ถ้าคุณบังเอิญพบภาพเขียนของจิตรกรระดับโลกมูลค่าครึ่งล้านบาทในกองของเก่าที่กำลังจะถูกโละทิ้ง คุณจะเอาเงินที่ได้จากการขายภาพนี้ไปทำอะไร
คำตอบสำหรับ ไมเคิล ดอบบ์ (Michael Daube) มีเพียงหนึ่งเดียว คือ นำเงินที่ได้จากลาภลอยก้อนนี้ไปสร้างโรงเรียนในประเทศอินเดีย
เขาไม่ใช่ทายาทเศรษฐี แถมในตอนนั้นยังเป็นแค่นักศึกษาศิลปะชาวอเมริกันที่เพิ่งเรียนจบ ยังไม่เริ่มทำงานเลยด้วยซ้ำ แล้วอะไรทำให้เขาเลือกที่จะนำเงินไปสร้างโรงเรียนในประเทศที่ตัวเองเพิ่งจะโดนหลอกแล้วหลอกอีกมาหยกๆ แทนที่จะเอามาเป็นทุนตั้งต้นในการสร้างอาชีพของตัวเอง
หากจะหาเหตุผลแห่งการกระทำ คงต้องย้อนเล่าตั้งแต่เหตุการณ์ในเทอมสุดท้ายของการเรียนในคณะจิตรกรรม ณ Pratt Institute กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ขณะที่ไมเคิลกำลังเอากระดาษหนังสือพิมพ์มาเช็ดหมึกออกจากผลงานภาพพิมพ์ซึ่งเป็นชิ้นงานวิทยานิพนธ์ของเขา ภาพบนหน้าหนึ่งของ The New York Times ในมือกลับตรึงสายตาให้เขาชะงักงัน
รูปดังกล่าวเป็นภาพพระราชวังเก่าแก่ในรัฐโอริศา ประเทศอินเดีย ที่มลังเมลืองและทรงพลังถึงขั้นทำให้ว่าที่ศิลปินหนุ่มถึงกับฉีกเนื้อข่าวพับเก็บใส่กระเป๋า พร้อมกับวางแผนออกเดินทางไปผจญภัยในอินเดียทันที หลังจากที่เขาค้นหาคำตอบอยู่พักใหญ่ว่าหลังเรียนจบแล้วจะทำอะไรดี
ทันทีที่เดินทางถึงกรุงนิวเดลี การผจญภัยของไมเคิลก็เริ่มต้นแบบไม่ทันตั้งตัว จากบรรดานายหน้าที่พร้อมจะพุ่งตัวเข้ามาเสนอความช่วยเหลือในการจัดหาตั๋วเดินทางไปที่ไหนก็ได้ในอินเดีย
นักท่องเที่ยวที่เคยแบกเป้เที่ยวอินเดียร้อยละร้อยย่อมเคยเจอประสบการณ์ที่คนท้องถิ่นปรี่เข้ามาทักทาย พร้อมให้คำแนะนำสารพัดเกี่ยวกับการเดินทาง แต่ผลลัพธ์ที่ได้มักจบด้วยการรื้อแผนของนักท่องเที่ยวผู้โชคดีทิ้ง แล้วเสียบด้วยแผนใหม่ที่เจ้าถิ่นการันตีว่า สะดวก ประหยัดเวลา และราคาย่อมเยา
แผนเดิมของไมเคิลที่เรียบง่ายตรงไปตรงมาอย่างการซื้อตั๋วรถไฟจากนิวเดลีไปโอริศาเองก็ถูกเปลี่ยนเช่นกันโดยผู้หวังดีแนะนำให้เขานั่งรถบัสแทน โดยอ้างว่าขณะนั้นการรถไฟกำลังทำการประท้วงจึงหยุดการเดินรถในเส้นทางที่เขากำลังจะไป
ไมเคิลจึงออกเดินทางโดยรถบัสอย่างเสียไม่ได้ในเช้ามืดของวันรุ่งขึ้น เพียงเพื่อจะพบว่าปลายทางของเขากลับกลายเป็นกรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล!
“ผมเพิ่งมารู้ทีหลังว่ารถบัสคันนั้นแอบลักลอบขนสินค้าเถื่อน เขาจึงต้องหาชาวต่างชาติโดยสารไปกับรถสักคนสองคน จะได้ดูไม่มีพิรุธและง่ายต่อการผ่านด่านตรวจ หรือจะพูดอีกนัยนึงก็คือ ผมถูกลักพาตัวไปกาฐมาณฑุนั่นเอง”
รถบัสปล่อยให้ไมเคิลลงที่วัดพุทธชื่อโกปัน (Kopan) ซึ่งชาวต่างชาตินิยมไปนั่งสมาธิและฝึกปฏิบัติธรรม ไหนๆ ก็มาแล้ว เขาจึงใช้เวลาที่วัดแห่งนั้นนานสองอาทิตย์ไปกับการเรียนรู้ปรัชญาของชาวพุทธ โดยเฉพาะเรื่องของความว่างหรือการไม่ยึดมั่นถือมั่นในวัตถุ
หลังจากนั้น เขาก็มุ่งหน้าออกเดินทางไปตามหาพระราชวังแห่งโอริศาต่อ ไมเคิลเลือกบินจากกาฐมาณฑุไปลงที่เมืองโกลกัตตา ซึ่งอยู่ห่างจากโอริศาเกือบ 500 กิโลเมตร
วันแรกที่มาถึงโกลกัตตา ไมเคิลก็เจอเด็กไร้บ้านนิ้วกุด 2 คนเข้ามาผูกมิตรและขอสตางค์ ทีแรกพวกเขาอ้างว่าตนเป็นโรคเรื้อน ซึ่งเป็นโรคที่พบมากในชาวเมืองโกลกัตตา แต่ไมเคิลเอะใจเมื่อสังเกตเห็นว่าโคนนิ้วของพวกเขาดูด้วนผิดรูป เขาจึงซักไซ้ไล่เรียงจนเด็กๆ สารภาพว่าไม่ได้เป็นโรคเรื้อน แต่ถูกตัดนิ้วแล้วลนไฟเพื่อให้ดูเหมือนแผลเน่าจากการติดเชื้อ จะได้ดูน่าสงสาร ง่ายแก่การขอทาน แล้วเอาเงินไปให้ ‘นาย’
บทสนทนาของไมเคิลกับเด็กๆ ดำเนินไปอย่างออกรส จนเด็กทั้งคู่อยากพาไมเคิลไปรู้จักสถานที่ที่พวกเขาไปกินข้าวกลางวันฟรีทุกวัน ทำให้ไมเคิลได้หยุดพัก ณ จุดหมายนอกแผนการเดินทางอีกเป็นครั้งที่สอง นั่นคือ บ้านเด็กกำพร้าของแม่ชีเทเรซา
ไมเคิลทำงานเป็นอาสาสมัครดูแลผู้ป่วยที่ ‘บ้านสำหรับนอนรอความตาย’ ของแม่ชีเทเรซาในย่านกาลิกัต (Kalighat) นานหลายสัปดาห์ หน้าที่ของเขามีตั้งแต่การช่วยอาบน้ำให้ผู้ป่วยรายใหม่ที่เพิ่งเดินทางมาถึง หาอาหารมาให้กิน พูดคุยกับผู้ป่วย และบ่อยครั้งที่เช้าวันรุ่งขึ้น เขาต้องเอาผ้าปูที่นอนห่อร่างไร้ลมหายของผู้ป่วย ก่อนนำไปเผายังวัดในละแวกนั้น
หลังเสร็จสิ้นภารกิจในกาลิกัต ก็ถึงเวลาที่เขาจะได้จับรถไฟมุ่งหน้าสู่โอริศา เพื่อสัมผัสความงดงามของพระราชวังเก่าแก่ที่เป็นเป้าหมายในการเดินทางเสียที ไมเคิลใช้ชีวิตในโอริศานาน 8 เดือน จนคุ้นเคยกับชาวบ้านที่นั่นเป็นอย่างดี
ในการเดินทางกลับอเมริกา เขาเลือกใช้เส้นทางที่ต้องผ่านเมืองธรรมศาลา ซึ่งเป็นยิ่งกว่าบุญหล่นทับ เมื่อเขามีโอกาสเข้าพบองค์ทะไลลามะที่ 14 และได้สนทนาธรรมกับท่านเกี่ยวกับความเชื่อทางพุทธศาสนาที่เขาเพิ่งเรียนรู้มาหมาดๆ
สิ้นสุดพักร้อน กลับสู่โลกแห่งความจริงในปี 1989 ไมเคิลพับเก็บความประทับใจเกี่ยวกับชมพูทวีปใส่ลิ้นชักความทรงจำ แล้วเดินหน้าลุยสู่เส้นทางการเป็นศิลปินด้วยการเสาะหาสถานที่ในการทำสตูดิโอเพื่อสร้างผลงาน จนมาเจอเข้ากับโกดังเก่าให้เช่าราคาไม่แพงในแถบเจอร์ซี ซิตี้
ขณะที่เขากำลังเคลียร์พื้นที่ในโกดังเก่าหลังนั้น ท่ามกลางเศษซากของงานศิลปะสารพัดชิ้น ไมเคิลเหลือบไปเห็นกรอบของภาพเขียนชิ้นหนึ่ง ที่ยิ่งเตะตาเขามากขึ้นเมื่อลายเซ็นที่ปรากฏบนภาพคือ DH ซึ่งเป็นตัวย่อของ เดวิด ฮอคนีย์ (David Hockney)
แจ็คพ็อตเข้าให้แล้ว เมื่อเขาพบขุมทรัพย์อย่างภาพเหมือนของออสซี่ คลาร์ค (Ossie Clark) แฟชั่นดีไซเนอร์ชาวอังกฤษชื่อดังแห่งยุค 60 ที่วาดโดย เดวิด ฮอคนีย์ ศิลปินป็อปอาร์ตระดับตำนาน ในฐานะนักเรียนศิลปะ ไมเคิลรู้ทันทีว่าภาพนี้มีมูลค่าเป็นเงินก้อนโต
ทันทีที่ได้เงินจากการประมูลภาพเขียนจำนวนกว่า 18,000 ดอลลาร์ ไมเคิลไม่ลังเลที่จะนำเงินก้อนนี้ไปใช้ในการก่อตั้งโครงการพัฒนาชุมชนในรัฐโอริศา เพราะเขาเชื่อว่าแม้จะไม่ใช่เม็ดเงินจำนวนมหาศาล แต่เงินก้อนนี้ก็สามารถช่วยชีวิตคนเรือนหมื่นในอีกซีกโลกได้
เหตุผลที่เขาเลือกช่วยคนอินเดีย นอกจากจะเป็นเพราะความประทับใจที่ยังคงตกค้างในตัวหลังกลับจากอินเดียได้ไม่นาน ประสบการณ์ชีวิตในวัยเด็กของเขามีส่วนอย่างมากในการผลักดันให้เขาอยากช่วยเหลือผู้อื่น
เขาเติบโตขึ้นจากการเลี้ยงดูของคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่ต้องดูแลลูกๆ 4 คนเพียงลำพัง ซ้ำร้าย มาร์ค น้องชายของไมเคิลยังป่วยเป็นโรคสมองพิการ ซึ่งในย่านที่พวกเขาพักอาศัยไม่มีสถานที่ที่สามารถดูแลเด็กป่วยเฉพาะทางได้อย่างเหมาะสม
แม่ของเขาจึงนำรถสเตชันแวกอนคันเก่าบุโรทั่งมาดัดแปลงเป็นรถเฉพาะกิจ แล้วทำหน้าที่ขับรถรับส่งเด็กป่วยในละแวกนั้นไปยังศูนย์ดูแลเด็กเฉพาะทางชื่อ School 84 ในเมืองบัฟฟาโล นิวยอร์ก (Buffalo New York) ซึ่งอยู่ห่างออกไปร่วมชั่วโมง ไมเคิลจึงอาสาทำหน้าที่ผู้ช่วยของแม่ในการอุ้มเด็กที่เดินหรือขยับร่างกายไม่ได้ขึ้นรถเป็นประจำ
“ความทรงจำที่ School 84 ยังอยู่ในใจผมเสมอ ผมได้เห็นเด็กที่มีความพิกลพิการหลายรูปแบบใช้ทั้งแรงกายแรงใจต่อสู้กับข้อจำกัดของตัวเองอย่างไม่ย่อท้อในทุกๆ วัน”
ประสบการณ์ชีวิตที่ถูกบ่มเพาะมานานปี สั่งสมจนเกิดเป็นความรู้สึกที่มากกว่าแค่ซาบซึ้งใจ แต่กลายเป็นพันธกิจที่ทำให้ชายคนหนึ่งบอกกับตัวเองว่า เขาจะต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในชีวิตให้รอบด้าน แล้วถ่ายทอดความคิดเหล่านั้นผ่านผลงานศิลปะ และไม่ละเลยที่จะมองหาโอกาสในการหาหนทางบรรเทาทุกข์แก่ผู้อื่นในแบบที่ตัวเองพอจะทำได้
“วิธีที่ผมเลือกไม่ใช่การเอาเงินหรือเอาสิ่งของไปบริจาคแบบผิวเผิน แต่ผมอยากสนับสนุนโอกาสในการทำให้พวกเขาสามารถมองเห็นช่องทางหาเลี้ยงชีพให้ได้ด้วยตัวเองมากกว่า” เพราะเติบโตมาแบบนั้น ไมเคิลจึงเลือกจะหยิบยื่นโอกาสสู่ผู้อื่นในแบบที่ตัวผู้รับเองก็ต้องออกแรงใส่ความมุ่งมั่นพยายามลงไปด้วยเช่นกัน
ส่วนเหตุผลที่เขาเลือกจะเป็นศิลปิน ก็ไม่มีอะไรซับซ้อน
“ศิลปินเป็นวิชาชีพเดียวที่จะสามารถรวมความรักความชอบทั้งหมดของผมเข้าด้วยกัน ทั้งด้านมานุษยวิทยา โบราณคดี ศิลปะ รวมถึงการเดินทาง”
หลังจากไมเคิลเดินทางกลับไปยังโอริศาในปี 1996 เพื่อสร้างโรงพยาบาลขึ้นที่หมู่บ้านจวงกา (Juanga) ซึ่งมีสถานะเป็นโรงพยาบาลเพียงแห่งเดียวในรัฐนี้ที่มีแผนกศัลยกรรมและทันตกรรม เขายังสร้างศูนย์สุขภาพสตรีขึ้นที่นี่ โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิ เฮนรี่ เจ เลียร์ (Henry J. Leir)
ศูนย์สุขภาพสตรีแห่งนี้ให้บริการความต้องการพื้นฐานที่จำเป็น ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงหลังคลอดบุตร โดยหลังจากก่อตั้งศูนย์ฯ แห่งนี้ขึ้น พบว่ามีจำนวนทารกคลอดออกมาอย่างปลอดภัยปีละ 108 คน
ไมเคิลตั้งชื่อองค์กรการกุศลที่เขาก่อตั้งขึ้นว่า จิตตา (CITTA) ซึ่งหมายถึง ดวงจิต โดยมีพันธกิจหลักเป็นการมุ่งเน้นส่งเสริมและให้การสนับสนุนด้านสุขภาพ การศึกษา และการพัฒนาเศรษฐกิจแก่ชุมชนที่มีปัญหาและอยู่ห่างไกลทั่วโลก
หลังเสร็จสิ้นการสร้างโรงพยาบาลในโอริศา มูลนิธิจิตตาก็เดินหน้าพัฒนาพื้นที่ห่างไกลอีกหลายแห่ง เช่น สร้างคลินิคสำหรับชาวมายันที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของป่าลาคาดอนในเม็กซิโก, สร้างโรงเรียนในหมู่บ้านจวงกา, สร้างโรงเรียนในทิเบต, ก่อตั้งศูนย์พัฒนาเศรษฐกิจสำหรับสตรีผู้พิการในหมู่บ้านภักตะปูร์ ประเทศเนปาล, สร้างโรงพยาบาลในฮัมลา อำเภอที่อยู่ห่างไกลและยากจนที่สุดในเนปาล ฯลฯ
และด้วยเลือดศิลปินในตัว ผลงานที่ไมเคิลมีส่วนผลักดันทุกโครงการจึงไม่ต่างอะไรกับการสร้างผลงานทางศิลปะ ที่จะต้องประกอบด้วยสุนทรียะแห่งความงามในสัดส่วนที่ไม่ด้อยไปกว่าประโยชน์ใช้สอย พิสูจน์ได้จากผลงานล่าสุดอย่างโรงเรียนกลางทะเลทรายธาร์ในเมืองจัยซัลแมร์ ประเทศอินเดีย ที่มูลนิธิจิตตาจับมือกับสตูดิโอสถาปัตย์ชื่อดังในนิวยอร์ก ออกแบบโรงเรียนรูปทรงเหมือนไข่ได้โดดเด่นน่าจับตามอง
(อ่านเรื่องราวของโรงเรียนกลางทะเลทรายได้ที่ https://becommon.co/world/idea-oval-shaped-school-indias-thar-desert/)
เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของมูลนิธิจิตตา คือ มุ่งให้ความช่วยเหลือผู้หญิง เพราะไม่ว่าเทคโนโลยีจะขับเคลื่อนให้โลกหมุนไปข้างหน้าเร็วด้วยแค่ไหน แต่สิทธิเสรีภาพของสตรีในหลายพื้นที่ของโลกกลับเหมือนถูกแช่แข็ง ผู้หญิงจำนวนมากยังคงถูกกดขี่และต้องใช้ชีวิตภายใต้กรอบของจารีตประเพณีอย่างเคร่งครัด ไม่ต่างจากหลายพันปีที่ผ่านมา
“ยังคงมีประเพณีล้าหลังอีกมากที่ปิดกั้นไม่ให้ผู้หญิงมีสิทธิมีเสียงในสังคม ผู้หญิงถูกผลักให้ไปอยู่ชายขอบไม่ว่าจะเป็นในครอบครัวของตัวเองหรือในชุมชนก็ตาม มูลนิธิจิตตาจึงมุ่งเน้นไปที่การฝึกฝนวิชาชีพและทักษะเฉพาะให้กับผู้หญิง เพื่อให้พวกเธอสามารถนำความรู้ที่ได้ไปสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานพอที่จะวางขายในตลาดระดับประเทศได้”
วิธีการของไมเคิลคือ ใช้วงศ์วานเพื่อนพ้องให้เป็นประโยชน์ ด้วยการจับคู่ความสามารถของผู้หญิงท้องถิ่นฝีมือดีในเนปาลและอินเดีย เข้ากับดีไซเนอร์ ห้องเสื้อ และแบรนด์ดังหลายแห่งในยุโรปและอเมริกา อาทิ การให้สตรีชาวอินเดียและเนปาลผลิตสินค้าหัตถกรรมให้กับแบรนด์อย่าง Donna Karan, J.Crew, Kate Spade, Anthropologie ฯลฯ
“จงทำในสิ่งที่ชอบ ใช้ทักษะที่ตัวเองถนัดในการทำงาน แค่นี้คุณมีความสุขแล้ว ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นชีวิตก็ไม่ต่างอะไรกับผงน้ำตาลไอซิ่งที่โรยบนหน้าเค้ก” ศิลปินวัย 56 ปี ผู้ที่ยังคงสนุกกับการสร้างสรรค์งานศิลปะไปพร้อมๆ กับการสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้เพื่อนร่วมโลก ปิดท้ายด้วยการแบ่งปันคำแนะนำดีๆ ที่เขาเคยได้รับ และอยากบอกต่อถึงเคล็ดลับการทำตัวให้เหมือนเค้กเนื้อดีที่อร่อยเข้มข้นในตัวเอง
อ้างอิง
- Laura Begley Bloom. How One Man is Helping Transform The Lives of Women Around The Globe. https://bit.ly/3vOWBIh
- Adriana Teresa Letorney. In Conversation with Michael Daube, Founder of CITTA. https://bit.ly/3p6trl7