ไม่น่าเชื่อว่ากองทัพตุ๊กตามนุษย์และสัตว์ ที่ทำจากอิฐ หิน ปูน กระถาง กำไล ปลั๊กไฟ ฯลฯ หน้าตาออกไปทางหลอนๆ มากกว่าจะน่ารักจำนวนหลายพันตัว ที่ยืนจับจ้องราวกับกำลังสะกดจิตผู้คน จะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งในอินเดียและจากทั่วโลกมาเยือน Rock Garden of Chandigarh เนืองแน่นทุกวัน ไม่ว่าจะเดือนนั้นจะเป็นฤดูร้อนแล้ง ฝนฉ่ำ หรือเหน็บหนาวแค่ไหนก็ตาม
มนต์เสน่ห์ของ Rock Garden of Chandigarh หรือสวนหินแห่งชานดิกาห์ ไม่ได้อยู่ที่ความแปลกตาของบรรดาประติมากรรมทำมือทั้งหลายที่ว่ามาเพียงเท่านั้น หรือจะว่าเป็นเพราะกลิ่นอายของบรรยากาศเขาวงกตแสนลึกลับ ที่เหมือนได้หลุดไปอยู่โลกอื่นของที่นี่ ก็ดูจะไม่มีน้ำหนักเท่ากับเรื่องเล่าเกี่ยวกับจุดกำเนิดของสวนหินแห่งนี้ ที่เกิดขึ้นจากมันสมองและสองมือของชายเพียงคนเดียวที่ ชื่อ เนก จันด์
ย่อหน้าถัดไปคือเรื่องราวของชาวนาที่ถูกขืนใจให้จำต้องจากบ้านเกิด เพื่อมาเริ่มต้นชีวิตในเมืองโมเดิร์นที่ถูกออกแบบอย่างเนี้ยบกริบจนน่าอึดอัด เขาจึงหาทางเยียวยาหัวใจตนด้วยการสร้างบ้านเกิดในความทรงจำให้จับต้องได้ในโลกจริง และโดยไม่ได้ตั้งใจ เนก จันด์ ยังควบสถานะศิลปินอิสระและนักสิ่งแวดล้อมคนแรกในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ที่สร้างสรรค์งานศิลปะจากขยะมาตั้งแต่คำว่ารีไซเคิลยังไม่อุบัติขึ้นบนโลกใบนี้
ผู้อพยพเจ้าของดวงใจแหลกสลาย
เนก จันด์ ไสนี (Nek Chand Saini) เกิดเมื่อ ค.ศ. 1924 ใน Berian Kalan หมู่บ้านเล็กๆ ในแคว้นปัญจาบ ที่ซ่อนตัวอยู่ในวงล้อมของเทือกเขาหิมาลัย ห่างจากกรุงละฮอร์ไปทางเหนือประมาณ 40 กิโลเมตร
ครอบครัวของเนกเป็นชาวนา เขาจึงเติบโตมากับสารพันนิทานตำนานเล่าขานท้องถิ่น ทั้งจากคำบอกเล่าของพ่อ แม่ พี่สาว พี่ชาย ฯลฯ ที่ไม่ว่าพวกเขาจะกำลังง่วนกับการทำกิจการงานใดอยู่ก็ตาม แม้มือจะไม่ว่าง แต่ตำนานของทวยเทพและนิทานเกี่ยวกับสรรพสัตว์ทั้งหลายไม่เคยหยุดพรั่งพรูออกจากปากของพวกเขา เพื่อขับกล่อมให้เด็กชายเนกเพลิดเพลิน และซึมซับเอาจินตนาการทั้งหลายเหล่านั้นบันทึกไว้ในความทรงจำ
เด็กชายเนกเปลี่ยนเรื่องเล่าให้เป็นโลกใบน้อยที่จับต้องได้ในยามที่เขาติดตามแม่ๆ พี่ๆ ป้าๆ ไปซักผ้าริมลำธาร เด็กชายจะเลือกทำเลเหมาะๆ ในการขุดดิน แล้วกอบเอาดินในมือน้อยๆ มาสร้างเป็นปราสาทราชวังไปจนถึงเมืองในจินตนาการ ตกแต่งให้เป็นรูปเป็นร่างด้วยหิน ทราย และกิ่งไม้รอบๆ ตัว เขาไม่ลืมที่จะเลือกก้อนหินที่มีรูปทรงคล้ายหมาป่า ลิง ห่าน ฯลฯ มาจัดวางเรียงรายให้อาณาจักรของเขามีชีวิตชีวายิ่งขึ้น
นานวันเข้า เด็กชายตัวน้อยที่ใช้ชีวิตระหว่างบ้าน ทุ่งนา ชายป่า และโรงเรียน ก็เติบโตขึ้นเป็นชาวนาอีกคนของหมู่บ้าน สืบสานวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม รวมถึงสารพันตำนานเรื่องเล่าที่เขาพร้อมจะถ่ายทอดต่อไป
แต่คงไม่ใช่สำหรับลูกหลานชาวนารุ่นถัดมา ที่ไม่มีโอกาสได้เติบโตในผืนดินผืนเดิมอีกแล้ว
ค.ศ. 1947 แคว้นปัญจาบถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเทศ ได้แก่ ปากีสถานและอินเดีย โดยหมู่บ้านของเนกถูกเส้นแบ่งเขตแดนกำหนดให้อยู่ในแนวเขตประเทศปากีสถาน ซึ่งเป็นประเทศมุสลิม ทำให้ครอบครัวฮินดูของเขาต้องอพยพออกจากบ้านเกิดทันทีในชั่วข้ามคืน โดยพวกเขาออกเดินเท้านาน 24 วัน เพื่อข้ามฝั่งมาปักหลักยังเขตประเทศอินเดีย
สิ่งที่เนกแบกขนมาด้วยมีเพียงเรื่องเล่าขานประจำหมู่บ้านที่อัดแน่นอยู่ในหัวใจที่แตกสลายของเขา
ในเมืองใหม่เมืองใหญ่ที่แน่นขนัดไปด้วยผู้คน ชาวนาจนๆ ย่อมไม่อาจมีที่ยืนอยู่ได้ เนกจึงผันตัวไปเป็นเจ้าหน้าที่กรมโยธาธิการแห่งชานดิกาห์ เมืองโมเดิร์นแห่งแรกของอินเดียในปี 1951
ชานดิกาห์เป็นเมืองที่รัฐบาลอินเดียมอบหมายให้ เลอกอร์บูซิเยร์ (Le Corbusier) สถาปนิกและนักผังเมืองระดับโลกในยุคนั้น รับหน้าที่ออกแบบชานดิกาห์ให้เป็นระเบียบ เรียบร้อย ทันสมัย ไร้ที่ติ
และเพื่อได้มาซึ่งยูโทเปียแห่งนั้น หมู่บ้านดั้งเดิม 26 แห่งของชานดิกาห์จึงถูกรื้อถอนทิ้งจนราบเป็นหน้ากลอง เพื่อเปิดทางให้การสร้างเมืองคอนกรีตไร้สีสันได้ถือกำเนิดขึ้นแทนที่
ในหัวใจของเจ้าหน้าที่กรมโยธาฯ แห่งปัญจาบจึงมีแต่คำถามวนเวียนไม่เว้นแต่ละวัน
‘เส้นทางเดินวกวนตามรอยป่าเลียบแม่น้ำหายไปไหน หนุ่มๆ ที่ชอบร้องเพลงตอนทำนา กับหญิงสาวที่มักจะทูนคนโทน้ำแล้วเดินส่ายเอวพลิ้วไหวไปตามจังหวะชีวิตแบบดั้งเดิม หายไปอยู่ที่ไหนกัน’
‘ตำนานเล่าขานที่เคยได้ฟังอย่างรื่นรมย์มาทั้งชีวิต หายไปหมดแล้วหรืออย่างไร’
เนกได้แต่เฝ้าฝันถึงถิ่นที่จากมา ดินแดนที่เขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งอย่างเต็มภาคภูมิ
ทยอยรวบรวมซากเมือง
แทนที่จะจับเจ่าเศร้าซึมอยู่กับอดีต เนกเลือกที่จะลงมือทำบางอย่างเพื่อกอบเอาความหลังที่แหลกสลายให้เป็นรูปเป็นร่าง หลังจากที่เขาค้นพบโดยบังเอิญว่า ณ ชายขอบด้านเหนือสุดของเมืองชานดิกาห์ มีผืนป่าลับไม่ไกลจากทะเลสาบสุขนา (Sukhna Lake) ซุกซ่อนตัวอย่างเงียบเชียบจากสายตาผู้คน ด้วยเป็นพื้นที่ของรัฐบาลจึงไม่อนุญาตให้มีการก่อสร้างอาคารใดๆ จึงไม่มีใครกล้าย่างกรายเข้าไปยังป่าแห่งนั้น
‘แต่กับสิ่งที่ไม่ใช่อาคาร อาจได้’ – เนกเริ่มคำนวณความเป็นไปได้ในใจเงียบๆ ถึงโครงการลับในหัว พลางค่อยๆ เริ่มแฝงตัวเข้าไปหักร้างถางพงดงป่าที่อุดมไปด้วยกองทัพยุงและงูเห่า ให้เกิดพื้นที่ว่างพอสำหรับสร้างบ้านดินเล็กๆ ขึ้นหนึ่งหลัง
ทุกเช้าก่อนเวลางาน เนกจะขี่จักรยานไปทั่วท้องถนนในเมืองชานดิกาห์ พลางสอดส่ายสายตามองหาเสี้ยวส่วนของหมู่บ้านเก่าที่ยังหลงเหลือในเมืองโมเดิร์น ทั้งจานบิ่นๆ หม้อดินเผาแตกๆ กำไลหลากสีสันที่หักไม่เป็นชิ้นดี รวมถึงหินก้อนกลมที่ค้นเจอจากท้องน้ำ เนกจะคัดเฉพาะหินที่มีรูปทรงคล้ายผู้คนหรือสรรพสัตว์ที่เขาคุ้นตา
หลังเลิกงาน เขาถึงจะค่อยๆ ทยอยขนเอาสมบัติล้ำค่าที่หามีค่าไม่ในสายตาคนอื่น กลับไปเก็บยังบ้านดินในป่าลับของรัฐ
เนกหยิบหินก้อนแรกมาจากริมแม่น้ำเมื่อปี 1958 และค่อยๆ รวบรวมเศษซากของเมืองอย่างต่อเนื่องนาน 7 ปี ก่อนจะเริ่มลงมือสร้างอาณาจักรเฉพาะตัวขึ้นใน ค.ศ. 1965
ลงมือสร้างอาณาจักรลับ
เริ่มต้นด้วยการบรรจุปูนเข้าไปในถุงกระสอบที่รวบรวมมาได้ เพื่อนำมาเรียงต่อกันสร้างเป็นแถวเป็นแนวระเบียง ผสมซีเมนต์ลงในชามเหล็กเว้าแหว่ง ตกแต่งด้วยฝุ่นสีอิฐ ใช้เกรียงปาดไปบนพื้นผิวดินเปียก ประดับเศษกระเบื้องสีสันต่างๆ ลงไปบนนั้น
ลุยต่อด้วยการทำทางเดินให้เป็นแนวโค้งคดเคี้ยวไปมาราวกับอยู่ในป่า บนผืนกำแพงประดับด้วยกระเบื้องแตกหักและปลั๊กไฟพังๆ ที่ถมทั้งกำแพงจนเต็ม แต่ละโซนเชื่อมต่อกันผ่านซุ้มประตูโค้งที่ทั้งเตี้ยและมีขนาดพอดีตัว ราวกับจงใจให้ผู้คนค่อยๆ เดินลอดอย่างมีสติ หรืออันที่จริงอาจเป็นการจำลองทุกสัดส่วนและองค์ประกอบของหมู่บ้านในความทรงจำของเนก จันด์ มาทุกกระเบียดนิ้วก็เป็นได้
สำหรับบรรดาตุ๊กตารูปคนและสัตว์ต่างๆ เนกใช้โครงจักรยานเก่าและท่อเหล็กขึ้นสนิมมาเป็นแกนในการขึ้นโครงร่าง พอกด้วยคอนกรีตแล้วค่อยๆ ปั้นแต่งให้ออกมาเป็นใบหน้าของเทพีและราชินีต่างๆ ส่วนบรรดาผู้คนในหมู่บ้านทั้งผู้ชายกำลังร้องเพลง ผู้หญิงกำลังส่ายเอวยักย้าย และเด็กๆ กำลังหัวเราะ ล้วนถูกประดิดประดอยเสื้อผ้าให้มีสีสันด้วยกำไลแตกหักที่เขารวบรวมเก็บเอาไว้นับหมื่นนับแสนชิ้น
เนกลงมือปั้นกองทัพหมาไน ฝูงลิง และฝูงห่านฝูงแล้วฝูงเล่า ทั้งคนและสัตว์ในอาณาจักรของเขาต่างก็มีที่ทางที่เหมาะสมในการดำรงอยู่ เช่นเดียวกับตัวเขาที่รู้สึกว่านี่คืออาณาจักรที่เขาเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง
ใช่แค่จะเก็บมาแต่เศษวัสดุเหลือทิ้งเท่านั้น เนกยังกอบเอาพืชพรรณที่จวนจะตายแหล่มิตายแหล่ตามหัวมุมเมืองมาชุบชีวิตที่นี่ อย่าลืมว่าในอดีตไม่ได้มีท่อประปาให้ต่อสายรดน้ำได้ดั่งใจ วิธีที่เนกใช้รดน้ำต้นไม้ คือ เดินเท้าไปยังแหล่งน้ำ อาจเป็นที่ทะเลสาบสุขนา เติมน้ำลงในถังน้ำมันแล้วค่อยๆ กลิ้งกลับยังอาณาจักรลับของเขา เพื่อรดน้ำเฟื่องฟ้า ยี่โถ มะม่วง ต้นโพธิ์ ฯลฯ ให้ค่อยๆ ชูช่อผลิบาน
เนกซุ่มเสกสรรค์ปั้นอาณาจักรแห่งนี้ ที่กินพื้นที่ราว 30 ไร่อย่างเงียบๆ ตามลำพังอยู่นานกว่า 15 ปี มีเพียงภรรยาของเขาและเพื่อนสนิทไม่กี่คนเท่านั้นที่รู้ว่าเขากำลังลงมือทำอะไรอยู่
จนกระทั่งวันหนึ่งในปี 1973 คนของรัฐบาลเริ่มเข้ามาสำรวจพื้นที่ป่าผืนนี้ และพบสวนหินลึกลับของเนก ซึ่งเข้าข่ายการบุกรุกพื้นที่ของรัฐซึ่งผิดกฎหมาย ทางการจึงมีคำสั่งให้ทำลายสวนหินของเนก จันด์ทิ้ง
ข่าวนี้ทำให้ชาวเมืองชานดิกาห์แห่แหนไปยังสวนหินแห่งนี้ และต่างก็รู้สึกทึ่ง รู้สึกมีความสุขอย่างประหลาด รู้สึกอิ่มใจกับการได้พักผ่อนในดินแดนที่เรียงรายด้วยบรรดาตุ๊กตาพิสดาร สนุกกับการได้เดินลอดประตูซุ้มแล้วซุ้มเล่า เพื่อพบกับรูปปั้นคนและสัตว์หลากสีสันนับพันตัว
ชาวชานดิกาห์เหล่านี้เองที่เป็นผู้พิทักษ์ให้สวนหินของเนก จันด์ รอดพ้นจากการถูกทางการทุบทำลาย ชาวเมืองทั้งระดุมทุนบริจาคและหยิบยื่นเครื่องไม้เครื่องมือแก่เนกในการลงมือปั้นแต่งสวนหินของเขาต่อไป พวกเขาโน้มน้าวให้ทางการเชื่อมั่นได้สำเร็จว่า เนก จันด์ คือศิลปินคนสำคัญของชานดากาห์
สวนศิลปะรีไซเคิลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
แม้ในแต่ละปีทางการจะสรรหานโยบายต่างๆ เพื่อทำลายสวนสวรรค์ของชาวชานดิกาห์ เช่น ต้องรื้อถอนสวนหินเนก จันด์ ทิ้ง เพื่อสร้างถนน เพื่อสร้างที่จอดรถ ฯลฯ แต่ก็ไม่เคยสำเร็จ
ฝ่ายหนึ่งต้องการทำลาย อีกฝ่ายก็ไม่เคยหยุดสร้างอาณาจักรให้ขยายขอบเขตขึ้นเรื่อยๆ โดยหลังจากที่ชาวเมืองได้เข้ามาทำความรู้จักอาณาจักรลับที่ไม่ใช่ความลับอีกต่อไป เนกก็เริ่มต้นก่อสร้างเฟสที่สองของสวนหิน โดยออกแบบให้มีน้ำตก ลำธาร และสะพาน ราวกับยกอุทยานขนาดย่อมมาบรรจุไว้ในแดนอัศจรรย์แห่งนี้ โดยแล้วเสร็จเมื่อ ค.ศ. 1983
ระหว่างนั้นเขาได้ชักชวนให้ชาวเมืองและโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ในชานดิกาห์หันมารีไซเคิลของเหลือใช้ โดยสามารถนำมาบริจาคได้ที่ Rock Garden เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการประดิษฐ์เป็นงานศิลปะชิ้นต่อๆ ไป
Rock Garden of Chandigarh ได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ปัจจุบันมีพื้นที่ของงานศิลปะประมาณ 64 ไร่ในบริเวณทั้งหมดประมาณ 100 ไร่ ผลงานศิลปะของเนก จันด์ ถูกนำไปจัดแสดงในนิทรรศการต่างๆ ตามพิพิธภัณฑ์ศิลปะและแกลเลอรี่ชั้นนำทั่วโลก ส่วนที่ Rock Garden เองก็ยังคงเปิดประตูต้อนรับผู้คนทั้งในอินเดียและทั่วโลก ที่ต่างก็ยังคงเดินทางมาทักทายกองทัพตุ๊กตุ่นของเนก จันด์ มากกว่าวันละ 5 พันคน ตั้งแต่ ค.ศ. 1976 จนถึงปัจจุบัน
ในบั้นปลายของชีวิต เนก จันด์ ยังคงเปิดบ้านต้อนรับผู้คนที่แวะเวียนมาทักทายเขายังสวนหินแห่งนี้ เขายังคงไม่หยุดสร้างสรรค์จินตนาการที่ไร้ขอบเขตภายใน Rock Garden และยังคุมงานก่อสร้างสวนหินทำมืออย่างต่อเนื่อง ตราบจนลมหายใจสุดท้าย
เนก จันด์ เสียชีวิตเมื่อ ค.ศ. 2015 ในวัย 90 ปี และสิ่งที่เขาทิ้งไว้คู่เมืองโมเดิร์นอย่างชานดิกาห์ ก็คือตำนานพื้นบ้านแห่งแคว้นปัญจาบที่ยังคงมีชีวิตโลดแล่นต่อไป ตราบเท่าที่ผู้คนยังคงแวะเวียนมารับฟังเรื่องราวที่เขาตั้งใจเล่าขานผ่านประติมากรรมทำมือที่แฝงไว้ซึ่งความนัยอันมากมายเกินจะเอ่ย
อ้างอิง
- Barb.Rosenstock.The Secret Kingdom. Candlewick Press, 2018.
- Tourmyindia.Rock Garden.https://bit.ly/3hIyybX
- Anton Rajer.Nek Chand’s Story: Can the World’s Largest Folk Art Environment be Saved?.https://bit.ly/3BVAqF9
ข้อมูลเกี่ยวกับสวนหินแห่งชานดิกาห์ (Rock Garden of Chandgarh)
- ตั้งอยู่บริเวณ Sector 1 เมืองชานดิกาห์ เมืองหลวงของรัฐปัญจาบและหรยาณา ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย
- เมืองชานดิกาห์อยู่ห่างจากกรุงนิวเดลีไปทางเหนือประมาณ 300 กิโลเมตร สามารถเดินทางได้ทั้งรถไฟ รถบัส และเครื่องบิน
- เวลาทำการของ Rock Garden ในฤดูร้อน (1 เมษายน - 30 กันยายน) เปิดบริการทุกวัน เวลา 9:00 - 19:30 น.
- ฤดูหนาว (1 ตุลาคม - 31 มีนาคม) เปิดบริการทุกวัน เวลา 9:00 - 18:30 น.
- ค่าผ่านประตู เด็ก 5 รูปี ผู้ใหญ่ 20 รูปี