ทั่วโลกจ่างประจักษ์ว่าฟินแลนด์เป็นดินแดนที่มีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก และมากไปกว่านั้นคือ ระบบการศึกษาที่ว่าดีเลิศยังสามารถเนรมิตฟินแลนด์ให้เป็นดินแดนไร้ขยะได้สำเร็จภายใน 30 ปีข้างหน้าอีกด้วย
เป้าหมายของฟินแลนด์ในปัจจุบันคือ การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ให้เข้าถึงผู้คนทุกเพศทุกวัย โดยจัดการสอดแทรกแนวคิดดังกล่าวเข้าไปในหลักสูตรของโรงเรียนตั้งแต่ประถมวัย
เนื่องจากทุกวันนี้ทรัพยากรต่างๆ มีแต่จะลดลงในขณะที่วิกฤติสภาพภูมิอากาศเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ แนวคิดเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จึงกำลังเป็นที่พูดถึงไปทั่วโลก เพื่อล้มล้างระบบเศรษฐกิจเส้นตรง (Linear Economy) ที่เน้นการบริโภคเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งอยู่คู่สังคมมนุษย์มาตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อ 150 ปีก่อน
เศรษฐกิจเส้นตรง (Linear Economy) เป็นบ่อนทำลายโลกด้วยวิธีการ ‘ถลุง ผลิต และทิ้ง’ ซึ่งก็คือการดึงเอาทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมหาศาลในราคาถูกที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้มาผลิตสินค้าเพื่อจำหน่าย และเมื่อผลิตภัณฑ์หมดประโยชน์ก็ทิ้งเป็นขยะ
กระบวนการถลุง ผลิต และทิ้ง เกิดขึ้นซ้ำๆ โดยของที่ทิ้งไปแทบไม่ได้กลับมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นแทนที่การถลุง เท่ากับว่าวัสดุเหล่านั้นเดินทางเป็นเส้นตรงสมนิยามของคำว่า Linear Economy จนทำให้มนุษย์ผลาญทรัพยากรธรรมชาติในปริมาณมากเกินกว่าที่โลกจะผลิตขึ้นทดแทนได้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประชากรโลกใกล้จะแตะหมื่นล้านคนในปี 2030
เศรษฐกิจหมุนเวียนจึงเป็นแนวคิดสำคัญในตอนนี้ที่หวังว่าจะช่วยปลดล็อควิกฤติต่างๆ ได้อย่างเห็นผล เพราะเศรษฐกิจหมุนเวียน หมายถึง ระบบอุตสาหกรรมที่วางแผนและออกแบบมาเพื่อคืนสภาพหรือให้ชีวิตใหม่แก่วัสดุต่าง ๆ ในวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ แทนที่จะทิ้งไปเป็นขยะเมื่อสิ้นสุดการบริโภค ทำให้ไม่มีของเสีย และยังมุ่งเน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสร้างความสมดุลในการดึงทรัพยากรธรรมชาติมาใช้งานใหม่ ควบคู่ไปกับการสร้างระบบและการออกแบบที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดผลกระทบภายนอก (externalities) เชิงลบ
ดังนั้น การสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นได้จริงจึงต้องอาศัยการออกแบบวัสดุ ผลิตภัณฑ์ ระบบ และโมเดลทางธุรกิจใหม่ที่ต้อง ‘คิด’ ไม่เหมือนเดิมเพื่อสร้างนวัตกรรม
ปัจจุบัน รัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับแนวคิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับนโยบายหลัก เช่น ประเทศญี่ปุ่นที่เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ด้วยการใช้กฎหมายบังคับการรีไซเคิลอุปกรณ์อิเล็คโทรนิกส์ ทำให้โลหะถึง 98% ที่ใช้ในอุปกรณ์อิเล็คโทรนิกส์ได้รับการรีไซเคิล
สหภาพยุโรปเองก็มีแผนเศรษฐกิจหมุนเวียนตั้งแต่ ค.ศ. 2015 และเพิ่งประกาศนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนเฉพาะด้านพลาสติกรวมถึงเป้าหมายการมีบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ซ้ำได้หรือรีไซเคิลให้ได้ทั้งหมดในปี 2030
ในส่วนของสภายุโรป (European Parliament) เองก็ได้ผ่านข้อกำหนดในการทำความตกลงร่วมกันในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ภายในปี 2050 โดยประเทศสมาชิก อาทิ เนเธอร์แลนด์ เริ่มร่างแผนปฏิบัติงานระดับยุทธศาสตร์ชาติขึ้นแล้ว
ในขณะที่ฟินแลนด์ก้าวนำไปก่อนแล้ว โดยมีโร้ดแม็พเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียนมาตั้งแต่ปี 2016 โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีความสามารถในการ reuse และ upcycling ผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะในแวดวงป่าไม้ที่ถือเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ รวมถึงการขอความร่วมมือประชาชนในการรีไซเคิลและนำผลิตภัณฑ์กลับมาใช้ซ้ำให้ได้มากที่สุดเพื่อลดปริมาณขยะบนผืนดิน
และสิ่งที่ประเทศที่มีประชากรเพียง 5.5 ล้านคนอย่างฟินแลนด์ให้ความสำคัญมาตั้งแต่ต้นก็คือ เรื่องของการศึกษา ฝึกให้เยาวชนคนรุ่นใหม่คิดต่างไปจากคนรุ่นพ่อแม่และปู่ย่าตายาย
“คนส่วนใหญ่นึกถึงแค่การรีไซเคิล ซึ่งที่จริงแล้วเราต้องคิดใหม่ทำใหม่ทั้งกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ การพัฒนาวัตถุดิบ ไปจนถึงการนำมาบริโภคอย่างไร ดังนั้น การจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ในทุกระดับชั้นของสังคมจึงต้องเริ่มที่การศึกษาเป็นสำคัญ” นานิ ปายูเนน (Nani Pajunen) ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนประจำกองทุนนวัตกรรมสาธารณะ Sitra กล่าวถึงแนวทางในการพุ่งเป้าไปที่การศึกษาเป็นอันดับแรก เพื่อให้ชาวฟินแลนด์เข้าใจถึงความจำเป็นของเศรษฐศาสตร์หมุนเวียน และการนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันให้ได้
Yrityskylä : ศูนย์การเรียนรู้อาชีพเสมือนจริง
ศูนย์การเรียนรู้ Yrityskylä (อุริตุสกุลา) ออกแบบมาเพื่อให้เด็กนักเรียนชาวฟินน์ได้รู้จักชีวิตการทำงานของจริง โดยเริ่มจากการอบรมครูให้เข้าใจถึงคอนเสปท์หลักของรูปแบบการเรียนรู้ จากนั้นจึงให้ครูพาเด็กๆ ในชั้นเรียนเกรด 6 มาฝึกงานประกอบอาชีพเสมือนจริงในเมืองจำลองอุริตุสกุลา ที่ต้องทำงานจริง หาเงินได้จริง
นอกจากนี้ ยังมีอีกโปรแกรมการเรียนรู้สำหรับเด็กเกรด 9 ที่ต้องแบ่งกลุ่มกันบริหารงานบริษัทที่มีอยู่ในตลาดโลกจริงๆ โดยจะแบ่งเขตความรับผิดชอบที่ต้องแข่งขันกันเพื่อผลิตสินค้าออกวางจำหน่ายภายในเวลา 1 ปี ทีมที่มีชื่อเสียงดีที่สุดและทำกำไรได้มากที่สุดคือผู้ชนะ
ปัจจุบันศูนย์แห่งนี้มีทั้งหมด 13 สาขาทั่วประเทศ ถือเป็นกิจการค้าร่วมระหว่างองค์กรกลางสหภาพแรงงานฟินแลนด์ (Confederation of Finnish Industries) และรัฐบาลฟินแลนด์ โดยศูนย์การเรียนรู้อุริตุสกุลาจะให้นักเรียนแต่ละคนเลือกประกอบอาชีพที่แตกต่างกันไปในแต่ละธุรกิจ ซึ่งล้วนเป็นตำแหน่งงานที่มีอยู่จริงในบริษัทที่เปิดกิจการในปัจจุบัน ตั้งแต่ธนาคาร ศูนย์สุขภาพ แฟชันดีไซน์ ฯลฯ
โปรแกรมนี้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2010 ปัจจุบัน มีนักเรียนเกรด 6 ทั่วประเทศประมาณ 83% เข้าร่วมกิจกรรมนี้ในแต่ละปี และตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา หลักสูตรนี้ได้เพิ่มบทเรียนเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้าไปเสริมการจำลองทักษะในการประกอบอาชีพให้แก่เด็กๆ
Swappie: ผู้นำเทรนด์การใช้มือถือ ‘มือสอง’ ให้เป็นที่นิยมในฟินแลนด์
Swappie คือหนึ่งในตัวอย่างสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จสาขาผู้นำด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเป็นบริษัทที่นำไอโฟนมาซ่อมแซมใหม่ให้ใช้งานได้สมบูรณ์แบบอีกครั้ง หรือที่เรียกว่าวิธีการรีเฟอร์บิช (refurbish)
จุดเริ่มต้นของ Swappie เกิดขึ้นในปี 2016 เมื่อทีมผู้ก่อตั้งในวัย 20 ต้นๆ มีไอเดียในการนำสมาร์ทโฟนใช้แล้ว ที่มีประมาณ 5% ในตลาดโลก มาซ่อมแซม ปรับโฉมให้เหมือนใหม่ พร้อมใช้งานอีกครั้ง
“หลังจากสำรวจตลาดเป็นที่เรียบร้อย พวกเราพบว่าอุปสรรคของสมาร์ทโฟนมือสองคือเรื่องของคุณภาพ เนื่องจากผู้บริโภคไม่กล้าวางใจในคุณภาพของการรีเฟอร์บิช เราเลยต้องเปิดบริษัทขึ้นเพื่อรับประกันคุณภาพสินค้าด้วยการผลิตทุกขั้นตอนภายในโรงงานของเราเองที่เฮลซิงกิ” ซามิ มาร์ตติเนน (Sami Marttinen) CEO แห่ง Swappie เล่าถึงที่มาของการใส่ใจทุกขั้นตอน ตั้งแต่การวิเคราะห์อาการของสมาร์ทโฟนที่ชำรุด ก่อนลงมือซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานได้เหมือนใหม่อีกครั้ง
Swappie ทำรายได้เพิ่มขึ้นจากครึ่งล้านยูโรในปีแรกเป็น 98 ล้านยูโรในปี 2020 และขยายฐานการผลิตเพิ่มในเอสโตเนีย โดยเหตุผลที่ลูกค้าเลือกใช้สมาร์ทโฟนรีเฟอร์บิชของ Swappie ไม่ใช่เพียงเพราะราคาที่จับต้องได้ในคุณภาพที่ดีเหมือนซื้อมือถือใหม่แกะกล่อง แต่ยังเป็นเพราะการได้อุดหนุน Swappie เจ๋งกว่าการซื้อมือถือเครื่องใหม่ตั้งเยอะ
Fortum : เปลี่ยนพลาสติกเหลือทิ้งจากครัวเรือนเป็นเม็ดพลาสติกที่ใช้งานได้อีกครั้ง
Fortum บริษัทชั้นนำด้านพลังงานของฟินแลนด์เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการริเริ่มโมเดลหมุนเวียน ด้วยการเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงานด้วยการเผา และการนำพลาสติกเหลือทิ้งจากครัวเรือนมาผ่านกระบวนการเปลี่ยนเป็นเม็ดพลาสติกที่สามารถนำไปผลิตใหม่เป็นพลาสติกชนิดใดก็ได้
ที่จริงแล้วบริษัทนี้คือตัวการใหญ่ในการผลิตก๊าซเรื่อนกระจก เนื่องจากการใช้พลังงานจากฟอสซิลของบริษัทย่อยอย่าง Uniper ที่ตอนนี้หันมามองไปข้างหน้าและจบเกมเดิมด้วยการก้าวเข้าไปสู่วงการเศรษฐกิจลดปริมาณคาร์บอนให้เป็นศูนย์
คาลล์ ซาริมา (Kalle Saarimaa) รองประธานบริษัท Fortum Recycling and Waste เผยถึงแนวทางในการทำงานว่า บริษัทเลิกใช้พลังงานจากฟอสซิลแล้วเปลี่ยนเป็นพลังงานทดแทน เพราะวัตถุดิบในการผลิตพลังงานอย่างแสงอาทิตย์และลมทั้งฟรีและไม่มีวันขาดแคลน ต่างจากถ่านหินและน้ำมัน ในขณะที่ของที่มีเหลือเฟือมหาศาลในทุกวันนี้อย่างพลาสติกคุณภาพต่ำและไฮโดรคาร์บอนที่ทำจากปิโตรเลียมกำลังจะกลายเป็นของที่ขาดแคลนแทน
“ไฮโดรคาร์บอนเหล่านั้นจะมาจากไหนได้หากเชื้อเพลิงฟอสซิลหมดไป คนส่วนใหญ่ในทุกวันนี้นิยมใช้ไบโอพลาสติกแทนไฮโดรคาร์บอน แต่จะเกิดอะไรขึ้นกับไบโอในอนาคต เมื่อไม่มีต้นไม้เหลือบนโลก เพราะวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตไบโอพลาสติกคือ ไม้”
ดังนั้น บริษัทจึงหาทางออกโดยการพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่สามารถสร้างไฮโดรคาร์บอนจากคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตพลังงาน “การนำคาร์บอนกลับมาหมุนเวียนเพื่อใช้งาน คือ อนาคตของการรีไซเคิล” ซาริมาย้ำ
Nolla: ร้านอาหารก่อการดี (ที่ลูกค้ากลับไม่เก็ตไอเดีย)
แวดวงร้านอาหารก็มีการตระหนักในเรื่องนี้เช่นกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ Nolla ร้านอาหารใจกลางกรุงกรุงเฮลซิงกิที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2018 โดยเชฟฝีมือดี 3 รายที่มีเป้าหมายในการลดขยะให้เป็นศูนย์ ด้วยวิธีการอย่างนำขวดผลไม้ใช้แล้วมาทำเป็นแก้วน้ำดื่ม นำเศษผักที่เหลือจากการตัดแต่งมาทำเป็นซอสและไซรัป พ่อครัวทุกคนต้องใส่ใจในการใช้วัตถุดิบให้มีเศษเหลือทิ้งน้อยที่สุด ไปจนถึงขั้นตอนการเคลียร์จานอาหารที่แขกกินเสร็จแล้วว่าต้องมีเศษอาหารเหลือทิ้งให้น้อยที่สุด จึงจะนำไปเข้าเครื่องกำจัดเศษอาหาร
Nolla วางคอนเสปท์ไว้แบบนั้น และประกาศตัวหราบนเว็บไซต์ของร้าน เพียงเพื่อจะพบว่าผู้คนในสังคมกลับไม่เอาด้วยกับแนวทางนี้
“ลูกค้ากลับคิดว่าเราเอาขยะมาประกอบอาหาร หรือเอาของที่ใกล้จะเสียแล้วมาปรุงให้พวกเขากิน” ลูกา บาลัค (Luka Balac) หุ้นส่วนของร้านเล่าถึงความจริงที่ต้องประสบ “ดังนั้น ตอนนี้เราจึงขอทำหน้าที่เป็นร้านอาหารที่แม้จะยังคงปฏิบัติตามแนวทางเดิมที่ตั้งใจไว้ แต่ไม่ป่าวประกาศให้ลูกค้ารู้ถึงกระบวนการเบื้องหลัง พวกเขาจะได้รู้สึกเพลิดเพลินไปกับมื้ออาหารในแบบที่คาดหวังเอาไว้”
Carbon Donut: แอปพลิเคชั่นตรวจวัดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นต์รายบุคคล
ผู้ประกอบการอย่าง อแมนดา เรจสตรอม (Amanda Rejstrom) เป็นอีกหนึ่งประจักษ์พยานของความพยายามนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ และพบว่าชาวฟินแลนด์รุ่นก่อนยังคงกังขากับแนวคิดนี้
“ฟินแลนด์เคยเป็นประเทศยากจนในยุค 1950s แต่สามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็วหลังจากนั้น เลยเป็นการยากที่ผู้คนในยุคนั้นจะทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน”
นอกจากนี้ เรจสตรอมยังตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะนอกจากเธอจะเป็นหนึ่งในคณะผู้บริหารกิจการขึ้นรูปพลาสติกของครอบครัวแล้ว เธอยังเป็นผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Spark Sustainability ที่เพิ่งเปิดตัวแอปพลิเคชัน Carbon Donut ไปเมื่อไม่กี่เดือนที่แล้ว จึงเป็นความย้อนแย้งลักลั่นในตัวเองมิใช่น้อย
แอปพลิเคชั่น Carbon Donut มีไว้เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถวัดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นต์จากกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน พร้อมคำแนะนำในการลดปริมาณคาร์บอนลง โดยแอปจะเชื่อมต่อกับธุรกิจหมุนเวียนอื่นๆ ในระบบแบบครบวงจร
ปัจจุบัน มีผู้ใช้งานแอป Carbon Donut 15,000 คน ส่วนใหญ่เป็นคนเมืองวัย 20 ปีที่มีการศึกษาสูง
“คนกลุ่มนี้เป็นเจเนอเรชันที่เรียนรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียนและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกรวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ในโรงเรียน และมีเป้าประสงค์ต่อธรรมชาติที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อนที่มองทรัพยากรธรรมชาติในแง่วัตถุดิบในการทำเงินมากกว่า”
บทสรุป:
เพราะวัยรุ่นในบ้านของท่าน คือ แกนนำสำคัญในการเปลี่ยนโลกนี้ให้ดีขึ้น
คาริน ฮาร์มส (Karin Harms) วัย 19 ปี คุ้นเคยกับกิจวัตรแบบ ‘หมุนเวียน’ มาตลอดชีวิตของเธอ (ก็คือยังไม่ถึงสองทศวรรษดี) เธอเริ่มเรียนรู้วิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนครั้งแรกในวัยประถม และได้รับการตอกย้ำถึงเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องเมื่อขึ้นชั้นมัธยมต้น ซึ่งชั้นเรียนของเธอได้เข้าไปเรียนรู้ที่ศูนย์การเรียนรู้ Yrityskyla เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรการเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนในชั้นมัธยมปลายอีกด้วย
คารินก็เหมือนเพื่อนๆ ของเธอที่นิยมใช้มือถือรีเฟอร์บิช ซื้อเสื้อผ้าจากร้านค้ามือสอง เป็นวีแกน และเป็นแกนนำหลักในการชักชวนสมาชิกในครอบครัวให้หันมารีไซเคิลอย่างจริงจัง
“บ้านเราเริ่มรีไซเคิลเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ก่อนหน้านี้ก็ยังไม่เคยทำมาก่อน แต่หนูเป็นคนบอกทุกคนว่าเราจำเป็นต้องเริ่มรีไซเคิลอย่างจริงจังแล้ว เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก”
ทีนา ฮาร์มส (Tina Harms) วัย 47 ปี คุณแม่ของคารินผู้ประกอบอาชีพทนายความ เป็นคนรุ่นที่ไม่คุ้นเคยกับคำว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนมาก่อน แต่ก็ตระหนักถึงความสำคัญของความยั่งยืน เธอจึงพยายามซ่อมแซมเฟอร์นิเจอร์เก่าให้ใช้งานได้ยาวนาน และลดปริมาณการบริโภคของครอบครัวมาโดยตลอด แต่ถึงอย่างนั้นทีนาก็ยอมรับว่ารู้สึกฝืนใจในช่วงแรกๆ ที่คารินชวนทุกคนในบ้านให้หันมารีไซเคิล แต่ทุกคนก็ยอมรีไซเคิลกระดาษหนังสือพิมพ์ แยกขวดแก้ว แยกพลาสติกประเภทต่างๆ ซึ่งค่อนข้างยุ่งยากและต้องใช้ความพยายามสูงมากในตอนนั้น
หันมามองที่ปัจจุบัน กลายเป็นว่าห้องใต้ดินของบ้านเธอแทบจะกลายเป็นศูนย์รีไซเคิลขยะพลาสติกไปแล้ว
“ฉันคิดว่าบ้านไหนที่มีสมาชิกวัยรุ่นที่เปี่ยมด้วยความตั้งใจในการบรรลุเป้าหมายบางอย่าง ผู้ใหญ่อย่างเราก็ควรพร้อมที่จะเดินหน้าสนับสนุนเขาแบบสุดกำลังเช่นกัน” คุณแม่ของลูกสาวแห่งเจเนอเรชันเดียวกับเกรตา ธันเบิร์ก บอกกล่าวดังๆ ไปยังผู้ใหญ่ของทุกบ้านทั่วโลก
อ้างอิง
- Lisa Abend. Inside Finland’s Plan to End All Waste by 2050. https://bit.ly/3giLocI