life

‘วิ่งในความฝัน’ ไม่ใช่ทุกคนจะทำได้

ความไม่ได้ดั่งใจนี้เอง ทำให้ใครหลายคนรู้สึกรำคาญและอารมณ์เสียระหว่างฝัน ก่อนจะตื่นขึ้นมาพร้อมกับความงุนงงว่า ทั้งๆ ที่พยายามก้าวเท้าพร้อมออกวิ่งสุดแรงเกิด แต่ทำไมร่างกายของเรากลับเนือยนิ่งอยู่กับที่ไม่เปลี่ยนแปลง หรือไม่ก็เคลื่อนไหวได้เชื่องช้ามากๆ เหมือนกับเป็นตัวสลอธหรือภาพสโลโมชันไม่ผิดเพี้ยน

ต่อให้เป็นคนที่วิ่งออกกำลังกายเป็นประจำอยู่แล้ว แม้กระทั่งนักวิ่งมืออาชีพระดับเหรียญทองโอลิมปิกเองก็เถอะ เมื่ออยู่ในความฝัน ทุกคนต่างมีโอกาสประสบเหตุการณ์นี้เหมือนกันทั้งนั้น แต่อะไรคือเหตุผลแท้จริงที่ทำให้การวิ่งในความฝันต้องใช้ความพยายามมากกว่าวิ่งในโลกความเป็นจริง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วมักจะจบลงด้วยความล้มเหลวอยู่ดี คือ วิ่งไม่ไป

เพื่อให้ได้คำตอบที่อธิบายเรื่องนี้อย่างกระจ่าง ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายดาย เพราะความฝันเสมือนดินแดนลึกลับที่ตั้งอยู่บนความไม่แน่นอน มนุษย์จึงไม่เคยสำรวจความฝันได้ครบทุกแง่มุม ยิ่งไปกว่านั้นยังไม่มีสิ่งใดช่วยยืนยันได้ว่าแต่ละคนจะฝันเมื่อไหร่ และฝันถึงอะไร เนื้อหาในความฝันจึงหลากหลายและแตกต่างกันไปตามแต่ประสบการณ์และการรับรู้ที่เกิดขึ้นตลอดชีวิต ยกเว้นช่วงเวลา วิ่งหนี วิ่งไล่ หรือวิ่งตาม อะไรสักอย่างในฝัน

การศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจและพอจะไขข้อสงสัยเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้เราวิ่งได้ช้าในความฝันเกิดขึ้นในปี 2014 โดย แดเนียล เออร์ลาเกอร์ (Daniel Erlacher) ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาชาวสวิส จากมหาวิทยาลัยเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ผู้ทุ่มเทศึกษาเรื่องการเคลื่อนไหวของมนุษย์ที่เกิดขึ้นในฝันมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้

แต่ปัญหาคือ เนื้อหาหรือเหตุการณ์ที่ปรากฏเป็นภาพฝันขณะหลับเป็นสิ่งจับต้องไม่ได้ ถ้าจะอาศัยแต่การบอกเล่าของผู้คนหลังตื่น ก็อาจเกิดความผิดพลาดได้เช่นกัน เออร์ลาเกอร์จึงออกแบบการทดลองให้รัดกุม โดยใช้วิธีวิเคราะห์คลื่นสมองและเปรียบเทียบเวลาที่ใช้ทำกิจกรรมระหว่างในความฝันกับโลกความจริงแทน

กิจกรรมที่ว่า เออร์ลาเกอร์กำหนดไว้ 3 อย่าง คือ นับตัวเลข เดิน และบริหารร่างกายด้วยท่ายิมนาสติกพื้นฐาน เช่น กระโดด แต่คนที่จะเข้าร่วมการทดลองนี้ได้ต้องเป็นคนที่รู้ตัวว่ากำลังฝัน แล้วควบคุมตัวเองให้ทำกิจกรรมเหล่านี้ได้คล้ายกับกำลังเล่นเกม เป็นความฝันที่เรียกว่า lucid dream ซึ่งเออร์ลาเกอร์รวบรวมคนที่พร้อมร่วมทดสอบได้มากถึง 31 คน

เพื่อไม่ให้ผลการทดสอบคลาดเคลื่อน ทุกคนต้องเข้าร่วมฝึกซ้อมทำกิจกรรมทั้งหมดให้ร่างกายคุ้นชิน โดยเฉพาะการกรอกตาขณะหลับ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณให้เออร์ลาเกอร์รู้ว่าพวกเขาใช้เวลาทำแต่ละกิจกรรมในความฝันนานแค่ไหน

ผลการทดสอบพบว่า โดยเฉลี่ยแล้วผู้เข้าร่วมการทดสอบใช้เวลาทำกิจกรรมที่ต้องขยับร่างกายในความฝันมากกว่าโลกความเป็นจริง 52.5% หมายถึง ในความฝันมนุษย์เรามีแนวโน้มทำกิจกรรมต่างๆ ได้ช้ากว่าโลกความเป็นจริงประมาณ 50%

เออร์ลาเกอร์ให้เหตุผลประกอบว่า ปกติขณะหลับ สมองจะสั่งการไม่ให้กล้ามเนื้อคลายตัว ร่างกายจึงเป็นอัมพาตชั่วคราว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเคลื่อนไหวที่เราไม่รู้ตัว โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวจากความฝัน ไม่อย่างนั้นอาจทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อร่างกายได้

ดังนั้น อาการวิ่งไม่ไปในความฝัน จึงเป็นผลมาจากความขัดแย้งกับความเป็นจริงที่กำลังเกิดขึ้นอยู่กับร่างกาย ซึ่งนอนแน่นิ่งอยู่บนเตียงไม่ขยับ จุดนี้เองที่ทำให้เราวิ่งได้ช้ามากๆ อย่างกับมีโซ่ตรวนหนักอึ้งถ่วงไว้ ทั้งที่ข้อเท้าของเราก็ว่างเปล่าไร้พันธนาการ หรือไม่ก็รู้สึกว่าตัวหนักคล้ายกำลังจะจมลงในทรายดูด จนวิ่งไปไหนไม่ได้

ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่อาการผิดปกติแต่อย่างใด ตรงกันข้ามเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นกับทุกคน และหากครั้งต่อไปฝันว่าวิ่ง เราอาจเหนื่อยน้อยลงก็ได้ เพราะกับบางเรื่อง ไม่ว่าจะพยายามสักแค่ไหน ก็ไร้ผลและเปล่าประโยชน์

 

อ้างอิง