w©rld

เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2020 ขณะที่ทั้งโลกกำลังตั้งรับกับการเริ่มแพร่ระบาดของโรคโควิด19 องค์การอนามัยโลกได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า ขณะนี้ไม่มีประเทศใดในโลกที่มีทั้งสุขภาวะที่เหมาะสม และสภาพแวดล้อมที่ดีพอให้เยาวชนได้เติบโตอย่างมีอนาคตที่สดใส 

การจัดอันดับความเป็นไปได้ที่ 180 ประเทศทั่วโลกจะสามารถเป็นสถานที่สำหรับเด็กให้เติบโตขึ้นอย่างมีอนาคตที่สดใสได้หรือไม่นั้น เกิดจากความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization) กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือยูนิเซฟ (UNICEF) และวารสารการแพทย์แลนเซ็ท (The Lancet)  

ปัจจัยที่นำมาพิจารณามีทั้งคุณภาพการศึกษา ภาวะโภชนาการ อัตราการเสียชีวิตของเด็ก ไปจนถึงอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยแบ่งการจัดอันดับออกเป็น 2 ประเภท คือ ความรุ่งโรจน์ของเด็ก และดัชนีความยั่งยืน

green curriculum
Photo: https://www.thelancet.com/

ผลการจัดอันดับปรากฏว่าประเทศที่ความรุ่งโรจน์ของเด็กอยู่ในเกณฑ์ดีที่สุด ได้แก่ นอร์เวย์ ตามด้วยเกาหลีใต้ และเนเธอร์แลนด์ (ส่วนไทยอยู่ที่อันดับ 64 จากทั้งหมด 180 ประเทศ) 

ส่วนการจัดอันดับดัชนีความยั่งยืน ซึ่งพิจารณาจากอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ว่าเกินเป้าหมายก๊าซเรือนกระจกที่กำหนดไว้สำหรับปี 2030 หรือไม่ ปรากฏว่ากาตาร์ครองอันดับแชมป์ยอดแย่ ส่วนประเทศที่มีดีกรีดัชนีความยั่งยืนสูงสุด ได้แก่ บุรุนดี ตามด้วยชาด และโซมาเลีย ซึ่งทั้งหมดอยู่ในทวีปแอฟริกา 

จะสังเกตได้ว่า ประเทศที่ร่ำรวย = ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาก ดังนั้นจึงมีอัตราความยั่งยืนต่ำ ในขณะที่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางจนถึงต่ำอย่างในแอฟริกาและเอเชีย มักมีความยั่งยืนสูง แต่ความเจริญรุ่งโรจน์ของเด็กต่ำ แปรผกผันกันเช่นนี้ 

ในขณะที่ก็มีอีกหลายประเทศที่มีความสามารถกลางๆ ในการควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีพอควร และมีสุขภาวะที่พอใช้ได้สำหรับการเติบโตของเด็ก ได้แก่ แอลเบเนีย อาร์เมเนีย จอร์แดน ศรีลังกา อุรุกวัย และเวียดนาม 

แต่กลับไม่มีประเทศใดเลยที่มีทั้งสุขภาวะที่เหมาะสม และสภาพแวดล้อมที่ดีพอให้เยาวชนได้เติบโตอย่างมีอนาคตที่สดใส 

green curriculum
Photo: https://www.instagram.com/p/CMKo41llQN1/

ปัญหานี้เด็กๆ ในหลายประเทศทั่วโลกเริ่มตระหนักและออกมาเรียกร้องกันมากขึ้น เห็นได้จากการออกมารณรงค์เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลและองค์กรต่างๆ จัดการปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป โดยปฏิเสธไม่ได้ว่า เกรตา ธันเบิร์ก เด็กสาวนักรณรงค์แก้ปัญหาโลกร้อนเป็นผู้จุดประกายคนสำคัญ 

และไม่ใช่แค่เยาวชนเท่านั้นที่ต้องออกโรง แต่ยังมีผู้ใหญ่หัวคิดก้าวหน้าอีกไม่น้อยที่เป็นกองหนุนในการปฏิรูปการศึกษา โดยบรรจุให้หลักสูตรสภาพภูมิอากาศโลกและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นวิชาหลักที่ต้องเรียนรู้กันตั้งแต่วัยเตรียมอนุบาล 

Earth Warriors 

หลักสูตรฝึกนักรบตัวจิ๋วให้ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อความยั่งยืน 

green curriculum
Photo: https://www.instagram.com/p/CMujBr2HCPa/

ชเวตา บาห์รี (Shweta Bahri) ผู้ชำนาญการด้านนโยบายการศึกษาและความยั่งยืน และ เคยา แลมบา (Keya Lamba) ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน คือสองสาวที่ไม่ปล่อยผ่านรายงานขององค์การอนามัยโลกฉบับนี้ไปเฉยๆ 

และอันที่จริงทั้งคู่เริ่มพัฒนาหลักสูตร Earth Warriors มาตั้งแต่ปี 2019 แล้ว โดยบาห์รีเล่าถึงความตั้งใจไว้ว่า “เด็กในทุกวันนี้กำลังเติบโตขึ้นในโลกที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือความจริงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไป จึงเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการปลูกฝังการเรียนรู้เรื่องสภาพภูมิอากาศโลกแก่เด็กๆ ซึ่งจะเป็นหนทางในการปรับพฤติกรรมที่เห็นผลที่สุดในการต่อกรกับสภาวะโลกร้อน”  

แต่ครั้นจะเรียกหลักสูตรก็ออกจะเคร่งเครียดเกินไป เพราะการปลูกฝังเยาวชนให้เป็น นักรบกู้โลก เน้นการเล่นและทำกิจกรรมเพื่อเสริมการเรียนรู้มากกว่า 

green curriculum
Photo: https://www.instagram.com/p/CP_LMWPL_eV/

หลักสูตร Earth Warriors ใช้งานง่ายและปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม โดยจำแนกแต่ละโมดูลการเรียนตามอายุ ใช้เวลาเรียนแต่ละโมดูลประมาณ 5 สัปดาห์ และสามารถใช้ได้ทั้งในโรงเรียนและที่บ้าน เหมาะสำหรับเด็กวัย 3-7 ปี โดยหัวข้อการเรียนรู้จะเน้นหนักในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกและการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน โดยหลอมรวมการเรียนรู้ผ่านการเล่นและการฝึกคิดแก้ปัญหาเข้าด้วยกัน 

ที่สะดวกไปกว่านั้นคือ อุปกรณ์ในการเรียนรู้สามารถหาได้เองภายในโรงเรียน ในบ้าน และจากธรรมชาติรอบตัว 

green curriculum
Photo: https://www.instagram.com/p/CMzi28yA6R_/

หลักสูตรนี้เน้นให้ครูหรือผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการเรียนรู้กับเด็กๆ เพื่อให้เกิดความใกล้ชิดจากการใช้เวลากึ่งเรียนกึ่งเล่นไปด้วยกัน โดยเมื่อเด็กๆ สำเร็จหลักสูตรแต่ละบท จะได้รับเหรียญตรา อารมณ์คล้ายอัศวินที่ได้รับการประดับยศเลื่อนตำแหน่งขึ้นไปเรื่อยๆ 

การส่งเสริมให้เด็กสนุกกับการเรียนรู้ในแบบที่ไม่บังคับให้นั่งเรียนหรือท่องจำ จะทำให้เขารู้สึก ‘อิน’ กับสิ่งใหม่ที่เพิ่งได้เรียนรู้ นำไปสู่การต่อยอดเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ เมื่อพวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในโลกที่ย่อมมีหน้าตาเปลี่ยนไปจากศตวรรษเดิม 

เหมือนอย่างที่จู่ๆ บิลลี่ วัย 5 ขวบ หนึ่งในสมาชิก Earth Warriors บอกกับแม่ของเขาในเช้าวันหนึ่งว่า 

เราต้องหยุดคนที่กำลังตัดไม้ทำลายป่า ไม่อย่างนั้นหมีขั้วโลกกับเพนกวินจะหล่นลงไปในน้ำ เพราะต้นไม้ช่วยให้น้ำแข็ง ซึ่งเป็นบ้านของพวกมันไม่ละลาย”  

green curriculum
Photo: https://www.instagram.com/p/COnBVfUDvdd/

Green School 

โรงเรียนไม้ไผ่ที่ไม่สอนให้ท่องจำ แต่ชวนให้เด็กๆ ลงมือทำ 

Green School ตั้งอยู่ท่ามกลางแม่น้ำและป่าเขาบนเกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เปิดสอนมาตั้งแต่ปี 2008 ก่อตั้งโดย จอห์น และ ซินเธีย ฮาร์ดี (John and Cynthia Hardy) สามีภรรยาชาวแคนาดาอดีตเจ้าของธุรกิจจิวเวลรี ที่อยากเห็นการศึกษาพัฒนาไปในรูปแบบใหม่ ไม่ได้สอนแค่วิชาสามัญอย่างคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษา หรือศิลปะ แต่ควรสอดแทรกกิจกรรมเสริมเกี่ยวกับธรรมชาติศึกษา และแบบแผนในการเรียนรู้ชีวิตจริงๆ เข้าไปในหลักสูตรด้วย 

green curriculum
Photo: https://www.greenschool.org/bali/student-wellbeing/

และในเมื่อหลักสูตรการเรียนรู้มุ่งทำความเข้าใจธรรมชาติ บรรยากาศของโรงเรียนสีเขียวจึงต้องเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งแวดล้อมโดยรอบ ทำให้ทั้งอาคารเรียน โต๊ะ และเก้าอี้ล้วนทำจากวัสดุท้องถิ่นอย่างไม้ไผ่ ไม่ติดเครื่องปรับอากาศ และไร้กำแพงหรือฝาผนังห้องเรียน อาศัยความเย็นจากลมธรรมชาติเท่านั้นเป็นตัวช่วยให้เด็กๆ ได้รู้จักคุณค่าของสายลมแบบสัมผัสได้ 

green curriculum
Photo: https://www.greenschool.org/bali/student-wellbeing/

ด้วยความที่ภายในบริเวณโรงเรียนมีแม่น้ำไหลผ่าน นักเรียนจึงได้เรียนรู้การทำการเกษตรและการทำอาหารโดยใช้ผลผลิตที่เพาะปลูกได้ภายในโรงเรียน โดยอาหารแต่ละมื้อจะไม่มีเนื้อสัตว์ มีแต่ผัก ผลไม้ และข้าวเป็นส่วนประกอบหลัก และใช้ใบกล้วยแทนจานข้าวอย่างกลมลกลืน ส่วนน้ำมันที่เหลือจากการปรุงอาหารยังนำไปแปรรูปเป็นเพลิงสำหรับขับเคลื่อนรถ BioBus ที่ใช้เดินทางอีกด้วย 

green curriculum
Photo: https://www.greenschool.org/bali/student-wellbeing/

ปัจจุบัน Green School เปิดสอนตั้งแต่ระดับเตรียมอนุบาลถึงชั้นมัธยมปลาย เน้นหลักสูตรการเรียนการสอนที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ เช่น มีห้องไม้สำหรับให้นักเรียนประดิษฐ์สิ่งของ มีเครื่องพิมพ์สามมิติและเครื่องเลเซอร์เพื่อให้นักเรียนสร้างโมเดลจำลอง ฯลฯ 

ขณะเดียวกันก็ปลูกฝังแนวคิดด้านการอนุรักษ์ไปในตัว โดยเด็กทุกคนต้องเข้าร่วมกิจกรรมด้านสังคมตามความสนใจ เช่น เด็กชั้นโตไปช่วยสอนในชั้นเรียนเด็กเล็ก หรือเป็นอาสาสมัครในชุมชน ฯลฯ เพื่อให้พวกเขาเรียนรู้จากการลงมือทำอย่างแท้จริง 

green curriculum
Photo: https://www.greenschool.org/bali/student-wellbeing/

Green School ได้รับการยอมรับจาก World Economic Forum ให้เป็นโรงเรียนที่มีความก้าวหน้าในการเป็นโรงเรียนต้นแบบที่สร้างหลักสูตรการเรียนการสอนด้านความยั่งยืนและสร้างผู้นำทางด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในอนาคต โดยนอกจากบาหลีแล้ว ปัจจุบัน Green School ยังได้ขยายสาขาไปเปิดสอนที่ประเทศนิวซีแลนด์ แอฟริกาใต้ และเร็วๆ นี้ที่เม็กซิโก 

Sustainable Play Preschool 

โรงเรียนวีแกน 100% สำหรับเด็กก่อนวัยเรียน 

เหคุผลที่การจัดอันดับความยั่งยืนต้องนำปัจจัยด้านการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศมาเป็นเกณฑ์หลักในการวัด สืบเนื่องมาจากเป้าหมายที่ข้อตกลงการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ระหว่างประเทศสมาชิกสหประชาชาติ (UN) เคยตั้งไว้เมื่อปี 2015 คือ ต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จาก 39.7 พันล้านตัน ให้เหลือ 22.8 พันล้านตัน ภายในปี 2030 เพื่อให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส 

green curriculum
Photo: https://sustainableplay.com.au/

และหนึ่งในต้นตอการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาลก็เกิดจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์นั่นเอง 

ดังนั้น เหตุผลที่ Green School ไม่ปรุงอาหารจากเนื้อสัตว์ให้เด็กรับประทาน คงเหมือนกับ Sustainable Play Preschool แห่งเมืองนิวคาสเซิล ประเทศออสเตรเลีย ที่ปวารณาตนเป็นโรงเรียนวีแกน 100% แห่งแรกในออสเตรเลีย 

green curriculum
Photo: https://sustainableplay.com.au/

คอนเซ็ปต์ของโรงเรียนวีแกนแห่งนี้ ที่เปิดรับสมัครเด็กอายุระหว่าง 3-5 ปี คือการมุ่งปลูกฝังแนวคิดในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติโดยไม่เบียดเบียนสัตว์เป็นสำคัญ 

กิจกรรมที่โรงเรียนจะสนับสนุนให้เด็กๆ ได้ลงมือทำ จึงเป็นการเรียนรู้ที่จะปลูกผักและผลไม้ แล้วนำผลผลิตที่ได้ไปปรุงเป็นอาหารที่ใช้บริโภคภายในโรงเรียน รวมถึงเรียนรู้การกำจัดขยะจากเศษอาหาร เพื่อเรียนรู้กระบวนการบริโภคอย่างยั่งยืนแบบครบวงจร 

green curriculum
Photo: https://sustainableplay.com.au/

นอกจากนี้ ทางโรงเรียนยังจัดกิจกรรมพาเด็กๆ ไปเยี่ยมชมฟาร์มท้องถิ่น และทัศนศึกษายังอุทยานแห่งชาติต่างๆ เพื่อเรียนรู้มิติทางด้านสิ่งแวดล้อมให้หลากหลายยิ่งขึ้น 

แน่นอนว่าในเมื่อเป็นโรงเรียนวีแกน อาหารเช้าและอาหารกลางวันของที่นี่ย่อมเป็นอาหารวีแกน ที่ออกแบบมื้ออาหารโดยนักโภชนาการ ที่การันตีความปลอดภัยเพราะใช้วัตถุดิบที่ปลูกเองในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นเมนูน้ำผักและผลไม้ปั่น แมคแอนด์ชีสทำจากเต้าหู้ แซนด์วิชทูน่าที่ทำจากถั่วลูกไก่ มัฟฟินแครอทและซุคกินี ไปจนถึงไอศกรีมวีแกนแสนอร่อยที่ทำมาจากเนื้อกล้วย 

green curriculum
Photo: https://sustainableplay.com.au/food/

อาหารไร้เนื้อสัตว์ที่เด็กๆ คุ้นเคยตั้งแต่วัยเยาว์ย่อมทำให้พวกเขารู้จักเลือกบริโภคมื้อที่ดีต่อสุขภาพและดีต่อโลกอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต 

อ้างอิง 

  • Tanuvi Joe. New Sustainability Curriculum Turns Children Into Earth Warriorshttps://bit.ly/3AOpciK 
  • Tanuvi Joe. Australia To Open Its First-Ever Vegan Preschool With Plant-Based Offerings For Kids, From Syllabus to Foodhttps://bit.ly/3ml5Yxr 
  • Chung Ying Li. Sustainable learning at Green School Bali. https://bit.ly/3mi58kN 
  • The Lancet Commissions. A Future for the world’s children? A WHO – UNICEF – Lancet Commission. https://bit.ly/2XyE5ay