เครื่องปิ้งขนมปังราคาหลักหมื่น ต้องจองคิวซื้อล่วงหน้า 3 เดือน และก่อนปิ้งต้องหยอดน้ำใส่เครื่องทุกครั้ง
แพงก็แพง จะใช้งานทีก็วุ่นวาย เป็นคุณจะซื้อไหม?
ไม่ว่าคำตอบในใจคุณจะเป็นแบบไหน แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับ BALMUDA The Toaster ก็คือยอดขายที่แรงดีไม่มีตกนับตั้งแต่วางจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2015 จนตอนนี้ขายดีไปทั่วโลก
โดยเฉพาะท่ามกลางวิกฤติโรคระบาดที่ทำให้การมีเครื่องปิ้งขนมปังที่อร่อยที่สุดในโลกติดบ้านไว้สักเครื่อง กลายเป็นยาชูกำลังใจชั้นดี
BALMUDA (บัลมูดา) เป็นแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าสัญชาติญี่ปุ่นที่ก่อตั้งมานานเกือบ 20 ปี นอกจากจะมีเครื่องปิ้งขนมปังรุ่นดังกล่าวเป็นสินค้าระดับเรือธงแล้ว ยังมีสินค้าเกือบ 20 รายการเป็นตัวเลือกให้ทุกห้องในบ้านเต็มไปด้วยความรื่นรมย์
ผลิตภัณฑ์ของ BALMUDA มีตั้งแต่พัดลม หม้อหุงข้าว กาต้มน้ำ ตะเกียง เตาอบ โคมไฟตั้งโต๊ะ ฯลฯ พิจารณาเผินๆ ก็ดูจะไม่ต่างจากสินค้าที่หาซื้อได้ตามท้องตลาดทั่วไป
แต่สิ่งที่ทำให้ BALMUDA แตกต่าง และกล้าตั้งราคาสูงเกินเพดาน (อาทิ โคมไฟตั้งโต๊ะราคาสองหมื่นกว่าบาท!) ก็เพราะความมั่นใจในรายละเอียดของจิตวิญญาณที่สวมเข้าไปในเครื่องใช้แต่ละชิ้น ด้วยการเพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานน้อยนิดที่สร้างผลลัพธ์ทางใจในระดับมหาศาลเข้าไป
ส่งผลให้ทุกครั้งของการใช้งานผลิตภัณฑ์ BALMUDA คือ การรังสรรค์โมเมนต์พิเศษให้จับใจผู้ใช้จนต้องบอกต่อ
ฟังก์ชันน้อยนิดมหาศาลที่ว่าก็อย่างเช่น พัดลมที่มอบความเย็นสบายดุจสายลมธรรมชาติพัดมาต้องผิวกาย โคมไฟตั้งโต๊ะที่สาดแสงสว่างละมุนตาและเป็นที่เก็บเครื่องเขียนไปในตัว เครื่องปิ้งขนมปังที่อบความหอมกรุ่นแบบกรอบนอกชุ่มใน กาต้มน้ำที่ออกแบบพวยกาให้โค้งเรียวสวย ช่วยให้เทน้ำไหลรินลงภาชนะได้โดยไม่หกเลอะเทอะ ฯลฯ
เหล่านี้คือรายละเอียดเล็กๆ ที่ร้อยเรียงจนเกิดเป็นความแข็งแรงของแบรนด์ BALMUDA ที่ล่าสุดกำลังขยายอาณาจักรเพิ่มเติมในชื่อ BALMUDA Technologies โดยวางแผนจำหน่ายสมาร์ตโฟนที่รองรับระบบ 5G ในเดือนพฤศจิกายนนี้
ใครที่รู้จัก BALMUDA จากเครื่องปิ้งขนมปัง อาจตื่นเต้นที่แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านหาญกล้าสยายปีกโฉบเข้าไปยังแวดวงไอที พร้อมกับรอลุ้นว่าสมาร์ตโฟนจากแบรนด์ยืนหนึ่งเรื่องเครื่องครัวจะมีฟังก์ชั่นโดนใจแบบไหนซ่อนอยู่
แต่จริงๆ แล้ว BALMUDA เริ่มต้นนับหนึ่งจากสินค้าไอทีอย่างแท่นวางแล็ปท็อประบายความร้อน ก่อนจะมองหาทางรอดจากวิกฤตเศรษฐกิจเลห์แมน บราเดอร์ ด้วยการคิดค้นพัดลมประหยัดพลังงานเป็นพระเอกขี่ม้าขาวพลิกสถานการณ์จากหน้ามือเป็นหลังมือ และลุกขึ้นผงาดบนเวทีโลกด้วยเครื่องปิ้งขนมปังที่กลายมาเป็นแม่ทัพในยุคปัจจุบัน
และเบื้องหลังความสำเร็จของแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เน้นการสร้างสรรค์จิตวิญญาณมากกว่าพุ่งเป้าไปที่ยอดขาย เกิดจากมันสมองและสองมือของ เกน เทราโอะ (Gen Terao) อดีตแบ็กแพ็คเกอร์หนุ่มที่พับความฝันของการเป็นร็อคสตาร์เก็บใส่เป้ แล้วผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการอาณาจักรเครื่องใช้ภายในบ้านที่เกือบทุกไอเท็มขึ้นแท่น wishlist ของคนรักบ้านทั่วโลก
จากเมดิเตอร์เรเนียนสู่อากิฮาบาระ
เทราโอะเกิดปี 1973 หลังออกจากโรงเรียนมัธยมกลางคันตอนอายุ 17 ปี เขาตัดสินใจแบกเป้ท่องเที่ยวในประเทศแถบชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อาทิ สเปน อิตาลี โมร็อกโก นานหนึ่งปี โดยพกไปแต่ของใช้จำเป็น ได้แก่ หนังสือ เครื่องเขียน เครื่องเล่นวอล์คแมน และเสื้อผ้าไม่กี่ชุด
หนึ่งในคำถามที่ผุดพรายขึ้นในใจของเทราโอะตลอดการเดินทางก็คือ อะไรคือสิ่งจำเป็นที่สุดในการใช้ชีวิตให้คุ้มค่า
ส่วนหนึ่งของคำตอบอยู่ในข้าวของจำนวนน้อยนิดที่เขาแบกใส่หลังตลอดหนึ่งปี นั่นคือ การจะเหนื่อยให้น้อยที่สุดต้องอาศัยเครื่องมือที่ดีที่สุดนั่นเอง
ปรัชญาดังกล่าวถูกเก็บใส่ลิ้นชักความทรงจำ ก่อนจะถูกหยิบออกมาใช้งานในอีกสิบปีให้หลัง หลังจากที่เทราโอะขอทุ่มเทชีวิตและจิตใจไปกับการสานฝันสู่การเป็นร็อคสตาร์ให้สมความตั้งใจ
“หลังจบทริป และกลับญี่ปุ่นตอนอายุ 18 ผมรู้สึกว่าผมจะเป็นอะไรก็ได้ ดังนั้น ผมเลยใช้เวลาตลอดช่วงวัย 20 ไปกับการสานฝันในการเป็นร็อคสตาร์ แม้สุดท้ายจะคว้าน้ำเหลวก็ตาม”
หลังลาออกจากการเป็นสมาชิกวงดนตรีในปี 2001 เทราโอะก็หันมาหาทางแปรรูปความคิดสร้างสรรค์ที่ยังคงคุกรุ่นอยู่ในตัวให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง โดยเขานึกถึงการผลิตของใช้ในชีวิตประจำวันอย่างคอมพิวเตอร์ เก้าอี้ทำงาน ฯลฯ ให้มีหน้าตาและฟังก์ชันแตกต่างไปจากเดิม
“แม้แต่ตัวผมเองยังเคยนึกสงสัยว่าทำไมถึงเปิดบริษัทผลิตเครื่องใช้ภายในบ้าน ผมคิดว่าตัวเองน่าจะได้รับอิทธิพลจากการพลิกหน้านิตยสารออกแบบสัญชาติดัตช์ที่ภรรยาชอบซื้อมาอ่าน ซึ่งแต่ละหน้ามักทำให้ผมทึ่งในดีไซน์ของเครื่องใช้ที่สวยและกลมกลืนไปกับการออกแบบตกแต่งภายในบ้าน เหมือนผมได้รับพลังจากเครื่องใช้เหล่านั้น จึงตัดสินใจออกแบบเครื่องใช้รูปแบบใหม่ๆ ดูบ้าง”
คิดได้ดังนั้น เทราโอะก็เดินหน้าศึกษาวงการเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วยการเป็นแขกขาประจำตามร้านต่างๆ ในย่านอากิฮาบาระแห่งกรุงโตเกียว เพื่อถามคำถามโน้นคำถามนี้เกี่ยวกับลักษณะของวัสดุต่างๆ ที่ใช้ในการผลิต และรายละเอียดต่างๆ ของสินค้าแต่ละประเภท เพื่อเรียนรู้ศัพท์แสงในแวดวงอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าไปในตัว
หลังจากเรียนรู้แบบครูพักลักจำจนคุยกับคนในวงการได้แบบเนียนๆ เทราโอะก็ลุยแผนสองต่อ ด้วยการโทรศัพท์ติดต่อไปยังโรงงานมากกว่า 50 แห่ง เพื่อยืมสถานที่ทดลองผลิตชิ้นงาน ซึ่งเกือบทุกแห่งตอบปฏิเสธ มีโรงงานเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่ตอบรับ และเทราโอะก็ยังติดต่อกับโรงงานแห่งนั้นจนถึงทุกวันนี้
Airline
โคมไฟขวัญใจดีไซเนอร์
เทราโอะติดต่อขอยืมสถานที่ทำงานกับโรงงานแห่งนั้น ซึ่งเชี่ยวชาญด้านเครื่องจักรเกี่ยวกับเหล็ก เพื่อที่เขาจะได้ทำการศึกษาชิ้นงานจริงที่ทำจากเหล็ก อะลูมิเนียม และสแตนเลสสตีล ทั้งในแง่การออกแบบและผลิต โดยหลังจากเรียนรู้โปรแกรม CAD ด้วยตัวเอง เขาก็พร้อมจะออกแบบผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกในปี 2003 ได้แก่ แท่นวางแล็ปท็อประบายความร้อน ซึ่งเกิดจากประสบการณ์ใช้งานแล็ปท็อปของตนเอง
X-Base แท่นวางแล็ปท็อประบายความร้อนทำจากอะลูมิเนียมเป็นสินค้าลำดับแรกภายใต้ชื่อแบรนด์ BALMUDA พิเศษกว่าแท่นวางแล็ปท็อปที่เคยมีในท้องตลาดตรงองศาที่ลาดเอียงเล็กน้อย เพื่อให้สะดวกในการใช้แป้นพิมพ์ยิ่งขึ้น
หลังจากเทราโอะประกาศขาย X-Base ในเว็บไซต์ Mac ไม่ถึงชั่วโมง ก็มียอดสั่งซื้อทันที เขาจึงเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์และโต๊ะทำงาน อาทิ Highwire (วางจำหน่ายปี 2004) โคมไฟตั้งโต๊ะแบบ LED ที่ใช้กำลังไฟเพียง 12 วัตต์ แต่สามารถใช้งานได้ยาวนาน 50,000 ชั่วโมง ทั้งยังเป็นงานทำมือทั้งชิ้น แม้แต่การงอท่อโคมไฟ เทราโอะก็ใช้กำลังแขนของตัวเองออกแรงดัดให้ได้รูปทรงอย่างที่เขาต้องการ
หลังจากนั้นอีก 4 ปี โคมไฟตั้งโต๊ะรุ่นที่สองถึงจะคลอดตามมาในชื่อ Airline ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์แรกของ BALMUDA ที่ใช้แม่พิมพ์ในการผลิตจำนวนมากแบบอุตสาหกรรม แม้จะเป็นโคมไฟตั้งโต๊ะที่มีราคาสูงกว่าในท้องตลาด แต่ด้วยความที่สำนักงานออกแบบตกแต่งภายในชั้นนำนิยมใช้ Airline อย่างแพร่หลาย ทำให้ชื่อชั้นของ BALMUDA จัดอยู่ในหมวด #ของมันต้องมี ในที่สุด
ออกผลิตภัณฑ์มาได้ 3 รุ่น ดำเนินงานมาแล้ว 7 ปี ถึงตอนนี้ BALMUDA Design มีพนักงานรวม 3 คนบริษัทเล็กๆ กับความภาคภูมิใจอันยิ่งใหญ่ในการเป็นเจ้าแห่งโคมไฟตั้งโต๊ะยืนหนึ่งในวงการ
The GreenFan
พัดลมที่ทำงานนุ่มนวลราวผีเสื้อขยับปีก
เทราโอะและทีมยิ้มร่าได้เพียงไม่กี่เดือน ในปลายปีเดียวกับที่ยอดขาย Airline กำลังไปได้สวย ผลพวงของวิกฤตเศรษฐกิจเลห์แมน บราเดอร์ ในปี 2008 ก็เดินทางมาเคาะประตูออฟฟิศเล็กๆ ของเขาในรูปแบบสัญญาณชีพที่ดับสนิทของเครื่องแฟกส์ จากที่เคยส่งเสียงตอบรับคำสั่งซื้อไม่ขาดสายกลับกลายเป็นเงียบงันนานหลายสัปดาห์
“วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทำให้ผู้คนต่างก็ต้องรัดเข็มขัด ทำให้ผู้บริโภคเลี่ยงที่จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าของเรา แต่เลือกที่จะซื้อของใช้ในราคาที่จับต้องได้มากกว่า ทำให้บริษัทเกือบล้มละลาย แต่เมื่อผมเดินไปตามท้องถนนกลับเห็นว่าตามร้านอาหารก็ยังคงแน่นไปด้วยลูกค้า ผมเลยตาสว่างขึ้นมาทันทีว่าไม่ว่าเศรษฐกิจจะตกต่ำแค่ไหน แต่คนก็ไม่มีทางหยุดบริโภคได้
หลังจากเทราโอะประกาศขาย X-Base ในเว็บไซต์ Mac ไม่ถึงชั่วโมง ก็มียอดสั่งซื้อทันที เขาจึงเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์และโต๊ะทำงาน อาทิ Highwire (วางจำหน่ายปี 2004) โคมไฟตั้งโต๊ะแบบ LED ที่ใช้กำลังไฟเพียง 12 วัตต์ แต่สามารถใช้งานได้ยาวนาน 50,000 ชั่วโมง ทั้งยังเป็นงานทำมือทั้งชิ้น แม้แต่การงอท่อโคมไฟ เทราโอะก็ใช้กำลังแขนของตัวเองออกแรงดัดให้ได้รูปทรงอย่างที่เขาต้องการ
“ดังนั้น เหตุผลที่คนไม่สนใจผลิตภัณฑ์ของเรา ก็เพราะของใช้เหล่านี้ไม่ได้จำเป็นสำหรับชีวิตมากขนาดนั้น เพื่อแก้ปัญหานี้ ผมจึงต้องผลิตสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของผู้คนจริงๆ”
‘พัดลม’ คือสินค้าที่เทราโอะนึกถึง ไม่เฉพาะสถานะของการเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ชาวญี่ปุ่นทุกบ้านจำเป็นต้องใช้ โดยเฉพาะในฤดูร้อนอันแสนหฤโหดที่จะพึ่งแต่เครื่องปรับอากาศก็คงรับมือกับบิลค่าไฟทุกเดือนไม่ไหว
แต่เพราะพัดลมเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่เทราโอะตั้งใจจะพัฒนามานานหลายปีแล้ว ด้วยความสนใจด้านเทคโนโลยีไฟฟ้ามาโดยตลอด บวกกับการตระหนักถึงปัญหาสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงของโลกและปัญหาด้านพลังงาน
“ผมคิดว่าพัดลมรุ่นใหม่ที่ผู้คนในยุคนี้ต้องการก็คือพัดลมที่ช่วยให้เขาผ่านพ้นฤดูร้อนอันโหดร้ายไปได้โดยใช้พลังงานน้อยที่สุด” และเพื่อให้เกิดพัดลมที่สนองต่อแนวคิดนี้ได้จริง เทราโอะยืนยันว่าต้องยกเครื่องเทคโนโลยีในการผลิตพัดลมใหม่ทั้งหมด
“คุณค่าของพัดลมอยู่ที่สายลมเย็น แต่การถูกลมพัดจ่อที่ตัวโดยตรงเป็นเวลานานย่อมทำให้ไม่สบายตัว จึงเป็นเหตุผลที่พัดลมต้องส่ายได้ ซึ่งกลไกนี้เกิดขึ้นก็เพื่อลดระยะเวลาที่ผู้ใช้งานสัมผัสกับสายลมโดยตรง ซึ่งหมายถึงความเย็นที่ลดลงเช่นกัน
“ดังนั้น สิ่งที่ผมต้องการจะสร้างก็คือ พัดลมไฟฟ้าที่ให้ความเย็นแบบเดียวกับสายลมตามธรรมชาติที่พัดเข้ามาทางหน้าต่าง”
ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นของ BALMUDA มีจุดเริ่มต้นจากเจตจำนงที่แน่วแน่ ตามมาด้วยการค้นคว้าวิจัยอย่างเข้มข้น การผลิตพัดลมก็เช่นกัน เทราโอะเริ่มจากอ่านหนังสือเกี่ยวกับอากาศพลศาสตร์ของไหลและโครงสร้างใบพัด แต่ก็ยังไม่เจอเทคนิคในการสร้างสายลมเย็นแบบธรรมชาติ
เขาจึงเริ่มศึกษาเรื่องการพัดพาของอากาศโดยสร้างเครื่องวัดแรงลมขึ้น เพื่อเก็บข้อมูลลมตามธรรมชาติ รวมถึงศึกษาเรื่องการเคลื่อนที่ของอากาศจากพัดลมแบบเดิมๆ ที่มีอยู่
และแล้ว เขาก็ฉุกคิดถึงพัดลมติดผนังรูปร่างแปลกๆ ที่เคยเห็นในโรงงานแห่งหนึ่งที่เขาแวะไปเป็นประจำ ใบพัดหักๆ ของพัดลมตัวนั้นทำให้เกิดการหมุนสองทิศทาง เกิดเป็นความเย็นคล้ายลมธรรมชาติไม่มีผิด
เมื่อผนวกเข้ากับอีกหนึ่งเหตุบังเอิญ เมื่อเขาเปิดโทรทัศน์เจอรายการแข่งขันวิ่งแข่งสามขา เทราโอะสังเกตว่าเด็กที่วิ่งได้เร็วจะถูกลากให้ไปข้างหลังโดยคนที่วิ่งช้ากว่า
ไม่แน่ว่าหลักการนี้อาจนำไปใช้ออกแบบการหมุนของอากาศได้ – เทราโอะตั้งสมมติฐานในใจ
เทราโอะทดลองสร้างใบพัดสองวง (ใบพัดชั้นนอกกับใบพัดชั้นใน) เพื่อให้เกิดการหมุนในทิศทางตรงกันข้าม ใบพัดที่หมุนไวกว่าจะถูกลากให้ไปข้างหลังโดยตัวที่ช้ากว่า ทำให้เกิดสายลมสองแบบผสมผสานกัน
การทดลองนี้นำไปสู่การออกแบบพัดลม 2 ใบพัด ลิขสิทธิ์เฉพาะของ BALMUDA The GreenFan ที่สร้างให้เกิดลมที่เหมือนลมเย็นธรรมชาติ ที่พัดกระจายฟุ้งนุ่มนวลไกลถึง 15 เมตร
นอกจากนี้ The GreenFan ยังประหยัดพลังงานสูงด้วยมอเตอร์แบบไฟ DC และวงจรไฟฟ้าต่ำ ทั้งยังทำงานเงียบมากด้วยความดังไม่ถึง 13 เดซิเบล The GreenFan จึงได้รับการขนานนามว่า พัดลมที่พัดได้นุ่มนวลและแผ่วเบาราวผีเสื้อขยับปีก
แม้จะมีราคาสูงกว่าพัดลมในท้องตลาดหลายเท่าตัว แต่ทันทีที่วางจำหน่ายในเดือนเมษายนปี 2010 The GreenFan ก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จนทีม BALMUDA เดินหน้าพัฒนาพัดลมอีกหลายรุ่นตามมา ได้แก่ The GreenFan Cirq พัดลมทรงกลม และ The GreenFan C2 พัดลมไร้สายขนาดเพียง 67% ของรุ่นบุกเบิก
ล่วงถึงปี 2012 BALMUDA มีทีมวิศวกรจำนวนหลายโหล เทียบเป็นจำนวนครึ่งนึงของพนักงานทั้งบริษัท เป็นเหตุผลที่แบรนด์ BALMUDA มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทยอยวางขายในเวลาไล่เลี่ยกัน อาทิ เครื่องฟอกอากาศ AirEngine (หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ Jet Clean) เครื่องพ่นไอน้ำ Rain และเครื่องทำความร้อน SmartHeater
นอกจากนี้ BALMUDA ได้พัฒนาเทคโนโลยี UniAuto เเพื่อชื่อมต่อทุกผลิตภัณฑ์ของ BALMUDA เข้ากับสมาร์ทโฟนให้เหมาะกับยุค IoT (Internet of Things)
The Toaster
เครื่องปิ้งขนมปังที่ทำให้ใจอุ่น
ปี 2014 เทราโอะร่วมกับทีมนักออกแบบและวิศวกรของ BALMUDA ลงความเห็นว่า ดีไซน์ของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันจะช่วยตอกย้ำประสบการณ์ในการใช้งานให้ผู้บริโภคประทับใจ พวกเขาจึงเลือกที่จะพัฒนาศักยภาพของเครื่องครัวเป็นอันดับแรก โดยมีเป้าหมายในการเชื่อมโยงผัสสะทั้งห้าเข้าด้วยกัน
“มิติที่สำคัญที่สุดของเครื่องใช้ไฟฟ้า ก็คือ การมอบความพึงพอใจและความสะดวกสบายขณะใช้งาน เราจึงมองหาวิธีที่จะช่วยให้ผู้คนมีความสุขกับของใช้ในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น
“ดังนั้น จะดีแค่ไหนหากเราสามารถเริ่มต้นเช้าวันใหม่ด้วยขนมปังรสชาติอร่อยจนทำให้ทุกวันเป็นวันที่ดีได้ การมอบประสบการณ์ในการใช้งานที่น่าประทับใจเป็นคุณสมบัติของเครื่องครัวยุคใหม่ที่เครื่องครัวสมัยก่อนไม่มี”
และเป็นอีกครั้งที่บางเสี้ยวส่วนของความทรงจำในชีวิต CEO ถูกนำมาแปรรูปเป็นสินค้าที่สร้างผลลัพธ์สั่นสะเทือนวงการ
“จุดหมายแรกในทริปท่องประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียนตอนผมอายุ 17 คือ เมืองรอนดา ประเทศสเปน หลังจากลงรถไฟ ต่อรถบัส แล้วเดินเท้าจนถึงในเมือง ผมก็อยู่ในสภาพเหน็ดเหนื่อยและหิวโซ เมื่อผมได้กลิ่นหอมลอยมาจากร้านขนมปังในตรอกเล็กๆ แห่งหนึ่ง ผมจึงพาตัวเองไปที่นั่น และทันทีที่กัดขนมปังเข้าไปคำแรก ผมถึงกับน้ำตารื้น เพราะไม่เคยกินขนมปังรสชาติอร่อยขนาดนี้มาก่อนในชีวิต
“ผมตระหนักในนาทีนั้นเลยว่าอาหารไม่ได้แค่ย่อยสลายหายไป แต่เปลี่ยนรูปเป็นพลังงานให้ชีวิตขับเคลื่อนต่อไปได้ นั่นคือคุณค่าของอาหารที่สร้างความหมายต่อการมีชีวิตอยู่”
เทราโอะนำรสชาติความอร่อยที่เขาไม่เคยลืมมาต่อยอดเป็นแนวคิดในการผลิตเครื่องปิ้งที่จะต้องอบขนมปังให้อร่อยกว่าเดิม
‘ขนมปังปิ้งที่อร่อยกว่าเดิม’ วลีที่แสนจะเป็นนามธรรมนี้ถูกเปลี่ยนให้เป็นรูปธรรมโดยทีมวิศวกรของ BALMUDA ที่ใช้ทั้งหลักการเจลลาติไนซ์ (Gelatinization) เพื่อกักเก็บความชื้นให้เนื้อขนมปังนุ่มปุย ควบคู่กับปฏิกิริยาเมลลาร์ด (Maillard) ด้วยการใช้ความร้อนสูง เพื่อให้ผิวนอกของขนมปังกรอบเป็นสีเหลืองทอง
แต่ก่อนจะไปถึงห้องทดลอง ไอเดียทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นในเดือนพฤษภาคม ปี 2014 เมื่อชาว BALMUDA นัดกันปิ้งบาร์บีคิวกินกันง่ายๆ ใกล้ออฟฟิศ และแม้ฝนเจ้ากรรมจะเทกระหน่ำ พวกเขาก็ยังคงปิ้งย่างอาหารกินกันอย่างเอร็ดอร่อย ไม่ใช่อร่อยธรรมดา แต่ทุกคนลงมติเป็นเอกฉันท์ว่าขนมปังปิ้งเตาถ่านกลางสายฝนนั้นอร่อยฉ่ำเป็นพิเศษ
ทีแรกพวกเขาคิดว่าเตาถ่านคือเคล็ดลับความอร่อย แต่ก็ไม่ใช่ หรือจะเป็นเพราะเปลวไฟ ก็ไม่เชิง ท้ายที่สุด พวกเขาก็ค้นพบว่าความชื้นขณะปิ้งต่างหากที่ทำให้เนื้อขนมปังทั้งนุ่มและชุ่มฟู
และนี่เป็นที่มาของการต้องเทน้ำปริมาตร 5 cc ลงใน BALMUDA The Toaster ก่อนใช้งานทุกครั้ง เพื่อให้ไอน้ำค่อยๆ อุ่นเนื้อขนมปังให้อร่อยจนน้ำตาแทบไหล
และอย่าลืมว่าเป้าหมายของเครื่องใช้ไฟฟ้าประทับแบรนด์ BALMUDA คือ การเชื่อมโยงผัสสะทั้งห้าเข้าด้วยกัน ดังนั้น นอกจากจะอบขนมปังให้อวล ‘กลิ่น’ หอม ให้ ‘รส’ อร่อยจนลืมกลืนแล้ว ‘รูป’ ร่างหน้าตาของเตา BALMUDA The Toaster ยังต้องสวยแบบไม่ธรรมดา
ทีมดีไซน์จึงเลือกเตาอบของคุณย่าในแอนิเมชั่น Kiki’s Delivery Service เป็นแรงบันดาลใจ ทั้งยังออกแบบ ‘สัมผัส’ ของตัวเครื่องให้ทุกการบิดปุ่มปรับความร้อนเพลิดเพลินอย่างบอกไม่ถูก ปิดท้ายด้วย ‘เสียง’ จับเวลาการทำงานของตัวเครื่อง ที่ดังขึ้นเมื่อไรย่อมหมายถึงความอร่อยพร้อมเสิร์ฟ
BALMUDA The Toaster เป็นเครื่องครัวลำดับแรกในซีรีส์ Hello Kitchen! ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ The Good Design Award ประจำปี 2015 มาครอง ตามด้วย BALMUDA The Kettle กาต้มน้ำที่ออกแบบพวยกามาเป็นพิเศษให้เทสะดวก ไม่หกเลอะเทอะ พร้อมหูจับกระชับมือ และรูปทรงที่สะดวกใช้ หรืออันที่จริง แค่ตั้งไว้เฉยๆ ก็สวยแล้ว
นอกจากขนมปัง คนญี่ปุ่นยังกินข้าวเป็นอาหารหลัก และข้าวที่ช่วยให้มื้ออาหารอร่อยยิ่งขึ้นย่อมหุงด้วย BALMUDA The Gohan หม้อหุงข้าว 2 ชั้น ชั้นในใส่ข้าวสารกับน้ำ ส่วนชั้นนอกใส่น้ำ เพื่อใช้พลังไอน้ำในการอบข้าวด้านในให้ค่อยๆ สุก จึงทำให้ได้ข้าวสวยเนื้อหนึบ เรียงเม็ดแวววาวน่ารับประทาน กินร้อนๆ ก็อร่อย หรือทิ้งไว้ให้เย็นก็ไม่ชืดจนเสียรสชาติ
BALMUDA ยังมีเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ซ่อนความประหลาดใจให้แก่ผู้ใช้งานอีกหลากหลายภายใต้ดีไซน์สวยล้ำ ทั้งเครื่องชงกาแฟ เตาอบ เครื่องดูดฝุ่น โคมไฟ ไปจนถึงตะเกียงไฟฟ้า ซึ่งสินค้าทุกชิ้นล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ที่เทราโอะรวมถึงทีมงานอยากสร้างสรรค์ขึ้นจากใจ โดยไม่เคยสำรวจการตลาดแม้แต่ครั้งเดียว
“BALMUDA ไม่เคยสำรวจการตลาดก่อนเริ่มต้นผลิตสินค้า เพราะถ้าผลิตภัณฑ์ที่พวกเราลงทุนลงแรงคิดค้นขึ้นมาเกิดขายไม่ออก แบบนั้นเราสามารถยอมรับได้ แต่ถ้าเราทำตามความต้องการของตลาด แล้วกลับล้มเหลวอีก เราคงรู้สึกขมขื่นแน่นอน
“ดังนั้น ทำสิ่งที่ตัวเองมั่นใจที่จะทำดีที่สุด” ชาว BALMUDA เชื่อเช่นนั้น
อ้างอิง
- https://us.balmuda.com/pages/about
- Hakuhodo. Talk with Balmuda CEO Gen Terao at Advertising Week Asia. https://bit.ly/38T5JSj
- Baek Byung-yeul. ‘Want to succeed in business? Stake your life on it’. https://bit.ly/3AkLwkt
- Takayoki Tanaka and Masaharu Ban. Sleek toaster maker Balmuda to serve up smartphones in Japan. https://s.nikkei.com/3C8ZNRt