pe©ple

รถ SAAB 900 สีแดง แล่นไปรอบๆ เมืองฮิโรชิมา แสงไฟถนนสาดเข้ามาในรถทำให้เกิดเงาวูบไหวเป็นจังหวะ บรรเทาความเงียบเหงาไปจนสิ้น ทำให้คนขับและผู้โดยสารเริ่มต้นบทสนทนากันอีกครั้ง 

รถเป็นพาหนะปิดทึบ ชวนอึดอัด แต่ในขณะเดียวกันก็แล่นไปได้เรื่อยๆ อย่างอิสระ มวลภายในรถซึ่งแตกต่างจากสถานที่ไหนๆ บางครั้งก็ทำให้คนกล้าเปิดอกพูดความในใจต่อกัน

Photo : JOEL SAGET / AFP

ริวสุเกะ ฮามากุจิ (Ryusuke Hamaguchi) หลงใหลมวลบรรกาศในรถมาเสมอ จึงทำให้เขาตัดสินใจติดต่อฮารุกิ มุราคามิ (Haruki Murakami) นักเขียนระดับตำนาน เพื่อนำงานเขียน ‘Drive my car’ จากหนังสือรวมเรื่องสั้น Men without Women ของเขามาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์

ไม่ใช่เพราะมาจากเรื่องสั้นของมุราคามิเพียงเท่านั้น แต่เป็นเพราะบทภาพยนตร์อันลุ่มลึกแบบหาตัวจับได้ยากของฮามากุจิด้วยเช่นกันที่ทำให้ Drive My Car เป็นหนังคุณภาพอีกเรื่องที่ควรค่าแก่การรับชม  ก่อนที่จะพิสูจน์ตัวเองด้วยรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ และรางวัลภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยมจากออสการ์ครั้งที่ 94

Photo : Robyn Beck / AFP

ริวสุเกะ ฮามากุจิ เป็นชาวโตเกียวโดยกำเนิด หลังเรียนจบจากมหาวิทยาลัยโตเกียว เขาทำงานในวงการหนังโฆษณาช่วงสั้นๆ ก่อนที่จะกลับไปเรียนต่อด้านภาพยนตร์ที่มหาวิทยาลัยศิลปะแห่งโตเกียว (Tokyo University of Art) ซึ่งเป็นเวทีแรกๆ ที่ฮามากุจิได้อวดฝีมือทำภาพยนตร์

มีคลาสหนึ่ง เขาได้เรียนกับ คิโยะชิ คุโระซะวะ (Kiyoshi Kurosawa) ผู้กำกับหนังสยองขวัญชื่อดังในญี่ปุ่น ตอนนั้นคุโระซะวะจัดประกวดเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง Solaris ของนักเขียน สตาญิสวัฟ แลม (Stanislaw Lem) ขึ้นมา ฮามากุจิก็เข้าร่วมและคว้าชัยชนะจากการแข่งขันครั้งนั้นไป เขาชอบงานชิ้นนั้นของตัวเองมาก อีกทั้งยังได้รับคำวิจารณ์ที่ดีด้วย แต่น่าเสียดายที่คงหาดูไม่ได้ เพราะเรื่องนั้นฉายดูกันเองแค่ในหมู่นักศึกษา เพื่อสงวนลิขสิทธิ์ให้กับนิยายต้นฉบับ [ ภายหลัง ในปี 2020 ฮามากุจิและและคุโระซะวะได้โคจรกลับมาพบกันในภาพยนตร์เรื่อง Wife of Spy (2020) ]

Passion (2008)

ฮามากุจิก็ปิดฉากบทบาทนักศึกษาอย่างสวยงามด้วย ภาพยนตร์ตัวจบเรื่อง Passion (2008) ซึ่งเป็นเรื่องของกลุ่มเพื่อนวัย 20 ปลายๆ ที่กลับมาพบกันอีกครั้ง และแต่ละคนพบว่าตัวเองได้เข้าไปพัวพันกับเรื่องรักสามเศร้า เป็นภาพยนตร์ดราม่าที่เล่าเรื่องความหวั่นไหวในชีวิตผู้ใหญ่ตอนต้นได้อย่างเฉียบขาด จนได้รับเลือกเข้าชิงรางวัลในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ Tokyo Filmex 

หลังจากที่ฮามากุจิเรียนจบ ในปี 2011 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในญี่ปุ่น จุดศูนย์กลางอยู่ในเมืองโทโฮคุ ฮามากุจิจึงชักชวนโค ซากาอิ (Ko Sakai) เพื่อนของเขาไปยังที่เกิดเหตุเพื่อสัมภาษณ์ผู้รอดชีวิต เก็บภาพความเสียหาย และถ่ายทำออกมาเป็น Tohoku Documentary Trilogy (2011 – 2013) สารคดีไตรภาคชิ้นแรกของเขา

Tohoku Documentary Trilogy (2011-2013)

สารคดีเรื่องยาว ทำให้ฮามากุจิได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ มากมาย รวมถึงวิธีเล่าเรื่องผู้ประสบภัยในสารคดี ครั้งนี้เขาไม่ได้นำเสนอเรื่องราวของแต่ละคนในมุมของการเป็นผู้ประสบภัยเท่านั้น แต่ยังเล่าเรื่องในฐานะมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งด้วย เขาจดจำวิธีนี้มาใช้กับนักแสดงในภาพยนตร์เรื่องต่อๆ โดยไม่ได้กำหนดว่านักแสดงจะต้องแสดงอะไร แต่ฮามากุจิจะพยายามดึงสิ่งที่นักแสดงสามารถแสดงออกมาให้ได้มากที่สุด และให้เหมาะสมกับแต่ละคนด้วย 

เมื่อฮามากุจิพบแนวทางของตัวเองอย่างชัดเจน เขาจึงอวดฝีมืออีกครั้งในภาพยนตร์เรื่อง Happy Hour (2015) ซึ่งเป็นเรื่องของกลุ่มเพื่อนหญิงวัย 30 ปลายๆ ในเมืองโกเบ 

Happy Hour (2015)

เพื่อให้ทุกคนสนิทสนมอย่างสมจริง ฮามากุจิจึงใช้เวลาถึง 6 เดือนในการเวิร์กช็อป เพื่อให้นักแสดงเล่นออกมาเหมือนไม่ได้แสดง ซึ่งวิธีการของเขาคือให้แต่ละคนนั่งอ่านบทซ้ำๆ  ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพูดได้อย่างอัตโนมัติและเป็นธรรมชาติ

ฮามากุจิจะนั่งฟังเสมอและไม่ขอให้พวกเขาเปลี่ยนแปลงอะไร แต่ต้องพูดแบบเดิมจนจำได้ขึ้นใจ จนท้ายที่สุดฮามากุจิสามารถจับน้ำหนักดัง-เบาของแต่ละคนได้ และรับฟังไปมากกว่าเสียงที่เปล่งออกมา หากใครเคยดูภาพยนตร์ของฮามากุจิหลายๆ เรื่อง คงรู้สึกได้เหมือนกันว่าภาพยนตร์ของเขานั้นโดดเด่นที่ ‘บทสนทนา’ ของตัวละคร

ในปี 2021 ระหว่างที่ฮามากุจิรอคำตอบจากมุราคามิอย่างใจตดใจจ่อ เขาก็พอมีเวลาเขียนบทภาพยนตร์สั้นในโปรเจ็กต์ใหม่ ซึ่งกว่าที่มุราคามิจะตอบกลับ เขาก็เขียนเสร็จสิ้นไปแล้ว 3 เรื่องพอดี จนกลายเป็นภาพยนตร์เรื่อง Wheel of Fortune and Fantasy (2020) ที่รวมหนังสั้น 3 เรื่องที่มีลายเซ็นฮามากุจิชัดเจนเอาไว้

Magic – Wheel of Fortune and Fantasy (2020)
Door Wide Open – Wheel of Fortune and Fantasy (2020)
Once Again – Wheel of Fortune and Fantasy (2020)

‘Magic’ เป็นเรื่องของนางแบบสาวคนหนึ่ง ที่แฟนใหม่ของเธอดันเป็นแฟนเก่าของเพื่อนสนิท ‘Door wide open’ เป็นเรื่องของหญิงสาวคนหนึ่งที่แอบมีชู้และต้องการช่วยชู้แก้เผ็ดอาจารย์ในมหาวิทยาลัย โดยการทำให้อาจารย์เสื่อมเสียชื่อเสียง แต่หลังจากที่ได้คุยกันจนยืดยาว เรื่องราวก็เปลี่ยนไป ‘Once Again’ คือเรื่องราวของเพื่อนสนิทที่กลับมาเจอกันที่บ้านเกิด แต่ท้ายที่สุดแล้วบทสนทนาชวนสับสนของตัวละครก็พาทั้งสองไปยังบทสรุปที่ไม่มีใครคาดคิด

ในเรื่องแรกมีฉากหนึ่งที่ตัวละครนั่งรถคุยกันอยู่นาน ซึ่งตอนถ่ายทำก็ไล่เลี่ยกับช่วงเวลาที่ฮามากุจิกำลังทำเรื่อง Drive My Car ทั้งสองเรื่องนี้แสดงถึงความหลงใหลบทสนทนาบนรถของฮามากุจิได้เป็นอย่างดี

Drive My Car (2021)

เขาเผยว่าเขามีความทรงจำกับรถมากมาย เมื่อครั้งที่ได้ไปแมนแฮตตัน เขานั่งแท็กซี่กลับที่พักและก็ตระหนักได้ว่า ‘รถ’ นั้นเป็นพื้นที่ที่เอื้อให้คนเราพูดคุยกัน แม้ว่ารถเป็นพื้นที่ปิด มีความเป็นส่วนตัว แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่เปิดรับและเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ จึงทั้งเป็นส่วนตัวและเป็นสาธารณะ ทำให้หลายคนสบายใจที่จะพูดออกมา ฮามากุจิหลงใหลบทสนทนาในรถบ้าง นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เขาสนใจเรื่องสั้นของมุราคามิ 

แนวทางการดัดแปลงเรื่องสั้นมาเป็นภาพยนตร์ของเขาแตกต่างจากคนอื่นๆ ตรงที่ฮามากุจิพยายามขยายช่วงพูดคุยสั้นๆ นั้นให้ยืดยาวขึ้น มีพื้นที่ให้ตัวละครได้พูด คิด และรับฟังกันไปเรื่อยๆ บนรถที่ค่อยๆ แล่นไปบนถนน

Drive My Car เป็นเรื่องของยูซุเกะนักเขียนบทละครเวทีที่สูญเสียภรรยาของเขาไปกะทันหัน สองปีต่อมาเขาได้ไปทำละครเวทีที่เมืองฮิโรชิมา เขาได้พบกับ ‘มิซากิ’ เด็กสาวเงียบขรึมที่คอยขับรถรับ-ส่ง 

ระหว่างทางจากที่ SAAB 900 สีแดงขับวนไปในเมืองนั้นทั้งสองได้สนทนากัน และบทสนทนานั้นก็ค่อยๆ ทำให้ทั้งคู่เปิดเผยปมในใจของตัวเองออกมาทีละนิด จนกระทั่งยอมรับและแก้ไขมันได้ในที่สุด เพื่อให้ใช้ชีวิตต่อไป

Drive My Car (2021)

มีฉากหนึ่งที่ยูซุเกะต้องกำกับละครเวที ที่มีนักแสดงต่างชาติทั้งญี่ปุ่น อังกฤษ จีน หรือแม้แต่นักแสดงที่ใช้ภาษามือ เมื่อมีคนจากหลากหลายชาติมานั่งอ่านบทละครเรื่องเดียวกันคนละภาษา โดยที่ไม่มีใครเข้าใจกันเลยสักคนนั้น ในมุมมองของผู้ชมคงแปลกเอาการ

แต่เมื่อกลับมาดูแนวทางกำกับของฮามากุจิตั้งแต่เรื่องแรกๆ แล้วล่ะก็ เขากำลังท้าทายตัวเองมากขึ้น และพยายามแสดงให้เห็นถึงกระบวนการสร้างหนังในแบบฉบับของเขาอย่างชัดเจน 

ฮามากุจิได้แรงบันดาลใจเรื่องการสื่อสารหลากภาษามาตั้งแต่เด็ก ตอนที่เขาไปเรียนภาษาที่อเมริกาแล้วทุกคนในห้องต่างสื่อสารกันแทบไม่รู้เรื่อง ตอนนั้นเขากลับพบว่าพอมีภาษาเป็นสื่อกลางแล้ว คนฟังอาจสนใจแต่คำพูดมากเกินไป จนลืมพยายามรับฟังสิ่งที่อยู่นอกเหนือเสียงที่เปล่งออกมา เช่น สีหน้า ท่าทาง อารมณ์ขณะพูด

ฮามากุจิเชื่อว่าแม้ว่าเราจะฟังผ่านเสียง แต่เราทำความเข้าใจคนอื่นมากกว่านั้นได้ด้วยการสื่อสารผ่านภาษากาย ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ทุกคนซึมซับจากกันและกันได้ในชีวิตประจำวัน ที่เขาให้นักแสดงท่องบทไปเรื่อยๆ ก็เพราะอยากให้พูดได้แบบอัตโนมัติ และหลังจากนั้นทุกคนก็จะสามารถสื่อสารโดยทลายกำแพงทางภาษาได้อย่างเป็นธรรมชาติ และนั่นคือนิยามของบทสนทนาที่แท้จริงของฮามากุจิ

Photo by Hannibal Hanschke / POOL / AFP

วัย 43 ปีของฮามากุจิ สำหรับวงการภาพยนตร์นั้นพูดถึงเขาในฐานะผู้กำกับหน้าใหม่ แต่สำหรับฮามากุจิแล้วปีนี้เป็นปีที่เปี่ยมด้วยประสบการณ์ เป็นปีที่เขาเปล่งประกายมากที่สุด ยิ่งไปกว่ารางวัลมากมายที่ได้รับคือตอนนี้ผู้คนจดจำภาพยนตร์ของเขาได้ 

และยังจดจำเขาไว้ในฐานะผู้กำกับที่สร้างบทสนทนาในหนังได้ละเมียดละไมที่สุดคนหนึ่ง

อ้างอิง

  • David Hudson. Ryusuke Hamaguchi: “This Is How We Live Our Lives”. https://bit.ly/3wV3H0V
  • David Ehrlich. ‘Drive My Car’ and ‘Wheel of Fortune and Fantasy’ Filmmaker Ryusuke Hamaguchi Explores the Upside of Getting Lost in Translation. https://bit.ly/3DxnmWk
  • TOMRIS LAFFLY. Drive My Car Director Ryûsuke Hamaguchi Likes Things to Be a Little Mysterious. https://bit.ly/3DsDTdO