w©rld

ยามฤดูกาลเปลี่ยนผ่านจากปลายหน้าฝนเข้าสู่ต้นหน้าหนาว คือเวลาเดียวกันกับที่ ‘ดอกตีนเป็ด’ กำลังบานสะพรั่งเป็นพุ่มเต็มต้น ปล่อยให้ลมโชยช่วงหัวค่ำ ช่วยพัดพากลิ่นเฉพาะตัวนี้ฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ

ขึ้นชื่อว่า ‘ดอกไม้’ ก็ควรจะส่งกลิ่นหอมน่าประทับใจ แต่กลิ่นของดอกตีนเป็ดกลับให้ความรู้สึกแตกต่างเป็นสองขั้วตรงข้าม แม้จะมีคนชอบอยู่บ้าง จนเอ่ยปากชมว่าดมแล้วชื่นใจ คล้ายเป็นกลิ่นต้อนรับการมาถึงของฤดูหนาว แต่คนส่วนใหญ่ไม่คิดแบบนั้น เพราะกลิ่นดอกตีนเป็ดทั้งฉุนและเหม็นเกินทนไหว แค่ได้กลิ่นอ่อนๆ ก็เพียงพอจะทำให้เวียนหัวขึ้นมาทันควัน กลายเป็นต้นไม้ที่มีแต่คนจงเกลียดจงชัง ถึงขั้นอยากให้ตัดทิ้ง

ยังมีคนอีกหลายประเทศที่ไม่ชอบกลิ่นต้นตีนเป็ดเหมือนกับคนไทย โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในประเทศแถบภูมิภาคเอเชียใต้ อย่างอินเดีย บังกลาเทศ และศรีลังกา รวมถึงประเทศแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่ทั้งหมดมีสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น จึงทำให้ต้นตีนเป็ดเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ได้ดีกว่าที่อื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีโอกาสพบต้นตีนเป็ดได้ทั่วไปในทางตอนใต้ของจีนและทางตอนเหนือของออสเตรเลียด้วย

แผนที่โลกแสดงถิ่นที่อยู่ (จุดสีแดง) ของต้นตีนเป็ด
Photo: Alstonia scholaris (L.) R.Br. Global Biodiversity Information Facility. (June 2018) https://doi.org/10.15468/dl.eokqvq

ต้นไม้ต้นเดียวกันแต่อยู่ต่างพื้นที่ ย่อมมีชื่อเรียกหลากหลาย ขึ้นอยู่กับว่าคนในท้องถิ่นนั้นๆ คิดและรู้สึกต่อต้นตีนเป็ดอย่างไร ทุกชื่อที่นำมาตั้งจึงมักสื่อความหมายถึงต้นสายปลายเหตุเสมอบางอย่างเสมอ

ในภาษาสันสกฤต เรียกต้นตีนเป็ดว่า Saptaparni หรือ Saptaparna หมายถึง เจ็ดใบ แปลตรงตัวจากรากศัพท์สันสกฤต sapta (สัปตะ, สัตตะ) หมายถึง จำนวนเจ็ด และ parni หรือ parna (ปรฺณ, บรรณ) หมายถึง ใบไม้ สันนิษฐานว่าตั้งชื่อตามจำนวนใบที่ผลิออกมาจากบริเวณก้านก่อนถึงช่อของดอก ซึ่งส่วนใหญ่นับได้ครบเจ็ดใบพอดี (ในความเป็นจริง จำนวนใบไม้จะอยู่ระหว่าง 4 ถึง 8 ใบ)

สำหรับภาษาไทย มีชื่อเรียก 2 ชื่อ ชื่อแรกเรียกตามภาษาสันสกฤตว่า สัตบรรณ หรือ พญาสัตบรรณ อีกชื่อ คือ ตีนเป็ด เรียกตามลักษณะใบไม้ที่เห็นเป็นใบเดี่ยวปลายมนโคนแหลม ก้านสั้นและแตกใบออกรอบข้อเป็นวงเรียงกันคล้ายตีนของเป็ด

แต่คนในประเทศอินเดียเรียกต้นตีนเป็ดว่า Shaitan ka Jhad หมายถึง ต้นไม้ปีศาจ หรือ (Indian) Devil tree เพราะอ้างอิงมาจากความเชื่อโบราณของผู้คนในแถบตะวันตกของอินเดีย ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่สิงสู่ของภูตผี ปีศาจ และวิญญาณร้าย ต้นไม้จึงส่งกลิ่นเหม็นเน่าเฉพาะเวลากลางคืน ความน่าหวาดกลัวจากความไม่รู้นี้เอง ทำให้ไม่มีใครอยากเข้าใกล้หรือคิดทำลายทิ้ง กลายเป็นว่าช่วยให้ต้นตีนเป็ดเติบโตอย่างอุดมสมบูรณ์ได้ตามธรรมชาติจนแพร่กระจายไปทั่วอินเดีย

เมื่อเวลาผ่านไป ความเชื่อเรื่องความชั่วร้ายของต้นตีนเป็ดค่อยๆ ลดน้อยลง ผู้คนจึงเริ่มหาวิธีนำต้นไม้มาใช้ประโยชน์มากขึ้น อย่างในรัฐเกรละ (Kerala) มีประเพณีเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวผลผลิตระหว่างเดือนสิงหาคมถึงกันยายน โดยจัดขึ้นเป็นเทศกาลประจำปีที่เรียกว่า Onam (โอนัม) เอกลักษณ์ของงานนี้อยู่ที่การแต่งกายของนักเต้นระบำ เพราะทุกคนจะสวมหน้ากากไม้แกะสลักเป็นใบหน้าของเทพเจ้าตามคติความเชื่อของคนอินเดีย ซึ่งทำมาจากไม้ของต้นตีนเป็ด

Photo: Arun Sankar / AFP
Photo: Arun Sankar / AFP

ขณะที่ภาษาอังกฤษเรียกต้นตีนเป็ดว่า Blackboard tree เพราะในอดีต คนนิยมตัดลำต้นมาไสเป็นแผ่นก่อนนำไปทำกระดานชนวนและกระดานดำ รวมถึงนำเยื่อไม้ที่ได้จากต้นมาทำเป็นกระดาษ ด้วยเหตุนี้ ในปี 1810 โรเบิร์ต บราวน์ (Robert Brown) นักพฤกษศาสตร์และนักบรรพชีวินวิทยาชาวสก็อต จึงตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้ต้นตีนเป็ดว่า Alstonia scholaris

คำว่า Alstonia มาจากชื่อของ ชาร์ลส์ อัลสตัน (Charles Alston) นักพฤกษศาสตร์ชาวสก็อต และศาสตราจารย์ด้านพฤกษศาสตร์ประจำ University of Edinburgh ประเทศสก็อตแลนด์ที่บราวน์เคารพนับถือ ส่วนคำว่า scholaris มาจากรากศัพท์ภาษาละติน สื่อถึงปัญญาและความรู้ เป็นการตั้งชื่อให้สอดคล้องกับการนำมาใช้ประโยชน์

นอกจากนั้น ยังค้นพบเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ คือ ชินกาลมาลีปกรณ์ (Jinakalamali) พงศาวดารต้นฉบับภาษาบาลี ตามความเชื่อทางศาสนาพุทธแบบเถรวาท โดยอ้างอิงถึงต้นตีนเป็ดด้วยชื่อ สัตตบรรณ หรือ สัตตปัณณะ ว่าเป็นต้นไม้ที่พระตัณหังกรพุทธเจ้า (Taṇhaṅkara Buddha) พระพุทธเจ้าองค์แรกในสารมณฑกัปใช้ประทับตรัสรู้

Photo: Taṇhaṅkara Buddha attained Enlightenment under a Rukkaththana tree. British Library, Or. 14823, f. 1.

ต้นตีนเป็ดได้สลัดทิ้งภาพจำการเป็นที่สถิตของปีศาจสู่ภาพลักษณ์ที่ดีกว่า คือ ต้นไม้แห่งการตื่นรู้ พร้อมความเชื่อใหม่ทำนองว่า กลิ่นฉุนๆ ของดอกทำให้ผู้ที่ดมมีสมาธิจดจ่ออยู่กับความคิดของตน แนวคิดเรื่องนี้กลายเป็นจุดเริ่มของธรรมเนียมปฏิบัติประจำ Visva-Bharati University โดยอาจารย์ผู้ประสาทวิชาจะเป็นคนมอบช่อตีนเป็ดให้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา เกิดขึ้นครั้งแรกโดย รพินทรนาถ ฐากูร (Rabindranath Tagore) ปราชญ์ชาวอินเดียคนสำคัญของโลก ผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมในปี 1913

แต่สาเหตุที่ต้นตีนเป็ดมาอยู่ผิดที่ผิดทางในเมืองใหญ่หรือพื้นที่อยู่อาศัยจนส่งกลิ่นรบกวนช่วงต้นหน้าหนาว แทนที่จะอยู่ในป่าดิบชื้นและดิบแล้ง เป็นเพราะความไม่รู้หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของคนที่นำมาปลูก เนื่องจากเป็นต้นไม้ที่ดูแลง่าย ทนทานทุกสภาพแวดล้อม ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดี ที่สำคัญคือเป็นไม้เบิกร่อง หมายความว่า แผ่ขยายลำต้นและกิ่งก้านสาขาได้เร็ว คอยทำหน้าที่ให้ร่มเงากับต้นไม้ที่อยู่เคียงข้างกัน ข้อดีเหล่านี้ของต้นตีนเป็ดทำให้คนส่วนใหญ่มองข้ามกลิ่นฉุนรุนแรงของดอกตีนเป็ดไป

หากนำดอกตีนเป็ดไปตรวจวิเคราะห์จะพบว่า เบื้องหลังกลิ่นฉุนขึ้นจมูกประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหยมากกว่า 34 ชนิดที่ผสมปนอยู่รวมกันในปริมาณเข้มข้น โดยมี สารลินาลูล (Linalool) เป็นองค์ประกอบหลัก สารชนิดนี้จะกระตุ้นระบบประสาททำให้ยิ่งรับกลิ่นได้ไวขึ้น เป็นกลิ่นเหม็นชวนปวดหัว โดยเฉพาะกับคนที่แพ้น้ำมันหอมระเหย กลิ่นเพียงน้อยนิดก็อาจทำให้อาเจียนได้

กลิ่นของดอกตีนเป็ดอาจทำให้ใครหลายคนรู้สึกรำคาญและไม่สบายใจไปบ้าง ในฐานะมนุษย์ที่มีความคิดแก้ไขปัญหาได้ จึงเป็นโจทย์ให้แต่ละคนหาวิธีจัดการปัญหานี้เพื่ออยู่ร่วมกับธรรมชาติต่อไป หวังว่าจะไม่มีใครเลือกวิธีตัดจบปัญหาด้วยการตัดต้นตีนเป็ดทิ้ง

 

อ้างอิง

  • Abhishek Gulshan. Why the Saptaparni is called the devil’s tree. https://bit.ly/3CkNxNA
  • Dung, N.X., Ngoc, P.H., Rang, D.D., Nhan, N.T., Klinkby, N., & Leclercq, P.P. (2001). Chemical Composition of the Volatile Concentrate from the Flowers of Vietnamese Alstonia scholaris (L.) R.Br., Apocynaceae. Journal of Essential Oil Research, 13, 424 – 426.
  • S. Natesh. Saptaparna. https://bit.ly/3HsXWdW
  • Silalahi, M.Si, D. M. (2019). BOTANI DAN BIOAKTIVITAS PULAI (Alstonia scholaris). Jurnal Pro-Life, 6(2), 136-147. https://doi.org/10.33541/jpvol6Iss2pp102

Did You Know?

  • ‘ต้นพญาสัตบรรณ’ หรือ ‘ต้นสัตบรรณ’ เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสมุทรสาคร
  • ชื่อ ‘ตีนเป็ด’ อาจทำให้เกิดความสับสนได้ เพราะมีต้นไม้หลายชนิดที่ใช้ชื่อตีนเป็ดเหมือนกัน เช่น ต้นตีนเป็ดน้ำ หรือ ต้นตีนเป็ดทะเล เป็นต้นไม้มีพิษ เพราะในเมล็ดมีสารคาร์เบอริน (Cerberin) หากเข้าสู่ร่างกายจะออกฤทธิ์ต่อหัวใจ ทำให้เต้นช้าลงหรือร้ายแรงถึงขั้นหยุดเต้น และทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงจนเป็นอัมพาต
  • กลิ่นของต้นตีนเป็ด (พญาสัตบรรณ) แม้จะฉุนรุนแรงแต่ไม่ใช้สารพิษที่มีฤทธิ์ถึงขนาดฆ่าใครได้