หมายความว่า กว่าร่างกายจะยุติการทำงานอย่างสมบูรณ์ต้องใช้ระยะพักใหญ่ จึงเป็นไปได้ว่า หากมนุษย์ได้รับการกู้ชีพให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง สิ่งใดๆ ที่เกิดขึ้นบนระยะทางระหว่าง อยู่ หรือ ไป อาจกลายเป็นประสบการณ์ที่ร่างกายจดจำได้

Photo: https://www.independent.ie/lifestyle/health/meet-sam-parnia-the-man-who-could-bring-you-back-from-the-dead-29298363.html

แซม พาร์เนีย (Sam Parnia) แพทย์เวชบำบัดวิกฤต และนักวิจัยด้านการช่วยฟื้นคืนชีพด้วยวิธีปั๊มหัวใจ หนึ่งในคนที่สนใจศึกษาเรื่องจิตสำนึกและ ประสบการณ์ใกล้ตาย (Near-Death Experiences หรือ Shared Death Experiences) หลังเก็บข้อมูลเป็นเวลากว่า 3 ปี ด้วยการสัมภาษณ์ประกอบกับสังเกตการณ์ผู้ป่วยระยะวิกฤตที่เข้ารักษาตัวในห้อง ICU ราว 1,500 คน ซึ่งทั้งหมดรอดชีวิตจากอาการหัวใจวาย ทำให้แบ่งผู้ป่วยกลุ่มได้เป็น 3 กลุ่ม

กลุ่มแรกจำอะไรไม่ได้เลย เหมือนนอนหลับไปแล้วตื่นมา กลุ่มสองมองเห็นแสงสีขาวปลายอุโมงค์หรือได้ปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ อาจเป็นญาติหรือคนรู้จักที่ตายไปก่อนแล้ว กลุ่มสามเห็นร่างของตนนอนหมดสติ และเห็นทุกอย่างที่เกิดขึ้นรอบตัวในห้องผู้ป่วย ทั้งเสียงการทำงานของเครื่องไม้เครื่องมือ บางคนจดจำคำพูดของหมอและพยายาลได้อย่างละเอียด

Photo: Pau Barrena / AFP

พาร์เนียสนใจประสบการณ์วิญญาณออกจากร่างของผู้ป่วยกลุ่มสาม เพราะความรู้ทางการแพทย์บอกว่า เมื่อหัวใจหยุดเต้น ไม่มีเลือดไปเลี้ยงสมอง ภายใน 20 วินาที สมองจะหยุดสั่งการ จึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ป่วยจะรู้เห็นเหตุการณ์ทุกอย่าง ส่วนแสงที่เห็น อาจเป็นผลจากความดันเลือดบริเวณดวงตาลดลง รูม่านตาจึงหดตัวตาม ทำให้แสงผ่านเข้าตาน้อยเป็นจุดเล็กๆ แต่เขาก็ยังหาคำตอบทางวิทยาศาสตร์ที่จะมาอธิบายประสบการณ์ใกล้ตายอย่างครอบคลุมไม่ได้

ที่ผ่านมายังมีกรณีศึกษาที่น่าสนใจอื่นๆ อย่างกรณีผู้ป่วยชาวแคนาดาคนหนึ่งในปี 2017 หลังจากประกาศเวลาตายเสร็จสิ้น ปรากฏว่าคลื่นสมองยังแสดงผลอยู่ในภาวะหลับลึกนานถึง 10 นาที ก่อนจะหยุดทำงาน ถือเป็นหลักฐานใหม่ที่หักล้างความรู้เก่า กลายเป็นโจทย์ให้แพทย์ศึกษาเรื่องนี้ต่อไป เพื่อพัฒนาการกู้ชีพด้วยวิธีปั๊มหัวใจ โดยสมองยังไม่ได้รับความเสียหาย เท่ากับว่าเพิ่มโอกาสดึงมนุษย์กลับมาจากความตายได้อีกครั้ง

Ghost Images
คนเห็นผี

หากบอกว่าผีคือสิ่งที่มองไม่เห็น บางคนอาจเถียงขาดใจเพราะเขามองเห็นเต็มสองตา

I see dead people.
Photo: The Sixth Sense (1999) / Hollywood Pictures

ย้อนไปสู่คำถามที่ว่า ผีมีจริงหรือไม่? แม้ยังพิสูจน์ไม่ได้ชัดเจน แต่มนุษย์จะแน่ใจได้อย่างไรว่าสิ่งที่ตนมองเห็นคือผีหรือวิญญาณตัวเป็นๆ ผีอาจไม่มีอยู่จริงตั้งแต่แรกก็เป็นได้ เพราะการมีอยู่ของผีที่หลายคนเห็น อธิบายได้ด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ โดยตีความ ผี เท่ากับ ภาพหลอน ที่เกิดจากผลข้างเคียงในระบบการทำงานของร่างกาย

บางคนกลัวผีมาก จนอยู่คนเดียวแทบไม่ได้ ไม่ชอบความมืด และพยายามหลีกเลียงทุกความเสี่ยงที่เปิดโอกาสให้เผชิญหน้ากับผี หรืออาจเป็นคนที่กลัวผีโดยไม่มีสาเหตุ เพราะปักใจเชื่ออย่างงมงายแล้วว่าผีมีจริง ทั้งหมดเป็นอาการกลัวผีและสิ่งลึกลับอย่างรุนแรงไร้เหตุผล หรือ Phasmophobia ความตื่นตระหนกจากความกลัวสุดขีดจะสร้างภาพหลอนขึ้นมา หรือเห็นบางอย่างที่ไม่ชอบมาพากล ก็คิดว่าเป็นผี

Photo: Mistress Agnes (1893) / Mihály Zichy

นอกจากนี้ หากร่างกายได้รับสารพิษ โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ อาจเกิดภาพหลอนและหูแว่ว ซึ่งเป็นอาการประสาทหลอน ร่วมกับอาการเหนื่อยล้าสับสน ซึ่งคาร์บอนมอนอกไซด์เป็นก๊าซไร้กลิ่นและสี จึงตรวจจับได้ยาก

ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าร่างกายได้รับสารพิษเป็นเวลานาน จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมองในระยะยาว ทำให้ความคิด ความจำ และพฤติกรรมผิดเพี้ยนไป บางคนรู้สึกว่ามีบางสิ่งมาแตะต้องตัวตลอดเวลา หรือเข้าไปอยู่ในพื้นที่แคบๆ เก่าๆ เป็นเวลานาน ซึ่งอากาศนิ่ง ไม่ค่อยไหลเวียน จนร่างกายได้รับก๊าซออกซิเจนไม่เพียงพอ ก็อาจทำให้เห็นภาพหลอนได้เหมือนกัน

Photo: https://www.wga.hu/frames-e.html?/html/f/fuseli/05nightm.html

หลายคนนอนอยู่ดีๆ กลับลืมตาตื่นกลางดึกแต่ขยับตัวไม่ได้ เจ็บอกเหมือนมีคนมานอนทับ คิดว่าคงถูก ผีอำ เข้าแล้ว กว่าร่างกายจะขยับได้ ประสบการณ์หลอนนี้คงฝังใจไปอีกนาน แต่ใช่ที่ไหนเล่า นักวิทยาศาสตร์เรียกอาการนี้ว่า Sleep Paralysis เป็นภาวะรู้ตัวครึ่งหลับครึ่งตื่น แต่เคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ชั่วขณะ อยากพูดก็พูดไม่ได้จนรู้สึกอึดอัดไม่สบายใจ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในช่วงใกล้หลับและใกล้ตื่น

The Spirit Molecule
เดินทางสู่โลกอื่น

ความตายคือความลับดำมืดที่มนุษย์ไม่มีวันรู้ว่าเป็นอย่างไรจนกว่าจะถึงวันที่หมดลมหายใจ แต่มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยากรู้ อยากเห็น อยากลองโดยธรรมชาติ จึงพยายามทุกวิถีทางเพื่อหาคำตอบเบื้องหลังความตาย แม้ความเป็นไปได้จะน้อยมากๆ ที่คนปกติ ซึ่งไม่ได้เจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุร้ายแรงจะมีโอกาสสัมผัสกับประสบการณ์เฉียดความตายแล้วรอดชีวิตกลับมา

Photo: https://www.drugscience.org.uk/drug-information/dmt/

จนกระทั่งนักวิทยาศาสตร์ได้รู้จักกับ DMT หรือ Dimethyltryptamine (ไดเมทธิลทริปตามีน) สาร​เสพติดออกฤทธิ์หลอนประสาทที่พบในพืชและสัตว์บางชนิด เป็นสารที่ชนเผ่าพื้นเมืองแถบอเมริกาใต้ บราซิล และเปรู นิยมใช้เพราะพวกเขาเชื่อว่าเป็นสื่อกลางพาไปพบกับพระเจ้าที่นับถือ หลังเสพเข้าร่างกาย จะรู้สึกว่าตัวเองได้รับประสบการณ์ราววิญญาณออกจากร่างไปมิติคู่ขนานหรือเป็นหนึ่งกับธรรมชาติ สารนี้จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า The Spirit Molecule

นักวิทยาศาสตร์จึงเริ่มหันมาสนใจศึกษาผลลัพธ์จากการเสพ DMT ว่าให้ประสบการณ์หลังความตายได้จริงหรือไม่ เช่นเดียวกับ คริส ทิมเมอร์แมน (Chris Timmerman) ผู้ช่วยวิจัยด้านสมอง ประจำคณะแพทยศาสตร์ ราชวิทยาลัยลอนดอน (Imperial College London) เขากำลังศึกษาเรื่องนี้ในระดับปริญญาเอก เพื่อดูผลกระทบของสาร DMT ต่อระบบประสาทและสมองของมนุษย์

ทิมเมอร์แมนพบว่าในภาวะปกติ DMT เป็นสารที่สมองผลิตได้ และจะผลิตมากที่สุดเมื่อร่างกายอยู่ในช่วงหลับลึก หรือ REM sleep ทำให้เกิดการคิดเป็นจินตนาการในความฝัน ซึ่งเพิ่มโอกาสที่จะได้สัมผัสกับสภาวะที่ร่างกายจำลองประสบการณ์เฉียดตายมากขึ้น 2.8 เท่า

Photo: https://churchlifejournal.nd.edu/articles/come-holy-spirit-the-vulnerable-bravery-of-fr-hesburghs-favorite-prayer/

ส่วนการเสพ DMT เข้าร่างกายโดยตรง จะทำเกิดภาพหลอนชั่วครู่ในระดับรุนแรงกว่า แสดงว่ามีโอกาสเข้าถึงประสบการณ์เฉียดตายได้มากกว่าด้วย แต่ก็ยังมีบางเรื่องที่เขาหาคำตอบไม่ได้ โดยเฉพาะลักษณะภาพที่เห็นเหมือนกัน ได้เจอคนปริศนาคนเดียวกัน หรือเป็นสิ่งใกล้เคียงกันมาก ทั้งๆ ที่แต่ละคนไม่ได้มีประสบการณ์ร่วมกันมาก่อน

การค้นคว้าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง DMT กับประสบการณ์วิญญาณออกจากร่างจึงมักจะถูกโต้แย้งว่าเป็นแต่ภาพหลอนชั่วคราว เพราะยังขาดความแม่นยำและหลักการเพื่ออธิบายประสบการณ์ที่ใกล้ตายได้อย่างครบถ้วนและชัดเจน

 

อ้างอิง