เสมือนภาคต่อของ บันทึก/คนขาย/หนังสือ (The Diary of a Bookseller) บันทึกประจำวันสุดแสบสันต์เกี่ยวกับสารพันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในร้านหนังสือมือสองแห่งสก็อตแลนด์ ที่คราวนี้เจ้าของร้านขอแจกแจงถึงบรรดาลูกค้ากิติมศักดิ์ของร้านเป็นการเฉพาะ
หากใครเคยอ่าน บันทึก/คนขาย/หนังสือ มาก่อน น่าจะยิ่งรู้สึกกระเหี้ยนกระหือรือที่จะเปิดอ่าน แปลกพิกลคนรักหนังสือ (Seven Kinds of People You Find in Bookshops) โดยไว โดยเฉพาะเมื่อหนังสือขนาดบางเล่มนี้เจาะจงไปที่พฤติกรรมวายป่วงของบรรดาลูกค้าที่ตกอยู่ภายใต้การสังเกตการณ์โดย ฌอน ไบเทลล์ (Shaun Bythell) ผู้ไม่ประนีประนอมในการเล่าเรื่องจริงปนจิกกัดอย่างเปิดเผย
ด้วยประสบการณ์ในการบริหาร เดอะ บุ๊กช็อป (The Bookshop) ร้านหนังสือมือสองที่ทั้งเก่าแก่และใหญ่ที่สุดในประเทศสก็อตแลนด์มานานกว่า 20 ปี ทำให้กระทาชายนายฌอนพบลูกค้าสารพัดรูปแบบไม่เว้นแต่ละวัน ถึงขั้นที่เขาสามารถจำแนกมนุษย์พันธุ์ลูกค้าออกมาได้ถึง 7 สปีชีส์
แม้จะเป็นลีลาการเขียนแบบทีเล่น (แต่เอาจริง) ฌอนก็ตระหนักดีว่าย่อมมีนักอ่านบางคนรู้สึกไม่พอใจในการจัดคนออกเป็นประเภทต่างๆ เขาจึงออกตัวไว้ก่อนเลยว่า การนำระบบอนุกรมวิธานแบบลินเนียสมาใช้ (เช่น สปีชีส์: PUER RELICTUS ปูเอร์ เรลิกตุส: เด็กที่ถูกทิ้ง) ไม่ค่อยได้ผลเท่าที่ควร (ซึ่งเราก็เห็นด้วย เพราะการอ่านข้ามภาษาละตินไปเลยก็ไม่กระทบเนื้อหาแต่อย่างใด)
แต่สิ่งที่ได้ผลก็คือ เนื้อแท้ของลูกค้าทั้งเจ็ดที่จริงเสียยิ่งกว่าจริง ทั้งยังพบได้อย่างเป็นสากล ไม่สงวนไว้เฉพาะบนเกาะบริเตนใหญ่
ใครเคยใช้เวลาในร้านหนังสือนานและบ่อยย่อมผ่านตาพฤติกรรมของผู้คนหลายแบบ ทำให้นอกจากจะอ่านหนังสือเล่มนี้ไปอมยิ้มไปแล้ว ยังอาจหัวเราะหงึกหงักไปกับลีลาการเขียนหยิกแกมหยอกลูกค้าของฌอน ที่มีตั้งแต่ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ซึ่งมักอาศัยร้านหนังสือเป็นสถานที่อวดภูมิ มากกว่าจะควักเงินซื้อหนังสือสักเล่ม, พ่อแม่ที่อาศัยร้านหนังสือเป็นศูนย์ฝากเลี้ยงลูก เพื่อที่ตัวเองจะได้แอบแวบไปช้อปปิ้ง, คนที่ฆ่าเวลาในร้านหนังสือระหว่างรอรถที่กำลังซ่อมอยู่ ฯลฯ
ฌอนไม่ได้ใจร้ายถึงขนาดเอ่ยถึงเฉพาะลูกค้าที่มีพฤติกรรมชวนกุมขมับ ท้ายที่สุดเขาขออุทิศบทส่งท้ายให้แก่ลูกค้าผู้สมบูรณ์แบบ ซึ่งนอกจากจะมีนักสะสมเรื่องแต่ง, แฟนนิยายไซ–ไฟ และนักสะสมหนังสือด้านการรถไฟแล้ว ‘คนธรรมดา’ คือหนึ่งในลูกค้าดีเด่นประจำใจพ่อค้าขายหนังสือรายนี้
คนธรรมดา หมายถึง นักอ่านที่ไม่ได้มองหาหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งเป็นพิเศษ แต่รู้ว่าต้องการอะไรสักอย่างให้ตัวเอง และมักจะไม่ออกจากร้านมือเปล่า ทั้งยังยินดีจ่ายตามราคาที่ตั้งไว้โดยไม่โวยวาย (แน่นอนว่าหนึ่งในลูกค้าเจ็ดสปีชีส์ของฌอนมีคนที่มักตั้งแง่ว่าทำไมหนังสือมือสองถึงตั้งราคาแพงกว่าปก โดยไม่สนว่าจะเป็นฉบับพิมพ์ครั้งแรกหรือหายากแค่ไหนก็ตาม)
และก็เป็นลูกค้าซึ่งเป็นคนธรรมดานี่เองที่จะยังคงเดินเข้าไปอุดหนุนร้านหนังสืออย่างสม่ำเสมอเช่นเคย ด้วยอารมณ์ที่อาจจะต่างไปจากเดิมหลังอ่านหนังสือเล่มนี้จบลง เพราะเขาล่วงรู้ความลับแล้วว่าในร้านไม่ได้มีแค่กล้อง CCTV สำหรับตรวจจับเหตุการณ์ แต่ทุกการเคลื่อนไหวของลูกค้าตกอยู่ในสายตาเจ้าของร้านชนิดดิ้นไม่หลุด (แต่ถ้าคุณไม่ได้เป็นหนึ่งในเจ็ดสปีชีส์ที่ปรากฏในเล่มก็ไม่ต้องหวาดระแวงใดๆ ขอเชิญอิ่มเอมใจกับการเลือกซื้อหนังสือตามอัธยาศัย)
ทั้ง บันทึก/คนขาย/หนังสือ และ แปลกพิกลคนรักหนังสือ เป็นหลักฐานที่บ่งชี้ถึงความปรารถนาลึกๆ ของคนรักหนังสือคนหนึ่งที่อยากเห็นสิ่งพิมพ์ยังคงยืนหยัดอยู่ในบรรณพิภพ (ฌอนแอนตี้การอ่านหนังสือออนไลน์ถึงขั้นเคยยิงเครื่องคินเดิลจนแหลก แล้วประดับไว้ในร้าน)
และการที่วงการหนังสือจะมีชีวิตต่อไปได้ก็ต้องอาศัยการอุดหนุนจากผู้อ่าน ที่ยังคงซื้อหนังสือเล่มกันต่อไปไม่ว่าจะเป็นหนังสือมือหนึ่งหรือมือสองก็ตาม
มากไปกว่านั้น คือความอนาทรร้อนใจที่ฌอนมีต่อแวดวงวรรณกรรม เพราะต้องยอมรับว่าแม้จะยังมีคนจำนวนหนึ่งยังคงภักดีต่อการซื้อหนังสือเล่มอ่าน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าประชากรโลกในปริมาณที่มากกว่ามาก สะดวกที่จะเลื่อนสายตาไปบนโลกออนไลน์ ซึ่งให้อรรถรสและความซาบซึ้งในวรรณศิลป์ที่ต่างกันลิบลับ
“เป็นเรื่องยากที่จะรู้ว่านักเขียนชื่อดังแห่งวรรณกรรมร่วมสมัยคนใดจะค่อยๆ เลือนหายไปจากความนิยมชมชอบของนักสะสม และใครที่จะยืนหยัดฝ่าบททดสอบของกาลเวลาไปได้
“ไม่มีทางรู้ได้เลยว่ากาลเวลาจะตัดสินเราอย่างเมตตาเพียงไร เจ.เค.โรว์ลิง หรือมากาเรต แอตวูด จะกลายเป็นเจน ออสเตนแห่งยุคของเรา หรือลงเอยด้วยการเป็นเชิงอรรถในวารสารทางวรรณกรรม” เจ้าของร้านขายหนังสือมือสองปากร้ายใจดี ห่วงไว้เช่นนั้น
แปลกพิกลคนรักหนังสือ (Seven Kinds of People You Find in Bookshops)
ฌอน ไบเทลล์ | เขียน
ลลิตา ผลผลา | แปล
สำนักพิมพ์ Biblio