การศึกษาอาจเปรียบเหมือนใบเบิกทางสู่อนาคต แต่ดูเหมือนว่าการเรียนในโรงเรียนจะล้มเหลวในการถ่ายทอดทักษะในชีวิตที่สำคัญที่สุด
ดร.โทนี่ แว็กเนอร์ (Dr.Tony Wagner) ผู้อำนวยการร่วมของกลุ่ม Harvard’s Change Leadership Group ระบุว่าโรงเรียนในเวลานี้กำลังเผชิญหน้ากับ “global achievement gap” หรือช่องว่างระหว่างสิ่งที่โรงเรียนสอนกับทักษะที่เด็กต้องการเรียนรู้ ซึ่งเป็นผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของโลก 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ
หนึ่ง การเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมเศรษฐกิจเป็นเศรษฐกิจเชิงความรู้ และ สอง โรงเรียนกระตุ้นให้นักเรียนเรียนรู้จากอินเทอร์เน็ต
เมื่อสิ่งที่เรียนให้ห้องเรียนไม่อาจถมช่องว่างของทักษะที่จำเป็นในชีวิตจริง คำถามคืออะไรคือทักษะสำคัญที่เด็กๆ จำเป็นต้องเรียนรู้
ดร.โทนี่ แว็กเนอร์ เฉลยคำตอบนี้ไว้ในหนังสือ The Global Achievement Gap ของเขาว่า ทักษะที่จะช่วยให้เด็กๆ เอาตัวรอดในชีวิตการทำงานวันข้างหน้าได้นั้น มีทั้งหมด 7 ทักษะ ได้แก่
1. คิดเชิงวิเคราะห์ มองเห็นปัญหา
บริษัทจำนวนมากต้องการพัฒนาสินค้า กระบวนการทำงาน รวมถึงบริการเพื่อที่จะแข่งขัน แต่การจะทำสิ่งนี้ได้ บริษัทเหล่านั้นจำเป็นต้องมีพนักงานที่มีทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ และรู้จักตั้งคำถามที่ถูกต้อง เพื่อจะชี้ต้นตอของปัญหา ซึ่งเป็นต้นทางของการแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด
2. รู้จักคำว่า “ทีม” เป็นผู้ตามและนำผู้อื่นได้
ด้วยธรรมชาติของโลกธุรกิจที่เชื่อมโยงถึงกัน ทักษะความเป็นผู้นำ ความสามารถในการจูงใจ และการทำงานร่วมกับผู้อื่น จะยิ่งทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น แว็กเนอร์บอกว่า กุญแจสำคัญสำหรับการเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพคือ การแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์และทำงานถูกต้องตามหลักจริยธรรม
3. คล่องแคล่ว พร้อมปรับตัว
ทักษะที่สำคัญยิ่งต่อความสำเร็จ คือ ความสามารถในการปรับตัว และเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว คนทำงานในวันข้างหน้าจะต้องเรียนรู้ที่จะใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อแก้ปัญหา ซึ่ง ‘ทักษะการเรียนรู้’ คือที่ทุกคนต่างมองหาในตัวผู้สมัครงาน
4. มีความคิดริเริ่มและหัวใจผู้ประกอบการ
ไม่มีอะไรน่ากลัวในความพยายาม บ่อยครั้งผู้คนหรือองค์กรธุรกิจมักจะมีแนวโน้มที่จะกลัวความเสี่ยง แต่การลองพยายามทำ 10 อย่างแล้วสำเร็จสัก 8 อย่างย่อมดีกว่าการพยายามทำ 5 อย่าง แล้วทุกอย่างประสบผลสำเร็จ (แต่โลกนี้มีหรือที่จะทำอะไรแล้วสำเร็จ 100%)
5. พูดดี เขียนได้ สื่อสารเป็น
มีเด็กรุ่นใหม่จำนวนไม่มากที่สามารถใช้ไวยากรณ์หรือสะกดคำได้อย่างถูกต้อง แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การสื่อสารสิ่งที่ต้องการได้อย่างชัดเจนผ่านคำพูด การเขียน หรือแม้กระทั่งขณะพรีเซนต์งานก็เป็นสิ่งที่จำเป็น “ถึงคุณจะมีไอเดียที่สุดยอดมากแค่ไหน แต่ถ้าคุณสื่อสารมันออกมาไม่ได้ ทุกอย่างก็จบ” แว็กเนอร์บอก
6. เข้าถึงข้อมูล วิเคราะห์ให้เกิดผล
คนทำงานในยุคนี้ต้องรับมือกับข้อมูลจำนวนมหาศาลในแต่ละวัน ความสามารถในการกลั่นกรองข้อมูล รู้จักหยิบใช้และเชื่อมโยงข้อมูลที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในโลกวันนี้ที่ข้อมูลเกิดขึ้นและแปรเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว
7. เปี่ยมจินตนาการ อยากรู้ และสร้างสรรค์
ความอยากรู้และจินตนาการคือกุญแจสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมและการแก้ปัญหา แต่สิ่งเหล่านั้นกลับถูกฆาตกรรมโดยสถาบันการศึกษา แว็กเนอร์บอกว่า “เราทุกคนเกิดมาพร้อมความอยากรู้อยากเห็น ความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการ …เด็กอายุ 4 ขวบมักถามคำถามเฉลี่ย 100 คำถามต่อวัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป เด็กอายุ 10 ขวบ ไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย กลับมัวกังวลกับคำตอบที่ถูกต้อง มากกว่าจะเป็นการถามคำถามที่ดี
“เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผู้ปกครองและคุณครูต้องทำคือ การรักษาความอยากรู้อยากเห็นและจินตนาการที่เด็กทุกคนมีอยู่ในตัวให้คงอยู่”.
*หมายเหตุ: ภาพปกมาจากฉากในภาพยนตร์เรื่อง ฉลาดเกมส์โกง (Bad Genius) โดย imdb.com
อ้างอิง:
- Charlotte Edmond. 7 skills your child needs to survive the changing world of work. https://www.weforum.org/agenda/2017/09/skills-children-need-work-future?fbclid=IwAR19NMfHTSt3LCpDRUAc_jx_nd4p-jiCx1kpil9I-nvF3QbKbGRLN65sow8
แปลและเรียบเรียง : นิรชรา ตันสุขี