ในตอนนั้น เจฟ ไวด์เนอร์ (Jeff Widener) ช่างภาพข่าวจากสำนัก AP ไม่รู้หรอกว่า การกดชัตเตอร์ของเขาในอีกไม่กี่วินาทีข้างหน้าจะทำให้รูปถ่ายรูปหนึ่งกลายเป็นภาพประวัติศาสตร์
ชายในเสื้อเชิ้ตสีขาวทำให้เขารำคาญใจในทีแรกเสียด้วยซ้ำ เพราะก่อนหน้านั้นไวด์เนอร์ได้จัดวางเฟรมไว้ล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว แต่การเข้ามาของชายไม่ทราบนามผู้กำลังถือถุงช้อปปิ้งไว้ในมือก็กำลังจะทำให้องค์ประกอบภาพของไวด์เนอร์ผิดเพี้ยน
การประท้วงของขบวนการประชาธิปไตยต่อระบอบคอมมิวนิสต์ที่ประชาชนจำนวนมากมองว่าเป็นเผด็จการในจีน ก่อตัวมาตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 1989 โดยมีการนำขบวนเข้ายึดชัยภูมิสำคัญอย่าง ‘จัตุรัสเทียนอันเหมิน’ เป็นเวลาร่วมเดือน พร้อมการประท้วงอดอาหาร กระทั่งวันที่ 3 มิถุนายน 1989 นายกรัฐมนตรี หลี่ เผิง (Li Peng) บังคับใช้กฎอัยการศึก เป็นเหตุให้ในวันที่ 4 มิถุนายน 1989 มีการส่งกองทัพเข้ายึดครองส่วนกลางของกรุงปักกิ่ง อันนำมาซึ่งเหตุนองเลือด มีผู้เสียชีวิตหลายแสนคน และได้รับบาดเจ็บหลายพันคน
หนึ่งวันหลังจากนั้น ในวันที่ 5 มิถุนายน 1989 ช่างภาพ 5 คนจากหลายสำนักข่าวกำลังประจำการอยู่บนระเบียงของโรงแรมแห่งหนึ่ง เพื่อเฝ้าจับภาพความเลวร้ายในกรุงปักกิ่งที่กำลังดำเนินไป จากตรงนั้น พวกเขาเห็นชายคนหนึ่งปรากฏขึ้น เขาเดินไปประจันหน้ากับขบวนรถถัง จนทำให้มันพลันหยุดชะงัก ต่อมาเหตุการณ์เล็กๆ นั้นกลายมาเป็นภาพจำของการต่อต้านอำนาจอันไม่ชอบธรรมต่อรัฐที่โด่งดังที่สุดภาพหนึ่งในประวัติศาสตร์
แต่กว่าที่ชาวโลกจะได้เห็นความกล้าหาญจากชายไร้ใบหน้ามันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย…
สจวต แฟรงคลิน (Stuart Franklin) หนึ่งในช่างภาพที่อยู่บนระเบียงของโรงแรม ต้องลักลอบส่งม้วนฟิล์มของเขาออกจากจีนด้วยการบรรจุมันลงในกล่องชา เพื่อภาพของเขาจะได้ไปปรากฏอยู่ในนิตยสาร Time และ Life ในเวลาต่อมา ส่วนอีกหนึ่งช่างภาพอย่าง ชาร์ลี โคล (Charlie Cole) ต้องซ่อนม้วนฟิล์มไว้ในชักโครก ขณะเจ้าหน้าที่บุกค้นห้องพักของเขา และบังคับให้เขาต้องเซ็นคำสารภาพว่า เขาได้ถ่ายภาพซึ่งละเมิดต่อกฎอัยการศึก
“มันเหมือนการทำสงครามกับประชาชน” เส้า เจียง (Shao Jiang) นักเคลื่อนไหวชาวจีนเล่าประสบการณ์ของเขาจากเหตุการณ์ครั้งนั้น “มันมีเลือดเต็มไปหมด ผมมองไปที่รถถังและเห็นมันกำลังเหยียบประชาชน ผมมองไปที่ถนน และเห็นศพของมนุษย์ที่ถูกเหยียบจนแบนราบ”
ทุกวันนี้ประวัติศาสตร์หน้านั้นยังถูกปิดกั้นโดยรัฐบาลจีน มันไม่เคยถูกบันทึกลงในการเรียนการสอนไม่ว่าจะในระดับใดและวิชาใดของแผ่นดินใหญ่ แถมยังมีประชาชนจีนอีกจำนวนมากที่ไม่เคยเห็นภาพนี้
“มันมีความเสี่ยงมหาศาลที่คุณจะโดนจับและฟิล์มของคุณจะโดนยึดไปโดยเจ้าหน้าที่รัฐ” เจฟ ไวด์เนอร์ ผู้ถ่ายภาพที่ถูกรู้จักในนาม Tank Man ซึ่งเป็นหนึ่งในภาพของชายสวมเชิ้ตขาวผู้กำลังยืนประจันหน้ากับรถถังที่โด่งดังที่สุดบอกแบบนั้น นักศึกษาที่ช่วยพาเขาเข้าไปในโรงแรม ต้องนำม้วนฟิล์มซ่อนในชั้นในของตนเพื่อลักลอบนำมันออกมา
ไม่มีใครรู้ว่า Tank Man แท้จริงแล้วคือใคร แม้หนังสือพิมพ์ Sunday Express จะรายงานในเวลาต่อมาว่า เขาคือนักศึกษาสาขาโบราณคดี อายุ 19 ปี นาม หวัง เหว่ยหลิน (Wang Weilin) แต่ไม่มีใครรู้ว่านั่นคือความจริงหรือไม่ เมื่อ เจียง เจ๋อหมิน (Jiang Zemin) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนในยุคนั้น ปฏิเสธว่าไม่มีการจับจุมหรือสังหารชายคนนั้นโดยรัฐบาลแต่อย่างใด ข้อมูลของชายคนนั้น รวมถึงประวัติศาสตร์อื่นๆ เกี่ยวกับการสังหารหมู่เทียนอันเหมินถูกรัฐบาลจีนซ่อนไว้ใต้พรมนับจากเหตุการณ์ใหญ่ครั้งนั้นเกิดขึ้น
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในการเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ ชื่อของชายผู้กล้าหาญคนหนึ่ง อาจไม่ได้สำคัญไปกว่า ‘การกระทำ’ อันกล้าหาญของเขา
ภาพหนึ่งภาพส่งพลังมหาศาลต่อการเรียกร้องความเป็นธรรมในความเคลื่อนไหวทั่วโลกในอีกไม่กีปีถัดมา ในปี 2013 ลูซี คริควูด (Lucy Kirkwood) นำเรื่องราวของ Tank Man มาทำเป็นละคระเวทีในชื่อ Chimerica และในปี 2006 หลังมีเหตุการณ์รัฐประหารไทย พ.ศ. 2549 ก็มีชายชื่อ นวมทอง ไพรวัลย์ ขับรถแท็กซี่พุ่งชนรถถังของคณะรัฐประหารเพื่อประท้วง จนกระทั่งเขาตัดสินใจทำอัตวินิบาตกรรมอย่างน่าเศร้าด้วยการแขวนคอใต้สะพานลอยในท้ายที่สุด
คนตัวเล็กผู้ลุกขึ้นสู้ต่อความอยุติธรรมนั้นมีเสมอในประวัติศาสตร์ อย่างน้อยก็มีพยานยืนยันว่า Tank Man ไม่ใช่คนเดียวที่ลุกขึ้นมาประจันหน้ากับรถถังและความโหดร้ายอันไม่เป็นธรรม เส้า เจียง บอกว่า
“ผมเป็นพยานที่เห็นประชาชนจำนวนมากยืนขึ้นประจันหน้ากับรถถัง Tank Man ถูกจดจำเพราะเขาคือคนเพียงคนเดียวที่ถูกบันทึกภาพก็แค่นั้น”
อ้างอิง
- Joe Sommerla. Tiananmen Square massacre: Who was the Tank Man and how is he being remembered today?. https://bit.ly/3l0NaPq
- Brian Dunleavy. Who Was the Tank Man of Tiananmen Square?. https://bit.ly/3pXkDy8
- Kyle Almond. The story behind the iconic ‘Tank Man’ photo. https://cnn.it/2UWoqgI