pe©ple

เพราะความกระหายใคร่รู้ มนุษย์จึงพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อไขความกระจ่างให้กับสิ่งที่ตนสงสัย แม้จะต้องใช้คนมาเป็น ‘เหยื่อ’ ไม่ต่างจากหนูทดลอง

เหตุนี้เอง ยุคบุกเบิกความรู้ด้านจิตวิทยาในอดีต จึงเต็มไปด้วยเรื่องดำมืดที่บรรดาผู้ทดลอง (ส่วนใหญ่คือนักจิตวิทยาและจิตแพทย์) ต้องการปกปิดความจริงเบื้องหลังเอาไว้ พร้อมบิดเบือนข้อมูลเหล่านั้น เพื่อสร้างความชอบธรรมให้งานศึกษาของตนโดยไม่สนใจว่าความรู้ที่ได้รับกลับต้องแลกด้วยความเจ็บปวดฝังใจจนกลายเป็นประสบการณ์เลวร้ายที่สุดในชีวิตของใครสักคน

เช่นเดียวกับเรื่องน่าสะเทือนใจของ Little Albert หรือหนูน้อยอัลเบิร์ต เด็กชายวัยไม่ถึงขวบผู้น่าสงสาร เพราะถูกนำมาทดลองในปี 1920 โดย จอห์น บี. วัตสัน (John B. Watson) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน เพื่อต่อยอดศึกษา ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิค (Classic Conditioning Theory) ในมนุษย์

เดิมทีผู้คิดค้นทฤษฎีนี้คือ อีวาน พาฟลอฟ (Ivan Pavlov) นักสรีรวิทยาชาวรัสเซีย ในปี 1897 เขาเริ่มต้นทดลองวางเงื่อนไขให้สุนัขได้ยินเสียงกระดิ่งก่อน จากนั้นวางผงเนื้อล่อให้อยากอาหาร สมองของมันจะสั่งการให้ร่างกายผลิตน้ำลายออกมาเตรียมพร้อมกิน เมื่อทำตามลำดับเช่นนี้บ่อยๆ เป็นระยะเวลาหนึ่งจนมันเรียนรู้ได้แล้วว่า ทันทีที่เสียงกระดิ่งจบลง จะได้กลิ่นผงเนื้อตามมาเสมอ ภายหลังแค่เขาสั่นกระดิ่งอย่างเดียว น้ำลายของสุนัขก็ไหลออกมาโดยอัตโนมัติ ทั้งๆ ที่ไม่มีผงเนื้อให้แล้ว

Photo: https://www.dailytelegraph.com.au/news/today-in-history/soldier-behind-gallipoli-image-was-leslie-morshead-a-teacher-who-became-a-general/news-story/5623b08d807108e0506576d0727b4ab4
Photo: https://www.rbth.com/science-and-tech/331444-academic-pavlov-dogs

การค้นพบของพาฟลอฟได้เปิดมุมมองและบุกเบิกความรู้ใหม่เกี่ยวกับปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งเร้าภายนอกที่กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมผ่านการเรียนรู้ด้วยวิธีวางเงื่อนไข หมายความว่าพฤติกรรมที่แสดงออกมาไม่ได้เกิดจากการทำงานของร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่เป็นผลลัพธ์จากการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างของ (สิ่งเร้า) สองสิ่ง ทั้งหมดทำให้การศึกษานี้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสรีวิทยาหรือการแพทย์ ประจำปี 1904

ส่วนวัตสัน ซึ่งสนใจการทดลองของพาฟลอฟอย่างมาก เขาจึงนำข้อค้นพบมาเป็นแนวคิดพื้นฐานสำหรับออกแบบการทดลองในมนุษย์ เพื่อยืนยันสมมุติที่เขาตั้งสมมุติฐานไว้ว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการศึกษาของพาฟลอฟ

ในช่วงเวลานั้นยังไม่ค่อยมีใครรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการทดลองของวัตสันมากสักเท่าไหร่ จนกระทั่งทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ เขาจึงตีพิมพ์ผลการศึกษา และเผยแพร่เทปบันทึกภาพให้เห็นการทดลองบางส่วน

วัตสันสังเกตเห็นว่า โดยธรรมชาติของเด็กทั่วไปมักจะตกใจกลัวเสียงดังจนร้องไห้จ้า แต่กับสัตว์ขนปุยที่มีผิวสัมผัสอ่อนนุ่ม เด็กๆ กลับแสดงท่าทีสนใจ วัตสันจึงวางเงื่อนไขกับเด็กน้อยคนหนึ่งโดยใช้สัตว์ตัวเล็กๆ อย่างหนูที่มีขนสีขาวแทนการสั่นกระดิ่ง และใช้เสียงกระทบกันระหว่างค้อนกับแผ่นเหล็กซึ่งดังราวฟ้าผ่าแทนผงเนื้อ จนในที่สุดเด็กน้อยได้เรียนรู้แล้วว่าเสียงน่ากลัวนี้จะเกิดขึ้นตามมาทุกครั้งหลังเห็นสัตว์ ดังนั้น เมื่อเด็กเห็นหนูจึงร้องไห้ทันที และคลานหนีออกจากหนู

แต่ข้อค้นพบที่แตกต่างจากผลลัพธ์ของพาฟลอฟ ยิ่งทำให้วัตสันยิ่งรู้สึกว่าช่างเป็นการทดลองครั้งสำคัญ คือ ความกลัวของเด็กน้อยแผ่ขยายไปยังสัตว์อื่นๆ ที่มีขนสีขาวเหมือนกับหนู เช่น กระต่าย รวมถึงสิ่งของรอบตัวที่มีลักษณะคล้ายขนของหนู เช่น ตุ๊กตาหมีขนฟู เสื้อขนสัตว์ หน้ากากสัตว์ และหนวดเคราของซานตาครอส

Photo: Watson (1881)

หลังการทดลองจบลง วัตสันพยายามปิดบังข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเด็กและแม่ ถึงขนาดลงมือเผาเอกสารใดๆ ก็ตามที่เขามองว่าระบุตัวตนของเด็กได้ แม้แต่ชื่อจริงของเด็กวัตสันยังตั้งชื่อใหม่ให้แทน ซึ่งกลายมาเป็นชื่อเรียกการทดลองนี้ว่า Little Albert experiment เพื่อไม่ให้ใครสืบสาวจนรู้ข้อมูลที่แท้จริงได้

ขณะที่การศึกษาของวัตสันได้พิสูจน์ให้เห็นชัดเจนแล้วว่า พฤติกรรมมนุษย์ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะปัจจัยชีวภาพทั้งทางกายและทางใจเท่านั้น แต่ยังเกิดจากสิ่งแวดล้อมและกระบวนการเรียนรู้ ทำให้เขาได้รับการยกย่องให้เป็น The Father of Behavioral Psychology หรือผู้บุกเบิกคนสำคัญที่สร้างรากฐานความรู้จิตวิทยาใหม่เรื่องพฤติกรรมมนุษย์

ทฤษฎีของวัตสันกลายเป็นหมุดหมายให้เกิด กลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behaviorism) เรื่องราวของเด็กน้อยอัลเบิร์ตกลายเป็นคำถามท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับจริยธรรมการวิจัยและมนุษยธรรมในตัวเขา

จนกระทั่งในปี 2009 ฮอลล์ พี. เบ็ค (Hall P. Beck) และ แกรี่ ไอรอนส์ (Gary Irons) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาชาวอเมริกันได้ร่วมมือกันสวมบทบาทเป็นนักสืบเฉพาะกิจ เพื่อเปิดโปงเรื่องราวเบื้องหลังการทดลองและตามหาความจริงว่าหนูน้อยอัลเบิร์ตคือใครกันแน่ พวกเขายังหวังด้วยว่าอยากให้เด็กคนนี้ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งในเวลานั้น เขาคงชราเต็มที

ทั้งคู่ค้นหาหลักฐาน วิเคราะห์ข้อมูล และปะติดปะต่อเรื่องราวทั้งหมด ซึ่งใช้เวลานานถึง 7 ปีเต็ม จนพบข้อสรุปที่เป็นไปได้

อัลเบิร์ตมีชื่อจริงว่า ดักลาส เมอริท (Douglas Merritte) เป็นลูกของพี่เลี้ยงเด็กในโรงพยาบาลที่วัตสันทำงานอยู่ สาเหตุที่เด็กคนนี้ผ่านเข้ามาเป็นหนูทดลองให้วัตสัน เกิดจากการสุ่ม ซึ่งผู้ช่วยของเขาสรรหาเด็กสุขภาพดีมาไว้ให้ 12 คนตามคำขอของวัตสัน แต่ประวัติการเกิดของเมอริทระบุชัดเจนว่าระบบประสาทของเขาผิดปกติ ตรงกับผลการวิเคราะห์ลักษณะการแสดงออกทางร่างกายที่เกิดจากความบกพร่องของระบบประสาทผ่านเทปบันทึกภาพการทดลอง ซึ่งไม่มีอะไรยืนยันได้ว่าวัตสันรู้ข้อมูลสุขภาพของเด็กคนนี้ด้วยหรือเปล่า

Photo: Courtesy of Ben Harris

แต่สิ่งสำคัญที่ยืนยันได้ชัดเจนคือจำนวนครั้งที่วัตสันทดลองวางเงื่อนไขพฤติกรรม (หรือพูดให้ถูกต้องที่สุดคือจับเด็กมาทรมานโดยสร้างความกลัว) รวม 6 ครั้ง เริ่มครั้งแรกตอนอายุ 8 เดือน 26 วัน ครั้งที่สองถึงห้าทดลองตอนอายุ 11 เดือน และครั้งสุดท้ายตอนอายุ 12 เดือน 21 วัน

ความจริงคือวัตสันวางแผนศึกษาพฤติกรรมของอัลเบิร์ตในระยะยาว โดยจะทดลองอีกครั้งเมื่อเขาโตเป็นวัยรุ่น แต่ทุกอย่างต้องจบสิ้นลงก่อนถึงเวลาอันควร เพราะเมอริทเสียชีวิตในวัยเพียง 6 ขวบ จากอาการแทรกซ้อนของโรคน้ำคั่งในสมองแต่กำเนิด ตลอดเวลาที่มีชีวิตอยู่ เขาจึงเป็นเด็กมีพัฒนาการล่าช้า และมีปัญหาด้านสติปัญญา รวมถึงการเรียนรู้ โดยไม่ได้รับการรักษาให้หายขาดจากความกลัวเสียงดังและวัตถุสีขาวที่มีขน

ดูเหมือนว่าเรื่องที่เคยดำมืดจะได้รับการคลี่คลาย แต่การสืบค้นของ รัสเซลล์ โพเวลล์ (Russell Powell) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาชาวอเมริกันในปี 2014 ได้เสนอข้อมูลใหม่ที่น่าเชื่อถือกว่า

Photo: Courtesy of Ben Harris

โพเวลล์สืบย้อนไปยังประวัติของเด็กๆ ในโรงพยาบาลที่วัตสันทำงาน จนพบชื่อจริงที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ วิลเลียม อัลเบิร์ต บาร์เกอร์ (William Albert Barger) เพราะข้อมูลในสูติบัตรระบุวัน เวลา และสถานที่เกิดเดียวกันกับหนูน้อยอัลเบิร์ต แต่เขาเป็นเด็กสุขภาพแข็งแรง และเป็นหนึ่งในเด็ก 12 คนที่ได้รับการคัดเลือกให้มีโอกาสเข้าร่วมการทดลองเหมือนกัน

บาร์เกอร์มีอายุยืนถึง 88 ปี เขาเสียชีวิตในปี 2007 หลานสาวคนเดียวของเขายืนยันว่าบาร์เกอร์เคยเล่าประสบการณ์จากคำบอกเล่าของแม่อีกทีถึงการเข้าร่วมการทดลองจิตวิทยา แต่เธอไม่รู้รายละเอียดมากนัก ตลอดเวลาที่อยู่ด้วยกัน เธอยังบอกว่าบาร์เกอร์ไม่ชอบสัตว์มากๆ โดยเฉพาะสุนัข

แม้ไม่อาจระบุได้อย่างชัดเจนว่าใครคือหนูน้อยอัลเบิร์ตตัวจริง เพราะทุกอย่างถูกทำให้คลุมเครือมาตั้งแต่เริ่มแรก แต่อย่างน้อยเรื่องราวของอัลเบิร์ตได้สั่นสะเทือนวงการจิตวิทยาให้หันมาทบทวนเรื่องจริยศาสตร์และหลักจริยธรรมการทำวิจัยกับมนุษย์ เพื่อไม่ให้มนุษย์กลายเป็นเหยื่อการทดลองซ้ำรอยในอดีต

 

อ้างอิง

  • Hall P. Beck. Finding Little Albert: A Journey to John B. Watson’s Infant Laboratory. https://bit.ly/33G2JWM 
  • Hall P. Beck & Gary Irons. Looking back: Finding Little Albert. https://bit.ly/3uFlF3E 
  • Helen Thomson. Baby used in the notorious fear experiment is lost no more. https://bit.ly/33EseHT 
  • Laura Smith. Experiments on this infant in 1920 were unethical, but became a staple of psychology textbooks. https://bit.ly/3ybdsGv