ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘หมอลำ’ เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมอีสานที่คนไทยทั่วประเทศคุ้นหูดี จากชื่อเสียงของศิลปินอย่าง จินตหรา พูนลาภ, นกน้อย อุไรพร, วงโปงลางสะออน ฯลฯ
แต่หากคุณไม่ใช่ชาวอีสานแท้ๆ คงหาโอกาสในการฟังเพลงหรือชมการแสดงหมอลำอย่างเข้าถึงหัวจิตหัวใจของผู้คนจากดินแดนที่ราบสูงได้ยาก ด้วยมีกำแพงทางภาษาเป็นอุปสรรค
หมอลำจึงเปรียบเหมือนโลกอีกใบที่มีวงโคจรเป็นของตัวเอง
แต่แล้วเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ได้มีศิลปินลูกทุ่งหมอลำหน้าใหม่ก้าวมาทำหน้าที่ราวกับทูตวัฒนธรรมเชื่อมโลกของหมอลำให้ผู้คนนอกวงโคจรอยากเข้ามาทำความรู้จักเสียงแคนและถ้อยคำลำนำกลอนให้มากขึ้น
เต๋า – ภูศิลป์ วารินรักษ์ คือศิลปินคนนั้น
ความพิเศษของเต๋าคือ ส่วนผสมของความเป็นลูกครึ่งทางวัฒนธรรมที่กลมกล่อมในตัวเอง
เขาเป็นทั้งนักร้องและนักแสดง โดยแจ้งเกิดทั้งสองสถานะคู่ขนานกันมาโดยตลอด ตั้งแต่เข้าวงการเมื่อ พ.ศ. 2557
ด้วยหน้าตาที่กระเดียดไปทางโอปป้า จนทำให้คนที่ไม่เคยรู้จักเขามาก่อน เดาไม่ออกว่าเต๋าเป็นหนุ่มอุบลขนานแท้ ทำให้เขาสวมวิญญาณ บักเคน ทายาทหมอลำแต่กลับเป็นแฟนคลับเกาหลีตัวยง ในภาพยนตร์อินดี้ทำเงินประจำ พ.ศ. 2559 อย่าง ‘ผู้บ่าวไทบ้าน 2 ตอน แจกข้าวหาแม่ใหญ่แดง’ ได้อย่างสมบทบาท
ตามมาด้วยผลงานการแสดงละครแนวลูกทุ่งทางช่องโทรทัศน์ที่หลากหลาย ในบทบาทที่เขาสบายใจอย่างการเป็นพระรองในทุกๆ เรื่อง โดยเฉพาะปีนี้ที่เต๋ามีละครออนแอร์พร้อมกัน 2 เรื่อง ครองเวลาตั้งแต่ช่วงเย็นใน ‘ผู้ใหญ่สันต์ กำนันศรี’ ยาวไปจนถึงละครหลังข่าวอย่าง ‘มนต์รักหนองผักกะแยง’ ที่มี ณเดชน์ คูกิมิยะ เป็นแม่เหล็ก พลอยทำให้ชื่อของ เต๋า ภูศิลป์ เป็นที่รู้จักนอกจักรวาลของคอเพลงลูกทุ่งยิ่งขึ้น
ล่าสุดเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เขาเพิ่งปล่อยผลงานเพลงใหม่ในชื่อ ‘บ่ไปกรุงเทพฯ ได้บ่’ ที่ชวนให้ชาวไทยจากทั่วสารทิศที่จากบ้านเกิดมาทำงานในกรุงเทพฯ ได้หวนคิดถึงบ้านไปตามๆ กัน
เราถือโอกาสนี้ในห้วงเวลาที่บ้านกลายเป็นสถานที่ที่ใกล้ชิดกับชีวิตผู้คนมากกว่ายุคไหนๆ ชวนเต๋าคุยถึงจุดเริ่มต้นของความรักในเพลงลูกทุ่งหมอลำของเขา บทบาทการเป็นครูสอนวัฒนธรรมจำเป็น และเหตุผลที่ทำให้เพลงหมอลำไม่มีวันตายไปจากใจชาวอีสาน
สืบสานสายเลือดหมอลำ
ภูศิลป์ วารินรักษ์ เป็นชื่อเรียกขานในวงการ ชื่อจริงตามบัตรประชาชนของเต๋า คือ ‘เกษม ศรีสมบูรณ์’ เด็กหนุ่มที่เกิดและเติบโตในอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ในบ้านตึกสี่ชั้นย่านตลาดกลางเมือง
ครอบครัวของเขาดำเนินกิจการรับสูบส้วมมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า สืบทอดมาสู่พ่อแม่ และปัจจุบัน พี่สาวของเขารับหน้าที่ดูแลกิจการนี้ โดยเต๋าเองก็มีส่วนช่วยในการต่อยอดกิจการอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด
“ปู่กับย่าเริ่มต้นจากรถสูบส้วมแค่คันเดียว จนตอนนี้เพิ่มเป็น 20 คัน สมัยนั้นไม่มีใครอยากทำงานนี้ เพราะคนส่วนใหญ่มองว่าเป็นอาชีพที่ไม่มีเกียรติ ในขณะที่บ้านผมสนใจทำในสิ่งที่คนอื่นไม่ทำ เลยเริ่มจากการติดต่อขอความรู้จากเทศบาลนครอุบล เขาก็พาไปดูงานว่าควรจะทำแบบไหนให้ถูกต้องตามสุขลักษณะที่บัญญัติไว้ เราจึงเป็นเอกชนเจ้าแรกที่ได้รับสัมปทานจากหน่วยงานราชการ”
เต๋าเติบโตมาในความดูแลอย่างใกล้ชิดของปู่กับย่า เพราะพ่อแม่ของเขารับหน้าที่ทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ที่หลังจากเคยลำบากกันมาแล้วรุ่นสู่รุ่น เมื่อมาถึงเจเนอเรชันของเต๋า เขาจึงได้รับการเลี้ยงดูแบบ ‘ลูกครึ่ง’ คือ ได้รับการศึกษาในโรงเรียนที่ดี แต่ก็ต้องเรียนรู้ชีวิตชาวอีสานบ้านทุ่งแบบไม่ให้ขาดตกบกพร่อง
“ช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ปู่กับย่าจะพาผมไปนอนที่บ้านในทุ่งนา พาไปเลี้ยงวัว เพื่อให้เรารู้จักว่าวัวเป็นสัตว์ประเภทไหน มีฟังก์ชันในการใช้งานยังไง ผูกพันกับมนุษย์แบบไหน ผมต้องตื่นแต่เช้าเพื่อไปจังหันกับย่าที่วัด ถ้าเป็นภาษาภาคกลางก็คือ ไปถวายอาหารให้พระฉันเช้า จากนั้นย่าจะพาไปตลาดเพื่อท่องชื่อผัก เหมือนในเนื้อเพลง อีสานบ้านเฮา ที่พูดถึง ผักเม็ด ผักกะเดา ผักกระโดน และผักยีฮีน ผมอาจจะไม่ได้ใช้ชีวิตร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่ที่ท้องไร่ท้องนา แต่ก็ไม่เคยลืมว่าเราเกิดและเติบโตมาจากตรงนั้น”
ในขณะที่พ่อ แม่ และพี่สาวของเขา “ปรบมือยังไม่ถูกจังหวะเลยครับ” เต๋ากลับเอาดีทางด้านร้องรำทำเพลงจนยึดเป็นอาชีพได้ ส่วนหนึ่งเพราะได้รับการถ่ายทอดวิชาจากคุณย่า ที่เป็นสายเลือดของศิลปินหมอลำขนานแท้อย่างคุณทวด ที่เป็นหมอลำกลอนในยุคร้อยปีที่แล้ว
“ผมได้เรียนรู้ศิลปะการร้องกลอนลำจากทวด ที่ถ่ายทอดมาถึงผมโดยมีคุณย่าเป็นสื่อกลาง เพราะคุณย่าเคยเป็นลูกมือในการจดบันทึกกลอนลำต่างๆ ของทวด มีเกร็ดสนุกๆ ที่คุณย่าเล่าให้ฟังว่าก่อนจะใช้ดินสอขี้ไก่จดบนกระดานชนวน ต้องอมปลายดินสอก่อนถึงจะเขียนติด”
สิ่งละอันพันละน้อยที่เต๋าซึมซับจากเรื่องเล่าและการเลี้ยงดูของย่าทำให้เขาเบนเข็มจากนักเรียนสายสามัญ มุ่งมั่นเอาดีด้านนาฏศิลป์โดยเฉพาะ
นาฏศิลป์ ประวัติศาสตร์ และการเป็นครู
จากเด็กนักเรียนระดับหัวกะทิที่มีสิทธิ์เรียนต่อสายวิทยาศาสตร์หรือคำนวณได้สบายๆ เกษมกลับเลือกจะนั่งรถประจำทางระหว่างจังหวัด เพื่อร่ำเรียนทางด้านศิลปะการร้องรำที่วิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด ใบเบิกทางแรกที่ทำให้เขาพบเส้นทางสายอาชีพที่ต่อยอดการเป็นศิลปินจนถึงปัจจุบัน
“สิ่งที่ผมได้รับจากการเรียนนาฏศิลป์ คือ มีอาชีพเสริมในการทำงาน ผมรับจ้างร้องเพลงที่ร้านหมูกะทะตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ร้อยเอ็ด ได้ค่าจ้างวันละ 300 บาท ตอนเรียนปริญญาตรีที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ในกรุงเทพฯ ก็ได้รำโขนเป็นงานประจำที่ศาลาเฉลิมกรุง ได้เงินรอบละ 800 บาท ซึ่งเมื่อ 11 ปีที่แล้วถือว่าเยอะมากพอสำหรับจ่ายค่าหอได้สบายๆ”
แม้จะสนุกกับได้โชว์ฝีไม้ลายมือด้านนาฏศิลป์ที่ได้ร่ำเรียนมา แต่ลึกๆ แล้ว เต๋าใฝ่ฝันอยากรับราชการครูมาโดยตลอด ทำให้ทุกครั้งที่มีโอกาส เขาไม่เคยลังเลที่จะแลกเปลี่ยนความรู้สู่นักเรียนนักศึกษาในหลากหลายสถาบัน
“ผมเคยเป็นครูฝึกสอนวิชาดนตรีและนาฏศิลป์ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการรัชดา หลังจากนั้นก็ถูกจ้างต่อเป็นครูอัตราจ้าง แต่ช่วงนั้นแกรมมี่โกลด์เรียกตัวมาเป็นศิลปินฝึกหัดพอดี ผมเลยพับความฝันตรงนั้นไป แม้จะยังอยากสอน และอยากเป็นครูเหมือนเดิม
“โชคดีที่แม้จะเป็นนักร้องแล้ว ผมยังมีโอกาสไปบรรยายพิเศษตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น สอนวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เทอมละครั้ง ไปบรรยายที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นบ้าง มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีบ้าง หรือที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผมก็เคยไปบรรยาย”
“สิ่งที่คนอีสานมีอยู่ในสายเลือดคือ ความรักสนุก ไม่ย่อท้อต่อชะตาชีวิต ไม่ตีอกชกตัวน้อยเนื้อต่ำใจว่าตัวเองเกิดมาด้อยวาสนา อย่างน้อยเราก็สนุกสนาน มีหมอลำในหัวใจ ไหลเวียนในสายเลือด ดังนั้น มีความสุขก็ฟังหมอลำ เศร้าก็ร้องไห้กับเพลงหมอลำ”
เขาสนุกกับการเป็นครูในยุคที่นักเรียนคว้าความรู้ไปพร้อมๆ กับเขา เต๋าย้ำว่าครูไม่จำเป็นต้องเป็นฝ่ายถูกเสมอไป แต่ต้องพร้อมยอมรับความเปลี่ยนแปลง
“คำว่าครูอาจารย์ไม่ได้หมายความว่า ต้องเก่งหรือถูกเสมอไป ครูเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ก็จริง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องพร้อมที่จะเรียนรู้ทัศนคติใหม่ๆ ยอมรับการเปลี่ยนแปลง แล้วนำมาสอนเด็กๆ ได้ด้วย”
“โดยเฉพาะในยุคโซเชียลที่ไม่ว่าใครอยากจะเรียนรู้อะไรก็ไม่จำเป็นต้องเข้าห้องสมุดแล้ว ทุกคนสามารถเสิร์ชหาความรู้ไปพร้อมๆ กัน แล้วนำมาอภิปรายว่าเด็กๆ คิดว่ายังไงกับข้อมูลที่พบในโซเชียล คิดว่าเป็นข้อเท็จจริงประเภทไหน หรือเป็นแค่ข้อมูลจากใครก็ไม่รู้ เราก็เอามาวิเคราะห์ร่วมกันว่า สรุปแล้วเราจะเชื่อถือข้อมูลที่เราได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กันมากน้อยแค่ไหน ต้องมาหาตรงกลางให้เจอ”
ทูตหมอลำคนใหม่
วิวัฒนาการของหมอลำ หน้าที่ของหมอลำที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ไปจนถึงหมอลำกับการพัฒนาทางธุรกิจ เป็นสาระสำคัญที่เขานำไปถ่ายทอดตามสถาบันการศึกษาต่างๆ
ส่วนพื้นที่นอกห้องเรียนตรงนี้ เหมาะแก่การเรียนวิชา หมอลำ 101 สำหรับใครที่อยากทำความรู้จักเสน่ห์ของมนต์เพลงอีสานเพิ่มเติม
“หมอลำเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านภาคอีสานประเภทร้องเพลง เปรียบได้กับลิเกในภาคกลาง เนื้อเรื่องในกลอนลำต่างๆ มักกล่าวถึงประวัติต่างๆ ทางภาคอีสาน เช่น ประวัติของเมือง วรรณคดีอีสาน ฯลฯ คล้ายการเล่านิทาน
“สมัยที่ทวดของผมเป็นหมอลำกลอนเป็นการลำคนเดียว คู่กับหมอแคนที่คอยสร้างสรรค์ดนตรีประกอบเรื่องราว หมอลำคนเดียวคนนี้จะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงก็ได้ โดยในการเล่านิทานหนึ่งเรื่องก็ต้องมีตัวละครทั้งผู้ชาย ผู้หญิง ตัวร้าย เจ้าเมือง ฯลฯ เขาก็จะใช้วิธีการเปลี่ยนบุคลิกตัวละครผ่านผ้าขาวม้าผืนเดียว ถ้าเป็นพระเอกก็จะเอาผ้าขาวม้ามาโพกหัว ถ้าเป็นนางเอกก็เอาผ้าขาวม้ามาพาดเฉียงเป็นสไบในคนๆ เดียว
“ไม่ว่าจะเป็นฤดูกาลไหน หรือวาระใดของชีวิตคนอีสาน จะเกิด แก่ เจ็บ ตาย ล้วนต้องมีหมอลำมาเกี่ยวข้อง ทุกๆ งานบุญจะต้องมีการแสดงของหมอลำ ซึ่งผมคิดว่าความสนุกรื่นเริงตรงนี้น่าจะเป็นเครื่องปลอบใจที่ช่วยให้คนอีสานลืมความทุกข์ไปได้ชั่วขณะหนึ่ง
“เพราะภาคอีสานเป็นภาคที่แห้งแล้ง กันดาร ฝนตกมากน้ำก็ท่วม ขาดฝนก็แล้งหนัก ไม่มีความสมดุล ทำอะไรก็ขาดทุน แต่สิ่งที่คนอีสานมีอยู่ในสายเลือดคือ ความรักสนุก ไม่ย่อท้อต่อชะตาชีวิต ไม่ตีอกชกตัวน้อยเนื้อต่ำใจว่าตัวเองเกิดมาด้อยวาสนา อย่างน้อยเราก็สนุกสนาน มีหมอลำในหัวใจ ไหลเวียนในสายเลือด ดังนั้น มีความสุขก็ฟังหมอลำ เศร้าก็ร้องไห้กับเพลงหมอลำ
“หลายคนอาจไม่มีโอกาสได้กลับบ้าน และโหยหาความรู้สึกแบบสูงสุดสู่สามัญ สุดท้ายหลายๆ คนต่างก็อยากที่จะกลับไปอยู่บ้าน ไม่เป็นไรนะลูก กลับมาบ้านเกิด กลับมานับหนึ่งกันใหม่ อยู่บ้านเราบ้านไม่ต้องเช่า ข้าวไม่ต้องซื้อ”
“ในอดีตหมอลำจะเล่นที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ฉากเวที เล่นบนชานเล้าข้าวก็ได้ แต่ในปัจจุบันมีสิ่งเร้าต่อการตอบสนองมากขึ้น ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ อินเตอร์เน็ต คนก็ไม่ดูหมอลำหรอก หมอลำจะปรับตัวยังไง หมอลำก็ขึ้นนั่งร้านเลยครับ เป็นโครงเหล็ก มีแสงสีเสียง ฉากอลังการ มีไฮโดรลิก อันนี้คือพัฒนาการตามยุคสมัย แต่ก็ไม่ทิ้งความเป็นหมอลำ ที่ก็ยังมีการลำเรื่องต่อกลอนปกติ แต่ในอนาคตอาจจะมีการเหาะเหินเดินอากาศ บินโดรนมาก็ได้”
ก่อนจะถึงยุคที่หมอลำลอยลงมาจากฟ้า ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ได้เสียก่อนว่าในยุคที่โรคระบาดเข้ากระชับพื้นที่เวทีแสดงสดจนงานหดหายไปตามๆ กัน ทางรอดของหมอลำอยู่ที่ตรงไหน
“ในช่วงโควิดที่หมอลำไม่สามารถแสดงสดได้ หมอลำก็เลยสร้างกลุ่มปิดในเฟสบุ๊ก เก็บบัตรออนไลน์ราคา 400-500 บาทก็ว่ากันไป เพื่อให้คนเข้าไปดูสตรีมมิ่ง จึงต้องจารึกไว้ว่าหมอลำเดินทางเข้าสู่โลกออนไลน์แล้ว ดังนั้น แม้โลกจะเปลี่ยนไปสักแค่ไหน หมอลำก็ไม่มีวันตาย”
ทำกรุงเทพฯ ให้เป็นบ้าน
แม้กรุงเทพฯ จะไม่ใช่รักแรกพบ แต่เต๋าก็ใช้ชีวิตในเมืองหลวงของประเทศไทยนานเกินทศวรรษ จนนานพอจะยกให้กรุงเทพฯ เป็นบ้านหลังที่สองของเขา
แน่นอนว่าในอนาคต เต๋าจะต้องกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิด และกว่าจะถึงวันนั้น เขาขอทุ่มเททุกความตั้งใจไปกับการเป็นนักแสดงละครลูกทุ่ง และนำเสนอรากเหง้าของชาวอีสานผ่านบทเพลงต่างๆ ให้จับใจคนไทยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
คุณคิดว่าสำคัญแค่ไหนที่เราควรทำความรู้จักรากเหง้าของตัวเอง
เหตุผลที่ผมชอบเรียนรู้เรื่องราวในอดีต เพราะทำให้เราได้ศึกษาข้อผิดพลาดที่บรรพบุรุษเคยเจอมา ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ฯลฯ เพื่อให้คนในยุคปัจจุบันอย่างเรารู้ว่าจะต้องเดินไปในทิศทางไหน แต่ถึงคนรุ่นเก่าจะอาบน้ำร้อนมาก่อนก็จริง แต่เขาก็อาบน้ำร้อนในยุคที่ยังไม่มีอะไรต่อมิอะไรมากมายเหมือนในปัจจุบัน ดังนั้น ก็ต้องชั่งใจและวิเคราะห์ให้ดี
อย่างตอนนี้ผมกำลังสนใจเรื่องราวของพระนางซูสีไทเฮา ที่หลายๆ คนมองว่าพระนางเป็นผู้หญิงที่ร้ายกาจ แต่ก็มีลูกสาวของราชทูตจีนคนหนึ่งที่เคยเป็นนางสนองพระโอษฐ์ของพระนางซูสีไทเฮาบันทึกไว้ว่า พระนางไม่ใช่คนโหดเหี้ยมขนาดนั้น พระนางก็เหมือนคนทั่วไป เป็นเพียงคนแก่ใจดีคนหนึ่ง พอได้อ่านประวัติศาสตร์ในอีกมุมเลยเกิดข้อเปรียบเทียบในตัวเราขึ้นมา จากขาวจากดำมาเป็นเทา ก็คือความรู้ใหม่ที่อาจจะจริงหรือไม่จริงก็ไม่รู้ แต่เราใช้วิจารณญาณของตัวเองในการเลือกที่จะเชื่อ
คุณใช้วิธีนี้ในการเสพข่าวสารมากมายในแต่ละวันด้วยหรือเปล่า มีกระบวนการกรองข้อมูลอย่างไร
ต้องเกริ่นก่อนเลยว่า ไม่ใช่ว่าผมเป็นดาราศิลปินแล้วจะไม่มีความทุกข์ หรือไม่ได้รับผลกระทบ เราได้รับผลกระทบ แต่ผมเลือกมองในด้านดีอย่างน้อยที่เหลืออยู่ไว้ก่อน เพื่อจะให้เรามีพลังใจในการใช้ชีวิตต่อไปได้ ก่อนหน้านี้ผมเสพข่าวทุกวัน จนกินข้าวไม่ลง ไม่กล้าออกไปไหนมาไหน โดยเฉพาะการนำเสนอข่าวของสื่อบางสำนักที่บางทีก็ขยี้เกินไป ไม่ว่าจะเพื่อเรตติ้งหรืออะไรก็ตาม จนไม่รู้ว่าความจริงอยู่ตรงไหน ผมก็เลยเลือกจะดูแค่สรุปข่าวว่าวันนี้มีผู้ติดเชื้อกี่ราย ห้ามไปที่ไหน ฯลฯ ใช้การวิเคราะห์จากข่าวในทีวี ที่มีทั้งคลิป ทั้งเสียง มีผู้ประกาศข่าวที่น่าเชื่อถือ รวมถึงการเสพข่าวในโซเชียลก็ต้องใช้วิจารณญาณ ต้องหาตรงกลางของเราให้เจอ เราถึงจะพอมีความสุขได้บ้าง
ช่วงล็อกดาวน์ที่ต้องอยู่ติดบ้านนานๆ คุณทำกิจกรรมอะไรบ้าง
ดูหนังทุกประเภท หนังบู๊ สืบสวน ตลก ประวัติศาสตร์ ฯลฯ ยิ่งแนวประวัติศาสตร์ ผมยิ่งอินเป็นพิเศษ แต่หลังจากดูหนังวันละ 3-4 เรื่องจนเอียน ผมเลยหันมาปลูกต้นไม้แทน ผมไปซื้อเมล็ดพันธุ์ต้นพริกมาจากสวนจตุจักร ถุงละ 20 บาท เอามาเพาะเอง ตอนแรกก็ขึ้นมา 30 ต้น สุดท้ายแล้วเหลือต้นเดียวที่รอด ตอนนี้ออกดอก 4-5 ดอกแล้ว ถึงจะรอดแค่หนึ่งในสามสิบ แต่ก็ทำให้ผมรู้สึกว่าเราเองก็ทำได้เหมือนกัน
นอกจากนี้ก็มีหัดเพาะต้นอะโวคาโดตามคลิปใน TikTok เพราะผมเห็นว่าอะโวคาโดลูกหนึ่งแพงมาก ตั้ง 80-90 บาท เลยอยากลองเพาะเอง ตอนนี้ก็งอกรากออกใบแล้ว แต่ประเด็นที่คิดต่อคือ ปลูกลงดินของไทยแล้วจะรอดไหม หรืออย่างมะละกอผมก็ปลูกนะ พอกินส้มตำเสร็จก็สาดๆ เมล็ดไป ตอนนี้ขึ้นมา 4 ต้นแล้ว รอดูอนาคตต่อไปว่าจะเป็นยังไง นี่ก็เป็นความสุขเล็กๆ ของผม
จริงๆ แล้วคุณเป็นคนชอบอยู่บ้านไหม
ปกติผมเป็นคนอยู่บ้านไม่ติดเลย ทำงานตลอด ช่วงไหนที่ได้อยู่บ้านมักจะหาความสุขในการอยู่บ้าน อย่างการซักผ้าด้วยมือตัวเอง หรือรีดผ้า ผมมีความสุขกับการทำงานบ้านเอง ไม่ได้ส่งเสื้อผ้าไปซักที่ร้าน เพราะผมเกิดและเติบโตมากับการเห็นพ่อแม่รีดผ้าแล้วเปิดเพลงฟังไปด้วย ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขกับการได้อยู่กับตัวเอง ได้ทำงานที่ทำให้ตัวเอง คนอื่นอาจจะมองว่าเราเป็นบ้ารึเปล่า ใครจะมาซักผ้าด้วยมือ แต่ผมมีความสุขกับการได้ฮัมเพลง ได้อยู่กับตัวเอง อยู่กับสิ่งที่เราชอบ
ความทรงจำแรกที่คุณมีต่อกรุงเทพฯ เป็นแบบไหน
ตอน ป.3-4 ผมกับย่ามาร่วมขบวนแห่ 77 จังหวัดในงานเย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์ ความรู้สึกก็คือ โอ้โห ตึกรามบ้านช่อง ผู้คนไม่รู้ใครต่อใครเยอะแยะมากมาย ของวิเศษทั้งนั้นเลย ทุกสิ่งทุกอย่างดูสะดวกสบาย แต่พอขากลับ ทางผู้จัดงานจองรถไฟให้กลับ แล้วช่วงนั้นเป็นช่วงเทศกาลทำให้ผู้คนต่างมุ่งที่จะกลับบ้าน ผมมีตั๋วก็จริง แต่มีคนมาแย่งที่นั่ง ทำให้ผมต้องยืนจากหัวลำโพงไปถึงหลักสี่ แล้วย่าก็โทรบอกให้อามารับ เพราะบ้านเขาอยู่เมืองทองธานี ตอนนั้นเข็ดเลย บ๊ายบาย ไม่เอากรุงเทพฯ แล้ว
แล้วอะไรทำให้เกิดเป็นความลงตัวของเพลง ‘บ่ไปกรุงเทพฯ’ ได้บ่
หลังจากผมไม่ได้ปล่อยเพลงใหม่มานาน ทีมงานแต่ละฝ่ายต่างก็ตามหาเพลงที่ใช่ แล้วทางโปรโมเตอร์ก็เสนอเพลงนี้มาให้ผมฟัง ตอนนั้นผมกำลังนั่งรถไปทำงานที่ลำปาง พอฟังปุ๊บ ขนลุก จะร้องไห้ เพราะคิดถึงบ้าน ตรงเนื้อเพลงท่อนที่บอกว่า ไม่ไปได้ไหมกรุงเทพฯ แล้วหมู หมา กา ไก่ เธอไม่คิดถึงมันเหรอ ผมก็เลยนึกถึงบ้านที่ต่างจังหวัด และรู้สึกว่าผมไม่ต้องไปหาเพลงอื่นแล้ว เอาเพลงนี้แหละ ตอบโจทย์มาก เป็นเพลงที่โดนใจในช่วงนี้ หลายคนอาจไม่มีโอกาสได้กลับบ้าน และโหยหาความรู้สึกแบบสูงสุดสู่สามัญ สุดท้ายหลายๆ คนต่างก็อยากที่จะกลับไปอยู่บ้าน ไม่เป็นไรนะลูก กลับมาบ้านเกิด กลับมานับหนึ่งกันใหม่ อยู่บ้านเราบ้านไม่ต้องเช่า ข้าวไม่ต้องซื้อ
ผมเชื่อว่าเพลงนี้จะชดเชยความเหนื่อยในการทำงาน เหนื่อยกับการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ ชวนให้คนฟังนึกถึงบ้าน สุดท้ายแล้วอ้อมกอดของบ้านเกิดเป็นอะไรที่กอดอุ่นที่สุดแล้ว