©ulture

นอกจากความบันเทิงและเสียงไพเราะของนักร้อง มนต์เสน่ห์อีกอย่างที่ ‘เพลงลูกทุ่ง’ ยังคงรักษาไว้ได้เสมอ ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคสมัย คือการทำหน้าที่บอกเล่าความเป็นไปของผู้คนและสังคมในช่วงเวลานั้นๆ

ด้วยลีลาภาษาทีเล่นทีจริง เสียดสี และจิกกัดปนอารมณ์ขัน ชวนให้ผู้ฟังขบคิดถึงสาระสำคัญที่เพลงลูกทุ่งต้องการสื่อ โดยเฉพาะผลงานอมตะที่คนไทยคุ้นหูและร้องได้ทั่วบ้านทั่วเมืองอย่างเพลง ‘ผู้ใหญ่ลี’

“พ.ศ. 2504 ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม
ชาวบ้านต่างมาชุมนุม มาประชุมที่บ้านผู้ใหญ่ลี…”

‘ผู้ใหญ่ลี’ คือเพลงเอกของ พิพัฒน์ บริบูรณ์ ครูเพลงลูกทุ่งผู้ใช้นามแฝงในวงการแต่งเพลงว่า สมบัติ เพชรลานนา หรือ อิง ชาวอีสาน ซึ่งพลิกแพลงมาจากการแสดงหมอลำในงานบุญที่จังหวัดอุบลราชธานีใน พ.ศ. 2502 เมื่อครั้งไปเยี่ยมบ้านเกิดของ ศักดิ์ศรี ศรีอักษร ภรรยาผู้ขับร้องเพลงผู้ใหญ่ลีเป็นคนแรก

เมื่อคนกรุงแต่กำเนิดอย่างครูพิพัฒน์ได้ชมศิลปะการแสดงพื้นบ้านของชาวอีสานนั้นแล้ว ก็อดกลั้นขำไม่ได้ เพราะตัวละครนำที่รับบทเป็นผู้ใหญ่บ้าน พยายามพูดภาษาไทยภาคกลางด้วยความไม่รู้ประสา จนเรียกเสียงหัวเราะชอบใจจากผู้ชมได้ขนานใหญ่ นี่คือแรงบันดาลใจที่ทำให้ครูพิพัฒน์เริ่มต้นเขียนเพลงผู้ใหญ่ลี

เวลาเดียวกัน สังคมไทยยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านและเปลี่ยนแปลงของขั้วการเมือง ภายใต้การปกครองของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลังทำรัฐประหารเพื่อโค่นอำนาจของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้สำเร็จตั้งแต่ พ.ศ. 2500 และต้องการพลิกโฉมประเทศไทยให้ทันสมัย

สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขณะครองยศพลเอก Photo: Memorial book of Field Marshal Sarit Thanarat (1950s)

ใน พ.ศ. 2503 จึงประกาศใช้แผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรก ระหว่าง พ.ศ. 2504-2509 เพื่อเป็นแนวทางยุทธศาสตร์ชาติสำหรับพัฒนาประเทศครั้งใหญ่บนหลักคิด ‘น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ บำรุงความสะอาด’ โดยมุ่งปรับปรุงพื้นที่และสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานให้ครอบคลุมทั่วประเทศ หวังกระจายความเจริญและอาชีพไปสู่ชนบท

เพราะก่อนหน้านั้น สภาพความเป็นอยู่ของคนไทยในต่างจังหวัด ค่อนข้างอัตคัดและล้าหลัง คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพกสิกรรม ทำการเพาะปลูกเพื่ออยู่เพื่อกิน ทั้งๆ ที่น้ำประปาและไฟฟ้ายังเข้าไปถึงด้วยซ้ำ การพัฒนาจึงเป็นสิ่งใหม่ที่คนชนบทตื่นตัวสนใจด้วยความคิดความอ่านที่เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง

สาระสำคัญของเพลงผู้ใหญ่จึงลีผูกโยงอยู่กับเหตุบ้านการเมืองในสมัยนั้น เพราะต้องการเสียดสีนโยบายของภาครัฐนโยบายจากแผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรก เช่น การตีกลองของผู้ใหญ่ลีเพื่อเรียกชาวบ้านมาประชุมสะท้อนให้เห็นความล้าหลังของสังคม และวิถีชีวิตที่แร้นแค้น ซึ่งยังห่างไกลจากคำว่าพัฒนาแล้ว

“…ต่อไปนี้ผู้ใหญ่ลีจะขอกล่าว ถึงเรื่องราวที่ได้ประชุมมา
ทางการเขาสั่งมาว่า ให้ชาวนาเลี้ยงเป็ดและสุกร…”

การเร่งพัฒนาประเทศตามนโยบายของรัฐที่วางเอาไว้ ด้วยวิธีสื่อสารเดียวกันกับที่ใช้ในระบบทหาร คือ top-down หรือจากบนลงล่าง หมายความว่า รวมอำนาจการตัดสินใจเด็ดขาดไว้ที่ผู้นำสูงสุดเพียงคนเดียว แล้วค่อยออกคำสั่งในคนที่อยู่ใต้บังคับบัญชาตามลำดับขั้นเชื่อฟังแล้วทำตามเป็นทอดๆ โดยห้ามมีข้อโต้แย้งใดๆ

โครงสร้างเชิงอำนาจที่ผูกขาดกับส่วนกลางหรือคนคนเดียวเช่นนี้ จะสร้างปัญหาและความผิดพลาดตามมาได้ เพราะขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ไร้เสียงคัดค้านที่จะช่วยแก้ไขและปรับปรุงแนวทางปฏิบัติเหล่านั้น เพื่อตรวจสอบความเข้าใจของทุกๆ ฝ่ายให้ตรงกัน

เมื่อทางการสั่งมาว่าให้ทำ ทุกคนจึงไม่ได้สนใจเหตุผลเบื้องหลัง ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเนื้อหาที่สั่ง แท้จริงมีความหมายว่าอย่างไร เพราะมีหน้าที่ทำตามเท่านั้น ต่อให้ไม่รู้อะไรเลยสักอย่าง ก็แค่ก้มหน้าก้มตาทำให้จบไป

“…ฝ่ายตาสีหัวคลอน ถามว่าสุกรนั้นคืออะไร
ผู้ใหญ่ลีลุกขึ้นตอบทันใด สุกรนั้นไซร้ คือหมาน้อยธรรมดา…”

‘สุกร’ หรือ ‘คำสุภาพ’ คือผลพวง ‘รัฐนิยม’ ซึ่งเป็นคำสั่งของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ตกทอดมาถึงยุคของจอมพลสฤษดิ์ เนื้อหาสำคัญของรัฐนิยมคือต้องการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนไทยให้เป็นระเบียบแบบแผนอย่างชาติตะวันตก

คำที่ใช้ในคำสั่งและแผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรกจึงเป็นคำทางการและคำสุภาพที่ไม่ค่อยพบเห็นโดยทั่วไปในชีวิตประจำวันแทนภาษาปากหรือภาษาพูด เช่น ใช้กระบือแทนควาย ใช้โคแทนกระบือ ยิ่งทำให้คนชนบทสงสัยความหมายของแต่ละคำ นำไปสู่การตีความผิดและคลาดเคลื่อนตามเพราะไม่ได้แตกฉานภาษาไทยภาคกลาง

เหมือนในเนื้อเพลงที่ตาสีแปลไม่ออกว่าสุกรคือตัวอะไร ส่วนผู้ใหญ่ลีก็ตอบไปผิดๆ ว่า หมา นี่คือช่องว่างความเข้าใจที่แตกต่างกันระหว่างรัฐกับประชาชน ชนชั้นปกครองกับชาวบ้าน กลายเป็นเพลงเย้ยหยันการพัฒนาชนบทของรัฐในตอนนั้น

“…สายันต์ตะวันร้อนฉี่ ผู้ใหญ่ลีขี่ม้าบักจอน
แดดฮ้อนฮ้อนใส่แว่นตาดำ ผู้ใหญ่ลีกลัวฝนจะตกฮำ
ถอดแว่นตาดำฟ้าแจ้งจางปาง…”

เดิมที ‘ผู้ใหญ่ลี’ เป็นหนึ่งในเพลงประจำวงดนตรีของครูพิพัฒน์ที่ใช้เดินสายแสดงตามต่างจังหวัดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2504 แต่ในเวลาอันสั้น เพลงนี้กลับโด่งดังทั่วประเทศ ไปแสดงที่ไหนก็มีแต่คนตั้งหน้าตั้งตารอ สร้างชื่อเสียงให้ครูพิพัฒน์ และศักดิ์ศรี เป็นที่รู้จักในแวดวงลูกทุ่งไทย จนกระทั่งใน พ.ศ. 2507 จึงได้ฤกษ์บันทึกเสียงลงแผ่นครั้งแรก ซึ่งขายดีมากจนโรงงานผลิตแผ่นเสียงไม่ทันตามความต้องการ

Photo: https://www.discogs.com/Louise-Kennedy-Puyai-Lee/release/11831407

ผู้ใหญ่ลียังดังไกลถึงสหรัฐอเมริกา เมื่อ หลุยส์ เคนเนดี้ (Louise Kennedy) ลูกสาวของที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ องค์การสหประชาชาติ ผู้เคยเข้ามาประจำการที่ประเทศไทย นำเพลงนี้ไปร้องในเกมโชว์ To Tell The Truth โดยใช้ทำนองเพลง Green Onions (1962) ของวงดนตรี Booker T. & The MG’s แทน ผลตอบรับเกินความคาดหมายของทุกคนเพราะวงของเธอชนะการแข่งขัน

ด้วยความใสซื่ออย่างคนชนบท ทำให้ผู้ใหญ่ลีเป็นภาพแทนของเจ้าหน้าที่รัฐผู้พยายามทำตัวให้ทันสมัย ทั้งใส่แว่นตา ขี่ม้าต่างขับรถฝรั่ง แต่มันช่างดูน่าขำผิดฝั่งผิดฝาในสายตาของคนที่พบเห็น ท่อนสุดท้ายของเพลงจึงล้อเลียนลักษณะและบุคลิกภาพของผู้ใหญ่ลี

“…คอกลมเหมือนดั่งคอช้าง เอวบางเหมือนยางรถยนต์
รูปหล่อเหมือนตอไฟลน หน้ามนเหมือนเขียงน้อยซอยซา
เขียงน้อย เขียงน้อยซอยซา”

ตลอดเวลา 60 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2504-2564 ประเทศไทยประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาแล้ว 12 ฉบับ แม้จะเปลี่ยนแปลงระดับความยากจนของคนในประเทศให้ลดลงมาก และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยจากเกษตรกรรมสู่ภาคอุตสาหกรรมได้จริง

แต่ผลที่ตามมากลับทำให้เกิดช่องว่างเรื่องรายได้และทรัพย์สินระหว่างชนชั้น เพราะขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่จะช่วยกำหนดทิศทางเศรษฐกิจด้วยตัวเอง ส่วนคำสั่งที่รับส่งเป็นทอดๆ จากบนลงล่าง ล้วนไม่ได้สนใจประชาชนที่ได้รับผลพวงของการพัฒนา

ความเสียดสีชวนให้ขำขันของเพลง จึงไม่อาจกลบเกลื่อนความจริงอันเจ็บปวดที่เป็นบทสรุปของชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้ใหญ่ลี ตาสี และชาวบ้านไปได้

 

อ้างอิง

  • กรุงไทยออดิโอ. ตำนานผู้ใหญ่ลี: ประวัติ พิพัฒน์ บริบูรณ์. https://bit.ly/3EQIKpB
  • คุณพระช่วย. ๕๗ ปี ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม. https://bit.ly/3o7dP2n
  • ปาริชาต สถาปิตานนท์. การสื่อสารด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม. https://bit.ly/3zMNJnq
  • Thai PBS. ความจริงไม่ตาย: ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม. https://bit.ly/3kOUYXX