©ulture

“เราต่างทุกข์ทรมานในจินตนาการมากกว่าทุกข์ทรมานในความเป็นจริง”  เซเนกา (Seneca)

แนวคิดทางปรัชญาชื่อ ‘สโตอิก’ (Stoicism) อุบัติขึ้นในช่วงเวลาอันยากลำบากของผู้คนเมื่อราว 2,500 ปีก่อน โลกยุคกรีก-โรมันโบราณกำลังแตกสลาย ชีวิตไร้ความมั่นคง บ้านเมืองกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ความโกลาหลวุ่นวายดำเนินไปราวกับไม่มีวันสิ้นสุด

เซเนกา / Photo: https://cdn23.picryl.com/photo/1635/01/01/buste-van-seneca-77b259-1024.jpg

ราวปีที่ 304 ก่อนคริสตกาล พ่อค้านาม ซีโน (Zeno) แห่งเมืองซิติอุม (Citium) เกิดอุบัติเหตุเรือล่มระหว่างเดินทางไปค้าขาย เขาสูญเสียทุกอย่าง มีเพียงชีวิตที่รอดมาได้ ซีโนพาตัวเปล่าๆ ของเขาเดินทางไปเอเธนส์ และได้พบกับการศึกษาศาสตร์ด้านปรัชญาที่เปลี่ยนชีวิตของเขาไปตลอดกาล เขาก่อตั้งสำนักคิด และมีสานุศิษย์อยู่จำนวนหนึ่ง เนื่องจากปรัชญาที่เขาค้นพบและตกผลึกมีรากฐานที่น่าค้นหา ด้วยการพยายามแบ่งแยกความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เรา ‘ควบคุมได้’ กับ ‘ควบคุมไม่ได้’ ออกจากกัน เพื่อเข้าถึงความหมายของการมีชีวิต ต่อมาปรัชญาสายนั้นถูกรู้จักในชื่อ ‘สโตอิก’

becommon เคยกล่าวถึงปรัชญาสายสโตอิกไปบ้างแล้วเล็กน้อยในบทความ ‘คุณอาจกำลังโยนเวลาในชีวิตทิ้ง หากกำลังทำสิ่งเหล่านี้…’  ครั้งนี้เราจึงอยากพูดถึงปรัชญาสายสโตอิกอีกสักครั้ง ในมุมมองที่ว่า มันอาจเป็นยาช่วยบรรเทา ‘ภาวะวิตกกังวล’ หรือ anxiety ของคนปัจจุบัน โดยเฉพาะในภาวะวิกฤติจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสภาพสังคม-การเมืองที่ไม่สู้จะดีนักในช่วงนี้ เนื่องจากแนวคิดทางปรัชญาสายนี้เกิดขึ้นมาในภาวะที่โลกดูจะไร้ความหวังเช่นเดียวกัน

รูปปั้นซีโน / https://quotepark.com/media/authors/zeno-of-citium.jpeg

สโตอิกคืออะไร?

อิปิคเตตัส (Epictetus) นักปราชญ์คนสำคัญสำนักสโตอิกผู้มีชาติกำเนิดเป็นทาส และมีชีวิตอยู่ในช่วงคริสต์ศักราชที่ 55 ถึง 135 อธิบายไว้อย่างสั้นกระชับแต่เข้าใจง่ายว่า

“เพื่อที่จะเข้าถึงเสรีภาพและความสุข ท่านต้องตระหนักถึงความจริงพื้นฐานที่ว่า หลายสิ่งในชีวิตอยู่ภายใต้การควบคุมของท่าน แต่ก็มีอีกหลายอย่างที่ควบคุมไม่ได้”

แนวคิดที่เรียบง่ายเช่นนี้เอง ที่ทำให้ปรัชญาสโตอิกมีอายุยืนยาวไม่ล้าสมัย พูดถึงใหม่ได้ไม่รู้จบ แถมงานเก่าๆ ของนักปรัชญาสายนี้ก็ถูกรื้อค้นมาศึกษาอย่างแพร่หลายอีกครั้งในระยะเวลาหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา

“แนวคิดสโตอิกกลับมานิยมในปัจจุบัน เพราะผู้คนรู้สึกควบคุมสิ่งต่างๆ ไม่ได้” จูลส์ อีแวนส์ (Jules Evans) แสดงความคิดเห็น เขาคือผู้เขียนหนังสือขายดี Philosophy for Life: And Other Dangerous Situations ซึ่งกล่าวถึงปรัชญาในยุคโบราณที่เขานำมาปรับใช้กับชีวิตโดยเฉพาะปรัชญาสโตอิก

“สโตอิกยอมรับว่าเราไม่สามารถควบคุมโลกภายนอกได้ แต่คุณสามารถค้นหาวิธีการเข้าถึงความสงบ ความสุข และความหมาย โดยโฟกัสเฉพาะสิ่งที่ควบคุมได้ นั่นคือความเชื่อของคุณ และการกระทำของคุณ”

จูลส์ อีแวนส์

ตรงกับอิปิคเตตัส ผู้บอกว่าในชีวิตนั้น สิ่งที่เราควบคุมได้มีแค่ “สิ่งที่เราเชื่อ สิ่งที่เราปรารถนา หรือชิงชัง และสิ่งที่เราหลงใหลอยากเข้าหา หรือสิ่งที่เราอยากหลบเลี่ยง”

คำตอบง่ายๆ ของการนำแนวคิดสโตอิกมาใช้ในเชิงปฏิบัติจึงเป็น ‘การไม่กังวลไปกับสิ่งที่เราไม่อาจควบคุม’ และมอบพลังงานของเราไปกับสิ่งที่เราควบคุมได้

ปัจจุบันมีผู้คนที่ประสบปัญหาวิตกกังวลมากถึง 284 ล้านคนทั่วโลก และมีผู้ที่กำลังทุกข์ทรมานกับภาวะซึมเศร้าอีกราวๆ 264 ล้านคน ซึ่งวิธีหนึ่งที่ถูกนำมาใช้บำบัดภาวะดังกล่าวนอกจากการกินยา สิ่งที่ผู้คนน่าจะคุ้นเคยมากขึ้นในช่วงหลังๆ ก็คือ กระบวนการปรับความคิดที่ชื่อ Cognitive Behavioral Therapy หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า CBT ซึ่งว่ากันว่ายืนอยู่บนพื้นฐานของวิธีคิดแบบสโตอิกเต็มๆ

CBT เป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาโรคป่วยไข้ทางจิตใจ โดยมีตัวเลขรายงานว่าผู้เข้ารับการรักษา CBT ในระยะเวลา 16 สัปดาห์ จะได้รับการเยียวยาจากภาวะวิตกกังวลทางสังคม (social anxiety) ที่ 75% ภาวะ PTSD (Post-traumatic stress disorder) 65% โรคแพนิค (panic disorder) ที่ 80% และโรคซึมเศร้า (Depression) ที่ 60% 

แผนผังอธิบานแนวคิด CBT / photo: https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/1/1c/Depicting_basic_tenets_of_CBT.jpg

ซึ่งหลักการบางอย่างของ CBT ที่ได้รับการยอมรับว่าหยิบยืมมาจากปรัชญาสโตอิกนั้น ก็มีบางส่วนแอบซ่อนอยู่ในจดหมายของนักปรัชญาสายสโตอิกชาวโรมันคนสำคัญอีกคนอย่าง เซเนกา (Seneca) ที่เขียนถึงมิตรสหายคนหนึ่งของเขา และถูกรวบรวมไว้เป็นหนังสือชื่อ Letters from a Stoic

“มันมีสิ่งอื่นๆ มากมายที่มีแนวโน้มว่าจะทำให้เราหวาดหวั่นมากกว่าที่มันจะบดขยี้เราจริงๆ เราต่างทุกข์ทรมานในจินตนาการมากกว่าทุกข์ทรมานในความเป็นจริง”

นั่นคือบางข้อความจากจดหมายฉบับที่ 13 ที่ถูกตั้งชื่อว่า ‘On groundless fears’ หรือ ‘บนความกลัวอันไร้เหตุผล’

“สิ่งที่ข้าพเจ้าอยากแนะนำให้ท่านทำคือ อย่าเพิ่งรู้สึกไม่มีความสุขไปก่อนหน้าการมาถึงของวิกฤติ  เพราะมันมีความเป็นไปได้ที่ภยันตรายที่ทำให้ท่านซีดเผือดราวกับกำลังถูกขู่ขวัญอยู่นั้น อาจไม่มีวันเกิดขึ้นเลยด้วยซ้ำ สิ่งเหล่านั้นแน่นอนว่ายังมาไม่ถึงในตอนนี้”

เซเนกาแสดงความคิดเห็นว่ามนุษย์เคี่ยวกรำตัวเองมากเกินไป ปล่อยให้บางสิ่งเฆี่ยนตีเราก่อนที่มันจะโบยตีเราจริงๆ แถมบางคนก็ต้องทุกข์ทรมานทั้งๆ ที่ไม่มีอะไรให้ควรทุกข์ทรมาน 

“เราใช้ชีวิตอยู่บนวิสัยของการกังวลเกินจริง อยู่บนจินตนาการ อยู่บนการคาดการณ์ และอยู่บนความทุกข์”

Letters from a Stoic

เมื่อสิ่งดีๆ ที่เราคาดหวังอาจไม่มีวันมาถึง ขณะเดียวกันสิ่งแย่ๆ ที่เรากังวลก็อาจไม่มีวันมาถึงได้เช่นกัน ดังนั้นเซเนกาจึงบอกว่ามันไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะต้องหมกหมุ่นอยู่กับการคาดเดาในเรื่องแย่ๆ และเอาแต่หวาดกลัว

“การมีชีวิตอยู่จะไม่คุ้มค่า และความทุกข์ของเราจะเกิดขึ้นอย่างไม่จำกัด หากเราหมกหมุ่นกับความกลัว ซึ่งจะขยายขอบเขตของมันจนใหญ่โตมโหฬาร ในเรื่องนี้ จงให้ความรอบคอบเป็นผู้ช่วยของท่าน และเย้ยหยันความกลัวด้วยจิตวิญญาณอันเด็ดเดี่ยว แม้มันจะปรากฏชัดขึ้นเบื้องหน้า ถ้าท่านยังทำไม่ได้ จงเผชิญหน้ากับความอ่อนแอด้วยหนทางอื่นๆ และทำให้ความกลัวสงบลงด้วยความหวัง มันไม่มีอะไรแน่นอนเกี่ยวกับความกลัวเหล่านั้น ว่ามันจะดึงเราจมดิ่งลงสู่ความว่างเปล่า และสิ่งที่เราหวังจะเยาะเย้ยถากถางเรา ดังนั้น จงหยั่งวัดน้ำหนักของความหวังรวมถึงความกลัวอย่างระมัดระวัง และเมื่อไรก็ตามที่ท่านคลางคลางต่อทุกสิ่งทุกอย่าง จงตัดสินใจจากความปรารถนาของท่าน เชื่อในสิ่งที่ท่านลุ่มหลง และหากความกลัวเป็นเสียงส่วนใหญ่ที่โหวตชนะ จงเบี่ยงหลบไปทางอื่น และหยุดคุกคามจิตวิญญาณของตัวท่านเอง”

หลังการค้นพบปรัชญาสโตอิกของบิดาแห่งสโตอิกอย่าง ‘ซีโนแห่งซิติอุม’ ครั้งหนึ่งเขาหวนรำลึกถึงเหตุการณ์เรือล่มที่ทำให้เขาต้องล้มเลิกอาชีพพ่อค้าและกลายมาเป็นนักปรัชญว่า

“ข้าพเจ้าเดินทางไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ในขณะที่กำลังทุกทนข์กับเรืออัปปาง”

 

อ้างอิง

  • Seneca. Letters from a Stoic.
  • David Fideler. Philosopher Jules Evans on Why Stoicism Has Become So Popular Over the Last Decade. https://bit.ly/3Cr9k6w
  • Daily Stoic. What Is Stoicism? A Definition & 9 Stoic Exercises To Get You Started. https://bit.ly/3hOgPwr
  • Maria Popova. A Stoic’s Key to Peace of Mind: Seneca on the Antidote to Anxiety. https://bit.ly/3zqveoQ