pe©ple

หากคุณเป็นเด็กประถมในปี 2000 ต้นๆ

เป็นไปได้ว่าอาจมีเพื่อนสักคนในห้องที่พกหนังสือภาพของ จิมมี่ เลี่ยว (Jimmy Liao) มาโรงเรียน แล้วชวนมานั่งล้อมวงเปิดดูไปพร้อมๆ กันทีละหน้า และนั่นอาจเป็นเล่มที่ใครหลายคนต้องอ้อนวอนขอให้คุณพ่อ คุณแม่ซื้อให้ทุกทีที่ไปร้านหนังสือ

เมื่อพูดถึงวัยเยาว์ที่แสนสุข หลายๆ คนอาจนึกถึงการได้อ่านหนังสือภาพของจิมมี่ แต่สำหรับเจ้าของลายเส้นแล้ว เมื่อถามถึงวัยเยาว์ ภาพของความโดดเดี่ยวและปวดใจมักจะชัดเจนกว่าเสมอ

ในงานวันไหว้บรรพบุรุษ น้องชายของจิมมี่หายตัวไป เหลือเพียงรองเท้าคู่เล็กที่ถอดทิ้งไว้ข้างบ่อน้ำ…เขาชอบวาดรูปมาก แต่ไม่เคยได้รางวัลเลยเพราะครูบอกว่างานของเขามันเหมือนของผู้ใหญ่เกินไป…ในชั้นมัธยมปลายเขาถูกเคี่ยวเข็ญให้ตั้งใจเรียนเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย

วัยเด็กเขาอาศัยอยู่ในชนบทที่รายล้อมด้วยธรรมชาติ ได้วิ่งเล่นกลางทุ่งนา ไล่จับกบ นั่นคือช่วงเวลาที่เป็นสุข แต่ถึงอย่างนั้น อาจเพราะความเจ็บปวดเป็นสิ่งที่กระทบกระเทือนกับจิตใจมนุษย์ได้มากกว่า เขาจึงจำได้แต่ช่วงเวลาที่โศกเศร้า

Photo : www.goldfieldupc.com

จิมมี่ไม่เคยมีความฝัน แม้กระทั่งก่อนสอบเข้ามหาวิทยาลัย เขาสอบติดคณะศิลปกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยวัฒนธรรมจีน (Chinese Culture University) ในเมืองไทเป และเลือกเรียนสาขากราฟิกดีไซน์ ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือในตอนนั้นเขายังวาดรูปไม่เก่ง 

ถึงอย่างนั้น จิมมี่ก็สนุกกับสาขานี้และทำงานทุกชิ้นออกมาได้เป็นอย่างดี หลังเรียนจบ เขาก็ได้เริ่มทำงานในตำแหน่งอาร์ตไดเรกเตอร์ที่บริษัทโฆษณายักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งของไต้หวัน ซึ่งงานหลักคือการเนรมิตรความต้องการของลูกค้าให้ออกมาเป็นภาพ อาชีพนี้ก็ดูไปได้สวยสำหรับเขา แถมยังเคยได้รับรางวัลโฆษณาระดับประเทศมาแล้วอีกด้วย

อย่างไรก็ตามจิมมี่ไม่ได้ภูมิใจกับรางวัลที่ว่าสักเท่าไหร่ เพราะนั่นเป็นเพียงสิ่งที่ลูกค้าคิด และแทบไม่มีส่วนไหนที่เป็นของเขาเลยจริงๆ ทำให้จิมมี่เริ่มฝึกวาดรูปอีกครั้งอย่างจริงจังในวัย 27 ปี ระหว่างที่ยังทำงานอยู่ที่นั่น เขาก็เริ่มวาดภาพประกอบบทความในหนังสือพิมพ์และนิตยสารควบคู่ไปด้วย

Photo : www.lca.sfsu.edu/jimmyliao

แม้ว่ารายได้ของการวาดภาพประกอบจะน้อยนิดเมื่อเทียบกับรายได้จากงานประจำ แต่พอวาดเยอะๆ เข้า นี่กลับเป็นสิ่งที่ทำเงินได้มากกว่า แต่เป้าหมายของจิมมี่ไม่ใช่เงิน แม้จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเยอะแต่เขาเริ่มเหนื่อยกับการทำงานสองตำแหน่งไปพร้อมๆ กัน อีกทั้งยังทนกับการประชุมทุกเช้าวันจันทร์แทบไม่ไหว เขาจึงตัดสินใจลาออกจากบริษัทโฆษณา และปิดฉากอาชีพอาร์ตไดเรกเตอร์ไว้ในปีที่ 12

หลังจากที่เป็นนักวาดภาพประกอบเต็มตัวได้สักพัก เขาก็เริ่มมีอาการปวดขาโดยไม่ทราบสาเหตุ หมอวินิจฉัยพบว่าเขากำลังป่วยเป็นโรคลูคีเมียหรือมะเร็งเม็ดเลือดขาว เขาจึงหยุดงานทุกอย่าง และรักษาตัวในโรงพยาบาลอยู่นานหลายเดือน ก่อนจะกลับมาอยู่บ้านแล้วพบว่าร่างกายของเขาไม่สามารถวาดภาพได้เหมือนเมื่อก่อน อย่างมากที่สุดก็อาทิตย์ละภาพ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ คนที่ได้เห็นภาพวาดชิ้นล่าสุดของเขา ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่านี่เป็นงานที่สวยและมีชีวิตชีวากว่าเดิมมาก

“มองย้อนกลับไป ผมคิดว่าโรคลูคีเมียส่งผลต่อความคิดสร้างสรรค์ของผมอย่างมาก ภาพวาดของผมเริ่มให้ความรู้สึกที่ต่างออกไปตั้งแต่ตอนนั้น มันมีกลิ่นของความโศกเศร้านิดๆ ความรู้สึกแปลกแยก และความรู้สึกอับจนหนทาง แม้นั่นจะเล่าผ่านภาพวาดที่สนุกสนาน”

ระหว่างรักษาตัวจิมมี่วาดภาพลายเส้นขาวดำเอาไว้มากมาย จนสามารถเก็บมารวมเล่มในภายหลังในหนังสือเรื่อง Beautiful Solitude อาการเจ็บป่วยทำให้ใจของเขาเปลี่ยนไป อย่างน้อยๆ ก็มองเห็นคุณค่าของชีวิตมากกว่าเมื่อวาน จิมมี่เชื่อว่านั่นเป็นสิ่งที่พระเจ้ามอบให้เขา

ภาพจากหนังสือเรื่อง Beautiful Solitude

“ผมรู้สึกเศร้า เหตุผลก็เพราะหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตของคนเรามักหายไปก่อนที่เราจะมีโอกาสบอกลา ตอนนั้นผมกลัวว่าตัวเองจะหายไปก่อนที่จะมีโอกาสบอกลาคนรอบข้าง” เมื่อจิมมี่รู้สึกแบบนั้น เขาจึงรู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่างที่พอจะให้คนที่ยังอยู่จดจำเขาไว้

ถึงจะวาดภาพประกอบมานาน แต่จิมมี่ไม่เคยคิดอยากมีหนังสือเป็นของตัวเองเลยสักเล่ม จนกระทั่งหลังจากอาการป่วยดีขึ้น และลูกสาวคนแรกของเขาลืมตาดูโลก เขาก็ตระหนักได้ว่าหากในวันหนึ่งเขาจากโลกนี้ไป ก็อยากให้มีผลงานไว้ให้ลูกสาวจดจำตัวเขาเอาไว้ จึงตอบรับคำชวนจากบรรณาธิการ

เล่มแรกของเขามีชื่อว่า Secrets in the Woods เป็นเรื่องราวของเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่เดินทางผจญภัยเข้าไปในป่าแห่งความฝัน 

ภาพจากหนังสือเรื่อง Secrets in the Woods

จิมมี่เริ่มลงมือ ‘วาด’ หนังสือเล่มนี้ในวัย 40 ปี ในตอนนั้นเราไม่อาจพูดได้เต็มปากว่าเขา ‘เขียน’ หนังสือ เพราะเดิมทีนี่เป็นหนังสือภาพที่ไร้คำบรรยาย แต่เมื่อต้นฉบับแรกส่งไปถึงมือของบรรณาธิการ เขาก็ได้คำแนะนำว่ามันควรมีเรื่องราวใต้ภาพสักหน่อย แล้วจิมมี่ก็พบว่าเขาเขียนหนังสือไม่เป็นเลย แม้สมัยที่ยังวาดภาพประกอบคอลัมน์เขาจะได้อ่านบทความมาเยอะ แต่เขากลับเขียนเรื่องตัวเองไม่ออก เขาจึงทำได้แค่เดินเข้าร้านหนังสือและหอบกวีมากมายกลับบ้านมาเท่านั้น

วันหนึ่งจิมมี่บังเอิญพบกับ เจน-เหม่ย หลิน (Jen-Mei Lin) นักเล่าเรื่องผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการวรรณกรรมเด็ก จิมมี่สังเกตเห็นว่าเวลาที่เธอเล่านิทานให้เด็กๆ ฟัง เธอมักจะเน้นคำชัดๆ และใช้เสียงสูงต่ำที่ดึงให้พวกเขาจดจ่อกับเรื่องราวที่กำลังเล่า จิมมี่จึงลองนั่งจ้องภาพที่ตัวเองวาด แล้วท่องประโยคในใจซ้ำๆ เหมือนเวลาที่เล่าให้เด็กฟัง ก่อนจะเชื่อมทุกๆ ประโยคเข้าเป็นเรื่องราวเดียวกัน

บางครั้งเขาเปล่งเสียงออกมาดังๆ จนรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนเสียสติที่พูดจาไม่ได้ศัพท์ และมักจะรู้สึกผิดต่อภรรยาที่ต้องทนฟังเสียงน่ารำคาญของเขาอยู่ตลอดเวลา แต่ถึงอย่างนั้น เธอก็อดทน คอยให้คำแนะนำและแก้ไขประโยคขาดๆ เกินๆ ของเขาอยู่เสมอ (ภรรยาของจิมมี่เป็นนักแปลชาวไต้หวันที่แปลวรรณกรรมเรื่องดังอย่าง ‘แฮร์รี พอตเตอร์’ และ ‘นาร์เนีย’)

ท้ายที่สุดเขาก็เขียนเรื่องได้ งานของเขามักจะถูกนำไปตีความทางปรัชญามากมาย และดูเหมือนว่านั่นจะมีความหมายลึกซึ้งกว่าเรื่องราวที่เผยให้เห็นในบรรทัด แต่ความจริงกลับตรงกันข้ามเพราะเขาแค่พยายามเขียนให้เข้าใจง่ายที่สุดเท่านั้น

ภาพจากหนังสือเรื่อง A Chance of Sunshine (Turn Left, Turn Right)

ในปีเดียวกันนั้นเขาก็ได้เขียนหนังสือเรื่อง A Fish that Smiled at Me ซึ่งเป็นเรื่องราวของปลาที่อาศัยอยู่ในขวดโหล ที่เขาได้แรงบันดาลใจมาจากช่วงชีวิตที่กำลังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล และเขียนเล่มถัดไปในปี 1999 คือ A Chance of Sunshine (Turn Left, Turn Right) เรื่องของหนุ่มสาวในเมืองใหญ่ที่คลาดกันมาตลอด แม้อาศัยอยู่ใกล้กันมากก็ตาม และเรื่องล่าสุดนี้ก็ทำรายได้มหาศาลและถูกแปลไปกว่า 11 ภาษาทั่วโลก

ภาพจากหนังสือเรื่อง The Starry Starry Night

จิมมี่ไม่เคยคิดมาก่อนว่าหนังสือของเขาจะประสบความสำเร็จขนาดนี้ ก่อนหน้านั้นเขาเคยคิดว่าตัวเองกำลังจะสูญเสียทุกอย่าง เพราะเขาป่วยเป็นโรคร้าย วาดภาพได้น้อยลง ไม่มีงานประจำ และเงินเก็บก็ร่อยหรอลงทุกวันจนต้องหยิบยืมเพื่อนฝูงมารักษาตัว แต่หลังจากหนังสือ เล่มแรกของเขาโด่งดังเป็นพลุแตก ทุกอย่างก็พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ หลังจากนั้นชีวิตของเขาก็เปลี่ยนไปตลอดกาล

ในปี 2003 เขาได้รับเลือกให้เป็น ใน 55 ศิลปินที่มีอิทธพลที่สุดในเอเชีย โดยนิตยสาร Studio Voice และนอกจากจะเข้าไปนั่งในใจของผู้อ่านหลายๆ คนแล้ว หนังสือของเขายังถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์อีกด้วย เช่น Turn Left, Turn Right (2003)The Starry Starry Night (2011), The Sound of Color (2003) ที่กำกับโดยหว่อง กาไว (Wong Kar-wai) ผู้กำกับฮ่องกงในตำนาน และ The Adventure of Afternoon (2016) ที่กลายเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันความยาว นาที

Photo : www.epochweekly.com

นอกจากนี้หนังสือหลายๆ เล่มของเขายังได้รับรางวัลมากมาย และส่วนใหญ่มักจะเป็นรางวัล ‘หนังสือเด็กยอดเยี่ยม’ ทว่าจิมมี่ไม่ได้ตั้งใจจะเขียนหนังสือเด็กเลยสักครั้ง แม้ว่าภาพวาดเหล่านั้นจะมีตัวละครหลักเป็นเด็กๆ หรือหนุ่มสาววัยรุ่น ท่ามกลางเมืองสดใส แต่เขายังยืนยันว่านี่ไม่ใช่หนังสือเด็กอยู่ดี

งานของจิมมี่รวบรวมทุกประสบการณ์ในชีวิตของเขาเอาไว้ ทั้งความสูญเสียในวัยเด็ก ความสนุกที่ได้ใช้ชีวิตในท้องทุ่ง ความโดดเดี่ยวตอนที่ต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ความปีติที่ลูกสาวคนแรกลืมตาดูโลก ความสะเทือนใจจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในไต้หวัน 

ภาพจากหนังสือเรื่อง The Starry Starry Night

เขาก็เชื่อว่าแม้วันที่ชีวิตมีความสุข ดอกไม้แห่งความทุกข์โศกจะยังเบ่งบานอยู่เสมอ เขาจึงวาดภาพเหล่านั้นเพื่อปลอบใจตัวเอง และหวังว่ามันจะช่วยปลอบใจคนอื่นได้ด้วยเช่นเดียวกัน ปูมหลังของตัวละครมักจะเริ่มต้นจากความเปลี่ยวเหงา เศร้าโศก เป็นคนอ่อนแอ ไร้ทางสู้ เขาเชื่อว่าชีวิตมนุษย์เป็นแบบนั้น และโลกเราก็มีคนแบบนั้นอยู่มากมาย และที่ตัวละครเป็นเด็กหรือหนุ่มสาวเพราะเขาเชื่อว่าช่วงวัยนี้เป็นวัยที่มักจะอ่อนไหวและรู้สึกถึงสิ่งต่างๆ ได้มากกว่าผู้ใหญ่ ที่เริ่มชินชากับมันไปเสียแล้ว

“ผมได้แต่วาดภาพที่อยู่ในใจ ราวกับว่ามันเป็นความฝันและคำทำนาย เป็นฉากที่ผมปรารถนาจะให้ปรากฏขึ้นในทุกๆ เช้าที่เงียบสงบ มันอาจเป็นสิ่งที่ผมใฝ่ฝันในช่วงเวลานั้น มันอาจเป็นเศษเสี้ยวความทรงจำในวัยเด็ก หรืออาจเป็นจินตนาการในอนาคตเกี่ยวกับลูกสาวตัวน้อยๆ ของผม”

“ผมไม่เคยสังเกตผู้คนระหว่างการเดินทางหรือแอบฟังบทสนทนาในร้านกาแฟเพื่อเอามาเขียนหนังสือ ถึงจะจับผมเข้าคุก ผมก็ยังเป็นนักเขียนที่มีผลงานเพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ คงจะดีถ้าสำนักพิมพ์ของผมจะยินดีที่จะขังผมเอาไว้ในโรงแรม ดาว แทนที่จะออกหนังสือแค่สองเล่มต่อปี บางทีผมอาจจะเขียนสักห้าเล่มเลยก็ได้” จิมมี่กล่าวด้วยอารมณ์ขัน

หลังจากวันที่ตรวจพบเชื้อมะเร็ง หมอบอกว่าถ้าเขามีชีวิตต่อไปได้เกิน ปี ก็คงไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง และตอนนี้ก็ล่วงเลยมาหลายปีมากแล้ว 

เด็กๆ ที่เคยอ่านหนังสือของเขา ตอนนี้อาจเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ถ้ากลับมาอ่านหนังสือของเขาอีกครั้ง คงพอจะรู้ว่านี่ไม่ใช่หนังสือเด็กอย่างที่เคยเข้าใจ และจิมมี่ในวัย 62 ปียังคงวาดรูปต่อไปเรื่อยๆ เช่นกัน

อ้างอิง 

  • Lyla Liu. First-ever exhibition of Taiwanese veteran illustrator extendedhttps://bit.ly/3yhvVjA 
  • Daphne K. Lee. Jimmy Liao and Tian Er Exchange Their Career Stories at the 2019 Taipei Book Fairhttps://bit.ly/3gnYohF 
  • ทรงกลด บางยี่ขัน. JIMMY LIAO : ผมก็เหมือนคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีแสงสว่างในชีวิต, a day 75https://bit.ly/38697bW 
  • PM Gallery. Jimmy Liao | Part 1, Part 2.https://bit.ly/3mwNNVo 
  • LONGZIJUN. An Interpretation of Jimmy Liao’s ‘The Blue Stone’. https://bit.ly/3zklq0s